มนต์เสน่ห์ของบทเพลงพื้นบ้าน (ตอนที่ 2) ตัวอักษรที่ใช้เล่นคำ


คำลงเพลงที่เป็นอักษรสูง กับคำลงเพลงที่เป็นอักษรตำ

 

มนต์เสน่ห์ของบทเพลง

พื้นบ้าน (ตอนที่ 2)

ตัวอักษรที่ใช้เล่นคำ บังคับเสียง

มาจากชาวบ้านที่ไม่รู้ผังคำกลอน   

          ในตอนที่ 2 นี้ ผมจะแยกแยะให้เห็นว่า ตัวอักษรอะไร ที่ผู้ร้องสามารถเล่นคำ บังคับเสียงร้องได้ไพเราะน่าฟัง ในความเป็นจริงแล้ว นักเพลงเก่า ๆ รุ่นครูเขามีเคล็ดลับที่ไม่ยอมเปิดเผยกันออกมาง่าย ๆ เพราะเขาจะต้องเก็บเอาไว้เป็นไม่เด็ดในการต่อกรกับคู่ต่อสู้ หรือแม้แต่พ่อเพลงด้วยกัน เขาก็จะไม่แย้มให้รู้เลย   

          แต่มาถึงปัจจุบันนี้ ความก้าวหน้าทางวิชาการกว้างขวางขึ้น  การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เป็นประสบการณ์ที่นำเอาไปใช้ในเวลาที่จำเป็นได้ เช่นว่า เมื่อพ่อเพลงคนเก่งไม่อยู่ หรือไปไม่ได้ พ่อเพลงที่รอง ๆ ลงไปก็สามารถที่จะไปเล่นแทนได้ดี หรือคนแต่งบทเพลงคนหนึ่งไม่อยู่ คนแต่งคนอื่น ๆ ก็สามารถที่จะมารับทำหน้าที่แทนกันได้ทัน  แต่มาตรฐานของผลงานจะต้องใกล้เคียงกัน บ่งบอกถึงความเป็นมืออาชีพที่น่าให้การยอมรับ 

             การศึกษา และฝึกปฏิบัติจากประสบการณ์จริงเป็นสิ่งที่สำคัญมาก บนเวทีแห่งการแสดงจริงจะต้องใช้ไหวพริบปฏิภาณสูงยิ่งจึงจะแก้ปัญหาให้ลื่นไหลไปตลอดได้  ในส่วนลึก ๆ แล้ว การแสดงเพลงพื้นบ้านทุกชนิด โดยเฉพาะเพลงอีแซว ฝึกหัดไม่ยากหรอกครับ ถ้ามีความตั้งใจจริงฝึกหัดไม่กี่วันก็เป็น เล่นได้  แต่ถ้าจะให้เล่นเป็นมืออาชีพ มีคนดู มีคนมาว่าจ้าง หางานไปแสดง ยาก มาก ๆ ครับ และในการสืบสานอย่างจริงจัง เราคงจะต้องพาลูกศิษย์ของเราไปสู่จุดนั้นให้จงได้ ซึ่งผมจะขอเรียกว่า ความจริงใจที่ถาวร คงเส้นคงวา 

               จากการศึกษาบทร้องเพลงอีแซวพบว่า มีการผูกคำสัมผัสและเล่นคำกัน 3 อย่าง คือ

           1. แต่งบทร้องให้มีสัมผัสคำลงในวรรคหลังเป็นกลอนที่ใช้สระเดียวกันไปตลอดทั้งบทส่วนคำสัมผัสในจะมีหรือไม่มีก็ได้ ถ้ามีสัมผัสในความไพเราะก็จะมีมากขึ้น

           2. แต่งบทร้องให้มีสัมผัสในวรรคและคำลงที่ใช่สระเดียวกันตลอดและเลือกใช้คำลงเพลงที่เป็นอักษรกลางหรืออักษรต่ำเท่านั้น ถ้าเป็นอักษรต่ำจะดีมาก

           3. แต่งบทร้องโดยมีคำสัมผัสตามรูปแบบ แต่เล่นอักษรเดียวกันไปจนจบบท เช่น อักษร ก. ไก่ ก็ใช้ ก. ไก่ ทั้งบท ตั้งแต่ขึ้นต้นจนลงเพลง กรณีนี้จะไม่ค่อยได้ความหมายที่ลึกซึ้ง แต่จะให้ความสนุกสนานในสำนวนได้ดี 

ตัวอย่างบทร้องออกตัว (เพลงเดิม) 

        หากชีวิตยังไม่ดับ  ลงไปลับเหลี่ยมโลก  

        อันความสุขทุกข์โศก  ย่อมประจำนิสัย

        เกิดมาเป็นมนุษย์       เรียกว่าปุถุชน 

        เรากำเนิดเป็นคน       แล้วก็มีเงื่อนไข

        ความเป็นความตาย    ใครก็ไม่รู้ตัว  

        ใครดีใครชั่ว             รู้ตัวเองได้

        บ้างก็ชั่วบ้างก็ดี        บ้างก็มีบ้างก็จน

        สุดแล้วแต่กุศล         ที่ทำมาเก็บไว้

        ว่าต้นไม้ยืนต้น          คนรู้สูงต่ำ (เอิง เงอ เอ๊ย) รู้สูงต่ำ

        กุศลหนุนบุญนำ        ไม่แน่นอนตรงไหน (เอ่อ เอ้อ เอ๊ย) แล้วตรง

          ไหนถ้าธาตุแตกแยกย้าย   กลับกลายเป็นผี 

        ต้องหยุดความยินดี    อยากมีอยากได้

        ที่ตายก่อนบ้างก็เผา   บ้างก็เอาไปฝัง (เอิง เงอ เอ๊ย)  เอาไปฝัง

        คนที่เหลืออยู่ข้างหลัง เฝ้าแต่ร้องอาลัย  (เอ่อ เอ้อ เอ๊ย) ร้องอาลัย

       โปรดสังเกตคำลง ที่มีคำเอื้อนเอ่ยในวงเล็บ  คำตอนลงบน ไม่แน่นอนตรงไหน (เอ่อ เอ้อ เอ๊ย) แล้วตรงไหน  ไม่สามารถหยอดคำลงได้  เพราะใช้อักษรสูง  ถ้าขืนร้องลงไป ก็จะฝืนคำ ไม่เสนาะ ส่วนคำลงในบทล่าง ลงเพลงได้อย่างไพเราะน่าฟัง เพราะคำที่ใช้  เฝ้าแต่ร้องอาลัย  (เอ่อ เอ้อ เอ๊ย) ร้องอาลัย  เป็นอักษรต่ำ   เพียงแค่จุดเล็ก ๆ เท่านี้หากไม่มีความเข้าใจ ความไพเราะที่จะเกิดแก่ผู้ฟังก็หายไป และที่สำคัญ คนร้องก็ร้องลงเพลงไม่ได้ด้วย

        ทั้งนี้เพราะคำลงของเพลงอีแซว ใช้เสียงสามัญ (ต้องไม่มีวรรณยุคกำกับเลย) การใช้อักษรสูง เช่นคำลงว่า กุศลหนุนบุญนำ ไม่แน่นอนตรงไหน (เอ่อ เอ้อ เอ๊ย) แล้วตรงไหน คำว่า ตรงไหน มีเสียงวรรณยุค จัตวา กำกับอยู่ จึงใช้เป็นคำลงไม่ได้จะต้องข้ามไปลงในวรรคที่ใช้อักษรกลางหรืออักษรต่ำ ดังเช่นในบทต่อไปลงเพลงได้ และในการร้องลงเพลง ความนิยมมีมาตั้งแต่ก่อนแล้ว เขานิยมร้องลงทั้ง 2 วรรค คือร้องลงในวรรคหน้าก่อน แล้วตามด้วยการร้องลงในวรรคหลังอีกครั้งหนึ่ง เรียกว่าลงเพลงแบบปิด  แต่ก็มีนักเพลงระดับครู เขาจะร้องลงเพลงเพียงวรรคหน้าเท่านั้นแล้วร้องต่อไปเลย เรียกว่าลงเพลงแบบเปิด 

              ส่วนการเขียนบทร้องในวรรคหลังที่ใช้อักษรสูง เช่น ในบทร้องที่ว่า อันความสุขทุกข์โศก  ย่อมประจำนิสัย คำว่า นิสัย เอาไว้ร้องบังคับเสียงสูง (โยนเสียงให้สูงขึ้นไป)  การเล่นคำและบังคับเสียงสูง ต่ำ ทำได้หลายที่ เช่น คำร้องต้นวรรคหน้าที่ว่า  เกิดมาเป็นมนุษย์  เรียกว่าปุถุชน คำว่า เกิดมา ขึ้นเสียงร้องให้สูงก็ได้  สิ่งเหล่านี้จะต้องเฝ้าสังเกตจากเวทีการแสดง  จดจำเอามาจากผู้แสดงจริง ๆ ถ้าได้มาจากครูเพลงยิ่งดี เพราะนั่นคือสิ่งที่จะบอกกับคนที่เขาเข้าใจผิดพลาดให้ได้รับรู้ว่า ภูมิปัญญาท้องถิ่นจริง ๆ อยู่ที่ตัวตนของคนภูมิปัญญาที่ไม่อาจจะศึกษาในเอกสารหรือจากตำราได้ ครับ

ในตอนต่อไปผมจะพูดถึงการแสดงเพลงอีแซววันนี้กับเพลงอีแซวของเก่าที่ผมฝึกหัดมา

ชำเลือง มณีวงษ์ / รางวัลชนะเลิศประกวดเพลงอีแซว จังหวัดสุพรรณบุรี ปี พ.ศ. 2525

                         ผู้มีผลงานดีเด่น ศิลปะการแสดง รางวัลราชมงคลสรรเสริญ พุ่มพนมาลา

 

หมายเลขบันทึก: 118720เขียนเมื่อ 10 สิงหาคม 2007 19:04 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 มิถุนายน 2012 19:25 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท