คุณป้า "เบื่อ" ถักโคเชต์


นั่งคุยกับคุณป้าท่านหนึ่งที่มีอาการอ่อนแรงของมือ จนเกิดความรู้สึกเบื่อไม่อยากทำกิจกรรมที่ชอบอีกเลย

กรณีที่คุณป้าที่เริ่มสูงอายุขึ้นเรื่อยๆ กำลังวังชาก็อ่อนแรงตามธรรมชาติ เมื่อมีอาการอ่อนแรงของมือจากการทำงานผิดปกติของหลอดเลือดสมองก็ยิ่งทำให้เกิดอุปสรรคในการทำงานของมือมากขึ้น

คุณป้าท่านนี้ชอบทำกิจกรรมจำพวกใช้สายตาเยอะมากๆ เช่น อ่านหนังสือทุกเรื่อง ชอบเขียนเกมอักษรไขว้ในหนังสือพิมพ์ ชอบเพ่งดูตัวอักษรผ่าน Crossword เป็นต้น ในอดีตเป็นคุณครูและชอบถักโคเชต์

มาพบนักกิจกรรมบำบัด เพื่อต้องการฝึกการทำงานของมือให้คล่องขึ้น แต่ถามไปถามมาถึง "กิจกรรมในชีวิตประจำวัน" ตั้งแต่เช้าจนถึงเข้านอน กิจกรรมส่วนใหญ่เป็นแบบ passive participation เช่น การดูหนังสือ การดูทีวี การนอนเล่น และปนด้วยกิจกรรมแบบ active participation เช่น ทานอาหาร ทำกิจวัตรส่วนตัว

จะเห็นว่ากิจกรรมเหล่านี้เป็น routinization คือ ทำกิจกรรมไปวันๆ มีหรือไม่มีคุณค่ากับตนเองหรือไม่ ก็ไม่สำคัญ ไม่อยากที่จะคิดว่ากิจกรรมที่ควรปรับจาก passive ให้เป็น active น่าจะช่วยส่งเสริมการทำงานของมือได้ อาการเบื่อกิจกรรมที่ต้องใช้มือแบบท้าทายความสามารถและเคยทำด้วยความสนใจในอดีต แบบนี้เราเรียกว่า Leisure Sickness คลิกดูรายละเอียดที่  http://www.worldwidewords.org/turnsofphrase/tp-lei1.htm

ดังนั้นนักกิจกรรมบำบัดหรือบุคลากรทางการแพทย์อื่นๆ ควรส่งเสริมให้คุณป้าท่านนี้หรือท่านอื่นๆ เปลี่ยนทัศนคติและสิ่งแวดล้อมให้เกิดโอกาสพัฒนาศักยภาพที่มีอยู่ในการใช้มือในการทำกิจกรรมที่มีความหมาย มีคุณค่า มีเป้าหมาย และเป็นผลงานที่มีสำเร็จเป็นรูปธรรมชัดเจน (meaningful, valued, purposeful, and productive activity & participation) เช่น ท้าทายให้มีกิจกรรมเล่นเกม crossword ตัวโตๆ เน้นหยิบจับ แข่งขันกันเป็นเกมส์สนุกสนาน หรือ ให้มีการลำดับขั้นตอนการถักโคเชต์อย่างง่ายไปยาก ค่อยๆ ตั้งผลงานเป็นส่วนๆ แล้วค่อยๆพัฒนาในแต่ละวันที่เข้ามาฝึกในคลินิก คอยให้แรงใจเชียร์คุณป้าให้รู้สึกภาคภูมิใจและยอมรับในความสามารถในการใช้มือทำกิจกรรมที่มีคุณค่าในยามว่างครับ

 

หมายเลขบันทึก: 121494เขียนเมื่อ 23 สิงหาคม 2007 12:35 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 มิถุนายน 2012 13:21 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ขอบคุณบทความดีๆ จากอาจารย์ป๊อบคะ

มนุษย์ทุกคนล้วนมีกิจกรรมยามว่าง(Leisure)เป็นของตนเอง ซึ่งเกิดจากความสนใจและความต้องการที่จะทำ แต่มีบุคคลอีกส่วนหนึ่งที่ไม่สามารถทำกิจกรรมยามว่างได้ เนื่องจากถูกขัดขวางจาก1. สิ่งกีดขวางหรือวัตถุโครงสร้าง (structural barriers) 2. บุคคลที่เราติดต่อสื่อสารด้วย (interpersonal barriers) 3. ความพร้อมของตนเอง (intrapersonal barriers) กรณีของคุณป้าเกิดเนื่องจากความพร้อมของตนเอง เนื่องจากการทำงานผิดปกติของหลอดเลือดในสมอง ทำให้กล้ามเนื้อมืออ่อนแรง ส่งผลต่อการทำกิจกรรมที่ต้องใช้มือ  ปัญหาดังกล่าวทำให้เกิด Leisure sickness กล่าวคือการทำงานของร่างกายบกพร่องไป รวมถึงด้านจิตใจที่คิดว่าตนไม่สามารถทำได้หรือทำได้ไม่ดี กิจกรรมนี้ไม่มีคุณค่าต่อตนเอง เกิดความรู้สึกเบื่อหน่าย ทำให้เกิดการละเลยกิจกรรมยามว่างเหล่านี้ไป ส่งผลต่อทักษะในการทำกิจกรรม

สำหรับกรณีศึกษานี้ คุณป้าสามารถรับรู้ได้ว่าตนเองชอบทำกิจกรรมอะไร เช่นอ่านหนังสือ  เล่นเกมอักษรไขว้ Crossword และถักโครเชต์ บทบาทของนักกิจกรรมบำบัดคือการตรวจประเมินความสามารถและความบกพร่องของคุณป้า จากนั้นจึงวางแผนกิจกรรมการรักษา โดยผ่านการสังเคราะห์ ปรับและประยุกต์กิจกรรม ดังเช่นตัวอย่างของกิจกรรมCrossword และกิจกรรมถักโครเชต์ที่อาจารย์ป๊อบได้ยกตัวอย่างในบทความข้างต้น จากนั้นให้การบำบัดฟื้นฟูผ่านกิจกรรม ติดตามผล และประเมินผลซ้ำ

ขอเสริมว่าอย่าลืมเป้าหมายของคุณป้าืที่มาเข้ารับบริการทางกิจกรรมบำบัดเพื่อฝึกการทำงานของมือให้คล่องขึ้น ดังนั้นควรปรับกิจกรรมให้ท้าทายความสามารถจากง่ายไปยาก และเลือกกิจกรรมที่เหมาะสม เพื่อพัฒนาความคล่องแคล่วในการใช้มือ  นอกจากนี้ดิฉันยังเห็นความสำคัญด้านบริบทของคุณป้า คืออาชีพครูในอดีต เมื่อคุณป้าสามารถใช้มือถักโครเชต์ได้ดี เราอาจส่งเสริมบทบาทครู โดยสอนนักเรียนหรือผู้สนใจถักโครเชต์ นอกจากได้พัฒนาทักษะการใช้มือ ความคล่องแคล่วของมือ ยังส่งเสริมด้านปฏิสัมพันธ์ การเข้าสังคม ทำให้เกิดคุณค่า ความสุข และส่งผลต่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

น.ส. อารยา อารีสกุลสุข 5323018 นักศึกษากิจกรรมบำบัดชั้นปีที่3

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท