KM (แนวปฏิบัติ) วันละคำ : (385) การจัดการความรู้ภูมิปัญญาชาวบ้าน


         วันที่ 20 ส.ค. 50 ผมได้รับเชิญจากวิทยาลัยภูมิปัญญาชุมชน ม. ทักษิณ ไปแสดงปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “การจัดการความรู้ภูมิปัญญาชาวบ้าน” ที่สถาบันทักษิณคดีศึกษา (ที่เกาะยอ)  ม. ทักษิณ     เนื่องในการสัมมนาเชิงปฏิบัติการ “การจัดการภูมิปัญญาชาวบ้านรอบลุ่มทะเลสาบสงขลา”    ซึ่งจัดระหว่างวันที่ 20-21 ส.ค. 50  โดย  วิทยาลัยภูมิปัญญาชุมชน  และสถาบันทักษิณคดีศึกษา  มหาวิทยาลัยทักษิณ  ร่วมกับ สกว.
  
ผู้จัดคาดหวังผลจากการสัมมนาไว้ดังนี้
     1. ได้ภูมิลำเนาและแหล่งข้อมูลภูมิปัญญาชาวบ้านภาคใต้รอบลุ่มทะเลสาบสงขลา
     2. ทราบถึงบทบาท ภารกิจ และบริบท ภูมิปัญญาชาวบ้านรอบลุ่มทะเลสาบสงขลาในอดีตและปัจจุบัน
     3. ได้เครือข่ายภูมิปัญญาชาวบ้านภาคใต้รอบลุ่มทะเลสาบสงขลา
     4. สร้างกระบวนการเรียนรู้ระหว่างปราชญ์ท้องถิ่น และนักศึกษา นักวิชาการ และหน่วยราชการ ให้รู้จักการบูรณาการเทคโนโลยีและคัดสรรภูมิปัญญาดั้งเดิมมาเป็นทางเลือกใหม่ หรือต้นแบบ  เพื่อนำไปพัฒนาคุณภาพชีวิตและพัฒนาประสิทธิภาพการผลิตโดยการใช้ทรัพยากร  หรือวัสดุที่มีอยู่ในท้องถิ่นให้เกิดประโยชน์สูงสุด
     5. เกิดเครือข่ายความร่วมมือในการพัฒนาภูมิปัญญาชาวบ้านรอบลุ่มทะเลสาบสงขลา

         ผมได้เสนอต่อที่ประชุมว่า การจัดการภูมิปัญญาชาวบ้าน ที่สำคัญที่สุด คือการนำไปใช้ประโยชน์ต่อชาวบ้านเอง     มีการนำเอาความรู้สมัยใหม่เข้าไปผสมผสาน     เกิดเป็นภูมิปัญญาชาวบ้านสมัยใหม่     ก่อประโยชน์ต่อชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้านหลากหลายด้าน  และมีการยกระดับความรู้ภูมิปัญญาสมัยใหม่ของชาวบ้านอย่างต่อเนื่อง ไม่หยุดยั้ง      ผมได้ยกตัวอย่างการจัดการภูมิปัญญาสมัยใหม่ของนักเรียนโรงเรียนชาวนา มูลนิธิข้าวขวัญ สุพรรณบุรี      PowerPoint ที่ผมนำเสนออ่านได้ที่นี่ (click)        

         ผมบอกทีมผู้จัดงานว่า พิจารณาจากกำหนดการใน 2 วัน ผมคิดว่า จะได้ผลตามข้อ 1-2     แต่จะได้ผลตามข้อ 3-5 ไม่ชัดเจน     เพราะเป็นเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้แบบวิจัย มากกว่าแบบ KM     คือเป็นการนำเอาความรู้เชิงทฤษฎี-เชิงตีความ  มา ลปรร. กัน แบบอภิปราย (discussion)     ถ้าจะให้ได้ผลข้อ 3-5 ต้องจัดเป็นเวที ลปรร. แบบ KM (dialogue)     โดยออกแบบให้มีการ ลปรร. โดยเล่าเรื่อง (storytelling) ความสำเร็จ

         แต่ผู้จัดบอกว่า พรุ่งนี้จะมีการประชุมกลุ่มย่อย      ให้ปราชญ์ชาวบ้านแต่ละด้านจับกลุ่ม ลปรร. กัน      ซึ่งเมื่อกลับไปดูกำหนดการใหม่ ก็พบว่าพรุ่งนี้ช่วงเวลา 9.00 – 10.15 น. จะมีการประชุม 4 กลุ่ม ภายใต้หัวข้อ “การประยุกต์ใช้ภูมิปัญญาชาวบ้านกับเศรษฐกิจพอเพียง”    ในกลุ่ม
     1. ศิลปหัตถกรรม
     2. โภชนาการและเวชการ
     3. เกษตรกรรม
     4. การบริหารจัดการชุมชน

         ทักษะ KM อย่างหนึ่ง คือทักษะของ “คุณอำนวย” ในการจัดเวที ลปรร. ให้ “ความรู้ฝังลึก” (Tacit Knowledge) ออกมาทำหน้าที่ อย่างมีพลัง      ให้มีการจดบันทึก “ขุมความรู้” (Knowledge Assets) ได้     และค้นพบวิธีการเชื่อมต่อเครือข่าย “คุณกิจ” ตัวจริงในด้านนั้นๆ ให้เกิดเครือข่าย ลปรร. ความรู้ปฏิบัติที่เกิดผลต่อการปฏิบัติอย่างมีคุณค่า        

                     

การอภิปรายหัวข้อ ประสบการณ์การจัดการภูมิปัญญาชาวบ้าน  โดยคุณประยงค์ รณรงค์  และ อ. สถาพร ศรีสัจจัง  โดยมีนายพิทยา บุษรารัตน์ (กลาง) เป็นผู้ดำเนินการอภิปราย

                     

                            บรรยากาศในห้องประชุม

                      

เกาะยอ ถ่ายจากเครื่องบิน  เห็นสะพานติณสูลานนท์ ที่หัวและท้ายเกาะ 

วิจารณ์ พานิช
20 ส.ค. 50



ความเห็น (1)
หมอวีรพัฒน์ รพ หาดใหญ่

อ วิจารณ์ครับ

ผมมีความคิด อยากช่วยต่อ ยอด  ภูมิปัญญา กับ วิชาการ  เสียดายที่ไม่ได้ไปร่วมแลกเปลี่ยน

งวงตาล หรือ งวงโหนด เป็น ยา เครื่องดื่มสมุนไพร มานาน  จนลืม

องค์การเภสัชกรรม พัฒนาผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ส่วนประกอบหลัก คือ งวงตาล

เรื่องอย่างนี้ ผมบอก ชาวสทิ้งพระ  ไปหลายคนแล้ว  ผู้นำชุมชนต่างๆ

มีประโยชน์ ด้านรักษาผิวหนัง  ( แก้น้ำเหลือง )  ซึ่งเกี่ยวกับ เม็ดเลือดขาว ทำงานดีขึ้น

ชาวบ้าน ควรพัฒนาเครื่องดื่ม จากน้ำตาลสด เป็น น้ำตาลสดผสมน้ำต้มงวงตาล  แล้วนัดให้แพทย์ช่วยติดตามผู้ป่วยโรคผิวหนังเรื้อรัง  ทั้งเด็กหรือ ผู้ใหญ่

บันทึกผล การดื่ม    ความรู้นี้ จะได้ทั้งแพทย์และชุมชน  

เป็นการกู้ชาติ กู้ชุมชน  ทั้ง ภูมิปัญญา และศักยภาพการพึ่งพาตนเอง และพัฒนาต่อยอดเศรษฐกิจและ วิชา

แพทย์ จาก รพ ในชุมชนท้องถิ่น หากเข้าใจประเด็น ความเชื่อมโยง ของ ชีวิต และ วิชา ภูมิปัญญา

นอกจากนี้ สามารถพัฒนา เครื่องดื่มสุขภาพอื่นๆ ที่ใช้น้ำตาลสดเป็นฐาน  เช่น น้ำตาลสดผสมน้ำลูกมะยม  ปรับธาตุฟอกเลือด   ( คือเป็นเสมือนเอ็นไซม์ หรือ สารต้านอนุมูลอิสระ ให้แก่ร่างกาย )

ทำอย่างพอเพียง คือ ทำพอประมาณ  แปรรุป บรรจุขวดเป็นคราวๆ  ให้กับนักท่องเที่ยว หรือ ตามคำสั่งซื้อ  โดยไม่เน้นทำใหญ่โต มีต้นทุนแฝง ต้นทุนการตลาด  (  ทำอย่างกลุ่ม  อินแปง   จ สกลนคร  )

อยากมีกำลังคน   บัณฑิตในชุมชน ค่อยต่อยอดเป็นวิสาหกิจชุมชน

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท