รับหรือไม่รับ...ผลที่ได้ใช่จะไร้ความหมาย


การลงประชามติเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญปี 2550 นี้ เป็นตัวชี้วัดเกี่ยวกับอารมณ์ของผู้คนที่เกี่ยวข้องกับการเมืองไทยในปัจจุบันได้ในระดับหนึ่ง แต่สิ่งที่ควรนำไปขบคิดวิเคราะห์ก็คือ ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ และความเป็น "มืออาชีพ" ของทุกท่าน ไม่ว่าจะเป็นผู้น้อยหรือผู้ใหญ่ก็ตาม

พี่น้องทุกท่านคงได้รับทราบผลการลงประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 แล้ว คงจะไม่เกินความคาดหมายเพราะมติที่ "รับ" มากกว่า "ไม่รับ" เป็นสัดส่วนประมาณ 60/40 โดยมีผู้มาใช้สิทธิ์เพียงร้อยละประมาณ 55 เท่านั้น

แต่สิ่งที่น่าวิเคราะห์ก็คือ เหตุผลของแต่ละฝ่ายในการ "รับ" หรือ "ไม่รับ" ร่าง รธน. ต่างหาก เพราะผู้ใหญ่และเพื่อนๆ หลายท่านต่างบอกตรงกันว่า ที่รับเพราะมีเงื่อนไขหรือเหตุจำเป็นอย่างไร ที่ไม่รับเพราะเหตุใด

จะไม่ขอกล่าวถึงเหตุผลของแต่ละฝ่าย เพราะทุกท่านต่างก็มีคำตอบอยู่ในใจ เพียงแต่ผมเป็น 1 ใน 45% ที่ไม่ยอมไปใช้สิทธิ์ในการลงประชามติครั้งนี้

บางท่านอาจจะตำหนิคนอย่างผมหรือคนที่นอนหลับทับสิทธิ์ ไม่ยอมไปลงคะแนนว่า ขาดการมีส่วนร่วมหรือไม่มีจิตสำนึกทางการเมือง ซึ่งก็ต้องขอบอกว่า จิตสำนึกทางการเมืองของคนที่คิดอย่างผมนั้นมี และมีอยู่มากเกินกว่าที่ใครหลายคนคิด

ลองย้อนไปในอดีตเมื่อ 2 เมษายนที่ผ่านมา มีการจัดการเลือกตั้งเพราะการยุบสภา ซึ่งมาจากการที่ท่านอดีตนายกฯ (ขณะนั้น) ไม่กล้าที่จะถูกซักฟอกจากบรรดานักการเมืองในรัฐสภา เสมือนเป็นการหนีความผิดที่ตนเองได้ก่อไว้

ดังนั้น เมื่อมีการจัดการเลือกตั้งโดยดูเหมือนว่า จะมีการใช้เสียงของมวลมหาชนในการชำระความผิดของเขา การเลือกตั้งครั้งนั้นจึงไม่มีความชอบธรรม ไม่อาจชักนำคนอย่างพวกผมให้ไปใช้สิทธิ์ได้ เพราะหากไปเลือกก็เท่ากับการรับรองว่า การจัดการเลือกตั้งครั้งนั้นมีความชอบธรรม แม้ว่าท่านจะลงมติไม่ออกเสียงก็ตาม

กลับมาที่การลงประชามติครั้งนี้ ดูเหมือนว่า ฝ่ายที่ลงประชามติ "รับ" ร่างรธน. นั้น ส่วนใหญ่เป็นเพราะประชาชนเริ่มเบื่อหน่ายการเมือง ต้องการที่จะให้บ้านเมืองกลับคืนสู่สภาพปกติโดยเร็ว ซึ่งก็มีเป็นจำนวนมาก

ส่วนฝ่ายที่ไม่รับร่าง รธน. นั้น อาจแยกเป็น 2 ฝ่ายใหญ่ก็คือ กลุ่มที่โดนชัดจูง หว่านล้อมโดยกลุ่มทุนการเมือง กับกลุ่มปัญญาชน นักวิชาการในมหาวิทยาลัยต่างๆ

กลุ่มแรก เป็นกลุ่มฐานอำนาจเก่า จากผลที่ออกมาก็พอจะทราบได้ว่าเป็นพื้นที่ของใคร ผู้แทนคนใด ซึ่งก็ไม่ยากที่จะตรวจสอบเพราะพื้นที่ที่มีการลงมติ "ไม่รับ" ร่าง รธน. นี้ ส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ภาคอิสาน และภาคเหนือ ซึ่งตามข่าวหน้าหนังสือพิมพ์ทำให้พอที่จะอนุมานได้ว่า มีการเคลื่อนไหวเพื่อ"ล้ม" การลงประชามติครั้งนี้จริงๆ

ส่วนกลุ่มที่สอง เป็นกลุ่มปัญญาชนคนชั้นกลาง กับนักวิชาการ ส่วนใหญ่คนกลุ่มนี้ไม่ได้เป็นฐานอำนาจเก่า แต่เป็นคนที่มีจิตวิญญาณประชาธิปไตย (ในระดับหนึ่ง) ในความเป็นอุดมการณ์ประชาธิปไตยนั้น ต้องขอยกย่องว่า พวกท่านเป็นบุคคลที่น่าสรรเสริญยกย่องเป็นที่สุด แต่ในส่วนลึกๆ นั้น หากได้ลองรับฟังหรือพิจารณาดีก็จะพบความข้องใจในอุดมการณ์ประชาธิปไตยหลายๆ ส่วน ดังนี้

1. จากการเข้าร่วมสังเกตการณ์การเสวนาในระยะที่ผ่านมา (โดยเฉพาะกลุ่มเครือข่าย 19 กันยาฯเก่าตามเว็บไซต์หรือหน้าหนังสือพิมพ์) นั้น ได้ขยายถึงจุดบกพร่องที่ไม่ดีไม่เหมาะสมของร่าง รธน.ปี 50 ค่อนข้างมาก แต่กรอบที่นำมาขยายเป็นเพียงส่วนเล็กๆ ที่ไม่ดี จนคนที่ไม่ได้อ่านและวิเคราะห์ร่างรธน.มาอย่างรอบด้าน อาจหลงเชื่อกลุ่มบุคคลนี้ได้อย่างง่ายดาย จนมองเห็นแต่เพียงด้านเพราะทุกท่านอย่าไปลืมว่า ความเป็นนักวิชาการนั้นต้องอยู่บนหลักการและเหตุผล ความถูกต้องชอบธรรมก็จริง แต่ความเป็นนักวิชาการนั้นเองอาจทำให้พวกเขามีมุมมองที่เป็น "วิชาการ" มากเกินไป จนบางครั้งนำมาอธิบายปัญหาสังคมและแนวทางแก้ไม่ได้ หรือได้แต่น้อยเกินไป

2.เกี่ยวกับเรื่องที่มาของ รธน. ในหลักการที่ว่า "ประชาธิปไตยต้องมีที่มาจากความเป็นประชาธิปไตย หากที่มาไม่เป็นประชาธิปไตยก็ไม่มีทางเป็นประชาธิปไตย" หรือ "ประชาธิปไตยไม่มีทางงอกออกมาจากปลายกระบอกปืน" นั้น ท่านทั้งหลายอาจลืมนึกถึงประวัติศาสตร์การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยแล้วว่า ส่วนใหญ่ล้วนแต่ใช้กำลังเข้าห้ำหั่นทำลายอำนาจเผด็จการทั้งนั้น เช่น การปฏิวัติปี พ.ศ.2475 การอภิวัฒน์โดยทหารโปรตุเกส เหตุการณ์ 14 ตุลาคม พ.ศ.2516 ทั้งหมดดังกล่าวสามารถอธิบายได้ชัดๆ หรือไม่ว่า ใช้วิธีหรือกระบวนการแบบประชาธิปไตย มีนิยามหรือคำจำกัดความว่า การขับไล่เผด็จการโดยวิถีประชาธิปไตยเป็นอย่างไร ซึ่งจากการเข้าสังเกตการณ์แล้วล้วนแต่เป็นการคาดการณ์เหตุการณ์ในอนาคตทั้งสิ้น

ตัวอย่างเช่น รธน.ปี 2540 ที่เราเชื่อเหลือเกินว่า ดีที่สุดเท่าที่เคยมีมาในประวัติศาสตร์การเมืองไทย แต่เราไม่เคยนึกถึงคำท้วงติงของผู้ใหญ่ในบ้านเมือง นักวิชาการ นักหนังสือพิมพ์ที่เคยวิเคราะห์ว่า "ระวังรธน.ฉบับนี้จะทำให้บ้านเมืองหายนะ" ผลเป็นอย่างที่ท่านเห็น เราได้รัฐบาลที่เข้มแข็ง บริหารงานมีประสิทธิภาพ รวดเร็วทันใจชาวบ้าน เศรษฐกิจดี ซึ่งก็พิสูจน์แล้วว่านำไปสู่ความพินาจย่อยยับ เรามีรัฐสภาผัวเมีย องค์กรอิสระถูกแทรกแซง กลไกตรวจสอบทำงานไม่ได้ ผู้นำมีปัญหาจริยาธรรมและผลประโยชน์ทับซ้อนแต่หาได้มีจิตสำนึกอย่างผู้นำที่ดีไม่ ที่สำคัญที่สุดคือ เรา (ทุกคน) ยอมได้อย่างไรในการให้ผู้มีอำนาจทำการปราบปรามประชาชนเพียงแค่อ้างว่าทำสงครามยาเสพติดจำเป็นต้องตัดเนื้อร้ายทิ้งบ้าง โดยหารู้ไม่ว่า การกระทำเช่นนั้นอาจมีโอกาสถูกฟ้องว่าเป็นอาชญากรสงครามได้สักวันหนึ่ง (และที่สำคัญ เราทุกคนต้องร่วมรับผิดชอบด้วยที่ส่งสัญญาณให้ผู้นำของเรากระทำเช่นนั้น...เราต้องรับผิดชอบ)

ซึ่งจะเห็นได้ว่า การที่มาจากประชาธิปไตยนั้น ไม่ได้เป็นเครื่องรับประกันว่าจะมีความเป็นประชาธิปไตยเสมอไป ตรงกันข้าม หากอ้างแต่มติมหาชนในความชอบธรรมตามแบบฉบับประชาธิปไตยแล้ว ก็มีสิทธิ์ที่จะโดนผู้ที่ขาดจิตวิญญาณประชาธิปไตยกล่าวอ้างแล้วทำตามความต้องการของตนเองแต่เพียงผู้เดียว (อยากให้ท่านไปลองดูภาพยนตร์ Star Wars Episode III: Revenge of The Sith ที่ท่านวุฒิสมาชิกอมิดาลาห์กล่าวกับกษัตริย์แห่งออลเดอรานว่า ประชาธิปไตยถูกทำลายท่ามกลางเสียงโห่ร้องอย่างบ้าคลั่งของมวลมหาชน ท่านลองเก็บไปคิดดูกับการเมืองในสมัย รธน.40 ก็แล้วกัน)

3.อารมณ์ของผู้คน ผู้นำในท้องถิ่นบางท่านใช้อารมณ์อยู่เหนือความเป็นเหตุเป็นผล เพียงเพราะข้าราชการบางส่วนทำไม่ดีกับท่าน ซึ่งอาจทำให้พวกเขาเหล่านั้นลงมติไม่รับร่าง รธน.ครั้งนี้ ซึ่งการเอาความรู้สึกส่วนตัวอยู่เหนือเหตุผลนี่เอง เป็นอุปสรรคที่สำคัญที่สุดในการพัฒนาความเป็นประชาธิปไตย หรือการพัฒนาด้านใดๆ ก็ตาม

สำหรับคนที่มีความคิดเป็นกลาง แม้ว่าเราจะไม่ชอบข้าราชการที่ใช้กำลังบังคับขู่เข็ญ หรือการใช้อำนาจบาตรใหญ่ แต่นั้นเป็นเรื่องที่จะต้องจัดการในภายหลัง ต้องคำนึงถึง "สิ่งสำคัญกว่าในภายหน้า" มากกว่าจะตัดสินสิ่งที่อยู่เบื้องหน้า ณ ขณะนี้ ซึ่งหากตัดสินใจผิด อนาคตที่ดีกว่าก็จะสูญหายไปทันที

ข้อเสนอแนะ

แม้บางท่านจะเห็นว่าบันทึกชุดนี้ออกไปในแนวทางสนับสนุนการรับร่างมากกว่าไม่รับร่างก็ตาม แต่ความเป็นจริงผมอยากที่จะให้มีช่อง "ไม่ลงคะแนนเสียง" หรือช่องที่ว่า รับเพราะเหตุใด ไม่รับเพราะเหตุใด เพราะสิ่งที่หลายคนกระทำแบบเดียวกันก็คือ ไม่เห็นว่าจะต้องถูกเลือกให้ "รับ" หรือ "ไม่รับ" เพราะทุกคนรู้ดีว่า ไม่ว่าจะออกมาในรูปแบบใดอำนาจก็ยังมิอาจอยู่ในมือของประชาชนอย่างแท้จริง

ทางเลือกสำหรับการเมืองไทยก็คือ เราจะต้องสร้างฐานความเป็นประชาธิปไตยที่เหมาะสมกับสังคมไทย (ที่ไม่เหมือนประชาธิปไตยแบบตะวันตก) เริ่มที่ตัวบุคคล ชุมชน ครอบครัว โรงเรียน หน่วยงาน จนถึงระดับประเทศ อาจจะใช้เวลานานเป็น 10-20 ปี แต่ควรต้องเริ่มทำเดี๋ยวนี้ ถึงแม้จะเคยได้ฟังจากพี่ๆ เพื่อนๆ ที่เป็นนักกฎหมายว่า คงจะต้องทำใจที่เมืองไทยของเราอาจจะย่ำอยู่อย่างนี้อีกหลายสิบปีเพราะความเป็นเครือญาติ พวกพ้องและศักดินา 

แต่หากเราทำให้คนเข้มแข็ง ชุมชนเข้มแข็ง ประชาสังคมเข้มแข็งแล้ว ไม่ว่าใครขึ้นมามีอำนาจ จะเป็นนักการเมือง ข้าราชการ นายทุน ทหาร ฯลฯ เขาก็จะไม่สามารถใช้อำนาจได้ตามอำเภอใจอีกต่อไป เรานั่นแหละที่จะมีอำนาจในการบังคับควบคุมเขาเหล่านั้น

ฝากถึงนักวิชาการ ปัญญาชน รวมถึงท่านผู้นำทั้งหลาย ขอให้ท่านกลับไปคิดทบทวนดู โดยเฉพาะเรื่อง "ความชอบธรรม" กับ "เจตจำนงทั่วไปของระบอบประชาธิปไตย" ก็แล้วกันครับ

สวัสดี  

หมายเลขบันทึก: 120774เขียนเมื่อ 20 สิงหาคม 2007 13:18 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 19:59 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

ผมก็เป็นคนหนึ่งที่ไม่ได้ไปร่วมลงประชามติในครั้งนี้  ไม่ใช่เพียงเพราะความขี้เกียจหรือไม่รักประชาธิปไตย

แต่จากความคิดเห็นของผมแล้ว

การลงประชามติครั้งนี้  ไม่เป็นประชาธิปไตยด้วยซำ

เราไม่ควรแม้แต่จะยอมรับรัฐธรรมนูญที่มารัฐประหารด้วยซำ แม้จะมีบางคนบอกว่า ปี 40 เองก็มาจากการรัฐประหาร  นั่นก็ถูก

แต่เราจะยอมให้รัฐประหารเป็นส่วนหนึ่งของระบอบประชาธิปไตยไม่ได้

ไม่เช่นนั้นเราก็คงจะโดนฉีกรัฐธรรมนูญอยู่เรื่อยๆ

จริงอยู่ว่าปี40อาจจะยังไม่ดีที่สุด แต่เราก็สามารถร่วมกันแก้ไขได้  หากลองใช้ไปแล้วไม่เกิดผลดีแก่ประเทศ

แม้จะเป็นกฏหมายสูงสุด แต่มันไม่ต้องตายตัวก็ได้

พร้อมเมื่อไหร่ก็ปรับ เปลี่ยนไปตามยุคสมัย

แต่การรรัฐประหารโดยตัวมันเองก็ขัดกับรัฐธรรมนูญอยู่แล้ว   ถ้ายอมให้ปืนอยู่เหนือรัฐธรรมนูญประเทศจะพัฒนาไปได้อย่างไร

ถ้าเรายอมรับฉบับที่มาจากรัฐประหารก็หมายความว่าเราพร้อมที่จะให้เกิดรัฐประหารอีกได้ทุกเมื่อ

ดังนั้นในความเป็นจริงแล้ว  เราควรที่จะ  ไม่เอา รัฐธรรมนูญ ปี 50 ไม่ใช่แค่เพียงไม่รับเท่านั้น

เพราะการแค่ ไม่รับ ก็เท่ากับว่าเราอยู่ในระบบของรัฐประหารเช่นเดียวกัน

ผมคิดว่าการ ไม่เอา มีทางออกอยู่สามทาง

1   ออกเสียงไม่รับ(สำหรับผู้ที่อยากชนะในระบบของเผด็จการ)

2 ทำบัตรเสีย หรือเขียนด่า คมช (สำหรับผู้ที่อยากชนะในระบบของเผด็จการ แต่พร้อมที่จะประกาศให้รู้ว่ากูไม่ยอมมึง)

3 งดไปออกเสียง (สำหรับผู้ที่เห็นว่าการลงประชามติไม่เป็นประชาธิปไตย  และไม่ยอมอยู่ใต้ระบบของเผด็จการ)

ซึ่งหากเราเอาผลของทั้งสามทางเลือกนี้มารวมกันแล้ว

ผมว่ารัฐบาลชุดนี้คิดหนักแน่นอน

ด้วยความเคารพ

อาจิณโจนาธาน อาจิณกิจ

ไม่มีรูป
อาจิณโจนาธาน
เมื่อ จ. 20 ส.ค. 2550 @ 13:56 [355751] [ลบ]
สวัสดีครับ
ผมคงไม่ต้องบอกความรู้สึกที่แท้จริงที่มีต่อการลงประชามติครั้งนี้นะคับ เหตุผลก็คือ เหมือนการเลือกตั้งวันที่ 2 เม.ย. 49 ครับ
แต่ประเด็นที่สำคัญที่ทำให้ผมต้องวิพากษ์แนวทางประชาธิปไตยที่เกี่ยวข้องกับ รธน.ปี 50 นั้น เนื่องจาก
1.การบิดเบือนในการลงประชามติ เราจะรู้ได้อย่างไรว่า จังหวัดที่ไม่รับ รธน.ปี 50 นั้น มาจากการที่ประชาชนมีความรู้ความเข้าใจในระบอบประชาธิปไตยโดยแท้จริง ซึ่งความจริงคงจะมีอยู่บ้างแต่ไม่ใช่ทั้งหมด ยังมีอีกเป็นจำนวนมากที่หลงเชื่อหัวคะแนน นักการเมือง กลุ่มอำนาจเก่า เพราะผมทำงานในพื้นที่ชนบทภาคเหนือจึงพอจะรู้อะไรๆ ได้บ้าง ซึ่งคงไม่จำเป็นต้องอธิบาย (เอกสารบางอย่างถูกปล่อยออกมาตั้งแต่ต้นปีเพื่อดิสเครดิตรัฐบาลนั้นมีเป็นจำนวนมาก)
2.ความเหมาะสมของการมอบอำนาจในการปกครองให้อยู่กับมือของประชาชน เราคงต้องสนใจคำถามนี้ เพราะหากเรามอบอำนาจของมวลมหาชนไปให้แก่ผู้นำที่ "ขาดจิตวิญญาณความเป็นประชาธิปไตย" แล้วล่ะก็ หายนะจะมาถึงในไม่ช้า และผลของมันจะลึกซึ้ง รุนแรงมาก เพราะประชาชนจะหลงกล หลงเชื่อ รักและ เคารพศรัทธาอย่างไม่ลืมหูลืมตา คนที่มีความเห็นต่างกับผู้นำในระบอบนี้ก็จะถูกโดดเดี่ยว สิทธิชนส่วนน้อยที่ถูกกระพือให้เห็นเป็นผู้ร้ายอาจจะถูกผู้นำโน้มน้าวให้มวลมหาชนสนับสนุนให้ใช้กำลังจัดการ เหมือนกรณีฆ่าตัดตอน และปัญหาชายแดนภาคใต้ 
3.ความเป็นผู้นำ ไม่ว่าจะเขียนรัฐธรรมนูญไว้ดีเพียงใด ก็ไม่สามารถป้องกันคนไม่ดีเข้ามามีอำนาจ ถ้าหากมาจากระบอบประชาธิปไตยอย่างถูกต้อง อย่างที่กล่าวกันไว้ว่า ผู้นำตามเสียงข้างมากย่อมเป็นผู้นำที่ได้รับการไว้วางใจสูง หากแต่ถ้าผู้นำคนนั้นขาดความรู้สึกผิดชอบชั่วดี ไม่รู้ผิดถูก ไม่รู้ที่ต่ำที่สูง ไม่รู้ว่าอะไรควรไม่ควร เห็นแต่ระโยชน์ส่วนตัวและพวกพ้อง แม้ว่าจะเป็นผู้ที่มวลมหาชนสนับสนุน หากแต่อ้างเสียงส่วนใหญ่เพื่อปราบปรามชนส่วนน้อย ก็อาจเป็นทรราชได้เช่นกัน
ผมถึงเห็นว่า คณะรัฐประหารชุดนี้ง่ายต่อการขับไล่มากกว่า เพราะไม่ได้มีที่มาจากมวลชน ไม่ต้องการความจงรักภักดีจากมวลชน จึงไม่จำเป็นต้องสร้างความศรัทธากับมวลชน แต่ก็ยังรู้สึกผิดชอบชั่วดี (หน้าบาง)บ้าง หากแต่เทียบกับผู้นำที่มาจากระบอบประชาธิปไตยแต่ไม่รู้จักผิดชอบชั่วดี อ้างแต่เสียงมวลชนสนับสนุน ขับไล่อย่างไรก็ไม่ไป ซ้ำยังก่อให้เกิดความแตกแยกของประชาชนในประเทศอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อนในประวัติศาสตร์รัฐสยาม
เราคิดว่า ใครเป็นอันตรายต่อประชาธิปไตยมากกว่ากัน?

สวัสดีครับ

ในส่วนที่คุณตอบผมมาทั้งสามข้อ  กรุณาคิดให้ดีนะครับ   ผมจะขอตอบที่ละประเด็น

1 การบิดเบือนในการลงประชามติ  ผมมั่นใจอย่างยิ่งยวดว่าแม้ฝ่ายที่ไม่รับรัฐธรรมมูญบางส่วนจะหลงเชื่อหัวคะแนนหรือที่คุณบอกว่าเป็นการบิดเบื่อนรัฐธรรมนูญจากกลุ่มอำนาจเก่า  ผมก็ต้องขอถามต่อไปว่าการโฆษณาถึงข้อดีด้านเดียวของรัฐธรรมนูญในสื่อของรัฐบาลอย่างยาวเหยียดทุกวันนั้นมันแฟร์ต่อฝ่ายที่เขาไม่รับไหม  มีตอนไหนบ้างที่รัฐให้โอกาสอีกฝ่ายในการชี้แจงในเวทีสาธารณะ  และถามอีกหน่อยว่าฝ่ายที่รับรัฐธรรมนูญ ทุกคนได้อ่านและทำความเข้าใกบรัฐธรรมนูญด้วยตัวเองหรือเปล่า   ทุกคนก็ฟังจากการชวนเชื่อของรัฐทั้งนั้น

2ความเหมาะสมในการมอบอำนาจของการปกครองให้อยู่กับมือของประชาชน  นั่นซิครับ คำถามนี้สำคัญ "ผู้นำที่ขาดจิตวิญญานความเป็นประชาธิปไตย"  คุณว่า  คมช  เข้าข่ายที่คุณว่าหรือเปล่าละ เพราะประชาชนจะหลงกล หลงเชื่อ รักและ เคารพศรัทธาอย่างไม่ลืมหูลืมตา   โดยขาดจิตสำนึกทางประชาธิปไตยไงครับ

3ความเป็นผู้นำ   หากคุณคิดว่าผู้นำที่มาตากระบอบประชาธิปไตยมีข้อเสียมากขนาดนั้น  แล้วคุณต้องการผู้นำที่มาจากรถถังหรือไง

จริงอยู่แม้ระบอบประชาธิปไตยจะคัดสรรคนที่ดีร้อยเปอร์เซ็นไม่ได้แต่อย่างน้อยก็มาจากเสียงส่วนมาก ไม่ใช่การแต่งตั้งจากคนบางคนหรือจากอำนาจทางทหารเท่านั้น

แล้วคุณคิดว่ารัฐบาลไหนง่ายต่อการขับไล่มากกว่ากัน

รัฐบาลที่มีปืนกับไม่มีปืน

รัฐบาลเผด็จการกับประชาธิปไตย

รัฐบาลที่มีฝ่ายค้านกับไม่มีฝ่ายค้าน

รัฐบาลที่มีกฎอัยการศึก กฎหมายความมั่นคง หรือ

แล้วคิดว่าใครเป็นอัตรายต่อประชาธิปไตยมากกว่ากันครับ

ด้วยความเคารพ

สวัสดีครับ

ผมขอตอบทีละข้อก็แล้วกัน

1.การบิดเบือนในการลงประชามติ เผอิญผมเห็นว่าฝ่ายที่รณรงค์ไม่รับร่าง รธน.ส่วนหนึ่งนั้น ไม่ไล่ประเด็นข้อดีข้อเสียของ รธน.ดังที่คุณว่า เพราะมันยากที่ชาวบ้านอย่างผมจะเข้าใจ จึงใช้วิธีการบิดเบือนที่ง่ายๆ แต่ได้ผลดีมาก ประเด็นก็คือ การรณรงค์ไม่รับร่างในลักษณะนี้เป็นการทำลายจิตวิญญาณประชาธิปไตยอย่างร้ายแรง

ผู้มีอำนาจไม่ว่าใครๆ มักไม่ยอมเผยข้อบกพร่องหรือข้อผิดพลาดของตนเองหรอก ก็ประชาชนเรานี่แหละที่ต้องตรวจสอบและหาข้อผิดพลาดมาตีแผ่ให้สังคมภายนอกรับรู้ ซึ่งก็เป็นหน้าที่ของประชาชนตามวิถีทางประชาธิปไตยอย่างหนึ่งใช่ไหมครับ? 

แล้วคุณอ่าน รธน.ฉบับนี้ครบหรือยังครับ ถ้าอ่านครบแล้วกรุณาโพสต์มาอีกทีนะครับ ผมจะได้รู้ว่าข้อดีข้อเสียมันมีกี่ข้อ แล้วมันตรงกับที่ผมวิเคราะห์หรือเปล่า?

2.ความเหมาะสมในการมอบอำนาจของการปกครองให้อยู่กับมือของประชาชน ให้คุณลองวิเคราะห์เอาเองแล้วกันครับว่า อดีตท่านผู้นำกับประธาน คมช. ใครจะมีจิตวิญญาณประชาธิปไตยมากกว่ากัน

ที่จริงเรื่องหลงเชื่อ รักและศรัทธาอย่างไม่ลืมหูลืมตานั้น ถ้าหน้ามืดตามัวหลงเชื่อจริงอย่างที่คุณว่า ก็คงไม่มีคนอย่างคุณและอีกนับสิบล้านคนที่ vote no หรอกครับ จริงไหม?

3.ความเป็นผู้นำ ถ้าผู้นำตามระบอบมีข้อเสียมากนสิครับ เราจะได้ออกแบบระบบการเมืองใหม่ๆ ที่ไม่ให้เขาใช้อำนาจตามอำเภอใจอีกต่อไป

เพียงแต่ว่า ตรรกะบางอย่างที่คุณใช้มันอาจจะต้องปรับปรุงบ้าง เพราะการปกครองในระบอบประชาธิปไตยในปัจจุบันซับซ้อนขึ้นเรื่อยๆ รัฐบาลที่มาตามรูปแบบประชาธิปไตยจึงอาจเป็นอันตรายพอๆกับรัฐเผด็จการ หากขาดการตรวจสอบที่ดีพอ

ผมสงสัยครับ ว่าน้ำเสียงของคุณในโพสต์นี้ออกจะใส่อารมณ์ไปหน่อย แต่อย่างไรก็ขออภัยด้วยที่เขียนบทความไม่ถูกต้องตามใจคุณครับ

ขอเน้นย้ำครับ ลองคิดกันเองว่า ถ้าผมเห็นว่าผู้นำที่มาจากรถถังดีกว่าผู้นำตามระบอบประชาธิไตยแล้ว ผมจะเขียนบทความนี้คิดมาทำไมให้ปวดหัวเปล่าๆ ครับ

ขอบคุณครับ

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท