เมืองลำพูน พ.ศ. 2570 (1)


สภาพเหมือนคนสองบุคลิกซ้อนกันเช่นนี้ เป็นโจทย์ที่น่าสนใจและอาจนำไปสู่ “ความหักเห” ในอนาคตได้หลาย ๆ แบบ

ฟ้าครับ

วันหนึ่งกลาง ๆ ปี พ.ศ. 2549 ผมได้รับโทรศัพท์จาก ดร. หนุ่มไฟแรงชาวเหนือ ที่เป็นเพื่อนร่วมแวดวงอาชีพ ตอนนั้นเขาทำงานอยู่กับโครงการปฏิรูปประเทศไทย ภายใต้สำนักงานพัฒนานโยบายสาธารณะ (สพน.) สำนักนายกรัฐมนตรี

เขาบอกผมว่า มีไอเดียเรื่องการมองอนาคตเมืองท้องถิ่น และกำลังจะไปคุยกับองค์กรบริหารส่วนท้องถิ่นที่เมืองลำพูน พร้อมทั้งชวนให้ผมไปเมืองลำพูนด้วยกัน ผมคิดอยู่อึดใจหนึ่งแล้วตอบตกลง

ในตอนนั้น ผมและหน่วยงานที่ผมสังกัดอยู่ คือ ศูนย์คาดการณ์เทคโนโลยีเอเปค (APEC Center for Technology Foresight) ได้ทำเรื่อง การมองอนาคต (foresight) ในระดับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกมาแล้วหลายโครงการ ไมว่าจะเป็นเรื่องน้ำ เรื่องเมืองมหานคร พลังงาน โรคติดต่อ ฯลฯ ทำให้มีโอกาสรับรู้บริบทของอนาคต ทั้งการแข่งขัน และการร่วมมือข้ามพรมแดน ภายใต้กระแสโลกาภิวัตน์ ผมจึงคิดว่า การปรับตัวของท้องถิ่นบ้านเราเองในระดับของเมืองควรเป็นอย่างไร และทำอย่างไรจึงจะนำองค์ความรู้ระดับนานาชาติไปช่วยท้องถิ่นได้ เหล่านี้เป็นโจทย์ที่น่าสนใจสำหรับผมและองค์กร

แต่ก่อนอื่นจะต้องทำความเข้าใจท้องถิ่นอย่างถูกต้องเสียก่อน

เราเดินทางไปยังเชียงใหม่-ลำพูนด้วยกันทันที และนั่นกลายเป็นจุดเริ่มต้นของการทำงานร่วมกับท้องถิ่นเป็นเวลาต่อมาประมาณเกือบหนึ่งปี ภายใต้โครงการที่มีชื่อว่า “มองอนาคตเมืองลำพูนใน 20 ปีข้างหน้า” โครงการนี้ค่อนข้างแปลก เพราะเป็นการนำแนวความคิดเรื่อง foresight ซึ่งเป็นศาสตร์การบริหารจัดการกลยุทธ์สมัยใหม่ เข้ามาใช้กับเมืองท้องถิ่นที่มีลักษณะสุดกู่อย่างเมืองลำพูน

สุดกู่ในที่นี้ไม่ได้แปลว่าล้าหลังนะครับ ตรงกันข้าม แม้ตำแหน่งที่ตั้งจะอยู่ห่างไกลเมืองหลวง เมืองลำพูนกลับมีเอกลักษณ์ที่แปลกพิเศษกว่าเมืองทั่ว ๆ ไปเพราะเป็นที่อยู่ของฐานทางประวัติศาสตร์โบราณที่เก่าแก่และมีวัฒนธรรมท้องถิ่นเป็นของตนเอง ทั้งยังเป็นเขตอุตสาหกรรมสมัยใหม่ที่มีทั้งทุนและเทคโนโลยีไหลเข้าไป

สภาพเหมือนคนสองบุคลิกซ้อนกันเช่นนี้ เป็นโจทย์ที่น่าสนใจและอาจนำไปสู่ “ความหักเห” ในอนาคตได้หลาย ๆ แบบ น่าสนใจอย่างไรเดี๋ยวผมจะเล่าให้ฟังต่อไป

หมายเลขบันทึก: 116309เขียนเมื่อ 2 สิงหาคม 2007 12:40 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:36 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ลำพูนช่วงค่ำๆ ย่าง 3ทุ่ม รถรา แทบจะหมดในส่วนกลางเมือง บริเวณนี้ส่วนมากเป็นสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์  จะมีบางส่วนที่เป็นร้านอาหาร แต่ก็ไม่ดึงดูดนักท่องราตรีที่คิดจะลุย

   ต่างกับ อีกฟากของถนนไฮเวย์ ที่เป็นแหล่งนิคมอุตสาหกรรมที่มี ความหนาแน่นของประชากรวัยทำงาน จากหลายภูมิลำเนา มาอาศัย ทำงานแลกเงิน กลางคืนก็ลุยกับสถานบันเทิงแบบถึงลูกถึงคน...บางหนักๆอาจถึงโรงพัก....

    คนเฒ่าคนแก่....เป็นส่วนสำคัญที่จะฟื้นฟูวัฒนธรรม ประเพณี ผ่านกระบวนการทางการศึกษา โดยเป็นแหล่งวิทยากรพิเศษแก่โรงเรียนในชุมชน ทางเดียวที่จะอนุรักษ์ สิ่งสำคัญแห่งวัฒนธรรมไว้ได้ คือการสร้างความตระหนัก และจิตสำนึกแก่คนรุ่นใหม่ ที่อย่างน้อยพอเติบโตสู่วัยทำงาน ก็ยังเหลือจิตสำนึกในการรักบ้านเกิด และร่วมแรงร่วมใจในการอนุรักษ์สืบต่อไป

                                          คนเมืองหละปูน

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท