ถอดความรู้จากการทำงานช่วง Tsunami: การบริหาร ทรัพยากร


ทรัพยากรที่สำคัญและใช้อย่างสิ้นเปลืองมากในช่วงเวลาคับขัน คือ "อารมณ์"

ถอดความรู้จากการทำงานช่วง Tsunami: การบริหาร ทรัพยากร

โดย นพ. ก้องเกียรติ เกษเพ็ชร์

 


    ในช่วงเหตุการณ์ การบริหารจัดการเรื่องทรัพยากรคงเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ และการจัดการเพื่อให้มีเพียงพอ เป็นเรื่องสำคัญ เพราะการขาด อาจจะเป็นปัญหาถึงกับความเป็นความตายของชีวิต แต่ผมเชื่อว่าการจัดการเพื่อให้ "มีของ" พอเพียงในการใช้งาน ไม่น่าจะเป็นเรื่องยาก และใช้สามัญสำนึกในการจัดการ หรือ ตำราหลายเล่มก็มักจะพูดเป็นหลักไว้เช่น 5 M (man,machine,money,material, management) ก็ใช้ได้อย่างดีในช่วงเวลาคับขัน

 

แต่ที่จะนำเสนอ เป็นบทเรียนที่ได้รับในช่วงเหตุการณ์คือ "การบริหารอารมณ"์ ให้ "อารมณ์ดี" มีเพียงพอในการปฏิบัติงานเพื่อแก้ไขปัญหาให้ลุล่วงไปได้อย่างดี และมีประสิทธิภาพ

 ในช่วงปฏิบัติงานที่ต่อเนื่อง และกดดันในช่วง Tsunami พบว่ามีหลายเหตุปัจจัยเข้ามากระทบ และพัฒนาไปในทิศทางที่ใช้อารมณ์อย่างสิ้นเปลือง จนถึงขั้นหมดอารมณ์ และทิ้งงานไปเลย ได้แก่

1. ความอ่อนล้าทางร่างกาย

2. สภาพของอารมณ์ภายนอก

3. ความติดขัด อุปสรรค และความขัดแย้ง

4. ความสับสนในคุณค่าของงานและตนเองในสภาพการณ์นั้น 

 


ความอ่อนล้าทางร่างกาย

 

ต้องยอมรับอย่างหนึ่งว่า กายกับใจนั้นไม่ไกลกัน กายนั้นอ่อนล้าได้ง่าย หากต้องตรากตำ ทำงานอย่างต่อเนื่อง และในช่วงนั้น จากจำนวนคนไข้ที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก ทำให้ต้องทำงานอย่างต่อเนื่องไม่หยุดหย่อน ร่างกายก็เริ่มแสดงอาการเจ็บ ปวด บางคนเดินจนเท้าพอง บางคนเจ็บเข่า ที่เป็นกันมากคือง่วงนอนเพราะไม่ได้นอน

    สัญญาณความอ่อนล้า ทางกายเหล่านี้มีผลต่ออารมณ์มาก รอยยิ้มเริ่มหายไป พูดน้อยลง ไม่สบตาคนอื่น ก่อเป็นผลต่อเนื่องจากทุกข์ทางกาย สู่ทุกข์ทางใจ  หลายคนหาทางแก้ไขโดยการกินยาแก้ปวด  ยาชูกำลัง (น่าสนใจครับ ผมเองก้ได้มีโอกาสกินเครื่องดื่มชูกำลังหลากหลายยี่ห้อในช่วงเวลานั้น อร่อยดี) แต่ช่วยไม่ได้มาก ปัญหาคือหากต้องทำงานต่อไป ร่างกายที่อ่อนล้าขึ้นเรื่อยๆ จะใช้ "ใจ" เป็นพลังงานแทนกาย หรือที่เรามักเรียกว่า "ทำด้วยใจ" ผมพบว่า "ใจ" เป็นยิ่งกว่า "ก๊อกสอง" ของน้ำมันรถจักรยานยนต์ "แรงใจ" นี้ไม่รู้อยู่ที่ไหน แต่พอมาแล้ว ออกฤทธิ์อย่างมหาศาล จนก่อเป็นพลังงาเหลือคณานับ 

แต่ด้วยความเป็นจริงแห่งธรรมชาติ ภาวะ "หมดใจ" ก็เกิดขึ้นได้ หากความเจ็บปวด อ่านล้าของร่างกาย เอาชนะ หรือ เป็นตัวใช้ "แรงใจ" จนหมด ทำอย่างไรถึงจะค่อยไใช้ "แรงใจ" และ "เติม "แรงใจ" ไม่ให้หมดได้


ติดตามต่อใน เรื่องที่เหลือ เร็วๆนี้ครับ

 

คำสำคัญ (Tags): #tsunami#crisis management
หมายเลขบันทึก: 120160เขียนเมื่อ 17 สิงหาคม 2007 10:25 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 19:57 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท