ข้อเสนอต่อคณะกรรมการพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษา (๑๐)


ข้อเสนอต่อคณะกรรมการพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษา (๑๐)

AAR การประชุมครั้งที่ ๑

         ในตอนที่ ๖ - ๙ ได้เล่าในลักษณะถอดเทปและเรียบเรียงคำอภิปรายในการประชุมคณะกรรมการอำนวยการฯ ครั้งที่ ๑ เมื่อวันที่ ๒๙ ธค. ๔๘  

         ต่อไปนี้จะเสนอข้อคิดเห็นของผมหลังจากกลับมาฟังเสียงที่บันทึกในการประชุมซ้ำ     และไตร่ตรองหลายตลบ     จึงขอบันทึกในลักษณะ AAR ดังนี้


1. ความคาดหวังของผมว่าจะได้เห็นในการประชุม มีดังนี้
         • หวังได้ร่วมในการถกเถียงประเด็นเชิงนโยบายให้เกิดมติเชิงนโยบายอย่างชัดเจน    คือหวังการถกเถียงอย่างกว้างขวาง     มีการเสนอความเห็นที่แตกต่างหลากหลาย     แล้วค่อยๆ เห็นพ้องกันมากขึ้น     ร่วมกันกำหนดเป็นนโยบายที่ชัดเจน     ชัดจนนำไปสู่การปฏิบัติที่บอกได้ว่าปฏิบัติแบบไหนใช่ แบบไหนไม่ใช่    ใช่หรือไม่ใช่ในที่นี้คือตรงตามนโยบาย      ไม่ใช่หมายถึงไม่ตรงตามนโยบาย     คือชัดจนเกิด commitment ในการดำเนินการโดยหลายฝ่าย  
         • หวังเข้าไปผลักดันให้เกิดการทดลองทำตาม “กระบวนทัศน์ใหม่”   เปรียบเทียบกับกระบวนทัศน์เก่า     ให้เห็นดำเห็นแดงไปเลยว่าผลการวิจัยและพัฒนาบอกว่าวิธีคิด – ปฏิบัติ ตามกระบวนทัศน์ไหน ดีกว่า      จุดสำคัญคือหวังให้เกิดมติที่หนักแน่นสำหรับไปร่วมกันดำเนินการร่วมกันหลายฝ่ายแบบเอาจริงเอาจัง
         • หวังไปขายความคิด ว่ากระบวนทัศน์ใหม่ คือกระบวนทัศน์ KM    หรือกระบวนทัศน์ ที่เน้นเอาความสำเร็จหรือ best practices มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้และขยายผล    และนำไปสู่การดำเนินการโครงการนำร่อง แล้วขยายผลโดยเร็วภายใน ๑ ปี 

2.  สิ่งที่ได้เกินความคาดหวัง     
             การนำเสนอกระบวนทัศน์ใหม่ เสนอโดย ศ. สุมน อมรวิวัฒน์ ซึ่งถือเป็นปูชนียบุคคล ในวงการศึกษา     และหนุนโดยผม ซึ่งก็คงจะมีคนเกรงใจ “ความเป็นคนแก่” อยู่พอสมควร     จึงไม่มีการถกเถียงตัวกระบวนทัศน์เลย     คนที่ออกมาเถียงคือตัวรัฐมนตรีผู้เป็นประธาน    คือเถียงให้เกิดความพอดี ไม่สุดโต่งไปด้านหนึ่งเกินไป     ดังนั้นผมจึงค่อนข้างตกใจที่มีการยอมรับข้อเสนอแบบที่ยอมรับง่ายเกินไป   
            กระบวนทัศน์ใหม่ที่ยอมรับกัน คือ กระจายอำนาจ ไม่สั่งการไปจากส่วนกลางแบบดิ่งเดี่ยว     เปิดโอกาสให้ สพท., โรงเรียน/สถานศึกษา, และครู ได้คิดเอง สร้างสรรค์เอง     ให้เกิดการดำเนินการจัดกระบวนการเรียนรู้ที่หลากหลายโดยยึดตามหลักการของหลักสูตรเดียวกัน     คือมีเอกภาพในท่ามกลางความหลากหลาย     และให้มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้วิธีปฏิบัติจากความสำเร็จในระดับ สพท., โรงเรียน/สถานศึกษา, และกลุ่มครู     ให้มีการสร้างความรู้ในด้านการพัฒนาหลักสูตรและการจัดการเรียนการสอนขึ้นมาจากความสำเร็จในระดับปฏิบัติ    รวมทั้งสร้างวิธีการพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษาที่เน้น on the job learning    ไม่เน้นการดึงครูออกมาจากโรงเรียน
            สิ่งที่ได้มาง่ายๆ แบบนี้     ผมถือว่าเป็นข้อตกลงที่ไม่ชัดเจน    ไม่แน่ว่าจะเป็นข้อตกลงที่มาจากฉันทามติแท้     ผมสงสัยว่าจะเป็น “การยอมเพราะเกรงใจ”     ไม่ใช่ความพร้อมใจ     ดังจะกล่าวต่อไปในข้อที่ว่าด้วยสิ่งที่ผมได้รับน้อยกว่าที่คาดหวัง


3. สิ่งที่ได้น้อยกว่าที่คาดหวัง    
         ผมคาดหวังข้อตกลงที่หนักแน่น ที่จะนำไปสู่การดำเนินการแบบมีพลัง     ผมหวังให้มีการแลกเปลี่ยนซักถามกันว่าการปฏิบัติแบบใดบ้างที่ถือว่าเป็นไปตามกระบวนทัศน์ใหม่     และการปฏิบัติแบบใดบ้างที่ถือว่าทำตามความเชื่อแบบเก่า     ผมคาดหวังให้มีการพูดกันเรื่องวิธีปฏิบัติในหลากหลายระดับ    ลงไปถึง do’s  and don’ts    ผมคาดหวังให้มีการยกตัวอย่างการดำเนินการตามแนวคิดใหม่ ที่เกิดความสำเร็จ    และอยากได้ยินการนำเสนอว่ามีความสำเร็จเรื่องใดที่น่าจะเกิดขึ้นภายใต้กระบวนทัศน์แบบเก่า    อยากได้ฟังการถกเถียงลงไปในประสบการณ์ระดับปฏิบัติที่เป็นรูปธรรม     แต่ในที่ประชุมดูจะยอมรับความล้มเหลวในการบริหารหลักสูตรและบริหารการพัฒนาครู ของกระทรวงศึกษาเร็วเกินไป    เนื่องจากท่านรัฐมนตรีตำหนิสภาพที่เป็นอยู่อย่างรุนแรง     และผู้เข้าร่วมประชุมก็เกรงใจที่จะแย้งว่าส่วนดีๆ ก็มีอยู่เหมือนกัน
         ผมคาดหวังว่าจะมีการถกเถียงด้านหลักการ    วิธีคิด    กระบวนทัศน์กันอย่างอิสระ   ในบรรยากาศของความเท่าเทียมกัน    แต่ผมผิดหวังอย่างแรง    เพราะบรรยากาศเป็นแบบลูกน้องมาชี้แจงต่อนาย    หรือมาเสนอแผนปฏิบัติที่สนองนโยบายของนาย     ทำให้ผมสงสัยว่า “คณะกรรมการอำนวยการ” แบบไทยๆ ควรมีองค์ประกอบอย่างไร     ควรมีการดำเนินการอย่างไร จึงจะเป็นคณะกรรมการที่ใช้พลังสมอง พลังความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ ได้อย่างจริงจัง     ตรงนี้คนผิดน่าจะเป็นผม     คือผมเขลาเกินไปที่คาดหวังบรรยากาศดังกล่าวในที่ประชุมที่รัฐมนตรีเป็นประธาน และข้าราชการประจำเป็นกรรมการผู้นำเสนอ
         ผมแปลกใจวิธีจัดการประชุม     ซึ่งผมคาดว่าเป็นการประชุมคณะกรรมการอำนวยการ     การประชุมครั้งแรกน่าจะทำความชัดเจนเชิงนโยบาย    แต่นี่เน้นการนำเสนอแผนปฏิบัติเลย     บรรยากาศคล้ายๆ จะต้องเร่งรีบดำเนินการ     ผมก็เลยสงสัยว่าบรรยากาศนี้คงจะตกอยู่ภายใต้การระบาดของโรคลุกรี้ลุกลน ในวงราชการไทย     เพราะโดนจี้โดยซีอีโอ
ผมสงสัยว่าการประชุมแบบนี้ และการทำงานแบบนี้ อาจเป็นวัฒนธรรมประนีประนอมแบบไทยๆ     ซึ่งทำให้ไม่เกิดการเผชิญหน้า     แต่ก็ไม่เกิดการทำงานแบบทุ่มเทถวายชีวิตเพราะคนทำมีความเชื่อ มี commitment     ต้องการทำให้สำเร็จเพราะรู้สึกเป็นความท้าทาย     ผมอยากให้ความรู้สึกเหล่านี้ของผมเป็นสิ่งที่ผิด     อยากให้สิ่งที่จะเกิดขึ้นจริงเป็นเครื่องพิสูจน์ว่าผมเข้าใจผิด

4. สิ่งที่ผมจะทำต่อไป       
         • ผมจะหาทางเสนอวิธีปฏิบัติโดยเอาเทคนิค KM เข้าไปเป็นเครื่องมือให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้อย่างกว้างขวาง     ให้เกิดความอิสระในระดับปฏิบัติ (สพท., โรงเรียน, กลุ่มครู)     เพื่อให้เกิดความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ได้อย่างมีพลัง     ให้สามารถขุดค้นความดี – ความสำเร็จที่มีอยู่แล้ว เอามาขับเคลื่อนการดำเนินการแบบเอาความสำเร็จมาเป็นทุน    และให้ส่วนกลาง คือ สพฐ. และ    สคบศ. (สถาบันพัฒนาครูและผู้บริหารการศึกษา) สามารถใช้ KM ในการบริหารจัดการในรูปแบบใหม่ คือจัดการแบบเน้นทำหน้าที่ empowerment  
         • จะหาทางทำความเข้าใจ “การดำเนินการแบบกระจายอำนาจ ส่งเสริมให้ กลุ่มครู, โรงเรียน/สถานศึกษา, และ สพท. ดำเนินการเอง” ว่ามีความหมายในเชิงปฏิบัติอย่างไร (operative definition)     ผมมีความเห็นว่าหัวใจอยู่ที่นิยามของคำว่า “ผลงาน” ครับ     คงต้องทำให้เป็นที่เข้าใจกันว่าผลงานของครูคือการร่วมกันดำเนินการให้นักเรียนเกิดความรู้และปัญญาตามระดับของนักเรียน และทำให้บรรยากาศของโรงเรียนให้ความสุข ความสนุกแก่นักเรียน     ความสำเร็จของ สพท. คือการสนับสนุนให้โรงเรียนมีทรัพยากร มีกิจกรรมข้ามโรงเรียน เพื่อให้การพัฒนาคุณภาพของการเรียนรู้ และความสำเร็จน้อยใหญ่เป็นเรื่องที่ได้รับการเอาใจใส่ การยกย่อง เป็นผลงาน     ส่วน สพฐ. และ สคบศ. ก็มีผลงานตรงที่ได้เข้าไป empower ให้เกิดความสำเร็จในระดับกลุ่มครู, โรงเรียน/สถาบันการศึกษา, และ สพท.      สิ่งที่ต้องระวังก็คือต้องไม่ทำให้ทาง กลุ่มครู, โรงเรียน/สถาบันการศึกษา, และ สพท. คิดว่ากิจกรรมตามที่ สพฐ. และ สคบศ. นำเสนอเป็นการดำเนินการเพื่อผลงานของ สพฐ. และของ สคบศ.     คือต้องไม่ทำให้กลุ่มครู, โรงเรียน, และ สพท. รู้สึกว่าการที่ตนดำเนินการตามโครงการนี้ ก็เพื่อให้เป็นไปตามที่ สพฐ. และ สคบศ. ต้องการ     หรือเพื่อให้เป็นไปตามนโยบายของรัฐมนตรี      ต้องหากุศโลบายต่างๆ นานา ที่จะทำให้ผลการดำเนินการตามโครงการที่เสนอเป็นผลงานของครู, โรงเรียน/สถาบันการศึกษา และ สพท. ไม่ใช่ของ สพฐ. และ สคบศ.     ประเด็นที่กล่าวมีความลึกซึ้งในระดับความเชื่อ   ระดับกระบวนทัศน์ ซึ่งผมไม่คิดว่าจะเปลี่ยนได้เร็ว     แต่สามารถเปลี่ยนได้   
         • จะเสนอให้มีการฝึกเจ้าหน้าที่ของ สพฐ. และ สคบศ. ที่จะไปสัมผัสกับกลุ่มครู, โรงเรียน, และ สพท. เสียใหม่     ให้มี empowerment skill / learning skill ไม่ใช่ commanding skill หรือ training skill     นั่นคือ ผมเห็นว่าสิ่งแรกที่ควรทำคือฝึกอบรมคนของส่วนกลาง ให้เข้าใจกระบวนทัศน์ใหม่ และทักษะใหม่    ให้สามารถเข้าไปมีปฏิสัมพันธ์กับส่วนผู้ปฏิบัติด้วยท่าทีใหม่ ทักษะใหม่ และเป้าหมายใหม่  คือเป้าหมายเข้าไปเสาะหาความสำเร็จมาทำความเข้าใจ    ยกย่อง   บอกต่อ   และหาทางส่งเสริมให้ผู้ปฏิบัติทำได้ดียิ่งขึ้น    ให้ได้เรียนรู้เพิ่ม    ให้ได้มีโอกาสทำสิ่งที่ยากยิ่งขึ้นไปอีก    ซึ่งหมายความว่าจะได้รับการปูนบำเหน็จ หรือเลื่อนขั้น หรือได้รับรางวัลในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง     โดยนัยนี้ คนส่วนกลางจะต้องเรียนรู้ทักษะในการเสาะหาความสำเร็จ    ความดีความชอบจะอยู่ที่ความสามารถในการเสาะหาความสำเร็จที่แท้จริง  และการทำให้ความสำเร็จนั้นยิ่งดีขึ้นและเกิดการขยายเครือข่ายออกไป    รวมทั้งการดำเนินการจัดให้มีกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างผู้มีความสำเร็จด้วยกัน   และกับผู้ต้องการเข้ามาขอเรียนรู้     นั่นคือ คนของส่วนกลางจะต้องไปทำหน้าที่ “คุณอำนวย”    และต้องเรียนรู้ทักษะในการเป็น “คุณอำนวย”
         • จะเสนอให้คณะกรรมการอำนวยการกำหนดให้คณะอนุกรรมการทั้งสองไปคิดว่าในระบบใหม่ของการพัฒนาครู และพัฒนาหลักสูตร   Core Competence ของข้าราชการใน สพฐ. ส่วนกลางคืออะไร,    ของข้าราชการใน สคบศ. คืออะไร, ของ ข้าราชการใน สพท. คืออะไร, ของครูในโรงเรียนคืออะไร,    และมีตัวชี้วัด Core Competence เหล่านั้นอย่างไร    ครูที่มี Core Competence สูงกว่าระดับ และเงินเดือนของตนจะได้รับผลประโยชน์อย่างไร     กลไกนี้น่าจะช่วยขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงได้    ผมมองว่าการเข้าไปวัด Core Competence ครูโดยการสอบหรือให้ตอบแบบสอบถามไม่น่าจะเป็นวิธีการที่ถูกต้อง     วิธีการที่น่าจะดีกว่าคือดูที่ผลงาน    คือผลการเรียนรู้ของนักเรียน    ครูที่มีผลงานดีควรได้รับการเชื้อเชิญให้มาเล่าว่าตนคิดอย่างไร ทำอย่างไร     แล้วมีกระบวนการสกัด Core Competence ออกมา     กระบวนการดังกล่าวควรพยายามทำโดยตรวจสอบว่าผลงานนั้นๆ เป็นผลของทีมงานหรือเปล่า     ถ้าเป็นผลของทีมงาน ต้องเชื้อเชิญมาร่วมกันสกัดความรู้ทั้งทีม

             ข้อเสนอต่อคณะกรรมการพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษา (1)

             ข้อเสนอต่อคณะกรรมการพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษา (2)

             ข้อเสนอต่อคณะกรรมการพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษา (3)

             ข้อเสนอต่อคณะกรรมการพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษา (4)

             ข้อเสนอต่อคณะกรรมการพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษา (5)

             ข้อเสนอต่อคณะกรรมการพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษา (6)

             ข้อเสนอต่อคณะกรรมการพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษา (7)

             ข้อเสนอต่อคณะกรรมการพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษา (8)

             ข้อเสนอต่อคณะกรรมการพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษา (9)

            
วิจารณ์ พานิช
๔ มค. ๔๙

 


 

หมายเลขบันทึก: 11822เขียนเมื่อ 10 มกราคม 2006 16:13 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 พฤษภาคม 2012 11:44 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

เรียน คุณหมอวิจารณ์ที่เคารพ

       ก.ค.ศ.กำหนดการประเมินครูและบุคลากรทางการศึกษาไว้ 3 ด้าน คือ 1)ด้านวินัย คุณธรรมจริยธรรมและจรรยาบรรณวิชาชีพ 2)ด้านคุณภาพการปฎิบัติงาน(competencies) และ 3) ด้านผลการปฎิบัติที่เกิดแก่ผู้เรียนและบุคลากรที่เกี่ยวข้อง  หากสถานศึกษาจะใช้ตัวบ่งชี้แต่ละด้านนี้เป็นเครื่องมือประเมินครูหรือให้ประเมินตนเอง เป็น Needs Assesment :NA ให้เป็น database ในการพัฒนาครูเป็นรายคน ในเส้นทางการพัฒนาวิชาชีพให้เป็นชีวิตจริง โดยมุ่งให้เกิดก้าวหน้าแก่ผู้เรียน และจะเกิดความก้าวหน้าในวิชาชีพไปพร้อมกันด้วยก็น่าจะเป็น career path ที่น่าจะเป็นกลยุทธ์ในการพัฒนาครูไหมครับ...คุณหมอครับ..ผมมีบล็อกของตัวเองแล้วนะครับ...

    ธเนศ  ขำเกิด

 

ลืมแนะนำบล็อกตัวเอง http://gotoknow.org/tanes ครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท