ช่องว่างระหว่างความฝัน แผนงานและความเป็นจริงในการพัฒนา ระบบสนับสนุนเครือข่ายปราชญ์แห่งชาติ


ตอนนี้เรามีหินกับอากาศ เหมือนโลกในระยะเริ่มต้น เมื่อ ๔๕๐๐ ล้านปีมาแล้ว

ในระยะสองสามวันที่ผ่านมาผมได้คุยกับคุณเม้ง ในเชิงของแนวคิดว่าเราจะนำความรู้ สู่ระบบการเก็บรวบรวมและการใช้งานจริง รวมทั้งส่งถ่ายในระบบอินเตอร์เน็ตได้อย่างไร

คุณเม้งได้เสนอว่าควรจะมีสำนักงานปราชญ์แห่งชาติ

ซึ่งเป็นตัวสนับสนุนที่จะทำให้เกิดการเผยแพร่ความรู้ โดยบุคคลระดับปราชญ์ที่ไม่ค่อยมีเวลา และไม่ต้องมาทำเอง ซึ่งควรจะมีเจ้าหน้าที่ ซึ่งคอยเก็บรวบรวม วิเคราะห์ สังเคราะห์ และนำความรู้ต่างๆ เหล่านั้น เข้าสู่ระบบฐานข้อมูล และระบบข้อมูลข่าวสาร

แต่ผมกลับเสนอว่าประเด็นใหญ่ของเรื่องนี้ อยู่ที่ระบบการใช้งาน ระบบการบ่มเพาะความรู้ ซึ่งถ้าเทียบในระดับของการจัดการความรู้ 4 ระดับ ก็คือ

ตอนนี้เรามีหินกับอากาศ เหมือนโลกในระยะเริ่มต้น เมื่อ ๔๕๐๐ ล้านปีมาแล้ว

 คือมีความรู้ที่เป็นภูมิปัญญาและมีระบบอินเตอร์เน็ต

แต่ขาดการเชื่อมโยงกันของระดับเหล่านี้ ก็คือขาดดินและขาดน้ำที่มีประสิทธิภาพ

คำว่าดิน คือการนำความรู้ไปใช้ให้เกิดผล เกิดการขยายผล การนำไปใช้ ให้การเกิดการงอกงามต่างๆ

คำว่าน้ำ คือระบบฐานข้อมูล ที่เป็นจริง ที่ใช้ได้จริง ซึ่งรวมความถึง ระบบ Modeling หรือระบบแบบจำลองต่างๆ ของการใช้ความรู้

เพราะฉะนั้น เรามีแต่หินกับอากาศ ทำให้ระบบงานของเราไม่เชื่อมโยงกัน

แล้วใครจะมาทำหน้าที่ตรงนี้ เราก็คุยกันว่า สถาบันที่น่าจะมาทำหน้าที่ตรงนี้ก็คือ

มหาวิทยาลัยที่อยู่ตามพื้นที่ต่างๆ

อาจจะจัดเป็นศูนย์การประสานงานระดับภาค ภาคเหนือ ภาคอีสาน ภาคตะวันออก ภาคกลาง และภาคใต้ ประมาณนี้นะครับ

แต่ในความเป็นจริงนั้น มันก็มีขีดจำกัดมากมาย

โดยเฉพาะในมหาวิทยาลัยต่างๆ ปัจจุบันก็ยังไม่มีใครที่จะมีเวลา มีความคิดชัดเจนพอที่จะมาสนับสนุนงานตรงนี้

ทั้งๆที่เครือข่ายปราชญ์ในปัจจุบัน ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากคุณหมอประเวศ วะสี และคุณหมออภิสิทธิ์ ธำรงวรางค์กูร อย่างเต็มแรง ก็ยังได้ในระดับการจัดกิจกรรม ซึ่งไม่ได้ลงลึกถึงเชิงของการจัดการความรู้มากนัก แต่เน้นไปถึงกิจกรรมการติดต่อสื่อสาร การทำงานวิจัย บางเรื่อง และการประชุมเครือข่ายประจำเดือนเท่านั้น

ในการที่จะทำงานให้เกิดผลอย่างจริงจัง ตามที่เราคุยกันไว้นั้น จำเป็นจะต้องมีโครงสรางที่เข้มแข็งและทำงานได้จริง ซึ่งไม่ใช่เฉพาะแค่อาจารย์มหาวิทยาลัยไม่กี่คนมาทำงาน แต่จะต้องมีบุคลากรสนับสนุนมากมาย นี่คือความฝันที่เราวางไว้ 

ทีนี้ถ้าเรามามองตามสภาพความเป็นจริงแล้ว เราต้องการคนเป็นจำนวนมากนั้น เราจะเอามาจากไหน แนวคิดนั้นไม่ยาก ยากที่จะเอาใครมาทำ ประเด็นสำคัญอยู่ตรงที่ว่า

1. อาจารย์มหาวิทยาลัยหรือสถาบันไหนที่ชัดเจนพอ มีเวลามากพอ หรือที่มีจิตใจที่ทุ่มเท เพื่อทำงานให้เกิดผล เพื่อประเทศชาติเหล่านี้

2. การประสานงานนั้นเราจะใช้งบประมาณจากแหล่งไหน และดำเนินการอย่างไร เพราะเรื่องนี้ก็เป็นเรื่องสำคัญพอสมควร

แต่อย่างไรก็ตามผมยังคิดว่า ตัวบุคลากรจะเป็นเรื่องใหญ่ ตัวงบประมาณน่าจะเป็นเรื่องรอง เพราะในปัจจุบันหน่วยงานรัฐบาล ก็ทำงานสนับสนุนเครือข่ายปราชญ์อยู่แล้ว เพราะฉะนั้นไล่ไปไล่มาแล้ว จะพบว่าข้อจำกัดที่สำคญที่สุดของเรื่องนี้ คือบุคลากร ของสถาบันต่างๆ

ซึ่งอาจจะไม่มี หรือมี แต่ไม่ค่อยมีเวลา หรือมีเวลาแต่ไม่ค่อยเข้าใจ หรือเข้าใจแต่ยังไม่เชื่อมโยงกับการทำงานของหน่วยงานต่างๆ

ซึ่งทำให้งานของเครือข่ายปราชญ์ยังไม่บรรลุผล นี่คือช่องว่างที่ผมมองเห็นครับ ท่านอื่นใครมีความรู้สึกอย่างไร กับเรื่องนี้ครับ หรือมีข้อเสนอแนะอื่นๆ อยากจะได้ความเห็นไว้รวบรวมมากเลยครับ 

ขอบคุณมากครับ

หมายเลขบันทึก: 117950เขียนเมื่อ 8 สิงหาคม 2007 12:24 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 มิถุนายน 2012 10:45 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (7)

สวัสดีครับ ดร.แสวง

  • ชัดเจนในข้อเปรียบเทียบระดับการจัดการความรู้ 4 ระดับ
  • ผมขอมีส่วนเป็นดินและน้ำนะครับ เป็นส่วนเล็กๆ ที่ค่อยเรียนรู้ไปสู่ดินและน้ำทีทมีคุณภาพ ช่วนชาวดินและชาวน้ำมาก๊วนกันทำตนเองให้ดีขึ้นครับ
  • ขอบคุณนะครับที่คุยเรื่องปราชญ์กับน้องเม้งแล้วสร้าง/ขายแนวคิด หาแนวทางส่งเสริมกัน

ขอบคุณครับ ครูนง

คุณเม้ง เขามีพลังสูง คิดไว ผมกำลังวิ่งตามดู แบบกลัวจะหลุดโค้งนะครับ

ผมก็หวังว่า ความพยายามของเราจะเกิดผลต่อความก้าวหน้าของชาติครับ

ขอบคุณมากครับ ที่ตามมาดูครับ

สวัสดีครับ
    นึกถึงวันที่เราคุยกันเรื่องนี้ที่บ้านครูบาฯ นะอาจารย์  ใจยังนึกว่าถ้าน้องบ่าวเม้งนั่งร่วมวงด้วยคงมันหยด  ยิ่งได้ครูนงอีกคน คงไม่ต้องนอนกันล่ะ

  • ถ้าไม่เข้าใจ มายุ่งมาก จัดการมาก นอกจากจะเป็นครอบงำด้วยความใสซื่อแล้ว จะเป็นการตอนบีปราชญ์ชาวบ้านมากกว่า ทำไปทำมาปราชญ์กลายเป็นหมาน้อยธรรมดา ทำกันเกร่อแต่เป็นการ ทำลาย และบันทอนความเป็ยจริงมากกว่า
  • อ.แสวง อาจจะจำได้ นักศึกษาหุ่นดีที่อาจารย์แซว เขาทำวิทยานิพนธ์เรื่องยกย่องปราชญ์ชาวบ้านให้ไปเข้าคอก มีเกรดมีซี เหมือนราชการ ผมเตือนว่าอย่าทำเลย พวกปราชญ์เขาไม่ได้อยากเป็นอะไร อยากเป็นชาวบ้านธรรมดาๆ เฉยๆ อิสระ ปล่อยวาง คิดและทำด้วยตนเอง แต่ตอนนี้มันทำท่าเละตุ้มเปะไปหมดแล้ว บอกก็ไม่เชื่อเสียด้วยพวกดันทุรังศาสตร์ ทำของดีๆเป็นของโหลไปหมดแล้ว

กราบสวัสดีครับ ท่าน อ.แสวง ท่านครูบา และทุกๆท่านนะครับ

  • ข้อคิดของท่านครูบาฯ เป็นสิ่งที่ทำให้ผมชะงักแล้วต้องกลับมาทบทวนแนวคิดของตัวเองที่ได้คิดเอาไว้ เรื่องสำนักงานปราชญ์แห่งชาตินะครับ ในเรื่องการเกิดของปราชญ์ปลอมขึ้นมา หากมีการตั้งสำนักงานปราชญ์ขึ้นมา
  • คราวนี้ ผมกำลังสนใจต่อเรื่องที่มาตั้งคำถามกันว่า เราจะทราบได้อย่างไร ว่าคนไหนคือปราชญ์ ใช้เกณฑ์อะไร ใครตัดสิน เป็นคำถามต่อๆ มานะครับ
  • แต่จริงๆ แล้วสิ่งที่ผมมองนะครับ คือ สำนักงานปราชญ์ที่ว่า นี้ ไม่ได้จะคัดเลือกปราชญ์มาแข่งขันอะไรเลยครับ เป็นการส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้แล้วนำไปใช้จริง จากคนที่เคยปฏิบัติจริงในพื้นที่อย่างช่ำชองในด้านนั้น เช่น ด้านดิน การปรับปรุงดิน การจัดการทรัพยากรดิน และด้านอื่นๆ เช่น น้ำ อากาศ ป่าไม้ พืชไร่ สัตว์เลี้ยง ปลา หรืออื่นๆ หรือเชิงบูรณาการ ตามที่ว่าจะเกิดประโยชน์
  • ไม่น่าจะมีการแข่งขันกันเป็นปราชญ์ เพราะสำนักงานปราชญ์ ไม่ได้เข้าไปรบกวนเวลาปราชญ์ในการทำวิจัยของปราชญ์เอง และสำนักงานนี้ หากจะตั้งก็เพื่อจะอำนวยความสะดวกให้กับปราชญ์ในการถ่ายทอดความรู้ออกสู่สังคมไทย ที่เชื่อมต่อถึงกันผ่านฐานข้อมูลปราชญ์ชาวบ้าน
  • ในความเป็นปราชญ์นั้น ชาวบ้านน่าจะทราบดีว่าใครรู้เรื่องอะไรดี แล้วได้ให้ความรู้กับชุมชนดีแค่ไหน การเป็นปราชญ์ ไม่น่าจะทำอยู่แต่กับเรื่องของตัวเองเท่านั้น แต่มีการถ่ายทอดอบรม แลกเปลี่ยนกับคนในชุมชนเพื่อนำไปสู่การขยายผลด้วยครับ
  • เป้าหมายหลักคือว่า จะนำองค์ความรู้ ที่ดีๆ ที่ได้จากการค้นพบของปราชญ์ออกสู่สังคมไทยหรือสังคมโลกได้อย่างไร สำนักงานปราชญ์จะเป็นองค์ช่วยส่งเสริมเพื่อเป็นศูนย์กลาง
  • คือเป็นไปได้ยากที่จะให้ปราชญ์แต่ละท่านมาเขียนบล็อกบรรยายและตอบคำถามคนมากมาย แต่เป็นไปในรูปแบบการพูดคุยถึงพี่น้องคนไทย ที่กำลังประสบปัญหาหอยเชอรี่ จะแก้อย่างไร แล้วอัดเสียงฝากไว้ในบล็อกหรือฐานข้อมูลปราชญ์ ที่ผ่านการประสานงานจาก สนง.ปราชญ์
  • ตอนนี้ผมมององค์ความรู้ที่แท้จริง คือองค์ความรู้ที่เข้าถึงการนำไปใช้จริง แล้วกระทบกับสังคมนะครับ องค์ความรู้บนหิ้ง ก็จำเป็นแต่มาในภายหลังครับ เพราะอยู่บนหิ้งก็จะมีประโยชน์เมื่อคนเข้าถึง
  • คำว่า สำนักงานปราชญ์ นี้ จะมีส่วนกลาง เช่น คล้ายๆ กับ สคส. ที่ทำอยู่ตอนนี้ ที่เป็นแกนนำหลักของ gotoknow ซึ่งในเชิงแนวเดียวกันก็อาจจะทำนองนี้ แล้วมี สนง.ปราชญ์ ย่อยในแต่ละพื้นที่ อาจจะมีการนำความรู้ไปเผยแพร่ผ่านชุมชน ในด้านที่เกี่ยวข้อง
  • บางชุมชนจะมีการอ่านข่าวในยามเช้า พูดคุยผ่านพี่น้องเกษตรกร แล้วแนะนำเคล็ดลับต่างๆ ผ่านแนวทางนี้ ถึงหูของชาวบ้าน ชุมชนย่อย อาจจะนำแนวทางนี้ มาสู่การปฏิบัติจริง ซึ่งเป็นคำตอบลัดพร้อมการพิสูจน์การทดลองเพื่อยืนยัน เพราะบางที่เอาไปใช้ได้ บางที่เอาไปใช้ไม่ได้ ดังนั้น แนวทางนี้ ก็เพื่อเป็นการบอกว่า แนวทางที่ปราชญ์อีสานค้นพบ อาจจะใช้ได้กับแนวทางปัญหาทางภาคเหนือด้วย แต่อาจจะใช้ไม่ได้กับภาคใต้ อะไรทำนองนี้นะครับ
  • ผมมองถึงแนวทางการบูรณาการเข้าร่วมกันนะครับ ในการเข้าถึงองค์ภูมิปัญญาแบบองค์รวมของสังคมไทยนะครับ
  • ผมเองยังมีประสบการณ์น้อยครับ ในเรื่องการมองเรื่องเหล่านี้ และผมก็ช่วยได้ในเพียงบางส่วนเท่านั้นครับ ท่านอื่นมีอะไรชี้แนะ ด้วยความยินดีนะครับ
ท่านปราชญ์ครับ มาขออนุญาตินำข้อความบางส่วนไปรวมครับ ขอบคุณครับ  http://gotoknow.org/blog/mrschuai/117622#

เรียนครูบา และคุณเม้ง

  • ถ้าเราทำงานแบบ KM ธรรมชาติ ทั้ง ๔ ระดับอย่างสอดประสานกัน ไม่น่าจะเละ
  • ที่เละน่าจะมาจาก ทำแบบ ภูมิปัญญาเข้ากับ internet เลย ซึ่งไปไม่ได้แน่นอน
  • ผมพยายามเตือนคนที่ทำงานแบบก้าวกระโดด ให้เข้าใจความเป็นจริง และอาจปรับได้ อย่างมีประโยชน์
  • เรื่องนี้ก็เป็นเพียงจุกเริ่มแห่งความคิด ที่ผมถือว่ามีแวว แต่ในทางปฏิบัติ คงต้องคุยกันอีกยาวครับ
  • ขอบคุณมากครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท