จารุวัจน์ شافعى
ผศ.ดร. จารุวัจน์ ชาฟีอีย์ สองเมือง

สร้างเป้าหมายให้ชัดเสียก่อน


ต้องขออภัยที่ บทความของผมก่อนหน้านี้ไปหยิบเรื่องหลักสูตรมานำเสนอก่อน จนดูเหมือนว่า กระบวนการบูรณาการอิสลามในการจัดการเรียนการสอนจะต้องเริ่มจากหลักสูตร 

ความจริงการจะสร้างให้เกิดการสอนตามแบบอิสลาม  อาจยังไม่ต้องหยิบหลักสูตรมาคิดก่อน  เพราะขั้นแรกของการดำเนินการ น่าจะเป็นการสร้าง "เป้าหมาย" ที่ชัดเสียก่อน  และคำว่า เป้าหมาย ที่ว่าก็มีหลายระดับครับ เอาเป็นว่าเป้าหมายสูงสุดก็น่าจะถูกนำเสนอออกมาในรูปแบบของ "ปรัชญา"  ตามมาด้วย "วิสัยทัศน์" และ "วัตถุประสงค์ในแต่ละหลักสูตร" ในแต่ละช่วงชั้น เป็นต้น

 ที่นำเสนอแบบนี้ ก็เพราะว่า ครั้งหนึ่งเคยไปเป็นวิทยากรกระบวนการในการพัฒนาหลักสูตรอิสลามศึกษา ให้กับกลุ่มโรงเรียนในโครงการหนึ่งโรงเรียนสองระบบ ที่เป็นปัญหามากที่สุดก็คือ การสร้างภาพที่ต้องการในอนาคต เนื่องจากเมื่อใช้สองหลักสูตรในหนึ่งโรงเรียน ภาพอนาคตก็กลายเป็นสองภาพ ซึ่งก็เป็นปัญหาพอสมควรในการพัฒนาหลักสูตร เนื่องจากภาพอนาคตของหลักสูตรสถานศึกษาที่มีอยู่ไม่ได้ให้ความสำคัญกับอิสลามศึกษาเลย เหตุผลที่เขาไม่ได้มองอิสลามศึกษาเป็นภาพของการจัดการเรียนการสอนในโรงเรียนประถมของรัฐ ก็คิดง่ายๆ ได้ว่า เนื่องมาจากการที่คนในโรงเรียนได้รับการฝึกให้คิดเหมือนๆ กันทั้งประเทศ ทั้งๆ ที่ในพื้นที่นี้มีจุดต่างอยู่เยอะ

 ที่นี่ ต้องมานั่งคุยกันว่า วิสัยทัศน์ของการจัดการเรียนการสอนที่บูรณาการอิสลามในหลักสูตรเลยนั้น ควรมีภาพเป็นอย่างไร

คำตอบเบื้องต้นคือ ต้องมองย้อนกลับไปที่ว่า อิสลามมองการศึกษาไว้อย่างไร?

ยังไม่มีคำตอบจากผมครับ ขอรบกวนท่านผู้อ่านร่วมกันแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันก่อนแล้วกันครับ 

หมายเลขบันทึก: 120773เขียนเมื่อ 20 สิงหาคม 2007 13:09 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 19:59 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

อาจารย์ผมขอเล่าประสบการณ์ในฐานะที่อยู่ในวงการนี้ นานเกือบเท่าชีวิต

  • อิสลามศึกษาบ้านเรา พัฒนามาจากการศึกษาปอเนาะ ที่สอนศาสนาและภาษาอาหรับ มีหนังสือเป็นหลักสูตรและสื่อการสอน สอนแบบ One Way Take It
  • แปรสภาพปอเนาะ เป็นโรงเรียน มีโต๊ะ มีก้าวอี้ มีกระดานดำ มีเครื่องแบบนักเรียน หลักสูตรก็ยังเป็นหนังสือ วิธีการสอนก็ แบบเดิมอยู่อีก
  • เป้าหมาย ชัดเจนครับและชัดเจนมากด้วย คือ ให้รู้เรื่องศาสนาสามารถนำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้ สรุปคือ ต้องการให้เป็นคนดีตามแบบที่อิสลามต้องการ (ทักษะด้านทำมาหาเลี้ยงชีพเรียนรู้เอาเองในสังคม)
  • หลักสูตรสามัญเข้ามา.. มีเรียนภาษาไทย เรียนชีวิตสังคมอื่นๆมากขึ้น เรียนทักษะบ้าง เช่นตัดเย็บ ฯลฯ เริ่มแรกใช้หลักสูตรศึกษาผู้ใหญ่ และยังเน้นเรื่องศาสนา (เป้าหมายชัดเจน ครับ)
  • ประถม-มัธยม เข้ามามีส่วนแบ่งในโรงเรียน โรงเรียนแบ่งออกเป็น 2 ภาค (เป้าหมายก็ชัดเจนอีกนั้นแหละ แต่แบ่งออกเป็นสองเป้าหมาย ครูไปทาง อุสตะไปทาง ไปพร้อมๆกัน ไปกันได้ครับ)
  • บางแห่ง ศาสนารู้สึกว่า จะแผ่ว สามัญเข้มแข็ง นักเรียนที่จบมาเรียนต่อสามัญมากขึ้น ศาสนาก็เรียนต่อต่างประเทศ (ผมยังคลำหาเป้าหมายที่เขาต้องการอย่างแท้จริงไม่ได้ จะว่าสอนให้รู้เรื่องศาสนาไปปฏิบัติ แต่ไม่เห็นเน้น จะว่าต้องการให้เรียนสามัญก็ไม่ค่อยส่งเสริมเท่าไร)
  • มาเป็นหลักสูตรบูรณาการ 2535 (เขาเรียกอย่างนั้น จริงๆไม่ใช่เลย เป็นการเอาหลักสูตรศาสนา 2523 มารวมกับหลักสูตร 2521(ปรับปรุง) และผมคนหนึ่งที่เป็นกรรมการ ก็ถามเขาเหมือนกันว่า ทำไมไม่เปลี่ยนยกเครื่องเลยเป็นบูรณาการจริงๆ ก็ได้รับคำตอบทำนองว่ากลัวการเปลี่ยนแปลง กลัวชาวบ้านไม่ยอมรับ) เป้าหมาย เด็กจะได้อะไร ตรงนี้ผมเองก็เลือนลาง..เหมือนกัน ..
  • ปัจจุบัน หลักสูตรอิสลามศึกษา.. ไปทางไหน.. มีจุดประสงค์อะไร .. ถ้าให้ผมสรุป เป้าหมายคือ.. การเมืองครับ.. ส่วนเด็กจะไปทางไหน.. แล้วแต่ความสามารถที่เขาเรียกว่า พรสวรรค์ ที่มีอยู่กับเด็ก
  • ยิ่งโรงเรียนสองระบบด้วยแล้ว .. ผมยิ่งมองไม่เห็น เพราะนอกจากเนื้อหาที่มีอยู่ที่มีปัญหา.. ตัวแบบอย่างที่เป็น Model ก็ไม่มีด้วย แถมนโยบายขึ้นอยู่กับผู้บริหารโรงเรียนเสียอีก .. แล้วอิสลามศึกษาจะได้อะไร 

เพิ่มเติม

  • วันนี้มีนักเรียนโรงเรียนสอนศาสนาแห่งหนึ่งมาถามว่า แต่งหน้าเดินพาเหรดได้ไหม
  • จริงๆ อย่าว่าแต่แต่งหน้าเลย เดินพาเหรดนั้นก็ผิดอยู่แล้ว..แต่ โรงเรียนสอนศาสนาอิสลาม เขาทำกัน และนักเรียนคนนั้นบอกว่าไม่ทำไม่ได้กลัวผิด...แล้วแบบนี้เขามีจุดหมายอะไร
  • โรงเรียนสอนศาสนาบางแห่ง เรียนสามัญ 5 คาบ เรียนศาสนาแค่ 2-3 คาบ ต่อวัน .. (แล้วไปเรียกว่าเป็นโรงเรียนสอนศาสนาได้ไง..งง)
  • ช่วยตอบที
  • แล้ว.. เขามีเป้าหมายหรือวัตถุประสงค์ อะไร

 

P

Ibm ครูปอเนาะ

ขอบคุณมากครับ ข้อเสนอของอาจารย์ทำให้เราได้เห็นภาพชัดขึ้นว่า เมื่อไรที่เป้าหมายไม่ชัด การก้าวเดินที่ผิดพลาดก็เกิดขึ้นได้อย่างไม่รู้ตัว

 

โรงเรียนสองระบบฟังดูเหมือนง่ายแต่ทีจริงทำได้ยาก เพราะอีกหลายอย่างยังขาดบุคลากรที่เชี่ยวชาญในหลายๆด้าน

เพราะฉะนั้นต้องเริ่มจากการปรึกษาหารือในหลายๆฝ่ายของผู้นำอิสลามเพื่อที่จะได้ชี้แนวทางที่ถุูกต้องให้กับบุคลากรทางการศึกษา

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท