คุณธรรม


 

มีคำภาษาไทยอยู่คำหนึ่ง คือ คำว่า ผู้หลัก ผู้ใหญ่คำนี้ในปัจจุบันมักใช้เรียกคนที่เป็นใหญ่เป็นโต มียศ มีตำแหน่ง มีอำนาจหน้าที่รับผิดชอบมากมาย แต่ที่เราเห็นกันอยู่ในปัจจุบัน ผู้มีตำแหน่งใหญ่โตบางคน ไม่ได้ประพฤติตัวสมกับที่ถูกเรียกว่า ผู้หลัก ผู้ใหญ่เลย

               

ก่อนอื่น ขอผู้อื่นมาทำความรู้จักกับคำว่า ผู้หลัก ผู้ใหญ่ ก่อน

  คำว่า ผู้หลัก หมายถึง คนที่เป็นหลักหรือให้คำแนะนำผู้อื่นได้ สิ่งที่ทำให้เป็นหลักได้ดีที่สุดก็คือ การมีสัจจะและการไม่มีอคติทั้ง ๔ ไม่ถือหลัก ๒ มาตรฐาน (Double  Standard) หากท่านผู้อ่านนึกภาพไม่ออก ให้นึกถึงท่านเปาปุ้นจิ้น

               
ผู้ที่จะเป็นหลักได้ จะต้องแม่นในหลักการ ยึดมั่นในกฎระเบียบข้อบังคับต่าง ๆ จะต้องมีสัจจะโดยเฉพาะวาจาสัตย์ อีกทั้งจะต้องมีอธิษฐาน คือ มีความมั่นคงไม่หวั่นไหวเพราะสิ่งเร้า เช่น ไม่หวั่นไหวเพราะข้อมูลข่าวสาร ถ้าได้ยินข้อมูลใด ๆ มาแล้วหวั่นไหว นี่เป็นหลักไม่ได้                หรือไม่หวั่นไหวเพราะความโกรธ เพราะทรัพย์สิน เพราะอำนาจ และความงาม เป็นต้น

                คำว่า ผู้ใหญ่ หมายถึง ผู้ที่แผ่คุณงามความดี ปกคลุมคุ้มครองผู้น้อย ประดุจไม้ใหญ่แผ่ร่มเงาปกคลุมไม้น้อยและสรรพสัตว์ที่อาศัยต้นไม้นั้นอยู่

                ถามว่า ปกคลุมด้วยอะไร?”

                ตอบว่า ปกคลุมด้วยพรหมวิหาร ๔ คือ เมตตา กรุณา มุทิตา  อุเบกขา

                ดังนั้น ผู้หลัก ผู้ใหญ่จึงหมายถึง ผู้ที่มีความรู้ ความสามารถมากพอที่จะเป็นหลักให้คำปรึกษาหารือ และให้คำแนะนำบุคคลอื่นได้ อีกทั้งมีจิตใจกว้าง ใหญ่ ดุจทะเลหรือท้องฟ้า

                คือ ต้องมีทั้งความมุ่นคงไม่หวั่นไหว และความสามารถในการปกครอง จึงจะเป็นผู้หลัก ผู้ใหญ่ที่ดีได้ และคนที่ไม่มีคุณธรรมเหล่านี้จะรักษาตำแหน่งสูง ๆ ไว้ไม่ได้

                สาระน่ารู้ของการเป็นผู้หลักผู้ใหญ่

-          บางคนเป็นผู้หลักได้ แต่เป็นผู้ใหญ่ไม่ได้ เพราะขาดพรหมวิหาร ๔

-          บางคนเป็นผู้ใหญ่ได้ แต่เป็นผู้หลักไม่ได้ เพราะขาดสัจจะและอธิษฐาน คือ ความจริงใจและมั่นคง จิตใจหวั่นไหวเพราะสิ่งเร้าได้ง่าย ประดุจไม้หลักปักขี้เลน

-          ผู้มีสัจจะ มีอธิฐานและพรหมวิหาร ๔ จึงจะเป็นผู้หลักผู้ใหญ่

                คนที่มีอายุมาก ผ่านประสบการณ์ต่าง  ๆ ที่นิยมเรียกว่า ผ่านร้อน ผ่านหนาว มามากแล้ว มักมีคนรุ่นหลานทั่วไปนิยมเรียกขานว่า ผู้หลักผู้ใหญ่และสังเกตว่าคนที่ถูกเรียกก็ชอบอยู่ไม่น้อย พออกพอใจที่ได้ยินผู้อื่นที่มีอายุเยาว์กว่าเรียกขนตนเช่นนั้น

                สาเหตุเพราะเชื่อว่า ตนเองเป็นเช่นนั้นจริง ๆ

                ข้อสำคัญก็คือ ไม่ได้ฉุกคิดว่าตนมีความประพฤติปฏิบัติสมควรกับการเป็นผู้หลัก ผู้ใหญ่มาก น้อยประการใด

                ขอฝากข้อคิดอันอาจเตือนใจให้คนที่อยากเป็นผู้หลัก ผู้ใหญ่โดยสมบูรณ์แบบไว้ดังนี้

อันคนเรา  ผ่านวัยเยาว์  จนเติบใหญ่ 
มีวิสัย  ทัศนคติ  ที่ผลิผล

รู้ชีวิต  หลากเรื่องราว  อย่างแยบยล

จนเป็นคน  ให้คนอื่น  ได้ชื่นชม

 

หมายเลขบันทึก: 117795เขียนเมื่อ 7 สิงหาคม 2007 21:20 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 19:49 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท