จัดประชุมเพื่อกำหนดแนวทางพัฒนาสุขภาพ


กำหนดแนวทางพัฒนาสุขภาพ

โครงการประชุมเพื่อกำหนดแนวทางพัฒนาสุขภาพ ในโครงการราษฎรชาวไทยภูเขา

(หมู่บ้านยามชายแดน) อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ปี 2550 บ้านมะโอโค๊ะ ต.แม่จัน อ.อุ้มผาง จ.ตากวันที่ 26 กรกฎาคม 2550

ณ โรงเรียนบ้านกล้อทอ ต.แม่จัน อ.อุ้มผาง จ.ตาก

พันเอกสมชาย  ทาวงศ์มา  รองเสธ.รมน.ภาค3 สย. 1 กล่าวทักทายกับผู้เข้าร่วมอบรม เนื่องจาก อ.อุ้มผาง อยู่ติดกับชายแดนทางการทหารจึงได้จัดให้มีชุดปฏิบัติการทหารแต่ละจุดช่วยดูแล  ส่งเสริมพี่น้องอยู่ดีมีสุขและได้รับความปลอดภัย  โดยมีชุดทหารในการดูแลควบคุมในแต่ละชุดของอำเภออุ้มผาง  และชักชวนพ่อแม่พี่น้องในการไปใช้สิทธิในการลงคะแนนเสียงประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญ เห็นด้วย  และไม่เห็นด้วยในวันที่ 19 สิงหาคม 2550 นี้ และผู้ที่เกี่ยวข้องต้องช่วยอธิบายให้ชาวบ้านได้เข้าใจเพื่อไปลงคะแนนเสียง  จากนั้นได้ให้ความรู้เรื่อง เศรษฐกิจพอเพียงคือพออยู่พอกิน  พอใช้  ตามแนวทางปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง  รวมทั้งย้ำเรื่องการใช้ภาษาไทย  อยู่ในประเทศไทยต้องใช้ภาษาไทยในการสื่อสารให้มากขึ้น

นายณัฐพงศ์  สุภัทรานนท์  ผู้ช่วยสาธารณสุขอำเภออุ้มผาง รายงานความเป็นมาของการจัดประชุมฯ พอสังเขปดังนี้

กรมอนามัย โดยศูนย์พัฒนาอนามัยพื้นที่สูง ลำปาง  ร่วมกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดตาก และสำนักงานสาธารณสุขอำเภออุ้มผาง  ได้ประสานความร่วมมือในการพัฒนาสุขภาพด้านการส่งเสริมสุขภาพและอนามัยสิ่งแวดล้อม   ในบ้านมะโอโค๊ะ   หมู่ที่ 12 ตำบลแม่จัน อำเภออุ้มผาง เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานตามแผนแม่บทการพัฒนาสังคม และยกระดับคุณภาพชีวิตของราษฎรในพื้นที่หมู่บ้านยามชายแดน                การดำเนินการที่ผ่านมา ภาคีสุขภาพ  ได้ศึกษาและวิเคราะห์พฤติกรรมสุขภาพ เพื่อหาแนวทางแก้ไข  อย่างไรก็ตาม ในการแก้ไขปัญหาหรือเพิ่มพูนทักษะด้านสุขภาพแก่ชุมชน  ไม่สามารถกระทำให้สำเร็จไปได้  หากไม่ได้รับการหลอมรวมแนวคิดการพัฒนาจากหน่วยงานที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการพัฒนาคุณภาพชีวิต หมู่บ้านยามชายแดนบ้านมะโอโค๊ะ   และที่ขาดเสียมิได้คือ ความคิดเห็น  ความรับผิดชอบต่อการพัฒนาสุขภาพตนเองของพี่น้องบ้านมะโอโค๊ะ    

                ดังนั้นในการประชุมในครั้งนี้  จึงเป็นการประชุมร่วมกันระหว่างภาคี 3 ส่วน ได้แก่ หน่วยงานสุขภาพ   หน่วยงานอื่นๆที่เกี่ยวข้อง และพี่น้องตัวแทนชาวบ้านมะโอโค๊ะ รวม 71 คน ผลของการประชุมฯ ในครั้งนี้ คาดว่าจะได้แนวทางและกิจกรรมการพัฒนาสุขภาพหมู่บ้านมะโอโค๊ะ ภายใต้แนวคิดการดำเนินการร่วมกัน   ระหว่าง 3 ภาคส่วน

 
                นายชาตรี  ทัศนีพานิชย์ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลแม่จัน ประธานในพิธี  ทราบว่าหน่วยงานสาธารณสุข ได้มีการประสานความร่วมมือ เพื่อที่จะพัฒนาการส่งเสริมสุขภาพและอนามัยสิ่งแวดล้อม   ให้เกิดขึ้นในบ้านมะโอโค๊ะ   หมู่ที่  12 ตำบลแม่จัน อำเภออุ้มผาง โดยการหลอมรวมความคิด ประสบการณ์ และให้ประชาชน ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการรับผิดชอบสุขภาพของตนเองและชุมชน ซึ่งนับว่าเป็นหัวใจสำคัญของการมีส่วนร่วม 
จะเกิดแนวทาง หรือกิจกรรม ในอันที่จะสร้างเสริมพฤติกรรมสุขภาพแก่พี่น้องชาวมะโอโค๊ะ   สำหรับทุกท่านที่เข้ามาร่วมประชุมในวันนี้  ขอให้ตระหนักว่า สุขภาพของเรา  ต้องร่วมกันดูแล ทั้งสุขภาพของตนเอง  และเพื่อนบ้าน ในการประชุมครั้งนี้  เจ้าหน้าที่สาธารณสุขและเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ทุกหน่วยงาน ยินดีและพร้อมที่จะให้การสนับสนุนแต่การสร้างสุขภาพต้องเริ่มที่ตนเองก่อน ดังคำที่ว่า สุขภาพดีไม่มีขาย อยากได้ต้องสร้างเอง  

อาจารย์นุชปิยา  ริ้วพิทักษ์  นักวิชาการสาธารณสุข 8 ว สำนักส่งเสริมสุขภาพ กรมอนามัย  กล่าวว่า กรมอนามัยส่งเสริมให้พวกเรามีสุขภาพที่ดีเหมือคำที่ติดแขนเสื้อที่แจกด้านขวามือของทุกคนจะมีคำว่า กรมอนามัย ส่งเสริมให้คนไทยมีสุขภาพดี จากนั้นได้กล่าวถึงเรื่องของการวางแผนครอบครัว การมีบุตรและสุขภาพอนามัยของฝ่ายหญิง เข้าใจว่าเรามีการแต่งงานอายุน้อยและส่วนใหญ่มีลูกเร็วและมีหลายคนส่งผลให้สุขภาพของแม่ ไม่ดีนักและลูกมีสุขภาพที่ไม่แข็งแรงสมบูรณ์

ดังนั้นจึงอยากให้เราตระหนักถึงความสำคัญของการวางแผนครอบครัวสุขภาพของแม่และการมีบุตร หากแต่งงานต้องรอให้สุขภาพของแม่แข็งแรงสมบูรณ์แล้วค่อยมีบุตรเพื่อให้ทั้งแม่และลูกมีสุขภาพที่ดีและสมบูรณ์แข็งแรง

                   คุณอำนาจ  สันป่าเงิน  เจ้าหน้าที่สำนักงานป่าไม้ชั่วคราว บ้านมะโอโค๊ะ  สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 14 (ตาก) กรมทรัพย์อุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช กล่าวถึงโครงการที่ดำเนินงาน เช่น         ปลูกป่าแนวกันชน  , ปลูกป่าทดแทน , ปลูกป่า 3 อย่างได้ประโยชน์ 4 อย่าง , ปลูกป่าสร้างสานหวาย , ปลูกป่าใช้สอย, ปลูกป่าทดแทน,  สร้างฝายชะลอความชุ่มชื้น (แบบ C)และปลูกป่าเปียก

               คุณสุปราณี  ถนอมพาล  ตัวแทนศูนย์การเรียนรู้ชุมชน ชาวไทยภูเขา แม่ฟ้าหลวงบ้าน     มะโอโค๊ะ  กล่าวว่า ศูนย์การเรียนรู้ชุมชนชาวเขา ได้ให้ความรู้แก่ชาวบ้าน ในการเรียนการสอน และมีผู้ที่สนใจเรียนอยู่จำนวนหนึ่ง และศูนย์การเรียนรู้ได้ส่งเสริมการเรียนการสอนเรื่องการใช้ภาษาไทยให้ชุมชมสามารถอ่านออกเขียนได้ ใช้ภาษาไทยได้ทั้งผู้ใหญ่และเด็ก โดยจัดการเรียนการสอนออกเป็น 2 ช่วง คือ ช่วงตอนเช้าคือ สอนเด็ก ในช่วงตอนค่ำคือ สอนผู้ใหญ่

ร้อยตรี สายชล  รื่มรมย์  กล่าวว่า หน้าที่ที่ได้รับมอบหมายในการดูแลความสงบในบ้านมะโอโค๊ะคือ คอยดูแลความเรียบร้อยของชาวบ้าน เนื่องจากพื้นที่อยู่ใกล้ชายแดนและเป็นจุดที่เสี่ยงต่อโรคที่จะเข้ามาทางชายแดนมากมายจึงควรได้รับการดูแลอย่างยิ่ง

                นายณัฐพงค์  สุภัทรานนท์  ผู้ช่วยสาธารณสุขอำเภออุ้มผาง กล่าวถึงงานของสาธารณสุขอำเภออุ้มผาง  ดังนี้               
1.  วางแผนนโยบายจัดทำแผนงานโครงการตามพระราชดำริ
               
2.  ดูแลเรื่องอนามัยสิ่งแวดล้อมของประชาชน
               
3.  อบรมให้ความรู้และกระจายการเข้าถึงประชาชนโดยสร้าง อสม. ให้มีความแข็งแรง   ในการดูแลประชาชนอย่างใกล้ชิด
               
4.  การเฝ้าระวังโรคต่าง ๆ รวมทั้ง เหตุที่ก่อให้เกิดโรค
               
5.  สนับสนุนด้านสุขภาพอนามัยของตนเองและผู้อื่น
               
6.  จัดทีมวิทยากรเข้าไปในพื้นที่เพื่อจัดกลุ่มในการให้ความรู้  โดยแต่ละครั้งกลุ่มที่จัดเป็นกลุ่มเล็ก ๆ เพื่อให้ได้ความรู้ที่เข้มข้นในแต่ละครั้ง

7.  มีการกระจายงานกันอย่างทั่วถึง  ทางสถานีอนามัยจะมีเจ้าหน้าที่ประจำสถานีอนามัย ส่วนพื้นที่ ที่อยู่ห่างไกลจะมีอาสาสมัครในพื้นที่ที่ดูแลอยู่  เนื่องจากภูมิภาคของอำเภออุ้มผาง      ส่วนใหญ่จะมีภูเขามากหากเดินทางมาในอำเภออุ้มผางต้องใช้ระยะเวลาเดินทางนาน  จึงจำเป็นต้องมีอาสาสมัคร 

นางจันทร  พันสร  นักวิชาการสาธารณสุข 7 โรงพยาบาลอุ้มผาง กล่าวว่า  งานของโรงพยาบาลอำเภออุ้มผาง  จ.ตาก  ดูแลคนป่วย  คนไม่สบาย  รวมทั้งวินิจฉัยโรคต่าง ๆ ที่พบและส่วนใหญ่ในเขตอำเภออุ้มผางนั้นพบมากคือ ไข้มาลาเรีย ทางโรงพยาบาลจำเป็นต้องมียารักษาอยู่ตลอด  รวมทั้งทางโรงพยาบาลต้องกระจายความรู้ที่มีลงสู่พื้นที่เนื่องจากโรงพยาบาลอยู่ในตัวอำเภอและชาวบ้านอยู่กันอย่างกระจัดกระจายตามภูเขา  เวลาไม่สบายต้องเดินทางไกลจำเป็นต้องมีความรู้ในการดูแลตนเองเบื้องต้น โดยการจัดอบรมสร้างความรู้  ให้กับชาวบ้าน  ตลอดจนทางโรงพยาบาลได้อำนวยความสะดวกให้กับประชาชนเช่น ออกบัตรขาว หากให้ประชาชนแสดง   บัตรขาว ให้พนักงานรักษาความปลอดภัยดูสามารถเข้ามารักษาได้

นางศรีวรรณ  ทาวงศ์มา  นักวิชาการสาธารณสุข 7 ว  ศูนย์พัฒนาอนามัยพื้นที่สูง  กล่าวถึงความเป็นมาของโครงการการส่งเสริมสุขภาพและอนามัยสิ่งแวดล้อมในโครงการราษฎรชาวเขา อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ปี 2550 ความเป็นมาโครงการจัดตั้งหมู่บ้านชาวไทยภูเขาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ   (บ้านมะโอโค๊ะ) เป็นโครงการที่ดำเนินการตามพระราชกระแสรับสั่งของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เมื่อครั้งที่ได้เสด็จพระราชดำเนินทรงเยี่ยมราษฎรเพื่อให้มุ่งแก้ไขปัญหาความยากจนของราษฎรในพื้นที่ตามแนวชายแดน และช่วยเหลือ    ราษฏรให้สามารถช่วยเหลือตนเองได้  จากการที่กรมอนามัย ได้อนุมัติให้ศูนย์พัฒนาอนามัยพื้นที่สูงเข้าร่วมการจัดตั้งหมู่บ้านยามชายแดนเพื่อดำเนินงานสนับสนุนดำเนินงานตามแผ่นแม่บทจึงได้จัดทำโครงการส่งเสริมสุขภาพและอนามัยสิ่งแวดล้อมในโครงการราษฏรชาวเขาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ปี 2550

วัตถุประสงค์
1.ศึกษาและร่วมจัดทำแผนงาน / กิจกรรม การพัฒนา และส่งเสริมสนับสนุนการพัฒนาคุณภาพและอนามัยสิ่งแวดล้อม ของราษฏรในพื้นที่เป้าหมาย
2.ศึกษาข้อมูลและประเมินผลกระทบด้านการส่งเสริมสุขภาพในทุกกลุ่มอายุ และด้านอนามัยสิ่งแวดล้อมที่มีผลกระทบต่อสุขภาพ เพื่อเป็นข้อมูลในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชากรเป้าหมายต่อไป
ขั้นตอนในการดำเนินงาน ปี 2550
1.ประสานงานเพื่อศึกษาข้อมูล และผลการดำเนินงาน ที่ผ่านมาของพื้นที่เป้าหมาย
2.ร่วมจัดทำศึกษาข้อมูล ปัญหาเร่งด่วน เพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตในด้านการส่งเสริมคุณภาพและอนามัยสิ่งแวดล้อม
3.ร่วมแสวงหาแนวทางและจัดทำแผนงาน /กิจกรรม การพัฒนาคุณภาพชีวิตในด้านการส่งเสริมสุขภาพและอนามัยสิ่งแวดล้อม
4.ร่วมส่งเสริมสนับสนุนการพัฒนาคุณภาพชีวิต ในเชิงรุก ตามแผนงาน
5.สรุป ประเมิน และวางแผนการพัฒนาเพื่อการแก้ปัญหาในระยะยาว
พื้นที่เป้าหมาย
1.บ้านมะโอโค๊ะ ตำบลแม่จัน อำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก
2.บ้านปางคอง ตำบลนาปู่ป้อม อำเภอปางมะผ้า จังหวัดแม่ฮ่องสอน
3.บ้านแม่ส่วยอู ตำบลผาบ่อง อำเภอเมือง จังหวัดแม่ฮ่องสอน
4.บ้านอาโจ้ ตำบลปู่ป้อม อำเภอปางมะผ้า จังหวัดแม่ฮ่องสอน
5.บ้านดอยผักกูด ตำบลเวียงเหนือ อำเภอปาย จังหวัดแม่ฮ่องสอน
ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ
1.ราษฏรชาวไทยภูเขาในพื้นที่ โครงการพัฒนาราษฏรชาวไทยภูเขา อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้รับการพัฒนาคุณภาพชีวิตด้านการส่งเสริมสุขภาพและอนามัยสิ่งแวดล้อม ในเชิงบูรณาการ
2.มีการเฝ้าระวังทางสุขภาพของประชากรชาวไทยภูเขาในพื้นที่ โครงการพัฒนาราษฏรชาวไทยภูเขาอันเนื่องมาจากพระราชดำริจากนั้นได้เล่าถึงสุขภาพชาวบ้านมะโอโค๊ะบทสรุป จากการศึกษาสภาวะสุขภาพของชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยง   บ้านมะโอโค๊ะ  จำนวน  34    หลังคาเรือน   จำนวนกลุ่มตัวอย่าง   173 คน              เก็บข้อมูลโดยการสัมภาษณ์ ระหว่างวันที่ 19 - 23   มีนาคม 2550   จากการวิเคราะห์ข้อมูลสุขภาพ และอนามัยสิ่งแวดล้อมในครัวเรือน   พบว่า  
ข้อมูลทั่วไป  พบว่าชาวมะโอโค๊ะ
1.  ส่วนใหญ่อยู่กันเฉพาะพ่อ แม่ ลูก (ครอบครัวเดี่ยว) โดยมีจำนวนสมาชิก 3 - 5 คน มากที่สุด   มีครอบครัวที่อยู่รวมกันมากที่สุด 11 คน   ไม่มีการย้ายถิ่น   ส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ    ส่วนใหญ่ไม่ได้เรียนหนังสือ   มีอาชีพทำนา และรับจ้าง 
2.   เคยเจ็บป่วยในรอบ 3 เดือนก่อนการสำรวจข้อมูล ด้วยอาการทั่วๆไปเช่น ไข้หวัด ปวดตามเนื้อตัว แผลพุพอง โรคที่มากที่สุดเรียงลำดับจากมากไปหาน้อย ได้แก่ ไข้หวัด รองลงมาได้แก่ มาลาเรีย อุจจาระร่วง และอาการปวดต่างๆ ตามลำดับ    ส่วนใหญ่เมื่อเจ็บป่วยจะไปรักษาที่สถานีอนามัยแม่จัน 
3.   ด้านอนามัยสิ่งแวดล้อมครัวเรือน   พบว่าส่วนใหญ่มีและใช้ส้วม มีน้ำสะอาดดื่ม จากการต้ม    มีการกำจัดขยะโดยการเผากลางแจ้ง ครัวเรือนมีความมั่นคงในที่อยู่อาศัย เนื่องจากมีบ้านเรือนเป็นของตนเอง   แม้ว่าจะมีสภาพคงทนถาวรน้อย 
สุขภาพในแต่ละกลุ่มวัย
  (จากการเก็บข้อมูลย้อนหลัง 1 ปี)
กลุ่มเด็กแรกเกิด  -  5 ปี พบว่า เด็กแรกเกิด 4 เดือน ได้รับนมแม่ทั้งหมด พบว่าสุขภาพเด็กน่าเป็นห่วง ในบางประเด็น เนื่องจาก
1.  แม้ว่าผู้หญิงที่ตั้งท้อง ส่วนใหญ่จะไปฝากท้อง แต่พบว่ามีการคลอดที่บ้าน ที่เสี่ยงต่อความปลอดภัย และการติดเชื้อบาดทะยัก    เนื่องจากมีเด็กเกิดใหม่ในหมู่บ้าน 5 คน คลอดที่บ้านทั้งหมด โดยหมอตำแย (ตะละหม่อหล่อ)   และใช้ผิวไม้ไผ่ในการตัดสายสะดือ ไม่ได้มีการชั่งน้ำหนักเด็กแรกเกิด 
2.  เด็กมีความเสี่ยงต่อการเจ็บป่วยบ่อย หรือไม่แข็งแรง  เนื่องจากมีน้ำหนักแรกเกิดต่ำกว่า 3,000  กรัม  มีน้ำหนักโดยเฉลี่ย  2,750 กรัม   น้ำหนักแรกเกิดน้อยที่สุด  2,200  กรัม  นอกจากนี้ยังพบว่าในเด็กต่ำกว่า  5   ปี   ยังมีเด็กที่ขาดสารอาหาร กล่าวคือมีน้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์ ถึงร้อยละ  30   จากการไม่ได้รับอาหารเสริม หรืออาหารที่มีประโยชน์ตามวัยที่ถูกต้อง  และการขาดความรู้ความเข้าใจในการเลี้ยงดูเด็กของพ่อแม่ ผู้ปกครอง (พบเด็กทานข้าวกับเกลือ) จากปัญหาความยากจน ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับข้อมูลรายได้ที่ต่ำ คือส่วนใหญ่มีรายได้เฉลี่ยประมาณ          2,600  บาทต่อเดือน  และอาชีพของครัวเรือน  ที่ส่วนใหญ่ เป็นการทำนาข้าว  และรับจ้างรายวัน
3.   ในเรื่องสุขภาพปากและฟัน    ส่วนใหญ่ได้รับการดูแลปากและฟันที่ถูกต้อง แต่ยังพบว่าในเด็กที่ฟันน้ำนมยังไม่ขึ้น พ่อแม่จะไม่ได้เช็ดเหงือกให้   ในเด็กที่ฟันน้ำนมขึ้นแล้ว ยังมีเด็กที่ไม่ได้เช็ดฟันหรือแปรงฟันอยู่   พบว่าเด็กมีฟันผุโดยเฉลี่ย 1 ซี่ แต่อย่างไรก็ตามโดยส่วนใหญ่      เด็กมีฟันที่ปกติ  
สุขภาพผู้หญิง  พบว่า
1.    ผู้หญิงที่แต่งงานแล้ว มีบุตรโดยเฉลี่ย 3 คน เคยมีลูกตายจำนวน 1 – 2 คน  มากที่สุด  แต่งงานตอนอายุ 15 – 19 ปี มากที่สุด (พบอายุต่ำสุดที่แต่งงาน 13  ปี) ส่วนใหญ่คุมกำเนิดโดยวิธีทำหมันหญิงมากที่สุด  
2.  ผู้หญิงมะโอโค๊ะ อายุ 35 – 59 ปี มีความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งเต้านมและมะเร็งปากมดลูก จากการไม่ได้ตรวจตรวจเต้านม และตรวจหาเซลล์มะเร็งปากมดลูก  3.    ผู้หญิงส่วนใหญ่มีฟันแท้ใช้งาน 20 ซี่ขึ้นไป   และไม่เคยตรวจสุขภาพประจำปี    
สุขภาพผู้ชาย   พบว่า  ในกลุ่มผู้ชายอายุ  35 - 59 ปี     ส่วนใหญ่มีฟันแท้ใช้งาน 20 ซี่ ขึ้นไป   และไม่เคยตรวจสุขภาพประจำปี     

                      อ่านต่อตอนที่ 2
           

หมายเลขบันทึก: 118681เขียนเมื่อ 10 สิงหาคม 2007 16:11 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 มิถุนายน 2012 11:44 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท