คิดเรื่องงาน (15) : หัวหน้างานที่ดี ..ต้องมีอะไรบ้าง


คิดไม่ได้ – ไปไม่ถึง

ผมมีความเชื่อที่ดูออกจะกร้าวกล้าอยู่ประการหนึ่งก็คือ  การทำงานในองค์กรเมื่อมีการมอบนโยบายแล้ว  ขุนพลทั้งระดับหัวหน้า หรือลูกน้องก็ต้องสามารถขับเคลื่อนได้เองโดยไม่จำเป็นต้อง รอการสั่งการ  จากระดับนโยบายสถานเดียว  ! 

   

ระบบ หัวหน้างาน  ในโครงสร้างข้าราชการไทยประสบปัญหาเช่นนี้อยู่หลายแห่ง  นั่นคือ หัวหน้าทำงานไม่เป็น   เพราะระบบของการได้มาซึ่งหัวหน้านั้นมักเป็นไปตามครรลองของศักดินาแทบทั้งสิ้น  ทั้งระดับขั้น, อายุราชการ,  หรือแม้แต่เด็กท่าน...ก็เป็นภาพเกลื่อนตาที่พบเจออยู่ทุกมุมเมืองในสังคม

   

ผมเองก็อยู่ในสถานะของการเป็นหัวหน้างานในองค์กร   มีเจ้าหน้าที่ในสังกัดที่ต้องดูแล  11  คน  ซึ่งนั่นยังไม่รวมการดูแลและให้คำปรึกษากับบรรดาผู้นำนิสิตอีกจำนวนมาก 

  

ผมเป็นหัวหน้างานที่ไม่เคยผ่านหลักสูตรการอบรมเกี่ยวกับการบริหารงานฯ ...  เป็นอยู่และดำเนินไปในแบบ ลูกทุ่ง...  โอกาสนี้จึงต้องการคำเสนอแนะจากท่าน ๆ ทั้งหลายในหลักคิดของการเป็นหัวหน้างานที่ดีเพื่อใช้เป็นแนวทางในการพัฒนาตนเอง

   

แต่เบื้องต้น   ผมขออนุญาตนำเสนอคุณลักษณะของหัวหน้างานที่เป็นอุปสรรคต่อการสร้างงานและสร้างลูกน้องในแบบฉบับของผมบ้างนะครับ  (นั่นคือ)

   

1. คิดไม่ออก บอกไม่ถูก  :  คุณลักษณะเช่นนี้เป็นลักษณะของการคิดไม่ได้ไปไม่ถึง  ซึ่งหัวหน้างานจะเป็นผู้ที่ขาดความรู้ความสามารถในเรื่องของการงานนั้น ๆ  ไม่มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์  ขาดทักษะและประสบการณ์การบริหารงานและบริหารคน  เวลาได้รับมอบนโยบายอันใดมาก็นำมาสร้างงาน หรือขยายงานนั้นไม่ได้   อืดอาดและว่ายวนอยู่ในท้องทะเลอันไพศาล 

  

หัวหน้างานประเภทนี้จะนิยมชมชอบกับการถูกสั่งให้ทำโน่นทำนี่  อันเป็นคุณลักษณะของการสนองคุณมากกว่าสนองงาน  หรือแม้แต่การนิยมชมชอบกับการ ชี้นิ้วสั่ง  (สักแต่ว่าสั่ง)   .. แต่ถ้าจะให้คิดรังสรรค์งานขึ้นเองก็กระทำการไม่ค่อยได้ ... 

  

ซ้ำร้ายบางทีเจอลูกน้องที่เก่งกว่าก็พาลอคติทำตัวแปลงร่างเป็น จระเข้ขวางคลอ  เฉยเลยก็มี

  

บางครั้ง,  เมื่อมีการติดตามงานก็มักจะพบว่า งานไม่เดิน  และเมื่องานไม่เดินก็มักจะโยนภาระความรับผิดชอบนั้น ๆ ลงที่ลูกน้องอย่างน่าตาเฉย  พร้อมทั้งสรรหาเหตุผลนานาประการมาเป็นคำแก้ตัว (Excuse)  เพื่อให้หลุดพ้นไปจากวังวนของหน้าที่ความรับผิดชอบ  (Responsibility) 

2.  เก่งทุกเรื่อง :  คุณลักษณะเช่นนี้เป็นลักษณะของหัวหน้าที่เต็มไปด้วยพลังความคิด  อยากทำโน่นทำนี่อยู่ไม่รู้จบ  ซึ่งก็หมายถึงการแย่งงานลูกน้องทำ  นั่นเอง   

 

หัวหน้างานประเภทนี้จะว่าไปแล้วก็ดีกว่าประเภทแรกอย่างเห็นได้ชัด  เพราะถือว่าเป็นคนที่  คิดได้ไปถึง   แต่ก็คงต้องปรับแก้กันบ้าง  เพราะนี่คือกระบวนการที่ไม่ส่งเสริมให้ลูกน้องได้มีเวทีในการแสดงความสามารถ  ประหนึ่งว่าไม่เปิดโอกาสให้ลูกน้องได้ทำงานตามวิถีคิดหรือจินตนาการ (Imagination)  และความรู้ของเขาเอง 

  

กระบวนการเช่นนี้ย่อมไม่สามารถพัฒนาสมรรถภาพด้านการทำงานของลูกน้อง หรือแม้แต่องค์กรได้เลย  หรือแม้แต่การเป็นเสมือนภาพฟ้องตนเองว่าเป็นคนที่ไม่สามารถ สอนงาน  ลูกน้องได้  รวมไปถึงการไม่ไว้เนื้อเชื่อใจ  หรือแม้แต่การไม่รู้จักหลักแห่งการบริหารงานและบริหารคน

ตรงกันข้าม,  หากถอยออกมาสักก้าว  มอบหมายความมั่นใจให้ลุกน้องได้ทำงานอย่างเต็มความสามารถก็น่าจะดีไม่น้อย  บกพร่องประการใดก็ช่วยปรับแก้   ดีงามมาก็ไม่ลืมที่จะสรรเสริญเยินยอ  (Praise)    

และทั้งสองประเด็นที่กล่าวถึงนั้น,  เป็นแต่เพียงมุมมองส่วนตัวของผมที่เก็บตกมาจากชีวิตรายวันของตนเอง  แต่ดูภาพรวมแล้วก็น่าจะมีลักษณะร่วมกับความเป็นจริงในทางสังคมอยู่บ้าง    

ผมไม่ใคร่แน่ใจว่าปัญหาเช่นนี้ต้องแก้ไขด้วยกระบวนการใดบ้าง  เพราะผมก็ไม่เคยผ่านการอบอบรมหลักสูตรของการเป็นหัวหน้าฯ จากที่ไหนมาก่อนเลยในชีวิต   ที่ทำ ๆ อยู่ทุกวันก็งัดเอาประสบการณ์ตรงมาบริหารจัดการแทบทั้งสิ้น  และยึดหลัก มนุษย์นิยม  เป็นที่ตั้ง       

แต่ที่แน่ ๆ คืนนี้ผมจะไปกรุงเทพฯ  เพื่อเข้าร่วมการสัมมนาเรื่องการพัฒนาเยาวชน  ถึงจะไม่เกี่ยวกับเรื่องการบริหารงานในตำแหน่งหัวหน้าฯ    แต่ก็น่าจะเป็นการเปิดโลกทัศน์ของการเป็นหัวหน้างานที่ดีได้บ้าง กระมัง !   

 

 

  

สุดท้าย, 

ทุกวันนี้ผมบอกลูกน้องว่า  ทุกคนต้องเป็นหัวหน้าในงานของตนเอง ... ซึ่งหมายถึง กล้าคิด กล้าทำ กล้ารับผิดชอบ (คิดให้ได้ ..ไปให้ถึง)   

 

แล้วท่านละครับ  มีหลักคิดอย่างไรกับการเป็นหัวหน้าที่ดี  เผื่อคนที่ไม่ผ่านหลักสูตรการเป็นหัวหน้างานอย่างผมจะต่อยอดพัฒนาตนเองได้บ้าง  

ขอบคุณครับ

หมายเลขบันทึก: 121260เขียนเมื่อ 22 สิงหาคม 2007 11:56 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 02:38 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (25)
P
สวัสดีค่ะ
   อันที่จริง รูปแบบของหัวหน้างาน ก็ขึ้นอยู่กับลักษณะงานตอนนั้นด้วยค่ะ ถ้าแผนกเรา เพิ่งจะก่อรูป เราเอง คงต้องเป็น leaderเต็มรูปแบบ+สอนงาน อบรมงานลูกน้องที่มี ให้คุ้นเคยและทำงานได้ดีขึ้น ดีขึ้น ช่วงนี้เราต้องเหนื่อยมากค่ะ
   และตัวเราเอง คงต้องทำตัวเป็นตัวอย่าง โดยไม่ทำตามคำสั่งของหัวหน้าเหนือขึ้นไปแต่อย่างเดียวเหมือนกัน  แต่ตรงนี้ ต้องมีศิลปะมากหน่อย รับรองได้ผล  เขาก็เด่น เราก็ดี ไม่มีอะไรเสียเลย
   พี่เองตอนเริ่มต้นทำงานที่รัฐวิสาหกิจแห่งหนึ่ง พี่จะพยายามทำผลงานให้ดีๆ มีideaกระฉูดอยู่เรื่อยๆ   แต่มอบให้ ว่าเป็น ความคิดมาจากหัวหน้าเราอีกทีค่ะ เขาชอบมาก ต่อไป พี่ กลายเป็นคนโปรด ของเขา(จริงๆ   พี่เป็นคนโปรด ของหัวหน้าทุกคน ตลอดเวลาที่อยู่ที่รัฐวิสาหกิจ...มีเคล็ดลับ) 
  และสามารถนำเสนอความแปลกใหม่ การพัฒนางานมาสู่ แผนกเราได้
จนในที่สุด เราก็สามารถแยกแผนกมาเป็นงานของเราเองอย่างเต็มรูปแบบ
   คราวนี้ อยากทำอะไร ก็ทำเลย แถมมีนายเก่า คอยback up ให้อีกต่างหาก  นายได้ดีเพราะลูกน้องนะคะ เพราะ เขาได้รับการเลื่อนขั้นให้สูงขึ้นไปค่ะ
  
    ต่อมา ก็ใช้วิธี ปกครองแบบให้โอกาสลูกน้อง มีความเมตตาสูง และ ให้ผิดเป็นครู นอกจากผิดซ้ำซาก  ตอนนี้ ทุกคนกำลังจ้องมองว่า ถ้าปล่อยให้เราบินเดี่ยวแล้ว จะไหวไหม
     ต่อมาก็กลายมาเป็นผู้นำ นักพัฒนา  ต้องใช้แรง ใช้พลังส่วนตัวค่อนข้างสูง ในการพัฒนาคน และพัฒนางาน  พยามสร้างบรรยากาศว่า การทำงานเป็นเรื่องธรรมดา เหมือนพักผ่อน ไม่เครียด สนุกในการทำงาน  ได้รับความร่วมมือดีค่ะ ไม่มีใครชอบเครียดหรอก ต้องกระตุ้น ให้ ทำงานด้วยใจ
      ต่อมา พี่สบายขึ้น ทำตัวเป็น CEO เต็มรูปแบบ เดินทางต่างประเทศ ไปเป็นกรรมการโน่นนี่  บางทีไม่ได้ มาที่ทำงานเลย  มอบหมายให้ลูกน้องทำงาน โดยไม่ใช้อำนาจ ให้ทุกคนมีส่วนร่วม มีรางวัลให้ตอบแทนพิเศษด้วยค่ะ
      สรุป.....พี่ว่า ทุกคนก็มีสไตล์ของตัวเองนะ.....และมันต้องมีศิลปะทีเดียว ยิ่งทำงานราชการ ต้องมีศิลปะให้มาก พอดี เคยทำงานรัฐวิสาหกิจมาจะทราบ ไม่มีหัวหน้าคนไหน ชอบให้ลูกน้องเด่นกว่าหรอก แต่ในกรณี พี่เอง พี่ยอมปิดทองหลังพระค่ะ คนอื่นอย่างไรไม่ทราบ แต่ ของพี่ได้ผลมากๆ ยังรักกันดีกับผู้บังคับบัญชาเก่าๆ จนบัดนี้ค่ะ นัดทานข้าวกันเสมอ
       แค่ เป็นน้ำจิ้มนะคะ จากประสบการณ์ จริงๆมีมากกว่านี้เยอะ แต่ ไม่เหมาะ จะเขียนลงค่ะ พออ่านได้ไหมคะ
   
  • เห็นด้วยว่า ทุกคนเป็นหัวหน้างานของตนเอง
  • แบบว่าต้องรับผิดรับชอบในงานที่ทำ และมีวินัยในการทำงานของตนเองค่ะ : )
  • สวัสดีค่ะ อ.แผ่นดิน
  • อยากรู้เหมือนกันค่ะว่าหัวหน้างานที่ดีๆนั้น เค้าต้องเป็นกันอย่างไร
  • เอาไว้เมื่อไหร่ที่มะเหมี่ยวได้เป็นหัวหน้างานจะมาขอความรู้กับ อ.แผ่นดินนะคะ
  • ( ขอบคุณนะคะที่เป็นห่วงแม่ของมะเหมี่ยวกับพี่สายลมค่ะ ^ ^ )
แวะมาเรียนรู้คะ...ได้ความรู้มากมายคะจากแนวคิดของอาจารย์และของท่านอื่นๆ...ตอนนี้ยังเป็นลูกน้องคะ...เจอแต่หัวหน้างานประเภทแรกคะ...นี่งานเลยเต็มโต๊ะเพราะมีหัวหน้าหลายคน...อยากได้หัวหน้างานที่ให้โอกาสและคำนึงศักยภาพของลูกน้องด้วยคะว่าไหวไหม...แถมโดนสั่งงานซ้ำซ้อนอีกต่างหาก...ประเภทสั่งวันนี้แล้วอยากได้พรุ่งนี้ก็มีเยอะคะโดนประจำ...อยากเอาข้อคิดของอาจารย์ไปแปะโต๊ะเจ้านายจังเลยคะ...เอหรือจะแอบไว้ในแฟ้มเสนอเซ็นต์ดีคะ...(งานนี้มีหวังได้เปลี่ยนงานแน่)
  • สวัสดีค่ะ  คุณแผ่นดิน ..

เรื่องหัวหน้านั้น  พูดไม่ออก  บอกไม่ถูกค่ะ  ^_^

หัวหน้าในฝันมีตัวตนอยู่จริงไหมก็ยังไม่รู้เลย  อาจจะมีเนอะ  ประเภทที่มีภาวะความเป็นผู้นำ  บุคลิกดีเยี่ยม  มองการณ์ไกล   รู้จักใช้คน  มีเป้าหมายชัดเจน  มนุษย์สัมพันธ์เป็นเลิศ  มีความรู้  สนับสนุนลูกน้อง

 

คุณแผ่นดินคะ .. มีนี่มาฝากค่ะ  สำหรับคุณแผ่นดินเลย  http://gotoknow.org/blog/naepalee/121271

  • สวัสดีค่ะ อ.แผ่นดิน
  • คิดไม่ได้ – ไปไม่ถึง  ใช่ ๆ เห็นด้วยกับคำ ๆ นี้
  •  คิดได้ ไปถึง  ถ้าไม่มีใครสนับสนุน มันก็ยากจะไปถึงได้เหมือนกันนะค่ะ เพราะไม่มีใครส่งเสริมความคิด

การเป็นหัวหน้างานที่ดีเป็นได้ยาก แต่ก็ไม่ยากจะเป็น

การเป็นหัวหน้างาน ต้องมีน้ำใจ ลูกน้องยำเกรง แก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้ ไม่ผูกโกรธ เวลาทำงาน ควรทำงาน เวลาพักผ่อน ควรพักผ่อน ชมเชยลูกน้องที่ทำงานดี หูอย่าเบา อย่าเครียดกับงานด้วย

หัวหน้าบางท่าน อาจจะใหม่ต่องาน จึงมีการคิดและการตัดสินใจช้าไปบ้าง ต้องอาศัยลูกน้องมีประสบการณ์ช่วย บอก

หัวหน้าบางท่าน ก็ไม่ยอมรับฟังความเห็นของใคร ไม่ใช่เก่ง แต่มีทิฏฐิสูง เชื่อมั่นตนเองเกินไป

หัวหน้าบางท่าน ก็สองจิตสองใจ ตัดสินใจไม่เด็ดขาด ทำให้งานล่าช้าไป

หัวหน้าบางท่าน มีความคิดดีสร้างสรรค์ แต่ไร้น้ำใจต่อลูกน้อง ใช้งานอย่างเดียว

หัวหน้าบางท่าน มีน้ำใจฟุ่มเฟือยเกินไปกับลูกน้อง ทำให้ขาดความยำเกรง

หัวหน้าบางท่าน เด็ดขาดเกินไป ไล่ออกอย่างเดียว

หัวหน้าบางท่าน มีความคิดสร้างสรรค์ แต่ชอบทำผิดให้ลูกน้องเห็น ในเรื่องงาน

หัวหน้าบางท่าน ข่มขู่ลูกน้องมากเกินไป และ เจ้าชู้ด้วย

หัวหน้าบางท่าน มีความสามารถ มีความคิดดี มีพลังขับเคลื่อนสูง มีน้ำใจ และ เอื้อเฟื้อ รู้กาละเวลา

หัวหน้าบางท่าน ชอบประจบเอาใจ และ ชอบของกำนัล

คุณแผ่นดิน เป็นหัวหน้าประเภทไหน

นี่เป็นความเห็นส่วนตัว หากทำให้ผู้ใดไม่พอใจ ต้องขออภัยมาณ.ที่นี้ด้วย

สุข สงบ เย็น

 

อ่านแล้ว สะดุ้งยังไงก็ไม่รู้...สงสัยเราเองทั้งหมด...ขอบคุณค่ะที่เขียนมาให้อ่าน...ตรวจสอบตนเอง...
หัวหน้า...
ต้องปล่อยให้น้องๆ บิน...แล้วคอยเฝ้าดู...คอยซับน้ำตา...คอยเช็ดเลือด..เวลาที่เธอบินแล้วตกลงมา...แต่เชื่อเถอะถ้าปล่อยให้บินสัก 2 รอบ...เธอจะเก่งเก่งกว่าหัวหน้าซะด้วยซ้ำ......เพราะนั่นคิอธรรมชาติ

สวัสดีครับ  พี่ศศินันท์

P

ก่อนอื่นต้องขอภัยอย่างยิ่งที่ตอบบันทึกล่าช้าเอามาก ๆ  ..ช่วงนี้ผมมีภาระกิจมากมายก่ายกองมากจริง ๆ

อ่านข้อความของพี่ที่นำมาแลกเปลี่ยนแล้ว  มองเห็นศาสตร์และศิลป์ของการเป็นหัวหน้าที่ต้อง "บริหาร"  งานได้เป็นอย่างดี  มองเห็นตั้งจุดยืนที่เข้มแข็งและการผ่อนปรนที่อ่อนงาม  หรือแม้แต่การเปิดกว้างให้ลูกน้องได้มีเวทีในการแสดงศักยภาพ  ตลอดจนการการดูแลและให้ความเมตตาต่อผู้ร่วมงาน 

โดยทั้งปวงนั้นถือเป็นวัฒนธรรมการสร้างองค์กรให้เข้มแข็งได้เป็นอย่างดี

แต่ในระบบราชการที่ผมนำเสนอนั้น  ผมเชื่อเหลือเกินว่า  บทบาทและสถานะของ "หัวหน้างาน"  นั้นค่อนข้างจะสำคัญมาก  เพราะถือว่าเป็น "ขุนพล"  ของการขับเคลื่อนกระบวนการต่าง ๆ  แต่เป็นที่น่าเสียดายว่าบางครั้งระบบการได้มาซึ่งผู้นำในระบบราชการก็เป็นปัญหาอุปสรรคต่อการสร้างและพัฒนางานอยู่บ้างเหมือนกัน

....

ขอบพระคุณครับ

 

 

สวัสดีครับ คุณพิชชา

P

ขออภัยนะครับที่ตอบบันทึกล่าช้า -

โดยส่วนตัว   ผมมองว่าหากทุกคนตระหนักอยู่เสมอว่าตนเองเป็นหัวหน้างานของตนเองนั้น  จะเป็นปัจจัยสำคัญของการทำงานและบริหารงาน  เพราะนั่นคือการรับผิดชอบต่อการงานของตนเอง  ซึ่งก็น่าจะนำพาการพัฒนาตนเองและองค์กรไปในทางที่ดีอย่างไม่ยากเย็น  เพราะการตระหนักเช่นนี้จะทำให้งานแต่ละภาคฝ่ายมีความเข้มแข็งในตัวตนของมันเอง  ไม่เป็นภาระของใคร  และการไม่เป็นภาระของใครนั้น  ก็จะช่วยให้ระบบแต่ละระบบเชื่อมโยงกันได้อย่างไม่ประสิทธิภาพ

ผมเชื่อเช่นนั้น...และยังย้ำให้ลูกน้องทุกคนเป็นหัวหน้างานของตนเอง ...

ขอบคุณครับ

 

สวัสดีครับ

P

ขอบใจมากเลยที่แวะมาทักทายและขออภัยที่ผมตอบบันทึกล่าช้า  ...

ตอนนี้พี่ก็ยึดแนวทางการเป็นพี่เป็นน้อง... ติดตามงานกันอย่างหนักหน่วงบ้างเป็นจังหวะ ๆ ..ขณะเดียวกันก็พยายามคำถึงถึงบรรยากาศเป็นที่ตั้ง.

พี่เองก็ยังต้องทำงานหนักในบทบาทของการเป็น "หัวหน้า" ..ซึ่งก็ไม่รู้ว่าจะเวิร์คหรือเปล่า .. อันนี้ต้องให้น้อง ๆ ประเมินกันด้วยตนเอง 

และขณะนี้ก็ให้ลูกน้องประเมินพี่แล้ว... ไว้ได้ผลอย่างไรจะมาสื่อสารนะครับ

 

สวัสดีครับ

P

เข้าใจและเห็นใจในสถานการณ์เช่นนั้นมาก ... ผมเติบโตจากแนวคิดของการเชื่อมั่นในความเป็นมนุษย์นิยม  ซึ่งหมายถึงการตระหนัก และศรัทธาว่ามนุษย์ทุกคนต่างมีความดีงามด้วยกันทั้งนั้น

แนวคิดเช่นนั้น,  จึงเป็นปัจจัยหนุนส่งให้ตนเองพยายามคิดเสมอว่าตัวเราเป็น "เจ้านายตัวเอง"  ซึ่งหมายถึงการรับผิดชอบงานให้ดีที่สุด  เพื่อลดความเป็นภาระของผู้อื่น ...

วิธีการคิดและบริหารจัดการของพี่ศศินันท์ sasinanda   P  ข้างต้นนั้นน่าสนใจมากครับ

...

ผมเป็นกำลังใจให้  และขอให้เป็นที่รักของ "งาน, เพื่อนร่วมงานและเจ้านาย"  นะครับ..

สวัสดีครับ คุณต้อม

P

ขอบคุณนะครับที่นำหนังสือดี ๆ มาแบ่งปันชาวบล็อกผ่านบันทึก ..

....

ภาวะความเป็นผู้นำ  บุคลิกดีเยี่ยม  มองการณ์ไกล   รู้จักใช้คน  มีเป้าหมายชัดเจน  มนุษย์สัมพันธ์เป็นเลิศ  มีความรู้  สนับสนุนลูกน้อง

คุณสมบัติข้างต้น   จะให้ครบเลยคงยากครับ... หรือถ้ามีครบ แต่บางห้วงเวลาก็อาจจะขาดเขินไปบ้าง

ถ้าโชคร้ายไม่มีคนเช่นนั้น  เราก็ยังเป็นลูกน้องที่ดี ...ใช่ไหมครับ

สวัสดีครับ

P

ขอบพระคุณอย่างยิ่งในแนวคิดดี ๆ  ที่นำมาแบ่งปัน  และผมก็ถือโอกาสนำไปแบ่งปันต่อคนในองคืกรด้วยเหมือนกัน

โดยเฉพาะแนวคิดที่สะท้อนภาพรวมที่ดูจะแจ่มชัด ว่า
การเป็นหัวหน้างาน ต้องมีน้ำใจ ลูกน้องยำเกรง แก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้ ไม่ผูกโกรธ เวลาทำงาน ควรทำงาน เวลาพักผ่อน ควรพักผ่อน ชมเชยลูกน้องที่ทำงานดี หูอย่าเบา อย่าเครียดกับงานด้วย

แน่นอนครับ...  ผมเองก็เห็นด้วยกับถ้อยคำที่ว่า

การเป็นหัวหน้างานที่ดีเป็นได้ยาก แต่ก็ไม่ยากจะเป็น

สวัสดีครับ พี่เมตตา

P

คิดถึงเสมอนะครับ -

ผมเองก็พยายามเปิดน่านฟ้าให้ลูกน้องได้บิน ๆ โฉบ ๆ  บางทีก็วางระเบิดเขาสักลูกสองลูกให้ลอง ๆ ขุด ๆ ค้น ๆ  กันบ้าง

บอกกับเขาเสมอว่า ... มีอะไรให้บอก  และมีอะไรให้ทำให้เต็มที่  ...

ต้องกล้าคิด - กล้าทำ  และกล้ารับผิดชอบ

และให้สบายใจว่า  การงานที่ผิดพลาดในกระบวนการนั้น  ผมในฐานะหัวหน้าเป็นส่วนหนึ่งของการรับผิดชอบร่วมกับเขา

ดังนั้น ...ทำให้ดีที่สุด ...

นั่นคือสิ่งที่ผมพร่ำบอกกับพวกเขาเสมอมา

....

ขอบคุณครับ

สวัสดีครับ พี่อึ่งอ๊อบ..

P

ผมแวะไปอ่านแล้วนะครับ...

แต่ขอให้เวลามันนิ่งมากกว่านี้สักหน่อยจะกลับไปเยือนบันทึกนั้นอีกครั้ง ..

และจะทิ้งรอยความคิดไว้ในบันทึกนั้นด้วยเช่นกัน

ขอบพระคุณครับ

 

สวัสดีครับ

P

คิดได้ ไปถึง  ถ้าไม่มีใครสนับสนุน มันก็ยากจะไปถึงได้เหมือนกันนะค่ะ เพราะไม่มีใครส่งเสริมความคิด
....

ผมยึดหลักการบริหารว่า "คนเราต้องได้รับโอกาสและเวทีทางความคิด" ...เสียก่อน

ถูกผิด.. ดีงาม หรือบกพร่อง  ค่อยมาว่ากัน

แต่ต้องให้เวทีเหล่านั้นกับพวกเขาเสียก่อน

....

ขอบคุณครับ

สวัสดีครับคุณแผ่นดิน

หัวหน้าที่ดี...ต้องมีอะไรบ้าง เป็นคำถามที่น่าคิดครับ

       ถ้าคนที่เป็นหัวหน้าตั้งคำถามนี้ในใจ ผมสันนิษฐานในใจว่าหัวหน้าท่านนี้จะเป็นที่เคารพรักของลูกน้องอยู่มากพอสมควร ที่ผมบอกแบบนี้เพราะคิดว่ายังมีหัวหน้าอีกมากที่ได้เป็นเพียงชื่อเท่านั้น แต่เป็นหัวหน้าที่ขาดภาวะผู้นำ ซึ่งผู้นำที่ดีนั้น ผมเห็นว่าควรจะใช้ใจนำมากกว่าอำนาจในตำแหน่งหน้าที่มานำทีม

       เท่าที่ผมนึกได้ในตอนนี้ ผมคิดว่า หัวหน้าที่ดีต้องมีใจเป็นกลางและเป็นธรรม หลังจากนั้นสิ่งต่างๆ เป็นต้นว่าแนวคิด วิธีปฏิบัติที่เหมาะที่ควรก็จะตามมาเอง ไม่ต้องฝืน จะเป็นไปตามธรรมชาติบนพื้นฐานของความรัก...รักตนเอง รักลูกน้อง รักองค์กร

 

 

 

หัวหน้างานที่ดี...ต้องมีอะไรบ้าง....ผมว่าน่าจะต้องมี sense ที่ดีด้วยครับ

 

สวัสดีครับ (ข้ามสีทันดร) /// ผมเห็นด้วยกับประเด็นคุณลักษณะอันสำคัญของหัวหน้า คือ มีความใจเป็นกลางและเป็นธรรม รวมถึงการมี sense /// .. และโดยส่วนตัวผมมองว่าการเป็นหัวหน้าที่ดีต้อง "ปกป้อง" ลูกน้องในทางที่ถูกที่ควร /// รวมถึงการให้ "โอกาส" แก่ลูกน้องได้พิสูจน์ตนเอง บนพื้นฐานหลักคิดของการเชื่อมั่นในหลักมนุษย์นิยม /// และเหนือสิ่งอื่นใด คือการเป็นแบบอย่างที่ดี โดยเฉพาะการเป็นแบบอย่างของการทำงาน /// .. ขอบคุณครับ
นารีรัตร์ หล้าอินเชื้อ

ไม่ มี รัย มาก

อิ อิ อิ 5 5 5 +

เข้ามาศึกษาการทำงานของพี่..คนเก่งของเธอ

ศรัทธาแห่งใครไม่อาจสร้างเองได้ รู้สึกได้เอง นับถือพี่นะครับผม

ขอบคุณสำหรับบทความดี ๆค่ะ

เคยเรียน ป.ตรี มมส. เคยทำ staff

พี่พนัส เป็นคนที่มี concept ของตัวเองอยู่แล้ว หัวหน้างานไม่จำเป็นต้องเหมือนกันไปหมด ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ลูกน้อง เดาว่าลูกน้องพี่พนัส ย่อมภูมิใจในตัวพี่อยู่แล้วล่ะค่ะ

แต่สำหรับตัวเองแล้ว หัวหน้า(ความจริงมีคนเดียว) แต่ต้องทำตัวมีหัวหน้าหลายคน เพราะโครงสร้างองค์กร (นี่ต้องทำไงคะ)

ขอบคุณค่ะ

  • อ่านบันทึกนี้และความเห็นของทุกท่าน ก็ล้วนแล้วแต่มีคุณค่าเหมาะสมกับการนำไปปรับใช้อย่างมากค่ะ
  • ศิลาเปิดบล๊อกเกี่ยวกับหลักธรรมนำการบริหารน่าจะมีส่วนสนับสนุนการเป็นผู้นำที่เปี่ยมด้วยคุณธรรมได้เหมือนกันนะคะ 
  • ตามความเห็นที่อยากนำเสนอก็คือผู้นำจะบริหารอย่างไร ใช้ศาสตร์และศิลป์อะไรก็ได้ให้เข้ากับบริบทของตน ทั้งนี้จะต้องเป็นผู้มีตปะ คือมีความเพียรในการแผดเผากิเลสที่อยู่ในตัวให้ได้มากกว่าคนธรรมดาทั่วไป เพราะปัญหาทุกวันนี้เท่าที่เห็นคือการเป็นผู้นำโดยตำแหน่ง ไม่ได้ยกระดับการเป็นผู้นำให้โดดเด่นเหนือผู้อยู่ใต้ปกครอง ส่วนหนึ่งคือมีกิเลสเหมือน ๆ กัน  เช่น อยากจะเป็นผู้นำที่น่าเคารพศรัทธา ก็ต้องลดละกิเลสตน ให้มีความเสียสละมากกว่าคนทั่วไป
  • ที่กล่าวมานั่นคือทางธรรม ส่วนในทางโลก ก็ควรเป็นผู้ใฝ่เรียนใฝ่รู้และเปิดรับ จากคุณสมบัติดังกล่าวนี้ จะทำให้เป็นผู้นำที่ยืดหยุ่นพาลูกน้องปรับตัวเข้ากับสถานการณ์ต่าง ๆ ได้หมด และบริหารการเปลี่ยนแปลงได้ด้วย อีกทั้งการเปิดรับ จะทำให้เป็นผู้ฟังปัญหาต่าง ๆ ของลูกน้องทุกคนและยอมรับความผิดพลาดของลูกน้องเพื่อให้เกิดการพัฒนาต่อ ๆ ไป ได้ทั้งใจและได้ทั้งผลงานระยะยาว
  • ฝากไว้เท่านี้ก่อนนะคะ ขอบพระคุณสำหรับประเด็นปัญหาที่น่าสนใจค่ะ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท