Project Base: ทดลองประลองยุทธ์ที่คลองอัมพวา - ตอนที่1


การเรียนรู้ การรับรู้ เกิดได้ทุกที่ทุกแห่งหน

          หลังจากห่างหายจากการเขียน Blog ไปนาน สัปดาห์นี้ได้มีโอกาสเข้าอบรมหลักสูตรสุดท้ายของ Inno FA นั่นคือ Project Base Module เป็นการนำสิ่งที่ได้เรียนรู้ รับรู้ มาทดลองปฏิบัติกับสถานการณ์จริง ซึ่งเริ่มตั้งแต่วันที่ 6 – 9 สิงหาคม 2550 โดยสนามที่ใช้ทดสอบในครั้งนี้คือ คลองอัมพวา จ.สมุทรสงคราม นั่นเอง 

 

วันที่ 1 ก้าวย่างสู่คลองอัมพวา               

          ช่วงเช้าวันที่ 6 ได้ไปขึ้นรถที่บางซื่อ เพื่อร่วมไปทดลองสนามจริง หลังจากที่ได้อบรมมาหลายๆ Module แล้ว ซึ่งในครั้งนี้ได้ไปร่วมกับ IF3 ซึ่งก่อนหน้านี้ติดภาระกิจทำให้ไม่สามารถไปร่วมกับ IF2 ได้ การเดินทางใช้เวลาประมาณ 2 ชม. เมื่อถึงคลองอัมพวาก็ได้พบกับเฮียเล้ง ซึ่งเป็นผู้ที่คอยเอื้ออำนวยความสะดวกต่างๆ ในการฝึกอบรมครั้งนี้ ต้องขอขอบคุณเฮียเล้ง (ประธานชมรมท่องเที่ยวฯ) มากๆ                

          หลังจากที่ถึงคลองอัมพวาแล้วตามโปรแกรมทางเฮียเล้งจะเป็นผู้นำพาคณะเยี่ยมชมศิลปะ วัฒนธรรม สถานที่สำคัญบริเวณรอบๆ อัมพวา ซึ่งเป็นการเรียนรู้ รับรู้ข้อมูลต่างๆ ในของวันแรก 

สถานที่แรก-เยี่ยมชมปิ่นสุวรรณเบญจรงค์ (สืบทอดงานศิลปะบนปลายพู่กัน)           

          ได้มีโอกาสเข้าเยี่ยมชมสถานที่วาดลวดลายเบญจรงค์ที่มีชื่อเสียงของชาวอัมพวาเป็นสถานที่แรก โดยที่ปิ่นสุวรรณเบญจรงค์นี้ได้มีโอกาสวาดลายเบญจรงค์ลงในภาชนะที่เป็นของที่ระลึกให้กับผู้นำชาติต่างๆ ที่มาร่วมประชุม APEC ที่ทางประเทศไทยเป็นเจ้าภาพในการจัดประชุมในครั้งนี้ หลังจากที่เราลงรถ ได้รับฟังคำชี้แจ้งต่างๆ จากอาจารย์วรภัทร์, พี่ทวีสิน และพี่เก่ง (พี่เลี้ยง) เรียบร้อยแล้ว เหล่า IF ก็ได้เริ่มปฏิบัติการสืบเสาะ ค้นหาข้อมูลต่างๆ จากการเยี่ยมชมในครั้งนี้ อย่างกระวีกระวาด ซึ่งต้องขอขอบคุณทางพนักงานของทางปิ่นสุวรรณที่ได้เสียสละเวลาในการให้ข้อมูลการเรียนรู้ของเหล่า IF ในครั้งนี้ ซึ่งทางพนักงานทุกคนใจดี น่ารัก ทุกคน               

          สิ่งที่ได้จากทางปิ่นสุวรรณฯ ในครั้งนี้คือ ความมีน้ำใจ ความเป็นมิตร ของชาวอัมพวา และหลักการบริหารจัดการแบบไทยๆ ของปิ่นสุวรรณฯ นั่นคือการฝึกให้พนักงานเกิดการเรียนรู้จากการปฏิบัติจริง โดยไม่มีการคิดถึงเรื่องของต้นทุนที่สูญเสียจากการเรียนรู้ของพนักงานในช่วงของการฝึก รวมถึงการดูแลพนักงานเปรียบเสมือนญาติพี่น้อง                

          สำหรับคุณลุงเจ้าของปิ่นสุวรรณฯ สิ่งที่ได้พบ และเรียนรู้จากท่านคือความรักในศิลปะ และการเป็นผู้ใฝ่เรียนรู้ ซึ่งเดิมท่านไม่มีพื้นฐานทางด้านศิลปะเลย เพียงแต่ในอดีตท่านเป็นคนซื้อ-ขายของเก่า ต่อมาท่านได้มีความคิดว่า ถ้าในอนาคตไม่มีผู้สร้างงานศิลปะโบราณที่เรามีอยู่นี้ขึ้นมา วันใดวันหนึ่งศิลปต่างๆ เหล่านี้จะเลื่อนหายไป จึงได้ไปเรียน ฝึกฝน และทดลองสูตรสีต่างๆ ให้ใกล้เคียงกับของโบราณมากที่สุด

 

การทำน้ำตาล

          ใครบ้างครับที่จะรู้ว่าน้ำตาลมะพร้าว (น้ำตาลปึก หรือน้ำตาลปี๊บ) นั้นแท้จริงแล้วต้องมีการผสมน้ำตาลทรายเพื่อให้เกิดการจับตัวที่ดี เมื่อโดนความร้อนแล้วไม่ละลาย สำหรับการเกษตร การทำสวนของอัมพวา ผลไม้ที่ส่วนใหญ่ทำการปลูกกันคือ ลิ้นจี่, ส้มโอ, กล้วยน้ำว้า และมะพร้าว ซึ่งการปลูกมะพร้าวของชาวอัมพวาโดยปกติจะนำมาทำน้ำตาลมะพร้าว จะทำการตัดที่ปลายงวงมะพร้าว และใช้กระบอกรองเอาน้ำตาลที่หยดลงมา ซึ่งในกระบอกจะใส่พะยอม เพื่อป้องกันไม่ให้น้ำตาลมะพร้าวบูดเสีย จากการไปเยี่ยมชมทั้ง 40 ชีวิตต่างซักถามกับทางพี่ ป้า น้า อา ซึ่งมีอยู่เพียง 4 คนเท่านั้น ทำให้ทั้ง 4 ต้องใช้พลังมากขึ้นกว่าเดิมมาก ต้องขอขอบคุณทุกท่านด้วยครับ  

 

แวะกินก๋วยเตี๋ยวเรือริมคลอง และเยี่ยมชมรูปปั้นดินสอพองที่วัดประดู่           

         ช่วงกลางวันได้ไปที่วัดประดู่ กินกลางวันที่ริมคลองภายในวัด ซึ่งมีร้านก๋วยเตี๋ยวเรือริมน้ำ จากการประเมินความอร่อยอยู่ในเกณฑ์ 5 ดาวครับ โดยดูจากจำนวนจานที่กินกัน สำหรับราคาชามละ 10 บาทเท่านั้นเองครับ               

          หลังจากอิ่มได้ที่แล้วก็ถึงเวลาค้นหาข้อมูลที่วัดประดู่เป็นสถานที่ที่รัชกาลที่ 5 เสด็จประพาสต้นในวันที่ 21 ก.ค. 2447 โดยพระองค์ได้จอดพักเพื่อแวะทำครัวเสวยพระกระยาหารเช้า               

          ภายในวัดได้พบกับรูปปั้นพระเกจิอาจารย์ที่สำคัญ โดยจุดเด่นคือปั้นจากดินสอพอง ซึ่งข้อดีคือโดนความร้อนไม่ละลาย แต่ข้ควรระวังคือเรื่องน้ำครับ โดยรูปปั้นต่างๆ ทางเจ้าอาวาสเป็นผู้ปั้นเองทั้งหมดครับ

        ที่วัดแห่งนี้ทางคณะเยี่ยมชมได้พบกับหลวงพ่อที่คอยให้คำแนะนำกับพวกเราซึ่งท่านได้สอนเราในเรื่องของการนำเสนอให้กับเรา จากการปฏิบัติจริง (Action Learning) ท่านได้ให้มุกในการนำเสนอกับทางทีมงานไว้หลายมุกด้วยกันครับ

 

 

ชมโบสถ์ที่อยู่ภายในต้นไม้ที่วัดบางกุ้ง               

         เป็นสถานที่ท่องเที่ยว Unseen in Thailand แห่งหนึ่งครับ ได้พบกับโบสถ์ที่ถูกต้นไม้ปกคลุมทั้งโบสถ์ครับ และพบรูปปั้นทหารที่กำลังทำการฝึกซ้อมวิชาหมัดมวย และอาวุธ ณ วัดบางกุ้งเป็นสถานที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งคือ เป็นสถานที่ตั้งค่ายของพระเจ้าตากสินในอดีต 

   

ชมโบสถ์ไม้ที่วัดบางแคน้อย    

เป็นโบสถ์ที่สร้างด้วยไม้ โดยภายในมีไม้สลักเรื่องพุทธชาดก และมีไม้แกะสลักเป็นต้นดพธิ์อยู่ตรงกลางหลังองค์พระปรธานสวยงามมากครับ               

         สถานที่แห่งนี้เราจะได้พบกับความเป็นสนุกสนานของคนไทย ของช่างไทย โดยในรูปที่สลักบนไม้จะทำให้เราเองอมยิ้มขึ้นมาได้ครับ (ท่านที่อยากรู้สามารถแวะไปเยี่มชมได้ครับ)               

         เราจะพบกับกุฎิไม้ที่มีอายุมากกว่า 100 ปี ก่อนกลับท่านเจ้าอาวาสได้ฝากคำสอนกับทางทีมคณะเยี่ยมชมไว้ว่า ไม่โกรธ ก็ไม่แก่  

 

พบปราชญ์ท้องถิ่น การเพาะเลี้ยงแมวไทยโบราณ           

        หลังจากนั้นทางคณะได้พบกับทางกำนันปรีชา ซึ่งเป็นผู้ที่เพาะเลี้ยงแมวไทยโบราณ ในการเยี่ยมชมครั้งนี้เราได้พบกับแมวไทยราคา 3 แสนบาท สาเหตุที่ราคาสูงเช่นนี้ เพราะว่าแมวตัวนี้มีลักษณะเหมือนกับแมวศุภลักษณ์ ซึ่งเป็นแมวที่มีชื่อปรากฎในสมุดข่อยโบราณเรียกกันอีกอย่างหนึ่งว่าแมวทองแดง เนื่องจากมีสีขนเป็นสีน้ำตาลเหมือนสีทองแดง และบริเวณส่วนปลายของร่างกาย เช่นหน้า หู ปลายขา และหางจะมีสีเข้มกว่าบริเวณลำตัว หนวดมีสีลวดทองแดง ในสายตาคนต่างชาติเห็นว่าเป็นแมวพม่าแต่สันนิษฐานว่าเป็นแมวไทยที่ติดตามเชลยไปหลังเลยกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 ปัจจุบันไม่พบเห็นในเมืองไทย ซึ่งตอนนี้ทางกำนันกำลังเพาะให้เป็นพันธุ์แท้อยู่ครับ เพื่อจะนำไปทำการจดลิขสิทธิ์ว่าเป็นแมวของเมืองไทย นี่เป็นอีกหนึ่งเหตุผลที่ทางกำนันไม่ขายแมวตัวนี้ให้กับชาวต่างชาติที่มาดู 3 รอบ และมาขอซื้อ                

          เราได้รู้ถึงวิธีการเพาะพันธุ์แมวให้เป็นสายพันธุ์แท้จากทางกำนัน วิธีนั้นคือนำแมวที่พันธุ์เดียวกัน แต่ต่างสายมาทำการผสมกันครั้งที่1 ซึ่งเราจะได้ลูกแมวที่เรียกว่า 50 50 เราจะเลือกแมวที่มีลักษณะตรงตามโบราณมาทำการเพาะพันธุ์ โดยจะทำการผสมกับสายเดิมอีก 3 ครั้ง ซึ่งเราจะได้แมวรุ่นที่3 ที่เรียกว่า 90 10 ครับ เป้นป้องกันไม่ให้สายพันธุ์แมวอ่อนแอครับ 

 

หัตถกรรมบ้านทรงไทยโบราณ               

         เราได้พบกับดาบชินซึ่งเป็นประธานกลุ่มหัตถกรรมบ้านทรงไทยอัมพวาครับ หลังจากที่ได้เยี่ยมชมแล้ว และได้พูดคุยกับทางดาบชิน พบว่าดายชินเป็นผู้ให้คนหนึ่งครับ โดยท่านยินดีถ่ายทอดความรู้ต่างๆ ที่ท่านมีให้กับบุคคลที่สนใจโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย แต่ขอให้ช่วยออกในเรื่องวัตถุดิบที่ต้องใช้เท่านั้นครับ                 สำหรับโปรแกรมในวันแรกพบว่าค่อนข้างมาก ทำให้เข้าใจถึงการท่องเที่ยว 5 ประเทศ 7 วันเป็นอย่างดีครับ แต่สำหรับทีม IF ไม่ว่าจะไปหลายที่ แต่ทุกที่เราเสาะ ค้นหา กันอย่างเต็มที่ครับ สำหรับการเรียนรู้ในวันที่ 7 – 9 ไว้รอในครั้งหน้ามีเรื่องที่ผมเองไม่เคยรู้อะไรเกี่ยวกับอัมพวาอีกมากที่ได้พบ เห็น เรียนรู้ และทดลองมาเล่าให้ฟังครับ  

 

 

หมายเลขบันทึก: 118455เขียนเมื่อ 9 สิงหาคม 2007 23:00 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 19:50 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
สวัสดีจ้ะ อากวง 
  • ขอบคุณนะที่โทรมา update ข้อมูลเมื่อคืนวันพฤหัส  ไม่งั้น ตอนไปนั่งฟัง เขามา share วันศุกร์คงงงไปเหมือนกัน ว่าคุยกันเรื่องอะไร  เพราะเหมือนอยู่คนละโลก แบบว่า มันไม่รับมุก กันน่ะ
 
  • ตอนแรกก็ไม่รู้สึกอะไร  พอดีแนนไปด้วย พี่ก็เลยถามว่า แนนรู้เรื่องไหมเขาคุยอะไรกัน  แนนก็บอกว่าไม่รู้เรื่อง  พี่เลยต้องเล่าเรื่องมัคคุเทศก์เด็กมัธยม (ที่กวงเล่าให้พี่ฟัง)  ให้แนนฟังคร่าวๆ
 
  • ความรู้สึก อารมณ์ หรือบรรยากาศที่เล่า ก็คล้ายกับที่เราไปมา ทำให้เราสร้างภาพในใจได้ถูกต้อง  ไปนั่งฟังก็ดี ได้อะไรมาเยอะ แล้วนำมาเชื่อมโยงกับสิ่งที่ได้รับรู้ ตอนไปช่วยพี่ปู run world café ให้น้องใหม่ นอกจากนั้นยังนำไป share ให้ทีม ที่ทำกิจกรรม idea time ฟังเกี่ยวกับเรื่อง branding และ employee engagement (ได้เรื่องไปเขียน blog ได้อีกหนึ่งเรื่อง)
 
  • กวงถ่ายรูปแมว สามแสน มาหรือเปล่า  เขาคงไม่ให้ถ่ายแน่เลย  อีกอันที่อยากเห็น คือ รูปปั้นดินสอพอง  ต้องมีส่วนผสมอะไรพิเศษจึงจะทำให้ทนน้ำ หรือ ความชื้นได้ ถ่ายรูปมา ก็เอามาแปะให้ดูกันบ้างนะ
 จะรออ่านตอนต่อไป เล่าเรื่อง Nonaka ให้ฟังด้วยนะ เอาไปใช้ยังไง  เห็นพูดกันในวงบ่อยมาก ขอบคุณหลายๆ เด้อ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท