ป้าเจี๊ยบ
น้อง พี่ อา ป้า ครู อาจารย์ คุณ นางสาว ดร. รศ. ฯลฯ รสสุคนธ์ โรส มกรมณี

เหนียวหม้อข้าวแกงลิง…


ของกินอร่อย รูปลักษณ์พิศดาร...

     เหนียว = ข้าวเหนียว
     หม้อข้าวแกงลิง = หม้อข้าวหม้อแกงลิง
     อีกหนึ่งอาหารโปรดของผ้าแพรค่ะ
 

     ให้เดาก็คงถูกว่าต้องเป็นอาหารทางปักษ์ใต้แน่ๆ เพราะคนใต้ชอบพูดอะไรสั้นๆ

     ชื่อเต็มยศน่าจะเป็น ข้าวเหนียวหม้อข้าวหม้อแกงลิง หรือ ข้าวหลามหม้อข้าวหม้อแกงลิง

     แต่คนขายเรียกว่า เหนียวหม้อข้าวแกงลิง และคุณยายที่นั่งอยู่ข้างๆ คนทำขายเรียกว่า “เหนียวหม้อแกงลิง ยิ่งสั้นหนักเข้าไปใหญ่..

    

     นี่เป็นข้าวเหนียวนึ่งด้วยน้ำกะทิบรรจุอยู่ในดอกหม้อข้าวหม้อแกงลิงค่ะ

     รสชาติไม่หวานแบบข้าวหลามหนองมน  แต่เค็มประแล่มๆ และหวานมันจากกะทิ

     ป้าเจี๊ยบกับน้องแพรจะได้กินเฉพาะตอนไปพักที่นิคมพัฒนาภาคใต้จังหวัดสตูล  หากตรงกับวันศุกร์ที่มีตลาดนัดซอยสิบ  เพราะลูกน้องของท่านผู้ปกครองนิคมฯ จิตต์ ชุมภูทอง ซึ่งมีหน้าที่ดูแลเรื่องอาหารการกิน จะไปซื้อมาเสริฟเป็นหนึ่งในบรรดาอาหารเช้าสารพัดอย่าง 

     เกือบสิบปีที่แวะไปที่นั่นอย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง จะพบว่าเหนียวหม้อข้าวแกงลิงที่เคยกิน บางครั้งก็อร่อย  บางครั้งก็ไม่อร่อย  แต่น้องแพรก็กินได้กินดีทุกครั้ง ป้าเจี๊ยบคิดว่าคงเป็นเพราะชอบรูปลักษณ์มากกว่ารสชาติ  

     จนกระทั่งครั้งล่าสุด เมื่อวันที่ 10 สิงหาคมที่ผ่านมา  ป้าเจี๊ยบไปเยี่ยมลุงจิตต์เป็นพิเศษ เนื่องจากเดือนหน้าลุงจิตต์จะเกษียณแล้ว เห็นเหนียวหม้อข้าวแกงลิงวางมาให้กินเป็นอาหารเช้า  รูปร่างหน้าตาสวยกว่าทุกครั้งที่เคยกิน ทั้งรูปร่างและสีสัน  ต้องหยิบกล้องมาถ่ายรูปไว้

     พอกินเข้าไปแล้วก็นึกในใจว่า ใช่เลย อร่อยถูกปาก ข้าวนุ่ม รสเค็มพอดีๆ ไม่ใส่น้ำตาลแน่ๆ  แต่ได้หวานมันจากกะทิ  ต้องถามคนซื้อว่าได้มาจากไหน? ใครทำ?

     คุณประดับคนที่ซื้อมาบอกว่านี่คือเหนียวหม้อข้าวแกงลิงเจ้าที่อร่อยที่สุดและเหลืออยู่เพียงเจ้าเดียวในควนกาหลงค่ะ เพราะมีคนทำมาขายแข่งอยู่สองสามเจ้าก็ต้องถอนตัวไปเพราะฝีมือไม่ถึง คนซื้อแล้วไม่กลับมาซื้ออีก ต้องเลิกขายไปโดยปริยาย

     ป้าเจี๊ยบถามว่าอยากรู้จังว่าทำยังไง พาไปคุยกับคนทำได้ไหม  ปรากฏว่าได้ค่ะ แต่ต้องรอตอนบ่ายหลังจากตลาดนัดเลิกแล้ว คุณประดับพาไปที่บ้านคนทำเลยค่ะ อยู่ก่อนถึงตลาดนัดซอยสิบนิดเดียว 

     คนทำหม้อข้าวแกงลิงมาขายชื่อ คุณสมมารถ นวลเจริญ เธอทำมาตั้งแต่อายุ 15 ปี โดยหัดจากแม่ซึ่งเป็นคนอำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา แถวนั้นมีเหนียวหม้อข้าวแกงลิงขายเหมือนกันค่ะ  เมื่อหักลบจากอายุแล้ว  คุณสมมารถทำขายมาตั้ง 42 ปีค่ะ

     สิ่งที่นำมาบรรจุข้าวเหนียวคือดอกหม้อข้าวหม้อแกงลิง  ซึ่งมีหลายสีหลายทรง ขึ้นอยู่กับพันธุ์  แต่แถวสตูลเห็นอยู่ 3 ชนิดคือ ดอกเขียวยาวๆ ดอกสีขาว และดอกสีม่วงป้อมๆ

     คุณสมมารถทำขายครั้งหนึ่งๆ จะใช้ข้าวเหนียวประมาณ 6-7 กิโลค่ะ ระหว่างสัปดาห์ก็ออกตระเวณหาดอกมาเก็บไว้เพื่อทำขายวันศุกร์ มะพร้าวที่ใช้ก็ขูดเองคั้นเอง เธอบอกว่าเจ้าที่เลิกไปเขาใช้กะทิกล่อง 

    วิธีทำสรุปได้ว่า

  • ต้องล้างดอกให้สะอาดก่อน เพราะหม้อข้าวหม้อแกงลิงเป็นพืชกินแมลง ภายในดอกจะมีแมลงอยู่  
  • เลือกดอกที่ไม่อ่อนหรือแก่เกินไป ถ้าอ่อนมากเวลานึ่งจะแตก ถ้าแก่เกินไป นึ่งแล้วเหนียว กินไม่อร่อย 
  • ใส่ข้าวเหนียวประมาณ 2 ใน 3 ของดอก แล้วกรอกน้ำกะทิที่ปรุงรสด้วยเกลือนิดหน่อยใส่ลงไป
  • นำไปนึ่งให้สุก 

     อ้อ! ที่สำคัญมากคือ..ดอกที่นำมาใช้ต้องเลือกเฉพาะดอกตัวเมียเท่านั้น   ป้าเจี๊ยบถามว่าดูยังไง  เลยได้ทราบว่าดอกตัวผู้หันหน้าตรงกันข้ามกับดอกตัวเมีย  โดยหันหน้าออกจากก้าน ขณะที่ตัวเมียหันหน้าเข้าหาก้าน..

     ป้าเจี๊ยบเขียนเรื่องนี้ขึ้นมาเพราะเห็นว่านับวันจะหาเหนียวหม้อข้าวแกงลิงกินยากขึ้นทุกที  เพราะคุณสมมารถบอกว่าเมื่อไหร่ที่ไม่มีดอกหม้อข้าวหม้อแกงลิงแถวนี้ให้ทำก็ต้องเลิก บริเวณที่ไปเก็บดอกนั้น หากเจ้าของที่ดินเขาเผาพื้นที่เพื่อเพาะปลูกก็ยังจะขึ้นใหม่ได้ แต่ถ้าใช้ยาฆ่าหญ้า ต้นหม้อข้าวหม้อแกงลิงจะตายไปด้วย 

     ต้นหม้อข้าวหม้อแกงลิงเป็นไม้เลื้อยแบบเถาวัลย์ค่ะ  ขึ้นในพื้นที่ป่าพรุ มีน้ำขัง และต้องเป็นน้ำที่สะอาดด้วยจึงจะเจริญงอกงาม คุณสมมารถเก็บจากต้นที่ขึ้นตามธรรมชาติ

     หมดเมื่อไหร่ก็อดเมื่อนั้น!

     แหะๆ ๆ  ด้วยความตะกละ..  ป้าเจี๊ยบจึงอดไม่ได้ต้องศึกษาเรื่องพืชนี้ต่ออีกหน่อย เพราะหวั่นใจว่าจะกลายเป็น Extinct plant ในไม่ช้านี้  อยากรู้ว่ามีใครดูแลรักษาพืชพวกนี้บ้างไหม  พบเว็บไซด์ของผู้สนใจปลูกหม้อข้าวหม้อแกงลิงในเมืองไทยพอสมควรเหมือนกัน แม้จะเลี้ยงเพื่อเป็นไม้ประดับก็ยังดี  เฮ้อ! โล่งใจ..

     ป้าเจี๊ยบชอบแบนเนอร์ของเว็บ NepenthesSiam มาก เลยขอนำมาไว้ชมในบันทึกนี้หน่อยค่ะ <p style="text-align: center" align="center"></p>

     ถ้าใครไม่เคยเห็นดอกหม้อข้าวหม้อแกงลิง  เว็บนี้รวมรูปภาพสวยๆ ของหม้อข้าวหม้อแกงลิง (Nepenthes) นับร้อยๆพันธุ์ไว้  เชิญดูและชื่นชมความงามของดอกหม้อข้าวหม้อแกงลิงได้ที่NepenthesSiam Photo Gallery by xir007  นะคะ

</span><p></p>

หมายเลขบันทึก: 121521เขียนเมื่อ 23 สิงหาคม 2007 15:08 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 18:16 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (26)
    เห็นขนมหม้อข้าวหม้อแกงลิง แล้ว นึกถึงพี่ที่อยู่สงขลา เขาถ่ยรูปจากตลาดมาให้ดูด้วยยค่ะ  แต่ได้ข้อมูลจากป้าเจี๊ยบเพิ่มด้วย  จากเด็ก ตลาดสด   สนามเป้า ค่ะ 

ป้าเจี๊ยบค่ะ

  • เมนูนี้ได้รับการบรรจุไว้   เรียบร้อยแล้วค่ะ
  • คาดว่าจะมีผู้รอชิมมากมาย  เหนียวหม้อข้าวหม้อแกงลิง  
  • พี่องุ่น  รักต้นหม้อข้าวหม้อแกงลิงมาก  แต่ต้องทำใจตัดดอกออกให้บ้างไม่งั้นเค้าจะ ผอมค่ะ แต่ตอนนี้โดนตัดบ่อยๆ ชัวร์
  • รู้สึก....ภูมิใจ มั่กๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆ  ที่ได้เกิดวันเดียวกับป้าเจี๊ยบค่ะ  สุ้ดหยอด..........
  • พึ่งลงจากเขาใหญ่ค่ะ    กำลังตามอ่านบันทึกป้าเจี๊ยบค่ะ 
  • เป็นสุดยอดบันทึก ที่เข้ามาอ่านแล้วให้ความรู้มากๆ
  • เป็นของกิน ที่ผมไม่เคยพบมาก่อนเลยครับ
  • แถมได้เรื่องราวที่ละเอียดดีมาก
  • มีความรู้ทั้งเรื่องอาหารการกิน และเรื่องราวทางพฤกษศาสตร์ด้วย
  • ขอบคุณมากๆ ครับ

 

  • วันที่ ๒๘-๒๙ กันยายน ๒๕๕๐
  • ป้าเจี๊ยบว่างไหมครับ
  • อยากเชิญมาร่วมงานมหกรรม KM ภูมิภาค ที่มน.จัดครับ

แวะมาขอทานด้วยคนคะเหนียวหม้อข้าวแกงลิง

  •  เคยแต่ได้ยินคะ...พึ่งมาเห็นของจริงน่าทานมากคะขอบคุณ ป้าเจี๊ยบที่แวะไปทักทายคะ
  • เป็นแฟนป้าเจี๊ยบ...ตั้งนานแล้วคะแต่ไม่ได้ทิ้งร่องรอยไว้...ชอบที่ป้าเจี๊ยบสอนเด็กๆใน Learners ด้วย..อยากเป็นลูกศิษย์คะ
  • อยู่ต่างจังหวัดคะ...ชอบเที่ยวชอบปลอมตัว...คนที่อยู่ที่ทำงานตัวปลอมคะ..อิอิ
  • ไม่ได้กินนาน
  • ตอนอยู่ใต้กินบ่อยๆๆอร่อยมากๆๆ
  • ขอบคุณมากครับป้าที่นำมาเล่าให้ฟัง
  • หลานๆๆคงสบายดีนะครับ

ป้าเจี๊ยบคะ

ตามมาชื่นชมบล็อกนี้ ที่นำเสนอเรื่องราวได้อย่างน่าสนใจ หลากหลายและ ด้วยมุมมองที่ละเมียดละไม  ได้มีโอกาสนำไปชมร่วมกับคุณครูที่โรงเรียน และชวนกันจัดการเรียนรู้ให้น่าสนใจ เหมือนที่ป้าเจี๊ยบทำไว้เป็นตัวอย่าง

ขอบคุณอย่างยิ่ง และจะคอยอ่านต่อไปนะคะ

  • แวะมาศึกษาของแปลกค่ะ...ป้าเจี๊ยบ
  • แหววไม่เคยได้ยินชื่อ ไม่รู้จักเลยค่ะ...น่าทานด้วยหละ
  • เลยได้ไปศึกษาดอกหม้อข้าวหม้อแกงลิง มากมาย ตื่นตาตื่นใจ..เก็บภาพไว้ด้วยอีกต่างหาก (จาก Web ที่ป้าเจี๊ยบ ลิงค์ไว้ให้)
  • ขอบคุณกับความรู้และความสุขทางใจค่ะ..
สวัสดีคะป้าเจี๊ยบค่ะขออนุญาตนำบล็อกเข้าแพลนเน็ตนะค่ะ ขอบพระคุณคะ
  • สวัสดีค่ะ  คุณป้าเจี๊ยบ ..

ต้อมชอบป้าเจี๊ยบจัง  ^_^    ใครอยู่ใกล้ ๆ คงได้ทานอะไร ๆ อร่อย บ่อย ๆ  เป็นแน่แท้

 

ว้าว!..มีเพื่อนมาชิมเหนียวหม้อข้าวแกงลิงหลายคนเลย  ดีใจจัง

สวัสดีค่ะคุณเพี้ยช

ขอบคุณค่ะ  แวะมาก่อนเพื่อนเลย พี่ที่อยู่สงขลาส่งมาให้ชิมบ้างหรือเปล่าคะ

P

โอ้ว! พระเจ้าจอร์จ มันยอดมากที่พี่องุ่นคนสวยปลูกต้นหม้อข้าวหม้อแกงลิง ที่นี้ก็ไม่ต้องห่วงว่าจะอดแล้วสินะ  เพราะป้าเจี๊ยบแน่ใจว่าพี่องุ่นคนเก่งจะต้องทำเหนียวหม้อข้าวแกงลิงฉบับอีสานได้อร่อยไม่แพ้ปักษ์ใต้ เอิง..เอย..

P

สวัสดีค่ะ beeman มาพร้อมกับคำชมให้ป้าเจี๊ยบเป็นปลื้มอีกแล้ว  ขอบคุณสำหรับคำเชิญค่ะ  อยากไปค่ะ ยิ่งเห็นรูปคุณขจิตทำท่าหอมแก้ม beeman ด้วยแล้ว ยิ่งอยากเจอตัวจริงเสียงจริงมากๆ  แต่ช่วงนั้นติดงานเพื่อนๆเกษียณเพียบเลยค่ะปีนี้

P

สวัสดีค่ะ คุณ naree suwan  

โอะ..แวะมานานแล้วเหรอนี่ พักนี้วางแผนเที่ยวที่ไหนอีกคะ จะไปงานเฮฮาศาสตร์ครั้งที่ 3 ที่ดงหลวงด้วยหรือเปล่า?

P

เด็กขยัน ขจิต ฝอยทอง เคยกินด้วย ยืนยันว่าอร่อย เหนียวหม้อข้าวแกงลิงของจังหวัดไหนคะ  ผ้าแพรและแพทริคเพิ่งหายจากเป็นไข้ค่ะ  หยุดเรียนซะ 2 วัน ตอนนี้ซนได้แล้ว

P

สวัสดีค่ะ คุณ dd_L สาวเมืองลำพูน  ดีใจมากค่ะที่บล็อกของป้าเจี๊ยบมีส่วนช่วยเป็นแรงบันดาลใจให้คุณครูที่โรงเรียนมงคลวิทยาสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้  

P

สวัสดีค่ะ คุณแหวว

ดีใจที่หายเจ็บหายไข้แล้ว ดอกหม้อข้าวหม้อแกงลิงสวยๆ ดูแล้วสุขใจอย่างที่คุณแหววบอกจริงๆ ค่ะ

P

ด้วยความยินดีค่ะ คุณ MOO ได้กำลังใจจากพี่ๆ ทั้งหลายที่ล้วนเป็นปรมาจารย์สุดยอดฝีมือในงานที่เชียงใหม่แล้ว  ป้าเจี๊ยบคงได้เห็นบันทึกของ Blogger น้องใหม่เพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่องนะคะ

P

ป้าเจี๊ยบก็ชอบคุณต้อม เนปาลี เหมือนกัน ที่รู้จักใช้ชีวิตได้ดี มีเรื่องสนุกๆ ที่เป็นอาหารใจทำได้เสมอ  และเผื่อแผ่แบ่งปันไปให้ผู้อื่นด้วย เวลาอ่านบันทึกของคุณต้อม ป้าเจี๊ยบหน้าเปื้อนยิ้มไปทั่วเลยค่ะ..     

 

สวัสดีค่ะ

P

คุณพ่อเป็นคยสงขลา เด้กๆไปสงขลาบ่อย แต่ไม่เคยทานเลยค่ะงหน้าตาแปลกดี และดูน่าอร่อยด้วยนะคะ

ขอบคุณที่นำมาให้ชมกันค่ะ

หม้อแกงลิงเป็นคำที่สั้นที่สุด เคยทานตอนเด็กๆเพราะบ้านอยู่หาดใหญ่  จำได้ว่าต้นหม้อแกงลิงจะมีมากแถบอำเภอรัตภูมิ แม่ค้าจะขายตอนเช้า เวลากินเจ้านี่จะกินทั้งเปลือก ป้าเจี๊ยบเป็นคนช่างเสาะหาชะจริงถ้ามีต้นหม้อแกงลิงเมื่อไหรอย่าลืมทำมาฝากเพื่อนฝูงบ้างเน้อ

ที่อ่านเรื่องหม้อข้าวหม้อแกงลิง เขาบอกว่า 1 ต้นมีแค่1เพศ ไม่ได้ดูที่ตัวหม้ออะครับ ส่วนที่บอกเพศเมียในรูปนั้นคือหม้อล่าง เพศผู้ในรูปคือหม้อบน เพราะฉะนั้น 1 ต้นถ้าเป็นสายพันธุ์พื้นๆ จะเริ่มด้วยหม้อล่างก่อนซึ่งจะมีสีสันที่สวยงามมีหน้าที่หลักคือล่อแมลงให้เข้ามาเป็นอาหาร ส่วนเรียงต่อไปเรื่อยๆ จะเกิดหม้อบนที่มีหน้าที่เพิ่มเข้ามาคือช่วยจับยึดลำต้นที่ยาวขึ้นแต่ยังคงล่อแมลงได้อยู่เป็นหน้าที่รอง

หม้อข้าวหม้อแกงลิงเป็นส่วนหนึ่งของใบนะครับ ไม่ใช่ดอกแต่อย่างใด ซึ่งดอกของมันจริงๆ ก็จะมีเป็นแบบดอกไม่สมบูรณ์เพศ คือไม่ได้มี 2 เพศใน 1 ช่อ จึงต้องอาศัยเกษรจากอีกต้นที่คนละเพศกันมาผสม ทั้งหมดนี้มีอยู่ในบทความเว็บไซต์เกี่ยวกับต้นไม้กินแมลง

สวัสดีค่ะ พี่เจี๊ยบ

ชักอยากหม่ำ เหนียวหม้อข้าวแกงลิง แล้วหล่ะสิ

แถมเพิ่มรู้อีกว่า ไอ้ต้นนี้ มีทั้งตัวผู้และตัวเมีย...

ขอบคุณความรู้ที่ได้จากผู้บันทึกด้วยนะคะ

คุณ Mela Patty เพื่อนรัก

  ถ้ามี.. อิฉันก็ว่าจะลองทำดูนิ

 

ขอบคุณค่ะ คุณ S ที่ช่วยกรุณาแก้ไขและเพิ่มเติมความรู้เกี่ยวกับหม้อข้าวหม้อแกงลิงมาให้ อ่านแล้วก็ยังงง หม้อบน หม้อล่าง? คงต้องหาเวลาศึกษารายละเอียดต่อไปค่ะ

ถ้าป้าเจี๊ยบเจอคุณสมมารถแล้วบอกว่า ที่เธอและชาวบ้านเรียกว่าดอกนั้นไม่ใช่ดอก มีหวังอดกินเหนียวหม้อข้าวแกงลิง แหง่ว...

สวัสดีค่ะ คุณ tuk-a-toon ขอบคุณค่ะที่แวะมาทัก

แถวๆใกล้ขอนแก่นมี "พี่องุ่นคนสวย" บอกว่าบรรจุเป็นเมนูที่จะทำแล้วค่ะ  คงจะมีโอกาสได้ชิมเหนียวหม้อข้าวแกงลิงตำรับอีสาน...?

นางสาวสุชาดา นาคาประสิทธิ์

หนูเป็นคนที่เคยอาศัยอยู่ในจังหวัดสตูลเขตอำเภอควนกาหลงและจ่ายตลาดที่นัดซอยสิบเป็นประจำเป็นลูกหลานของชาวอำเภอควนกาหลงก็ว่าได้ปัจจุบันรับราชการอยู่ ณ จังหวัดนครปฐม และชื่นชอบพันธ์ไม้ที่แปลกตาและหาดูยาก หนุกำลังจะนำต้นหม้อข้าวแกงลิงมาปลูกที่บ้านพอดี ขอขอบคุณคุณเจี๊ยบมานำหม้อข้าวแกงลิงจากถิ่นเดิมมาเผยแพร่ เพราะตอนเด็กๆ หนูวิ่งเก็บหม้อข้าวแกงลิงให้แม่มาทำข้าวเหนียวนึ่งอยู่เป็นประจำโดยแอบไปกาตามหลังโรงพักควนกาหลงและบริเวณชายคลองซึ่งอยู่ห่างจากตัวอำเภอควนกาหลงไปประมาณ 1-2 กิโลเมตร

สวัสดีครับ ป้าเจี๊ยบ  ดีจังเอาไปทำเป็นแบบข้าวหลามได้ด้วย  มีโอกาสต้องลองชิม  มีคุณค่าพิเศษอย่างไร บ้างครับ

เป็นข้าวเหนียวนึ่งด้วยน้ำกะทิบรรจุอยู่ในดอกหม้อข้าวหม้อแกงลิงค่ะ  รสชาติไม่หวานแบบข้าวหลามหนองมน  แต่เค็มประแล่มๆ และหวานมันจากกะทิ

ขอบพระคุณ ขอให้มีความสุข โชคดีครับ

คนใต้(ที่อยู่เหนือซะแล้ว)

เคยกินบ่อยตอนยังอยู่ปัตตานี...เวลาขายจะเสียบไม้แนวขวาง5-6หม้อต่อไม้ อร่อยจังหู ถ้าหม้ออ่อนจะกินทั้งเหนียวทั้งหม้อ เพราะมันนุ่ม..แต่ถ้าหม้อแก่จะลอกหม้อแกงทิ้งครับ เราะมันสากและหยาบ เคี้ยวแล้วมีกาก....ขอบคุณที่นำมาให้เห็นกันอีกนะครับd

ผมว่าไม่ควรให้ข้อมูลที่ผิดนะครับ หม้อ เป็นส่วนหนึ่งของใบ ไม่ใช่ดอก

และตัวเมียกับตัวผู้ก็ไม่ได้ดูที่หม้อว่า มีสายดิ่งหันเข้าหรือหันออกจากปาก แต่ต้องดูที่ดอก ไม่ใช่ดูหม้อ

คนที่เขียนเรื่องนี้ควรศึกษาเรื่องหม้อข้าวหม้อแกงลิงให้ดีกว่านี้ก่อนที่จะเขียนบทความขึ้นมานะครับ

  • ความคิดเห็น 22 โปรดอ่าน ความคิดเห็น 14
  • ขออภัยที่ไม่ถูกใจ เนื่องจากไม่ได้เขียนบทความวิชาการค่ะ  แต่เล่าประสบการณ์ประจำวันในชีวิต
  • ใครรู้อะไรถูกต้องกว่าก็มา ลปรร กัน 
  • คุณเขียนเรื่องนี้แบบ "ถูกต้อง" ไว้ที่ไหนคะ ช่วยบอกหน่อย จะได้ทำลิงค์ไปหาข้อมูลที่ถูกต้องให้ผู้ที่มาอ่านบล็อกนี้
  • ต่อไปจะได้อ่านข้อมูลที่เป็นทั้งแบบชาวบ้านและแบบนักวิชาการ
เด็ก ป.โทถาปัตย์ศิลปากร

ผมก้เป็นคนควนกาหลงคนนึงที่โตที่นี้ช่วงระยะนึง หม้อข้าวหม้อแกงลิงกินมาตั้งแต่เด็กๆ ขนมของป้ามาตรที่พวกเราเรียก พวกเรากินมานานแล้ว ท่านขายมานานและก็อร่อยทุกอย่าง วัตถุดิบก็มีคุณภาพปัจจุบันยังขายอยู่เช่นเดิมและ ตลาดนัดบ้านซอย10ก็ยังคงมีอยู่เช่นอดีตคับ พูดแล้วก็อยากกลับไปจังเลย

ไม่ได้อะไรนะค่ะ แต่ข้อมูลมันผิดค่ะ ส่วนหม้อที่นำมาใช้นะ เป็นส่วนของใบที่นะค่ะ เป้นใบพิเศษที่เปลี่ยนแปลงไปทำหน้าที่ดักจับแมลง หรือที่เรียกว่า carnivorous leaf ค่ะ(ถ้าเลี้ยงไปนานๆ จะเก็นดอกมันค่ะ มีกลับเลี้ยง 5กลีบค่ะ) ส่วนที่บอกว่าตัวผู้นั้นเป็นหมอบ้นค่ะ ตัวเมียเป็นหม้อล่างที่เกิดกับต้นที่ยังไม่โตมาก ช่วยแก้ข้อมูลให้ถูกต้องด้วยนะค่ะ ใครที่ผ่านมาอ่านจะได้มีความรู้ที่ถูกต้องค่ะ

ขอบคุณ คุณเลดี้บอยนะคะ

ขออภัยที่ป้าเจี๊ยบคงจะไม่แก้ไขสิ่งที่เขียนไปนะคะ เพราะเป็นการเขียนข้อมูลจากการสัมภาษณ์ชาวบ้าน

เมื่อเธอเรียกว่าดอก ก็เรียกตาม เพราะเป็นภาษาที่ชาวบ้านสื่อสารกันแล้วเข้าใจ

เรื่องนี้ มีนักวิชาการมาบอกแล้วว่าเขียนผิด ลองอ่านดูในความเห็นก่อนหน้านี้ก็จะพบ

อย่างไรก็ตาม จะเพิ่ม ปล. ไว้ให้ว่าส่วนที่เรียกดอกนั้น นักวิชาการเรียกหม้อ นะคะ

(ไม่สงสัยเลยว่าทำไมเวลานักวิชาการไปทำงานกับชาวบ้านแล้วมักจะพูดกับชาวบ้านไม่รู้เรื่อง...555)

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท