จากกองทุนสวัสดิการตำบลที่บ้านน้ำขาวสู่อีก 146 ตำบลในสงขลา


ตำบลน้ำขาว อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา เป็นพื้นที่ที่มีชื่อเสียงด้านองค์การเงินชุมชนมาเป็นเวลานาน ด้วยครูชบ ยอดแก้ว ได้สร้างหลักปักฐาน “กลุ่มสัจจะออมทรัพย์ แบบพัฒนาคุณธรรมครบวงจรชีวิต” เมื่อ 20 ปีเศษมาแล้ว ซึ่งในระยะหลังได้มีผู้นำไปปฏิบัติ รวมทั้งนำไปประยุกต์ใช้ในพื้นที่ต่าง ๆ อย่างกว้างขวางทั่วประเทศ ปัจจุบันองค์กรชุมชนทั่วประเทศได้ร่วมกันทำ “กองทุนสวัสดิการระดับตำบล” ขึ้น เพื่อช่วยเหลือเกื้อกูลกันของคนในตำบล ซึ่งที่ตำบลน้ำขาวเป็นอีกแห่งหนึ่งที่มีรูปแบบที่น่าสนใจยิ่ง

ครูชบ ยอดแก้ว เล่าว่า วิธีการของ “สวัสดิการวันละบาทที่น้ำขาว” นั้น ต้องเริ่มที่ตัวเองและครอบครัว สมมติว่ามีอยู่ 5 คน ก็แขวนกะปุกไม้ไผ่คนละอันไว้ที่หัวนอน ก่อนนอนให้กราบพระ 3 ครั้ง แล้วนำเงินหนึ่งบาทหยอดกะปุกของใครของมัน ห้ามหยอดแทนกัน เพราะเงินหนึ่งบาทที่หยอดลงไป ต้องมาจากการประหยัดของคน ๆ นั้นในวันนั้น โดยทำให้สม่ำเสมออย่าโกหกตัวเอง เช่น ทุกวันใช้เงิน 30 บาท แต่ถ้าจะเข้าเป็นสมาชิกกองทุน ต้องใช้เงินเพียง 29 บาท อีกหนึ่งบาทนำมาออม

พอครบหนึ่งเดือนทุกครอบครัวก็นำเงินออมของตนไปรวมกัน เพื่อตั้งเป็นกลุ่มสวัสดิการระดับตำบล ทำแบบนี้ทุกเดือน จนครบ 6 เดือน จึงนำเงินที่ได้ มาจัดสวัสดิการให้กับสมาชิก แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นในแต่ละตำบลต้องมีสมาชิกเริ่มแรกไม่น้อยกว่า 100 ราย จึงจะมีเงินมากพอที่จะนำไปจัดสวัสดิการให้แก่กันได้ ครูชบ บอกว่า กว่าจะมาเป็นกองทุนสวัสดิการตำบลน้ำขาวที่สมบูรณ์ได้นั้น ต้องผ่านขั้นตอนต่าง ๆ หลายขั้นตอน ด้วยกัน คือ ชวนผู้นำชุมชนในตำบลมานั่งคุยทำความเข้าใจร่วมกัน แกนนำเหล่านั้นก็จะเป็นกระบอกเสียงไปพูดคุยกับชาวบ้าน ซึ่งพอถึงตอนนี้ก็ต้องให้กำลังใจชาวบ้านด้วยเช่นกัน ว่าเราต้องตั้งกลุ่มของเราขึ้นมาก่อนช่วยเหลือตัวเองกันก่อน โดยต้องสมัครเข้ามาเป็นสมาชิกเอาเงินมากองรวมกัน

ถ้าเรามีกองทุนของเราแล้ว มีระบบการจัดการที่ดี คนที่ยังไม่ได้มาเป็นสมาชิก ก็เชื่อถืออยากเข้าร่วม กองทุนของเราก็จะใหญ่ขึ้น ไม่เพียงคนในตำบลจะเชื่อถือเท่านั้น ถ้าเราได้มีการประสานงานกับ อบต. หรือหน่วยงานต่าง ๆ ในท้องถิ่น ชวนเขาเข้ามาร่วม เราก็จะมีเงินมากขึ้น หน่วยงานของรัฐอื่น ๆ ก็จะเข้ามาร่วม

เราต้องประเมินอยู่ตลอดเวลาเราบอกกับสมาชิกทุกคนว่า ต้องมีสัจจะกับตัวเอง นำเงินมาหยอดกระปุกไว้ทุกวัน ถ้าในบ้านมีหลายคนต้องอย่าหยอดแทนกัน เพราะเราต้องการสร้างวินัย สร้างสัจจะให้เกิดขึ้น พ่อต้องอย่าหยอดแทนลูก แต่ต้องสอนลูกให้มีวินัย พอครบเดือนก็นำมาฝากไว้ที่กลุ่ม คือ เราและผู้นำทุกคนต้องสังเกตุพฤติกรรมเหล่านี้อยู่ตลอดเวลา คือ พฤติกรรมการออมที่บ้าน และการนำมาฝากที่กลุ่ม ทั้งนี้ เพราะกองทุนของเราจะมั่นคงหรือไม่ขึ้นอยู่กับสมาชิก ถ้าสมาชิกมีสัจจะมีวินัย มีการพัฒนาดีขึ้น ก็แสดงว่า กลุ่มเรามีแนวโน้มจะเติบโต” ครูชบกล่าวอย่างเชื่อมั่น

หลังจากที่ดำเนินงานมาครบทุกขั้นตอน แกนนำทั้งหมดก็ต้องมานั่งกับสรุปทบทวน หาจุดบกพร่องหาจุดแข็ง จุดอ่อน หรือจะชวนสมาชิกทั้งหมดมาประชุมใหญ่ โดยการมีส่วนร่วมจากสมาชิกทุกคน สำหรับเงินของกองทุนระดับตำบลนั้นให้แบ่งออกเป็น 3 ส่วน ส่วนแรก 30% นำไปให้สมาชิกลงทุน ให้เกิดผลงอกเงย เช่น ทำมาค้าขาย หรือเป็นเงินยืมเพื่อการศึกษาของบุตรหลาน โดยไม่คิดดอกเบี้ย แต่การดำเนินกิจการต้องไม่เอาเปรียบสังคม ไม่ทำลายคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อม และผลผลิตที่ได้จากการลงทุน ที่นำออกขายต้องลดราคาให้ต่ำกว่าท้องตลาด 1 บาท

อีก 50% นำไปจ่ายเป็นสวัสดิการ 9 อย่าง ส่วน 20% ที่เหลือ จะเป็นกองทุนสำรองการบริหารจัดการ ครูชบ บอกว่า แนวคิดของการจัดสวัสดิการ 9 อย่างนั้น ก็มาจากความเป็นจริงของชีวิตมนุษย์ว่า คนเราเกิดมาตั้งแต่เกิดจนกระทั้งตายนั้น ควรจะได้รับอะไรบ้าง อะไรที่มีแล้ว และอะไรยังขาดอยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประชาชนคนธรรมดา ที่ไม่ใช่ราชการ ไม่ใช่ลูกจ้าง พนักงานบริษัทห้างร้าน จะขาดเหมือน ๆ กัน สวัสดิการเกี่ยวกับการเกิด ก็จะได้รับทั้งลูกและแม่ ลูกได้ค่าทำขวัญต้อนรับเด็กเกิดใหม่ ส่วนแม่ก็ต้องเสียเงินเสียทองเป็นค่ามดค่าหมอ ค่านอนโรงพยาบาล กองทุนก็จ่ายเป็นสวัสดิการให้ สวัสดิการยามแก่ชรา กลุ่มก็จะจ่ายเป็นค่าเลี้ยงดู ให้เป็นรายเดือนจนกระทั้งเสียชีวิต ยามเจ็บไข้ได้ป่วย กองทุนจะจ่ายเป็นสวัสดิการให้เป็นค่านอนรักษาที่โรงพยาบาล ส่วนค่ารักษานั้น ควรจะเข้าโครงการ “30 บาท รักษาได้ทุกโรค” ของราชการที่ดูแลอยู่จะได้เป็นการประหยัดเงินกองทุน เมื่อเสียชีวิตซึ่งเป็นเรื่องอนิจจัง ไม่มีใครหนีพ้น แม้ผู้ที่เป็นสมาชิกกองทุนไม่ได้รับด้วยตนเอง แต่ลูกหลานได้รับค่าทำศพ

นอกจากนี้ยังมีสวัสดิการผู้ด้อยโอกาส ซึ่งเป็นเรื่องของการเอื้ออาทรต่อผู้ด้อยโอกาสในตำบล เช่น คนพิการ เด็กถูกทอดทิ้ง ฯลฯ โดยกองทุนจะจ่ายสวัสดิการให้ 365 บาท ฝากเข้ากองทุน สวัสดิการ ทำให้ผู้ด้อยโอกาสเป็นสมาชิกกองทุนและได้รับสวัสดิการอื่น ๆ เฉกเช่น สมาชิกกองทุนทั่ว ๆ ไปหากสมาชิกกู้เงินจากกองทุน โดยกู้มาแล้วไม่น้อยกว่า 365 วัน เมื่อสมาชิกเสียชีวิต กองทุนจะจ่ายเงินกู้แทนสมาชิก แต่ไม่เกินวงเงิน 30,000 บาท รวมทั้ง กองทุนจะจ่ายเงินสวัสดิการคืนให้เท่ากับ 50% ของเงินที่สมาชิกสมทบมาทั้งหมดแต่ไม่เกิน 15,000 บาท โดยจ่ายให้กับผู้รับประโยชน์ที่ระบุไว้ในสมัครสมาชิกกองทุน

ตอนนี้เรามีสมาชิกแล้ว 1,400 คน มีเงินกองทุน 300,000 บาท และยังขยายไปยังตำบลต่าง ๆ แล้วอีก 27 กองทุน เงินกองทุน 3 ล้านบาท ตั้งเป้าไว้ว่า ในปี 2551 ในสงขลาจะดำเนินการให้ครบนั้น 124 ตำบล 22 เทศบาล คลอบคลุมประชาชน 50% หรือ 500,000 คน”

กองทุนสวัสดิการตำบลน้ำขาว จึงเป็นกรณีศึกษาและทิศทางสำคัญของการจัดการกองทุน โดยภาคประชาชน ซึ่งปัจจุบันได้มีการดำเนินงานแล้ว 200 ตำบล ทั่วประเทศ นอกจากนี้ ศูนย์ประสานงานเพื่อต่อสู้เอาชนะความยากจนภาคประชาชน สมทบให้กับกองทุนที่มีการบริหารเข้มแข็งและเชื่อมกับองค์กรในท้องถิ่นได้ จำนวนไม่เกินหนึ่งแสนบาท กองทุนสวัสดิการตำบลจึงเป็นทิศทางการจัดสวัสดิการภาคประชาชน ที่จะเป็นหลักประกันในชีวิตให้กับคนส่วนใหญ่ 50 ล้านคน ที่เข้าไม่ถึงบริหารของรัฐ เป็นการให้อย่างมีคุณค่าและรับอย่างมีศักดิ์ศรีของคนรากหญ้าในสังคม

 

ข้อความจาก http://www.chumchonthai.or.th

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 11816เขียนเมื่อ 10 มกราคม 2006 15:28 น. ()แก้ไขเมื่อ 29 พฤษภาคม 2012 14:01 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท