เมืองยุทธหัตถี......อยู่ที่ไหน...กันแน่?


ถึงผมจะเป็นคนสุพรรณ..แต่ก็มีเพื่อนรักและญาติพี่น้องอยู่เมืองกาญจน์

 

 

“ เมืองยุทธหัตถี….อยู่ที่ไหน ..กันแน่”
        
           ผมจำได้ว่าเมื่อสมัยที่ผมเรียนอยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 ราวๆปี พ.ศ.2516 ได้มีปัญหาถกเถียงกันว่า เจดีย์ยุทธหัตถีที่สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงสร้างเป็นอนุสรณ์แห่งชัยชนะนั้น อยู่ที่ไหนกันแน่ ทางจังหวัดสุพรรณบุรีว่าอยู่ที่อนุสรณ์ดอนเจดีย์ อำเภอดอนเจดีย์ ทางจังหวัดกาญจนบุรีก็ว่าน่าจะเป็นที่ตำบลดอนเจดีย์ อำเภอพนมทวน มากกว่า ทำให้คนสุพรรณกับคนเมืองกาญจน์ในตอนนั้นพอคุยกันเรื่องนี้ทีไรก็หน้าดำคร่ำเครียด


            ถึงแม้ผมจะเป็นคนสุพรรณโดยกำเนิดแต่ก็มีเพื่อนรักและญาติพี่น้องอยู่เมืองกาญจน์มากมาย เมื่อเห็นเขาถกเถียงกันก็เกิดความคิดเป็น 2 ด้าน
 ด้านหนึ่งก็ไม่อยากให้เขาเถียงกันเลย เพราะจะทำให้ขุ่นใจกันไปเปล่าๆ เจดีย์ยุทธหัตถีจะอยู่ที่ไหนก็เมืองไทยเหมือนกัน ขอให้อยู่ในเมืองไทย ดีกว่าเข้าไปอยู่ในเขตประเทศพม่าก็พอแล้ว


          แต่คิดอีกด้านหนึ่งก็เห็นว่าก็ดีเหมือนกัน เพราะการถกเถียง ไม่ใช่การทะเลาะกัน เป็นการใช้เหตุผล มาโต้แย้งกัน ต่างฝ่ายต่างก็พยายามค้นคว้าหาหลักฐานมาอ้างอิง ทำให้การศึกษาประวัติศาสตร์ชาติไทย กว้างขวางและลึกซึ้งยิ่งขึ้น


          ทางจังหวัดกาญจนบุรีได้มีการบวงสรวงพระบรมราชานุสาวรีย์ สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ทรงพระคชาธารศึก ที่สร้างไว้ ณ บริเวณที่เชื่อว่าเป็นเจดีย์ยุทธหัตถี ที่อำเภอพนมทวน กล่าวกันว่า เกิดปาฏิหาริย์เป็นที่น่าอัศจรรย์ยิ่งนัก ในขณะที่จังหวัดสุพรรณบุรีก็ยังคงจัดงานอนุสรณ์ดอนเจดีย์ โดยมีบุคคลสำคัญของประเทศมาเป็นประธานเปิดงาน และบวงสรวง ณ พระบรมราชานุสาวรีย์ที่อำเภอดอนเจดีย์ทุกปี


          อันที่จริงการพิจารณาปัญหาเรื่องเจดีย์โบราณที่อำเภอพนมทวน จังหวัดกาญจนบุรี ซึ่งมีผู้เชื่อว่าน่าจะเป็นเจดีย์ยุทธหัตถีนี้ เคยดำเนินการมาแล้ว เมื่อเดือนกันยายน พ.ศ.2516 โดยนายแพทย์บุญสม มาร์ติน ขณะนั้นท่านเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการ ปฏิบัติราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ท่านได้ลงนามแต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาข้อยุติปัญหาเรื่องเจดีย์โบราณ ที่อำเภอพนมทวน จังหวัดกาญจนบุรี ตามคำสั่งกระทรวงศึกษาธิการที่ 575/2516 โดยมีความนำในคำสั่งนั้นว่า


           “ เนื่องด้วยมีผู้เสนอว่า เจดีย์โบราณที่อำเภอพนมทวน จังหวัดกาญจนบุรี เป็นเจดีย์ที่สมเด็จพระนเรศวรทรงสร้างเป็นอนุสรณ์แห่งชัยชนะในการกระทำยุทธหัตถีมีชัยพระมหาอุปราช เมื่อ พ.ศ. 2135 กรมศิลปากรจึงได้เชิญผู้ทรงคุณวุฒิทางด้านโบราณคดี ประวัติศาสตร์และยุทธศาสตร์ จากหน่วยราชการและสถาบันต่างๆมาร่วมประชุมปรึกษาพิจารณาปัญหาต่างๆดังกล่าว ได้มีการประชุมพิจารณาเรื่องนี้แล้วรวม 5 ครั้ง บัดนี้ ที่ประชุมจะได้จัดทำคำแถลงเรื่องนี้เพื่อให้ประชาชนทราบต่อไป จึงเห็นควรแต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาข้อยุติปัญหาเรื่องเจดีย์โบราณที่อำเภอพนมทวน จังหวัดกาญจนบุรี ประกอบด้วย


           อธิบดีกรมศิลปากร ในขณะนั้นคือ นาวาเอก สมภพ ภิรมย์ ร.น. เป็นประธาน พร้อมด้วยคณะกรรมการจากหน่วยงานต่างๆดังนี้


1. จากราชบัณฑิตยสถาน ได้แก่


1.1 ศาสตราจารย์ สุกิจ  นิมมานเหมินท์  

1.2 ศาสตราจารย์ รอง  ศยามานนท์


2. จากคณะกรรมการชำระประวัติศาสตร์ ได้แก่


2.1 พลตรี ดำเนิน เลขกุล    

2.2 ศาสตราจารย์ ม.จ.สุภัทรดิศ  ดิศกุล


2.3 ศาสตราจารย์ ดร.ประเสริฐ  ณ นคร  

2.4 ศาสตราจารย์ ขจร  สุขพานิช


2.5 นายตรี อมาตยกุล


3. จากกองประวัติศาสตร์และพิพิธภัณฑ์ทหาร กรมการศึกษาวิจัย กองบัญชาการทหารสูงสุด ได้แก่


3.1 พันเอก ประเสริฐ  พันธุนิล   

3.2 นาวาเอก หยด  ขจรยศ ร.น.


4. จากกองประวัติศาสตร์ กรมยุทธการทหารบก ได้แก่


4.1 พันเอก ถวิล  อยู่เย็น    

4.2 พันโท ม.ร.ว.ศุภวัฒย์  เกษมศรี


5. จากผู้ทรงคุณวุฒิอื่นๆ ได้แก่


5.1 นายมานิต  วัลลิโภดม ผู้ทรงคุณวุฒิด้านโบราณคดี


5.2 พันเอก จง  สืบจากยง ผู้ทรงวุฒิด้านประวัติศาสตร์การยุทธ


5.3 นายเสนอ  นิลเดช อาจารย์คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์มหาวิทยาลัยศิลปากร


6. จากกรมศิลปากร ได้แก่


6.1 นาวาเอก สมภพ  ภิรมย์ ร.น. อธิบดีกรมศิลปากร


6.2 นายนุ่ม  อยู่ในธรรม รองอธิบดีกรมศิลปากร


6.3 นายสมภพ  จันทรประภา รองอธิบดีกรมศิลปากร


6.4 นายชิน  อยู่ดี ภัณฑารักษ์พิเศษ


6.5 นางแม้นมาส  ชวลิต ผู้อำนวยการหอสมุดแห่งชาติ


6.6 นายบรรจบ  เทียมทัด หัวหน้ากองโบราณคดี


6.7  นายสมพร  อยู่โพธิ์ ภัณฑารักษ์เอก


6.8  นายพิทยา  ดำเด่นงาม  หัวหน้าหน่วยศิลปากรที่ 2 อู่ทอง (ขณะนั้น)


6.9   นายมงคล  บุญวงศ์ หัวหน้าแผนกเผยแพร่และสถิติ


6.10 นางกุลทรัพย์  เกษแม่นกิจ  หัวหน้ากองวรรณคดีและประวัติศาสตร์ ทำหน้าที่เลขานุการ


6.11 นางสายไหม  จบกลศึก ทำหน้าที่ผู้ช่วยเลขานุการ


         คณะกรรมการดังกล่าว ได้วางแนวทางการพิจารณาเรื่องนี้ โดยมุ่งวินิจฉัยหลายด้านคือ

         ด้านประวัติศาสตร์

         ด้านโบราณคดี

         ด้านยุทธวิธี

         ด้านภูมิศาสตร์

         ตลอดจนศิลปะและสถาปัตยกรรม


        คณะกรรมการชุดนี้ ได้ร่วมประชุมพิจารณาปัญหานี้ และวินิจฉัยประเด็นที่เป็นปัญหาสำคัญๆตามหลักฐาน ได้แก่


1. พิจารณาเรื่องเส้นทางเดินทัพ เพื่อวิเคราะห์หาบริเวณปฏิบัติการยุทธ ทั้งนี้โดยพิจารณาจากเหตุการณ์ตามที่กล่าวไว้ในพระราชพงศาวดาร ประกอบกับการศึกษาสภาพภูมิศาสตร์และยุทธวิธีในสมัยโบราณ


2. พิจารณาลักษณะเจดีย์ในด้านศิลปะ และ สถาปัตยกรรม เพื่อวินิจฉัยยุคสมัย


3.  ทำการวิจัยและขุดค้นทางโบราณคดี เพื่อศึกษาสภาพพื้นที่และสิ่งแวดล้อม โดยรอบบริเวณเจดีย์โบราณที่ หมู่ที่ 2 ตำบลดอนเจดีย์ อำเภอพนมทวน จังหวัดกาญจนบุรี เพื่อประกอบการพิจารณา


        ต่อไปนี้ผมจะขอนำผลการพิจารณา ในขณะนั้นมาเสนอ ที่ผมย้ำว่าในขณะนั้น เพราะการค้นคว้าทางประวัติศาสตร์ไม่มีที่สิ้นสุด อาจมีการค้นพบข้อมูลใหม่ๆได้ตลอดเวลา คณะกรรมการได้สรุปผลการพิจารณาดังนี้


        ตามที่ได้มีบุคคลคณะหนึ่งพบเจดีย์โบราณ ซึ่งตั้งอยู่หมู่ที่ 2 ตำบลดอนเจดีย์ อำเภอพนมทวน จังหวัดกาญจนบุรี ห่างจากถนนสายอู่ทอง-กาญจนบุรี 4 กิโลเมตร แยกเข้าตรงวัดทุ่งสมอ และได้สันนิษฐานว่าเจดีย์โบราณองค์นี้ คือเจดีย์ที่สวมศพพระมหาอุปราชาแห่งประเทศพม่า ซึ่งได้กระทำยุทธหัตถีพ่ายแพ้สมเด็จพระนเรศวรมหาราช เมื่อ พ.ศ.2135 และอาณาบริเวณที่ตั้งเจดีย์องค์นั้น คือสถานที่ซึ่งสมเด็จพระนเรศวรและพระมหาอุปราชทรงกระทำยุทธหัตถีกันในคราวนี้ ส่วนเจดีย์ที่อำเภอดอนเจดีย์ จังหวัดสุพรรณบุรี ซึ่งคณะกรมการจังหวัดสุพรรณบุรีค้นพบ และสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงเชื่อว่าเป็นเจดีย์ที่สมเด็จพระนเรศวรมหาราชโปรดให้สร้างเป็นอนุสรณ์แห่งชัยชนะในการกระทำยุทธหัตถี และเมื่อ พ.ศ.2456 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จพระราชดำเนินนำเสือป่าไปสักการะ ปี พ.ศ.2496 รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้สร้างเจดีย์ขึ้นครอบซากเจดีย์องค์เดิม แล้วสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระนเรศวร ประดิษฐานไว้เบื้องหน้าด้านทิศตะวันตก เรียกว่าอนุสรณ์ดอนเจดีย์ นั้น บุคคลคณะดังกล่าวมีความเห็นว่า เป็นเจดีย์สมัยทวารวดี มิใช่พระเจดีย์ที่สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงสร้างขึ้น โดยอ้างเหตุผลต่างๆดังความละเอียดซึ่งทราบทั่วกันแล้ว และคณะบุคคลดังกล่าวกับสื่อมวลชนได้เรียกร้องให้กรมศิลปากร
พิจารณาเรื่องนี้

           กรมศิลปากรจึงได้ขอความร่วมมือจากสถาบันต่างๆ ให้ส่งผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความรู้ความสามารถเกี่ยวกับเรื่องนี้มาร่วมเป็นผู้พิจารณาค้นคว้า และวินิจฉัยปัญหาดังกล่าว


         ที่ประชุมได้พิจารณาปัญหาดังกล่าวนี้หลายด้าน คือด้านโบราณคดี ด้านประวัติศาสตร์ ด้านสถาปัตยกรรม ด้านยุทธวิธี และด้านภูมิศาสตร์ สรุปผลการประชุมดังนี้


 1. กรรมการคณะนี้มีความเห็นว่า บริเวณที่เป็นสถานที่ทำสงครามระหว่างสมเด็จพระนเรศวรมหาราชกับพระมหาอุปราชา ในสงครามยุทธหัตถี เมื่อพ.ศ.2135 นั้น คือบริเวณที่ตำบลหนองสาหร่าย ซึ่งปัจจุบันเรียกว่า ตำบลดอนเจดีย์ จังหวัดสุพรรณบุรี


 2. กรรมการคณะนี้มีความเห็นว่า พระเจดีย์ที่สร้างขึ้นเป็นอนุสรณ์เนื่องในสงครามยุทธหัตถีเมื่อ พ.ศ.2135 นั้น คือ พระเจดีย์ที่ตำบลดอนเจดีย์ อำเภอดอนเจดีย์ จังหวัดสุพรรณบุรีในปัจจุบัน


 3. กรรมการคณะนี้มีความเห็นว่า  เจดีย์โบราณที่ หมู่ที่ 2 ตำบลดอนเจดีย์ อำเภอพนมทวน จังหวัดกาญจนบุรี นั้น คือเจดีย์ภายในวัดซึ่งร้างมานาน และอยู่ในบริเวณวัดเดียวกันกับพระปรางค์และเจดีย์ประกอบ 2 ข้าง ซึ่งอยู่ห่างออกไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ 314 เมตร เป็นเจดีย์ที่บุคคลได้สร้างขึ้นเพื่อเป็นบริโภคเจดีย์ เจดีย์นี้มีลักษณะพิเศษคือ มีช่องตามประทีป (ช่องจุดดวงไฟ) เป็นเจดีย์ที่มีอายุระหว่างสมัยอยุธยาตอนปลาย ประมาณว่าตั้งแต่รัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราชลงมา จนถึงสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ฝีมือช่างชาวท้องถิ่น และเมื่อพิจารณาคติการตามประทีปบูชาศาสนสถานซึ่งนิยมกันทั้งภาคใต้ ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย ในบริเวณจังหวัดต่างๆ…ซึ่งมีเค้าสืบเนื่องมาแต่คติพระพุทธศาสนาฝ่ายมหายานในธิเบต จีน และอาณาจักรล้านช้าง คือหลวงพระบาง เวียงจันทน์ ซึ่งยังถือปฏิบัติสืบมาจนถึงปัจจุบัน


        ตามพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 1 และ รัชกาลที่ 3 …ได้เคยมีการอพยพกลุ่มชนทางภาคเหนือและแถบหลวงพระบาง เวียงจันทน์ เข้ามาตั้งถิ่นฐานในท้องที่แถบ ราชบุรี สระบุรี และสุพรรณบุรี
 จึงเป็นข้อสันนิษฐานได้ว่าเจดีย์ที่อำเภอพนมทวนนี้ กลุ่มชนที่ได้อพยพมาเหล่านั้นอาจสร้างขึ้น จึงมีคติตามประทีปบูชาติดอยู่ที่องค์เจดีย์ ตามความนิยมที่นับถือสืบเนื่องมาแต่บรรพบุรุษ และเจดีย์องค์นี้ไม่มีความสัมพันธ์กับเหตุการณ์สงครามยุทธหัตถีในปี พ.ศ.2135


         นี่คือความเห็นของคณะกรรมการพิจารณาปัญหาเจดีย์โบราณที่อำเภอพนมทวน เมื่อปี พ.ศ.2516 แต่ปัจจุบันคือ ปี พ.ศ.2545 ความเห็นของนักปราชญ์ผู้รู้จะยังเห็นเหมือนเดิมหรือมีความเห็นเพิ่มเติม เปลี่ยนแปลง ไปอย่างไร เป็นเรื่องที่ผู้มีใจรักในการศึกษาค้นคว้าจะต้องติดตามต่อไป


          ความเปลี่ยนแปลงทางประวัติศาสตร์ย่อมเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา เมื่อมีการพบหลักฐานหรือมีเหตุผลที่ดีกว่ามาอ้างอิง ดังเช่นการแจ้งเปลี่ยนวันที่สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงกระทำยุทธหัตถีกับพระมหาอุปราชา จากวันที่ ๒๕ มกราคม มาเป็น ๑๘ มกราคม ทำให้วันกองทัพไทย ต้องเปลี่ยนไป และงานอนุสรณ์ดอนเจดีย์ที่สุพรรณบุรี ก็ต้องเปลี่ยนไปด้วย

คำสำคัญ (Tags): #ประวัติศาสตร์
หมายเลขบันทึก: 116725เขียนเมื่อ 4 สิงหาคม 2007 07:17 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 20:29 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

อาจารย์พิสูจน์

  • เรื่องของความเชื่อในแต่ละบุคคล และแต่ละท้องถิ่นผมขอแสดงความเคารพ
  • เอกสาร หลักฐาน เป็นสิ่งยืนยันในความถูกต้อง เป็นจริงที่น่าเขื่อถือ
  • ขอขอบคุณที่ยกเอาหลักฐานมาเพิ่มความรู้ให้ผู้อ่าน นับว่าเป็นประโยชน์มาก
  • ส่วนความคิด ความเชื่อ และศรัทธา ขอให้เป็นไปตามเอกสิทธิ์ของบุคคล
  • โปรดนำเอาสิ่งดี ๆ มีประโยชน์มาฝากอีกนะ
  • องค์เจดีย์ทั้ง 2 แห่ง ผมได้ไปชมมาแล้ว (เฉพาะที่ดอนเจดีย์ สุพรรณฯ เห็นมานาน)
  • ขอขอบคุณ ที่แวะมาเยี่ยมอ.ชำเลือง คงหายเหนื่อยจากชลบุรีแล้วนะครับ
เบิ้ม บ้านท่ามะม่วง

ข้อสรุปเรื่องนี้น่าจะยุติที่ประกาศของอธิบดีกรมศิลปากรลงวันที่ 25 ธ.ค. 2538 ประกาศให้เจดีย์ที่พนมทวนองค์นี้เป็น -โบราณสถานเจดีย์ยุทธหัตถี-เพียงแต่ว่าไม่ได้เผยแพร่ความจริงข้อนี้ให้ปรากฎแพร่หลายต่อสาธารณะ จึงสมควรเลิกเถียงกันดีกว่า กรมศิลปากรเอียงก็คงเสียใจที่เคยหลงผิด

ขอบคุณสำหรับเรื่องราวเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ไทยครับ แล้วจะหาโอกาสไปเก็บภาพ สวยๆ ครับ @_@
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท