Nodame Cantabile คอนเสิร์ตนี้ไม่มีเสียว(5)/สาวในชุดพังพอน /โดย ต่อพงษ์ 15 มิถุนายน 2550 09:51 น.


ผมไม่รู้จะบรรยายถึงความที่สุดในตอนนี้ได้อย่างไร เพราะ เมื่อ 5 นาทีที่แล้วเรายังยิ้มออกอยู่เลยกับ Rhapsody in Blues แต่ฉากถัดมาน้ำตาของคนดูไหลเสียแล้ว...ด้วยงานของรัคมานินอฟ นี่คือความสุดยอดของ Nodame Cantabile ละครับ

        คราวที่แล้วทิ้งท้ายเอาไว้ถึงการจากลาที่แสนเศร้าระหว่าง จิอากิ พระเอกของเรื่องกับ สเตรซเซอร์มันน์ อาจารย์คนที่สุดหล่อของเราทั้งรักทั้งชัง ว่าการจากลาครั้งนี้มีเพลงอย่าง เปียโน คอนแชร์โต้ หมายเลข 2 ของ รัคมานินอฟ เป็นตัวเชื่อม
       
        แต่ทำยังงั้ย ยังไง จิอากิก็นึกไม่ออก เพราะชีวิตเขาไม่เคยสูญเสียอะไรอย่างแท้จริง
       
        ถ้าใครดูละครเรื่องนี้แบบเน้นแล้วเน้นอีกจะจำได้ว่า สเตรสเซอร์มันน์นั้นสั่งให้จิอากิเน้นอยู่สองอย่าง นั่นคือ การแสดงออกบนเวที และการเข้าถึงอารมณ์ของเพลง
       
        ไอ้เรื่องของการแสดงออกทางดนตรีนี่สำคัญนะครับ บางคนอาจจะมองว่า ‘เสียงดนตรี’ เท่านั้นที่เอาผู้ชมให้อยู่ แต่แท้ที่จริงแล้วมัน ‘ไม่ใช่’ ทั้งหมดทีเดียว
       
        ลองหางานคอนเสิร์ตของ คารายาน เคิร์ท มาเซอร์ เลียวนาร์ด เบิร์นสไตน์ มาดูซิครับ พวกนี้คอนดักวงไป สีหน้าท่าทางของเขาก็เปลี่ยนไปจากปรกติอย่างยิ่ง ราวกับพวกเขาอยู่ในภวังค์ ราวกับพวกเขาเจ็บปวดกับเพลง หรือ ราวกับพวกเขากำลังมีความสุขไปกับเพลง มันดูอาจจะเค้น มันดูอาจจะเกินจริง แต่มันก็นำให้เราเจ็บปวดหรือดีใจร่วมกับพวกเขาได้อย่างดี จะว่าพวกเขาแสดงก็ได้ครับ
       
        วาทยกรบางคนนี่ถึงกับตั้งกล้องไว้หลายๆ มุม ถึงกับต้องมีจอยักษ์ประกบสองข้างเวทีเพื่อสื่ออารมณ์ และหน้าตาของของเขาให้ประชาชนคนดูมีอารมณ์ร่วมตามกันไปเลยก็มี
       
        แต่การแสดงออกถึงอารมณ์ดนตรีนั้นสำคัญก็จริง ที่สำคัญกว่านั้นก็คือ ตัวผู้แสดงนั้นเข้าใจ เข้าถึง และดื่มด่ำกับอารมณ์ดนตรีที่อยู่ในเพลงนั้นแค่ไหน? คือถ้าเขาเข้าถึงเพลงได้มาก เข้าใจอารมณ์ของผู้เขียนเพลง มันก็จะแสดงออกมาได้มากเช่นกัน จุดนี้เองเป็นจุดที่จิอากิหรือใครก็ตามที่เป็นนักดนตรีจะต้องค้นหาให้เจอ
       
        ก็คงเหมือนๆ กับความรักนะครับ เคยคิดว่านี่คือรักแท้แล้ว แต่สำหรับบางคนมันก็แค่เหมือน...แต่เอาเข้าจริงมันก็ยังไม่ใช่รักแท้ ซึ่งสร้างความเจ็บปวดแบบแท้ๆ หรือสร้างอารมณ์ถวิลหาแท้ๆ เสียที
        ..........
        ขณะที่จิอากิกำลังปวดเฮด วงเด็กบ๊วยกลับเป็นไปได้ดี มิเนะผู้นำของเด็กบ๊วยงัดเอาทุกปัจจัยที่มีมาเพื่อโค่นวง A ให้ได้นั้น มันอาจจะดูบ้าๆ หน่อยนะครับ ไม่ว่าจะเป็นชุด Cos Play (ชุดการ์ตูน)อาทิ มาซึมิมือเปอร์คัสชั่นสุดเก่งลากเอาชุดสไตล์หลุยส์ในกุหลาบแวร์ไซล์มา คนอื่นๆ ก็เอากันดัมมา ฉากนี้ฮาครับ เพราะ มิเนะแกดันเจอแฟนคลับที่อาสาจะตัดชุดให้ แต่สุดท้ายแบบร่างดันออกมาเป็นสัตว์ประหลาดทุกแบบ ขณะเดียวกัน มุกแสดงบนเวทีพวกนี้ก็ยังซ้อมเหมือนเดิม

       
        พูดง่ายๆ เรียกเสียงเฮด้วยเสียงดนตรีไม่ได้ ก็ขอเรียกด้วยการแสดงแล้วกัน
       
        แต่กระนั้นสิ่งที่เรียกเสียงเฮฮาๆ กลับเป็นเสียงดนตรีที่วง S เล่นออกมานั่นเองครับ เพราะ วง S เล่นได้น่าขันอย่างยิ่งกับ Rhapsody in Blues บทประพันธ์เลื่องชื่อของ จอร์จ เกิร์ชวิน ชาวอเมริกัน
       
        ตัวหนังไม่ได้บอกหรอกครับว่า ทำไมพวกเขาถึงเลือกที่จะเล่นเพลงนี้ ไม่เหมือนของรัคมานินอฟที่ต้องเล่นเพราะอาจารย์สั่งอย่างชัดเจน
       
        มารู้จักกับเพลงนี้กันก่อนว่า Rhapsody in Blues ถูกเขียนขึ้นเพื่อเล่นในเทศกาลดนตรีซึ่ง ‘พอล ไวท์แมน’ บิดาแห่งแจ๊ซอเมริกันจัดขึ้น จุดมุ่งหมายก็เพื่อค้นหาเสียงที่เป็นของอเมริกันจริงๆ ขึ้นมา
       
       อย่างที่ทราบกันนะครับ ประเทศใหญ่โตอย่างอเมริกานั้นเกิดมาไม่นานนี้เอง เพราะฉะนั้นมรดกทางวัฒนธรรมอันเก่าแก่ของตัวเองจริงๆ จึงไม่มีและต้องสร้างเอง อาทิ เบสบอล อเมริกันฟุตบอล บาสเก็ตบอล และ ฮ็อคกี้น้ำแข็ง แต่สำหรับภาคดนตรีพวกเขามีเพียงบลูส์ที่ยังถือว่าเป็นกึ่งๆ แอฟริกัน กึ่งๆ อเมริกันอยู่
       
        ไวท์แมนตั้งชื่อเทศกาลว่า An Experiment in Modern Music เมื่อวันที่ 12 กุมพาพันธ์ 1924 ซึ่งงานนั้นมีได้รวบรวมเอาเพลงและวงดนตรีแนวทดลองจำนวนมาก แน่นอนงานเทศกาลเพลงของไวท์แมนนั้นมีเพลงเยอะแยะตาแป๊ะขายหมู ว่ากันว่ามันเยอะและเซ็งเสียจนคนดูเซ็งโคตร
       
        จนกระทั่งรายการสุดท้ายในโปรแกรม ที่เริ่มต้นด้วยเสียงคลาริเนตใน 1 นาทีแรกของเพลงขึ้นมา เท่านั้นเองชาวอเมริกันก็พบคำตอบจริงๆว่า เสียงดนตรีจากวัฒนธรรมของพวกเขาควรจะเป็นอย่างไร?
       
        เพลงสุดท้ายในคอนเสิร์ตของพอล ไวท์แมน ก็คือ Rhapsody In Blues นั่นเองครับ
       
        เกิร์ชวิน นั้นเขียนเพลงนี้จากเสียงของล้อรถไฟที่กระทบ
       รางโลหะ เสียง “ถึงก็ช่าง-ไม่ถึงก็ช่างแหล่ะครับ” เกิร์ชวินใช้มันเป็นจุดเริ่มต้นของงานเพลงชิ้นนี้ เขาได้ยินเสียงเหล็ก เขาได้ยินเสียงก่อสร้าง เขาได้ยินเสียงที่อึกทึกครึกโครมของเมืองใหญ่ เขาได้ยินเสียงของคนดำ คนขาว และคนที่แตกต่างแต่มีจุดร่วมเดียวกันในสังคมอเมริกัน นั่นคือ การตามหาความฝันที่สวยงามในลักษณะที่เรียกว่า ‘อเมริกันดรีม’
       
        เกิร์ชวินอธิบายว่าโดยรวมบทเพลงนี้เป็นบันทึกแห่ง Metropolitan Madness เป็นเสียงเพลงที่สะท้อนชนชั้นต่ำต้อยออกมาได้ดีที่สุด
       
        Rhapsody in Blues จึงเป็นเครื่องหมายของ 1. ความประหลาดและแปลกใหม่ 2. การทดลองและพัฒนาไปสู่คลาสใหม่ และ 3. มันคือเครื่องหมายของการรวมตัวของความบ้าหลายประการ สามนัยยะแห่งเพลงนี้สะท้อนออกมาทางคาแรกเตอร์และการแสดงของวง S ของมิเนะและโนดาเมะอย่างสมบูรณ์แบบ

ประการแรกการแสดงของพวกเขาผิดธรรมเนียมอย่างสิ้นเชิง ไล่มาตั้งแต่ชุดที่ขนมาแสดง แม้ว่ามันจะเป็นเทศกาลแฟนซีก็ตาม ที่สุดท้ายจบลงด้วยชุด ฮาคามะ กิโมโนญี่ปุ่นโบราณทั้งชุด ประการที่สองการปรากฏตัวของโนดาเมะและนักเรียนคลาสเปียโนอีกสองคนที่ละทิ้งความเป็นเปียโนคอนแชร์โต้ แต่กลับมาเล่นโดยใช้เปียนิก้าแทน และสุดท้ายองค์ประกอบที่รวบรวมกันเป็นวง S นั้น มันคือความหลากหลาย และเป็นการสร้างสรรค์งานจากคลาสที่ ‘ต่ำต้อย’ ที่สุดในสังคมดนตรีของมหาวิทยาลัยดนตรีแห่งนี้แล้ว
       
        1 นาทีแรกที่คนในคอนเสิร์ตของ พอล ไวท์แมน โดนสะกด ก็ไม่แตกต่างอะไรกับ 1 นาทีแรกที่เราเห็นภาพของโนดาเมะในชุดพังพอนออกมาเป่าเปียนิก้าหรอกนะครับ นั่นคือ อุดมไปด้วยความสุข ความประหลาดใจ รอยยิ้ม และความสดใสมีชีวิตชีวาของคนดนตรีกลุ่มนี้อย่างที่สุดแล้ว
       
        ท้าให้พิสูจน์ครับว่า ฉากนี้ฉากเดียวจะทำให้คุณที่กำลังนั่งดูอยู่มีความสุขไปได้อีกหลายวันทีเดียว
       
        พูดถึงเรื่องนี้แล้วก็ต้องบอกว่า ‘โทโมโกะ นิโนมิยะ’ คนเขียนการ์ตูนเรื่องนี้เขาโคตรฉลาดที่เลือกเพลงเด่นๆ ในวงการดนตรีคลาสสิกมาใช้ในแต่ละตอน แต่ละเพลงนั้นจะแฝงความหมายของสัญลักษณ์และปูมหลังซึ่งเกี่ยวข้องและคล้ายคลึงกับตัวละครเสมอมา
       
        ที่ต้องทึ่งเพราะเธอเล่นดนตรีก็ไม่เป็น ความรู้เรื่องดนตรีก็ไม่มี อาศัยแต่เพื่อนฝูง คนรู้จัก และการทำการบ้านอย่างหนักมาก่อนจะลงมือเขียนการ์ตูนเรื่องนี้ ขณะที่คนที่สานต่อและทำให้มันกลายเป็นซีรีส์ทางโทรทัศน์ก็ทำการบ้านมาอย่างดีจนละครสามารถสื่อความงามทางดนตรีได้อย่างสุดยอด
       
        อีกเหตุผลหนึ่งที่ทำไมต้องเลือก Rhapsody in Blues สำหรับการแสดงสั่งลานี้ คำตอบก็คือ มันอาจจะเป็นเพลงคอนแชร์โต้เพลงเดียวของโลกนี้ที่คุณฟังโดยใช้เวลาแค่ 5 นาที หรือ 12 นาทีก็ไม่มีความแตกต่างกัน
       
        เลียวนาร์ด เบิร์นสไตน์ (Leonard Bernstein) วาทยกรชื่อดังชาวอเมริกันบอกถึงตัวตนของเพลงๆ นี้เอาไว้ว่าในบทความของพวกเขาเมื่อปี 1955
       
        "ทำนองหลักของเพลงนี้ถือว่าสุดยอด มันให้แรงบันดาลใจ ให้ความดึงดูดใจ มันเป็นของที่พระเจ้าประทานมา เป็นเมโลดี้ที่สุดยอดนับตั้งแต่ไชคอฟสกี้เขียนเปียโนคอนแชร์โต้ของเขา แต่เรื่องจริงที่ต้องยอมรับกันก็คือ Rhapsody in Bluesไม่ใช่บทเพลงที่อยู่ในเซนส์ของเพลงคลาสสิกจริงๆ มันเหมือนเอาส่วนร่างของตรงนู้นนี่ ตรงนี้หน่อยมาขยำรวมกันภายใต้ทำนองหลัก เพราะฉะนั้นคุณสามารถจะตัดส่วนไหนออกไปก็ได้โดยที่ไม่กระทบต่อทำนองหลัก คุณจะทำมันให้เหลือ 5 นาทีก็ได้ หรือ 12 นาทีก็ได้ มันไม่มีความแตกต่างกัน บทเพลงนี้มันก็ยังพุ่งไปข้างหน้าอย่างกล้าหาญได้เหมือนเดิม”
       
        เพราะความเจ๋งของมันเป็นแบบนี้ เพราะฉะนั้น 5 นาทีที่ทางวง S แสดง คนดูอย่างเราถึงได้รับรู้รสชาติของ Rhapsody in Blues อย่างเต็มเปี่ยม เป็นช่วงเวลาที่ซีรี่ส์นี้ใช้อย่างคุ้มค่าและนำเสนอได้สวยงามสุดยอด
       
        คือเป็น 5 นาทีที่มีภาพของตัวพังพอนเป่าเปียนิก้า มีภาพของเครื่องสายหมู่โชว์ออฟทั้งเดินทั้งนั่ง มีภาพของคอนดักเตอร์และเครื่องอื่นๆ ที่เคลื่อนไหวอย่างสนุกสนาน มันมีภาพของคนดูที่พากันตะโกนว่า คาวาอิๆๆๆ มีภาพของคนที่หัวเราะ ขำ และปรบมือเอาใจช่วยให้วงดนตรีเด็กบ๊วยอย่างวง S แสดงจนจบ
       
        แน่นอนใน 5 นาทีที่ว่านี้มันได้ฉายภาพแห่งความเข้าใจของ จิอากิ ซึ่งได้ตั๋วจากโนดาเมะมานั่งดูอยู่ด้วยว่าการแสดงออกทางอารมณ์ให้ผู้ชมได้รับรู้ จะเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่จะเอาคนดูให้อยู่หรือไม่ และนั่นคือกุญแจที่จะนำไปสู่การเป็นยอดฝีมือในโลกกว้างนั่นเอง
       
        “ฉันเข้าใจแล้วมิเนะ การแสดงออกทางอารมณ์ดนตรีนั้นหมายความว่าอย่างไร” จิอากิพูดกับตัวเอง
       
        หนังไม่ปล่อยให้เรารอนานว่า แล้วสุดท้ายจิอากิจะเข้าถึงอารมณ์พลัดพรากได้อย่างไร เพราะเผลอแพล็บเดียว หนังก็ตัดภาพมายังหลังเวที จิอากิยืนแต่งตัวอยู่ก่อนที่สเตสเซอร์มันน์มาคุยกับเขาด้วย
       
        “บอกไว้ก่อนนะ สเตสเซอร์มันน์ที่บอกให้แสดงดื่มด่ำกว่านี้ เย้ายวนกว่านี้น่ะ ผมจะแสดงออกในแนวของผมเอง” จิอากิกล่าว
       
        “ลืมๆ ไปเหอะ จิอากิ แค่ออกไปแสดงความสุดยอดให้คนเห็นก็พอแล้ว มีไม่มากครั้งหรอกนะที่นายจะได้เล่นกับระดับโลก เพราะฉะนั้นออกไปแสดงความสุดยอดและสร้างความจดจำให้คนเห็นดีกว่า...นี่จะเป็นครั้งสุดท้ายในญี่ปุ่นของฉันแล้ว จบงานนี้ฉันต้องบ๊ายบายญี่ปุ่นและนายแล้วล่ะ” สเตรสเซอร์มันน์บอกอย่างอ่อนโยน
       
        ประโยคสุดท้ายนั่นเองครับ ที่ทำให้จิอากิช็อก เพราะ สเตรสเซอร์มันน์คือคนเดียวที่ให้ความหมายในชีวิตจริงๆ กับเขาในตอนนี้ จากโรคกลัวเครื่องบินและโรคกลัวเรือ ทำให้เขาไม่มีโอกาสออกไปตามหา ประสบการณ์ระดับโลกอย่างที่ควรจะเป็น ฝันที่ดำมืดของเขาถูกแหวกออกมาโดยการมาเยือนของสเตรสเซอร์มันน์ จิอากิอยากเรียนให้มากกว่านี้ อยากจะร่วมคอนดักท์ให้มากกว่านี้
       
        การจากลาครั้งนี้มันเหมือนกับการทำให้ฝันของเขาสลายลงไปทันที และเขาจะต้องจมอยู่กับความสิ้นหวังในญี่ปุ่นอีกแล้ว!!
       
        อารมณ์นี้เองที่เป็นความสูญเสียครั้งแรกในชีวิตของเขา นั่นทำให้เสียงเปียโนสุดแสนจะระทมที่ออกมาจากใจของหนุ่มนักเปียโนคนนี้ถึงสะกดคนดูทั้งฮอลล์ได้ จิอากิไม่มีกำแพงแห่งความเก๊กเหลืออยู่แล้ว เขาปล่อยอารมณ์ดนตรีออกมาพร้อมกับความรันทดในการแสดงอย่างเกินร้อย เล่นเอาหลายคนน้ำตาตกไปด้วย
       
        ผมไม่รู้จะบรรยายถึงความที่สุดในตอนนี้ได้อย่างไร เพราะ เมื่อ 5 นาทีที่แล้วเรายังยิ้มออกอยู่เลยกับ Rhapsody in Blues แต่ฉากถัดมาน้ำตาของคนดูไหลเสียแล้ว...ด้วยงานของรัคมานินอฟ นี่คือความสุดยอดของ Nodame Cantabile ละครับ
       
       เมื่อเสียงเปียโนสุดท้ายสิ้นสุดตัวโน้ตของมันลง เสียงโห่ลั่นเพื่อสดุดีการบรรเลงที่สุดยอดครั้งนี้ออกมา เพราะจิอากิได้เกิดอย่างเต็มตัว ถึงไม่สามารถไปเมืองนอกได้ แต่สำหรับในญี่ปุ่นเขากลายเป็นซูเปอร์สตาร์แล้วครับ เป็นการปิดฉากครึ่งแรกของ Nodame Cantabile อย่างสมบูรณ์แบบ
       
        ที่เยี่ยมกว่านั้นเสียงเปียโนของจิอากิไม่ใช่แค่ทำให้คนดูประทับใจ แต่มันทำให้ โนดาเมะ นางเอกของเรามีมุมมองเกี่ยวกับดนตรีที่แตกต่างออกไป และทำให้เธอเหมือนจะเกิดใหม่ในโลกดนตรีอีกครั้ง ซึ่งจะนำไปสู่ครึ่งหลังของซีรี่ส์เรื่องนี้กันละครับ

ที่มา : http://www.manager.co.th/Entertainment/ViewNews.aspx?NewsID=9500000069026&Page=1

หมายเลขบันทึก: 116167เขียนเมื่อ 1 สิงหาคม 2007 19:41 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 มิถุนายน 2012 11:54 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท