ชีวิตที่พอเพียง : (344) ผมไม่ทำ


         คนที่ตามอ่าน “ชีวิตที่พอเพียง” คงจะคิดว่าผมทำงานหลากหลายอย่างเหลือเกิน     ซึ่งเป็นความจริง      แต่ยังมีอีกด้านหนึ่งของเหรียญแห่งชีวิต      ที่ไม่ค่อยได้หงายให้คนเห็น      คือ อุดมคติด้าน “ไม่ทำ”

         ก่อนเรียนจบแพทย์ ผมเรียนวิชา “ไม่หากินโดยเบียดเบียนคนอื่น”  จากพ่อ
     • พ่อบอกไว้ตั้งแต่เด็ก ว่าอย่าเป็นตำรวจ     พ่อคงจะฝังใจกับอะไรบางอย่างเกี่ยวกับตำรวจ (ขออภัยตำรวจดีนะครับ)
     • พ่อเลิกเป็นเอเย่นต์ขายเหล้า     เพราะปู่ขอร้องให้เลิก     เนื่องจากเป็นอาชีพที่เบียดเบียนผู้อื่น      คือชักจูงสู่อบายมุข   

         ตอนเรียนแพทย์ ผมถูกปลูกฝังว่า จรรยาแพทย์อย่างหนึ่งคือไม่โฆษณาตนเอง     ไม่อวดเก่ง     ไม่สร้างชื่อเสียงด้วยการอวดตัว      มุ่งสร้างชื่อเสียงด้วยผลงาน ให้คนเขาเห็นเอง   

         ไปทำงานในมหาวิทยาลัยต่างจังหวัด พลัดเข้าไปในดงงานบริหาร มีตำแหน่งบริหาร     มีการแข่งขันกันเพื่อให้ได้รับการสรรหาเข้าสู่ตำแหน่ง      มีการหาเสียง      ผมตั้งปณิธานว่าจะไม่เข้าสู่ตำแหน่งใดๆ โดยการหาเสียง หรือขอเสียง     ซึ่งมีมิตรหลายคนมาบอกว่าเป็นปณิธานที่ผิด     เพราะจะไม่มีโอกาสได้ทำประโยชน์แก่องค์กร     ผมไม่เถียง แต่ไม่เปลี่ยนใจ       

         คำกล่าวของมิตรเป็นความจริง คือผมไม่มีโอกาสเป็นผู้บริหารสูงสุดของมหาวิทยาลัย      แต่เขาผิดในแง่ที่ว่าผมก็ได้ทำประโยชน์แก่มหาวิทยาลัยในลักษณะ “ปิดทองใต้ฐานพระ”      คือได้มีส่วนสร้างวัฒนธรรมองค์กร      ที่ไม่แก่งแย่งแข่งดีกันจนเกินงาม      ไม่สาดโคลนใส่กัน (มากนัก)      ไม่เกิดความแตกแยกยามหาเสียงเข้าสู่ตำแหน่ง     เพราะผมคอยแสดงออกอยู่ว่ารังเกียจการหาเสียงแบบใส่โคลน หรือสร้างภาพ   

         เวลาผู้ใหญ่ หรือมิตร มาถามความสมัครใจ ผมจะตอบว่าสมัครใจรับใช้มหาวิทยาลัย     และคิดว่าทำได้     แต่จะทำได้ดีแค่ไหนไม่รับรอง     และคิดเสมอว่ามีคนอื่นทำได้ดีกว่าผม     ผมจึงไม่เสนอตัวใดๆ ทั้งสิ้น     ถ้าจะให้ผมเป็น candidate ผมยินดีเป็น     แต่ไม่ยินดีแถลงนโยบาย หรือแจ้งชื่อลูกทีม    เพราะผมไม่เคยซ่องสุมพวกพ้อง     ผมไปอยู่ที่ไหนคนทั้งองค์กรเป็นพวก     หรือมองอีกมุมหนึ่ง ไม่มีพวก     

         สิ่งที่ไม่ทำอีกอย่างหนึ่งคือ สาดโคลนใส่คนอื่น     ที่จริงผมเป็นนักวิพากษ์วิจารณ์จนคนว่าปากจัด     แต่ไม่ใช่เพื่อทำลายคนอื่น     เป้าหมายของการวิพากษ์เพื่อสร้างสรรค์     (แต่ตอนนี้ผมพบวิธีที่ดีกว่าวิพากษ์ คือวิธีหาความสำเร็จเล็กๆ มาชื่นชม     เพื่อชักชวนหรือชักจูงให้มีการดำเนินการแนวนั้นมากขึ้น)   

         อีกอย่างหนึ่งที่ไม่ทำคือเล่นการเมือง     เพราะผมไม่ถนัด     รู้ตัวว่าทำไม่เป็น ไม่เข้าใจ     ที่จริงเคยมีคนบอกผมว่าผมน่าจะเล่นการเมืองได้     แต่ผมไม่เชื่อ     เคยมีพรรคการเมืองมาชวนไปทำงานให้พรรค ผมก็ปฏิเสธ     เคยมีหนังสือเชิญไปคัดตัวเป็นสมาชิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมฯ     ผมก็ไม่ไป     คือแน่วแน่ว่าตนเองไม่ได้เกิดมาเพื่อการนี้   

         ที่ไม่ทำอีกอย่างหนึ่งคือ แก้แค้น     ที่จริงความแค้นเคยมีนะครับ     แต่ผมโชคดี ที่เป็นคนลืมง่าย     ยิ่งสิ่งไม่ดีงามผมยิ่งลืมง่าย     จึงช่วยให้ปณิธานที่จะมีชีวิตแบบไม่สั่งสมความแค้นเอาไว้แก้ บรรลุง่ายเข้า     เมื่อไม่แบกทั้งความแค้น และความละโมบ ชีวิตก็เบาสบาย        

         ตอนเป็นผู้บริหาร ผมมีปณิธานว่า ไม่ใช้หน้าที่ราชการแสวงหาประโยชน์แก่ตนเองและพวกพ้องโดยมิชอบ     ผมไม่เล่นพวก     ไม่เอาญาติพี่น้องเข้าทำงาน    จนช่วงแรกๆ ญาติมิตรไม่ชอบใจ     แต่นานเข้าเขาก็ยอมรับ     และผมได้ภาพลักษณ์ของความเป็นคนตรง     ยิ่งอายุมากเข้า ยิ่งได้ภาพนี้ชัดเจนและกว้างขวางขึ้น     สิ่งนี้เรียกว่าการสั่งสมบารมีหรือเปล่า    

          ไม่เอาผลประโยชน์เข้าตัวมากเกินไปจนตนเองเกิดความโลภ     ตอนเป็นหัวหน้าหน่วยพันธุศาสตร์ ภาควิชาพยาธิวิทยา  คณะแพทยศาสตร์  มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ผมเก็บเงินวิจัยไว้ในบัญชีพิเศษ     เอาไว้ใช้จ่ายเพื่อการวิจัยเล็กๆ น้อยๆ ที่ไม่มีทุน    หรือบางครั้งใช้ส่งลูกน้องมาประชุมที่กรุงเทพ กรณีคณะเขาไม่สามารถสนับสนุนได้     พอผมย้ายมาอยู่กรุงเทพ ผมก็โอนเงินนี้ให้ อ. หมอพรพรตดูแลใช้จ่ายต่อ    

         ตอนผมเป็น ผอ. สกว. ช่วงหลังๆ ผมได้รับเชิญไปเป็นกรรมการ หรือไปบรรยาย     แล้วเขาให้เบี้ยประชุม หรือค่าตอบแทน     ผมคิดว่าผมได้เงินเดือนจาก สกว. สูงอยู่แล้ว      เป็นเงินเดือนที่เขาให้ภายใต้ข้อตกลงว่าต้องทำงานทุ่มเทเต็มเวลา      ที่ผมรับไปเป็นกรรมการหรือวิทยากร เพราะคิดว่ามันมีผลดีต่องานของ สกว. โดยตรงหรือโดยอ้อมด้วย     แต่เงินที่ได้มาผมไม่ควรเก็บไว้เอง     ผมจึงเปิดบัญชีพิเศษ เอาเงินนี้เข้า ไว้ใช้เลี้ยงเจ้าหน้าที่ในโอกาสพิเศษ     หรือเพื่อใช้จ่ายที่ใช้เงินราชการยาก     เมื่อผมหมดวาระ ก็โอนให้ ผอ. สกว. ท่านใหม่ คือ ศ. ดร. ปิยะวัติ บุญ-หลง ดูแลเงินนี้แทน

          ตอนทำงาน สคส. ผมก็ทำเช่นเดียวกัน    ทำให้เรามีเงินพิเศษไว้ใช้เพื่อความคล่องตัว     และเป็นตัวอย่างแก่เพื่อนร่วมงานในด้านการฝึกฝนตนเองไม่ให้มีความโลภมากเกินไป   

วิจารณ์ พานิช
22 ก.ค. 50

หมายเลขบันทึก: 120927เขียนเมื่อ 21 สิงหาคม 2007 08:43 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 19:59 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
อยากให้ผู้ใหญ่ในบ้านเมืองมีความคิดแบบนี้เยอะ ๆ ครับ

ขอบพระคุณอาจารย์ที่เอาวิถีปฏิบัตินี้มาเล่าสู่กันฟังนะคะ คงมีคนไม่มากนักที่ทำเช่นนี้แล้วเจริญก้าวหน้าไปถึงขั้นที่จะเผยแพร่แนวทางนี้โดยมีคนเชื่อถือชื่นชม แต่ตัวเองเชื่อว่ามีคนที่ดำเนินชีวิตเช่นนี้อีกมากในหน่วยงานต่างๆ ท่านๆเหล่านั้นมักจะไม่มีโอกาสก้าวมาไกลจนเป็นตัวอย่างของคนทั้งประเทศได้แบบอาจารย์ ได้ก็เฉพาะเป็นแบบอย่างให้คนในองค์กรนั้นๆเท่านั้น และมักจะสร้างแรงบันดาลใจให้คนอื่นได้ไม่มาก สู้กระแสวัตถุนิยมไม่ได้

อยากให้ท่านๆเหล่านั้นเห็นคุณค่าของการเผยแพร่ เล่าเรื่องการกระทำที่ดีมีคุณธรรมเช่นนี้กันเยอะๆนะคะ เราจะได้คนเดินตามรอยดีๆเพิ่มขึ้นอีกมากมาย เพราะรู้ว่าทำแบบนี้ไม่ผิดปกติ เราพบเห็นแต่คนทำไม่ดีแต่ก้าวหน้าเป็นใหญ่เป็นโต ผู้น้อยจะว่าอะไรก็ไม่กล้าได้แต่นินทาลับหลังกันมาเยอะแล้วนะคะ  

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท