เรื่องประทับใจและแรงบันดาลใจจากมหกรรมKMเบาหวาน


งานนี้ลื่นไหล มีชีวิตชีวา ไม่มีใครแสดงอาการเหน็ดเหนื่อย เบื่อหน่าย ไม่ได้อย่างใจให้เห็นเลย ไปทางไหนมีแต่เสียงหัวเราะ รอยยิ้มที่มอบให้กันแม้ไม่รู้จักกัน

ก่อนที่ภารกิจอื่นๆจะมาทำให้ความประทับใจและความคิดทีผุดบังเกิดจากการร่วมงานทั้งก่อนหน้า ระหว่าง และหลังงาน มหกรรมKMเบาหวานต้องจืดจางหรือลางเลือนก็ขอรีบเขียนบันทึกนี้ซะก่อน

ความประทับใจแรกเกิดจากการได้มีโอกาสรู้เห็นสิ่งที่ทีมงานเวชศาสตร์ครอบครัว โรงพยาบาลพุทธชินราชและชุมชนต่างๆร่วมมือกันในการดูแลสุขภาพผู้ป่วยเบาหวาน จนเกิดหนังสือ "มหัศจรรย์แห่งKMเบาหวาน" เป็นความปิติที่หนังสือสามารถถ่ายทอดเรื่องราวได้ตรงกับวัตถุประสงค์ของดร.วัลลา ตันตโยทัย เพื่อให้เรื่องราวในหนังสือนี้เป็นตัวอย่าง เป็นแรงบันดาลใจให้โรงพยาบาลอื่นๆที่ยังไม่รู้จักKM ได้เล็งเห็นประโยชน์และนำวิธีการไปปรับใช้ได้

ระหว่างไปเก็บข้อมูลประทับใจอาจารย์วัลลาอย่างยิ่ง ได้เห็นน้ำใสใจจริง ความปรารถนาดี ความเข้าใจในตัวผู้ป่วยเบาหวานซึ่งเป็นชาวบ้าน ยากจน ความรู้น้อย ซึ่งการทำอะไรบางอย่างที่คนทั่วไปอาจดูเหมือนทำไปอย่างโง่ๆ แต่อาจารย์กลับมองด้วยความเข้าใจ และเห็นใจจนนำไปสู่การช่วยเหลือ เช่นในการไปแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับหมอและพยาบาลที่โรงพยาบาลพิจิตร อาจารย์โชว์ภาพเท้าผู้ป่วยเบาหวานที่ใส่รองเท้าแตะแบบคีบแล้วเอาหนังสติ๊กรัดนิ้วเท้าไว้

เห็นภาพเช่นนี้แล้วคนส่วนมากจะคิดว่าชาวบ้านนี่ช่างไม่รู้อะไรเลย ทำอย่างนั้นได้อย่างไร แต่อาจารย์วัลลากลับมองว่า นี่เป็นการแสดงถึงการที่ชาวบ้านพยายามช่วยเหลือตนเองไม่ให้รองเท้าหลุดจากเท้า เพราะเป็นเบาหวานจะชาที่เท้า รองเท้าหลุดจะไม่รู้ตัวและอาจเดินไปเหยียบของแข็งหรือสิ่งที่มีคมทำให้เท้าเป็นแผลได้ ซึ่งใครๆก็ทราบว่าการเป็นแผลเป็นเรื่องใหญ่ของผู้ป่วยเบาหวาน ซึ่งอาจลุกลามร้ายแรงถึงถูกตัดเท้าได้

เรื่องเล็กๆนี่ล่ะที่ประทับใจในตัวอาจารย์ ทำให้คิดว่าคิดถูกแล้วที่ได้รับปากเขียนหนังสือเล่มนี้ให้อาจารย์ หรือทำให้เครือข่ายเบาหวานนั่นเอง

สำหรับความประทับใจในช่วงวันงานคงไม่ต้องเขียนยาว มีคนเขียนกันหลายคน และความรู้สึกคงไม่แตกต่างกันมากนักว่า งานนี้ลื่นไหล มีชีวิตชีวา ไม่มีใครแสดงอาการเหน็ดเหนื่อย เบื่อหน่าย ไม่ได้อย่างใจให้เห็นเลย ไปทางไหนมีแต่เสียงหัวเราะ รอยยิ้มที่มอบให้กันแม้ไม่รู้จักกัน

 ขนาดไม่ได้รู้จักกันแต่พอเป็นที่ทราบกันว่าคนเขียนหนังสือมหัศจรรย์ฯ คือคนคนนี้ ก็มีคนมาพูดคุยด้วย มาขอลายเซ็นต์ก็มี บางคนถึงกับบอกว่า  ฟังบรรยายแล้วรู้สึกมีแรงบันดาลใจมากๆ อยากขอให้ไปช่วยบรรยายที่ต่างจังหวัดบ้าง สงสัยจะได้เดินสายตจว. จากงานนี้นี่เอง

ผู้เขียนได้แวะเวียนไปตามกิจกรรมในห้องย่อยต่างๆ ได้รับความรู้มากทีเดียว เป็นความรู้ที่ไม่เคยรู้มาก่อน เช่นการมองเห็นรอยที่เท้าแนบสัมผัสพื้นเมื่อยืนบนเครื่องวัดแรงกดเท้าที่เป็นกระจก(ลืมไปแล้วว่าเรียกว่าเครื่องอะไร) ทำให้ทราบว่าส่วนนั้นจะเป็นแผลได้ง่าย หรือรองเท้าทีผู้ป่วยเบาหวานสามารถหาซื้อมาใช้ได้ ราคาไม่แพงมีขายในท้องตลาด ใช้ได้ดีเพราะมีความนิ่มพอ วิทยากรเขาบอกยี่ห้อมาเลย  ไม่ใช่ต้องใช้ของจากต่างประเทศเสมอไป หรือตัวเองไปเจาะเลือดที่ปลายนิ้ววัดระดับน้ำตาล จึงเพิ่งทราบว่า ทำไมเขาไม่นิยมเจาะที่นิ้วโป้ง นิ้วชี้ และนิ้วกลาง

ผู้เขียนขึ้นเวทีเล่าถึงความมหัศจรรย์แห่งKMเบาหวาน ๗ ประการหลักๆ ที่พบจากกรณีศึกษาโรงพยาบาลพุทธชินราช คุณสุรภีร์ โรจนวงศ์ ประธานกิติมศักดิ์ของสมาคมส่งเสริมหัตถกรรมอาเซียน (ASEAN Handicraft Promotion And Development Association - AHPADA)ผู้ไม่ได้อยู่ในวงการเบาหวาน หรือKM แต่อยากมาฟังว่าเป็นอย่างไร ผู้เขียนจึงเชิญท่านมา ท่านก็มาฟังอย่างตั้งใจ เมื่อลงจากเวที ท่านบอกว่าเรื่องKMเบาหวานนี้น่าสนใจมาก และหลักการKM สามารถนำไปใช้ในการดำเนินงานของ AHPADA ได้ ให้ผู้เขียนรีบไปช่วยงานและคิดโครงการได้เลย รู้สึกว่าช่างข้ามวงการได้อย่างฉับพลันเหลือเกิน

นายแพทย์อนุวัฒน์ ศุภชุติกุล ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาและรับรองคุณภาพโรงพยาบาล (พรพ.) ได้ให้เกียรติเข้ามาสนทนาด้วย บอกว่าเป็นวิธีการมองหรือถ่ายทอดการจัดการความรู้ที่แปลก แตกต่างจากวิธีการหลักการ ที่พบทั่วๆไป ท่านสนใจประเด็นของการนำKM ไปใช้เพื่อส่งเสริมให้องค์กรเป็นLiving Organization เข้าใจว่าฟังไม่ผิดเพราะเราพูดต่อถึงการที่ผู้ปฏิบัติงานต้องมีความสุข และท่านมองว่า "การสื่อสาร" เป็นเรื่องสำคัญที่คนที่เรียนมาในสายวิทยาศาสตร์หรือแพทย์ส่วนมากมักมีจุดอ่อนตรงนี้ ซึ่งคุณหมอหลายท่านได้คุยกับผู้เขียนในประเด็นนี้และอยากให้ช่วยในเรื่องของการสื่อสารเช่นกัน

จากงานนี้ที่ผู้เขียนเองมองเห็นความจำเป็นในเรื่องของการสร้างนักสื่อสารวิทยาศาสตร์ ซึ่งจะเป็นในสายสุขภาพ(เช่น การแพทย์ ความงาม) สายการเกษตร และสายอื่นใดที่มีเนื้อหาสาระที่เกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์ ไม่โดยตรงก็โดยอ้อม จึงน่าจะมีการจุดประกายในวงวิชาการสายการสื่อสารวิทยาศาสตร์ ในประเทศไทย ที่ยังไม่เป็นรูปเป็นร่าง ให้ภาคการศึกษาและภาครัฐหันมาสนใจ นำหลักการของศาสตร์นี้มาปรับใช้

นี่คงถึงเวลาที่ผู้เขียนต้องกลับมาเขียนหนังสืออันว่าด้วยศาสตร์แห่งการสื่อสารวิทยาศาสตร์ หรือ Science Communication หรือ Public Communication of Science and Technology นี้ว่าคืออะไรและประเทศไทยควรจะใช้ศาสตร์นี้อย่างไรจึงจะเหมาะสม ไม่ใช่คิดและทำตามรูปแบบฝรั่งทุกอย่าง ร่างไว้ตั้งนาน เขียนไม่เสร็จซักที ตอนนี้แรงบันดาลใจเกิดขึ้นแล้ว น่าจะทำให้เสร็จเสียที

หมายเลขบันทึก: 116162เขียนเมื่อ 1 สิงหาคม 2007 19:25 น. ()แก้ไขเมื่อ 28 มีนาคม 2012 07:41 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (10)
P
sasinanda
สวัสดีค่ะอาจารย์คะ

อ่านตรงนี้ ตรงใจที่สุดค่ะ"การสื่อสาร" เป็นเรื่องสำคัญที่คนที่เรียนมาในสายวิทยาศาสตร์หรือแพทย์ส่วนมากมักมีจุดอ่อนตรงนี้

ปัญหาของแพทย์ มีอยู่ตรงนี้ไม่น้อย

แพทย์เป็นผู้ที่งานมาก บางทีอธิบายมาก ก็ไม่มีเวลา และยิ่งต้องตอบคำถามซ้ำๆกันบ่อยๆ ยิ่งทำให้ยิ่งอึดอัด  ผู้ป่วยหรือญาติก็ไม่เข้าใจ หาว่าแพทย์ไม่อธิบาย

ไม่ใช่แต่แพทย์ พี่เองก็เป็น สมัยก่อน ต้องอธิบายอะไรซ้ำๆ หงุดหงิดค่ะ ทั้งๆที่พยายามควบคุมใจตัวเอง ไม่ให้เฉไฉง่ายๆ แต่ตอนนี้ ดีขึ้นมากๆ เพราะ พยายามเอาใจเขามาใส่ใจเรา  มีความเมตตาให้มากๆ จะดีเอง

อาจารย์จะช่วยได้มากในจุดนี้ศาสตร์แห่งการสื่อสารวิทยาศาสตร์ หรือ Science Communication หรือ Public Communication of Science and Technology

ขอสนับสนุนค่ะ

พี่มีเพื่อนสนิทอยู่หลายคนที่อยู่คณะนิเทศจุฬา และทำเรื่องสื่อสาร แต่คนละแนวกับอาจารย์

มีเพื่อนชื่อ ร.ศ.วิภา อุตมฉันท์ เพิ่งกลับจากการไปทำงานเชิงวิจัยเรื่องการสื่อสาร ที่สถานีวิทยุปักกิ่ง ภาคภาษาไทย 2 ปี เขียนลงมติชนทุกอาทิตย์มานานแล้ว กำลังรวมเล่ม หนังสือเขาไม่ฮิตหรอก เพราะเป็นวิชาการ ส่วนใหญ่ นักศึกษา ซื้อไปใช้อ้างอิง   แล้วเขียนจ.ม.มาขอบคุณว่า เพราะบทวิจัยของอาจารย์ หนูจึงได้ปริญญาโท--เอก แค่นี้ เพื่อนก็ดีใจแล้วค่ะ

แต่แนวของอาจารย์ จะป็นประโยชน์ทางสายวิทยาศาสตร์มากๆค่ะ ดีใจและยินดีด้วยที่อาจารย์สนุกกับการทำงาน และมีผลงานที่ยอดเยี่ยมค่ะ

เป็นโชคดีที่มารู้จักกับอาจารย์ค่ะ และคงจะมีโอกาสพบตัวจริงด้วย

ช่วงนี้พี่ยุ่งมากๆเลยเหมือนกัน แต่คอยเข้ามาเคาะประตูบ้านอยู่เสมอค่ะ  ติดใจอาจารย์ มีเสน่ห์นะเนี่ย....!!

     มหัศจรรย์แห่ง KM เริ่มต้นด้วยความปรารถนาดีครับ อาจารย์ถ่ายทอดสิ่งนั้นออกมาได้อย่างงดงาม ผมว่าใครได้นำเครื่องมือนี้มาใช้ ไม่ใช่แค่ผลสำเร็จของงานเท่านั้นนะครับ แต่จะเกิดสังคมแห่งการเรียนรู้บนพื้นฐานของความรักและเมตตา ซึ่งผมว่าน่าชื่นชมยิ่งกว่าสิ่งใด
พนิดา วสุธาพิทักษ์

สวัสดีค่ะอาจารย์

ดีใจมากๆ เลยค่ะที่รู้ว่าตอนนี้อาจารย์มีแรงบันดาลใจจะเขียนหนังสือว่าด้วยศาสตร์แห่งการสื่อสารวิทยาศาสตร์ให้เป็นผลสำเร็จ เพราะหนูก็คงพลอยได้รับอานิสงส์แห่งความดี ด้วยการได้รับการถ่ายทอดความรู้จากอาจารย์ไปด้วยค่ะ : )

บอกเล่าอีกนิด วันนี้หนูเพิ่งได้รับหนังสือปริศนาแห่งภูมิปัญญาท้องถิ่นที่ตัวเองสั่งซื้อไป ยังอ่านไปได้ไม่เท่าไหร่ แต่ก็สร้างความตื่นตาตื่นใจมากค่ะ 

ยิ่งแอบข้ามไปอ่านบทวิเคราะห์ในตอนท้ายๆ แล้วก็ให้รู้สึกกระจ่างขึ้นมาก เพราะก่อนหน้านี้ สารภาพว่าตัวเองก็ยังมองความสัมพันธ์ระหว่างความรู้วิทยาศาสตร์กับภูมิปัญญาท้องถิ่นแบบด้วนๆ ทื่อๆ ด้วยการพยายามเอากรอบโลกทัศน์แบบวิทยาศาสตร์ไปอธิบายคุณค่าของภูมิปัญญาท้องถิ่น ซึ่งอีกนัยก็คือ การพยายามสถาปนาให้ภูมิปัญญาท้องถิ่นกลายเป็นวิทยาศาสตร์อีกแขนง ซึ่งมันไม่ได้ก่อให้เกิดการสร้างความรู้ใหม่ มากไปกว่าการไปจัดการให้ความรู้ท้องถิ่นเหล่านี้มันเข้าที่เข้าทางและดูดีมีระดับในสายตานักวิทยาศาสตร์มากขึ้นเท่านั้นเอง 

หากอ่านจบแล้วคงจะมีประเด็นมารบกวนขอคำแนะนำจากอาจารย์อีกครั้งหนึ่งค่ะ

ขอบพระคุณค่ะ

สวัสดีค่ะคุณพี่ศศินันท์P ดีใจมากที่ศาสตร์ที่เรียนมา ซึ่งเริ่มต้นจากปริญญาตรีที่เลือกเรียนการสื่อสารมวลชนเพราะแปลกดี ไม่เคยเรียนตอนมัธยม สาขาอื่นล้วนพอทราบว่าเป็นอย่างไร พอปริญญาโทก็ห่างจากสื่อมวลชน มาสู่เรื่องของการสื่อสารที่มองที่พฤติกรรม เช่นการจูงใจ การสื่อสารในองค์กร มาปริญญาเอกยิ่งจำเพาะ คือสื่อสารวิทยาศาสตร์ ที่พยายามทำความเข้าใจความสัมพันธ์และวิธีการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างวิทยาศาสตร์กับสังคม(Science and Society) ซึ่งทำไปทำมาเป็นเรื่องสำคัญมากสำหรับโลกปัจจุบัน ตอนเรียนก็เรียนเพราะอยากรู้เท่านั้นค่ะ

ศาสตร์นี้จะช่วยสร้างนักสื่อสารวิทยาศาสตร์ ให้เป็นตัวกลางเชื่อมนักวิทยาศาสตร์กับสังคม และในอีกทางหนึ่งก็มีวิธีการสร้างทักษะในการสื่อสารให้กับนักวิทยาศาสตร์ และยังให้ความสำคัญกับการทำให้นักการเมืองหรือผู้บริหารระดับนโยบายมีความรู้เรื่องวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาสังคมและประเทศชาติ ทั้งนี้ก็ไม่ลืมสื่อมวลชนที่จะมาเป็นแนวร่วมในการเผยแพร่เรื่องราวอย่างถูกต้อง ทันเวลาและน่าสนใจ หรือแม้แต่พิพิธภัณฑ์/ศูนย์วิทยาศาสตร์ทั่วโลกก็นับว่าอยู่ในวงการเดียวกันค่ะ

เป็นศาสตร์ที่สนุกมากเพราะมีกลยุทธ์มากมาย

คงจะมีโอกาสพบคุณพี่และเพื่อนๆผู้ทรงคุณวุฒิ ให้นุชได้เรียนรู้อีกมาก รอให้คุณพี่พอมีเวลานัดเพื่อนฝูงพร้อมเมื่อไหร่ก็ได้ค่ะ  หลังวันที่๒๐ สิงหาคมไปแล้วได้ทุกวันเลยค่ะ

ขอบคุณมากเลยค่ะที่เห็นน้องคนนี้มีเสน่ห์ ^-^

สวัสดีค่ะคุณหมอนิพัธP จริงค่ะที่มหัศจรรย์แห่งKMเบาหวานเริ่มด้วยความปราถนาดี เป็นสิ่งที่คุณหมอกับทีมงานได้ทำให้ประจักษ์ ส่วนหนังสือเป็นเพียงการทำให้เป็นตัวหนังสือ ให้เรื่องราวเป็นที่รับรู้ได้กว้างขวางขึ้น ดีใจที่ทุกคนhappy เพราะทีแรกก็ไม่แน่ใจว่าจะทำได้ตรงใจผู้วานให้ทำหรือเปล่า เวลาน้อยมาก เขียนแล้วต้องส่งโรงพิมพ์กันเลย แทบไม่มีโอกาสให้แสดงความคิดเห็น แก้ไข ว่าชอบหรือไม่ชอบ โชคดีที่ออกมาใช้ได้

ดีใจมากค่ะที่สิ่งสำคัญที่ตัวเองมองว่าเป็นจุดที่สำคัญที่สุดคือการเรียนรู้บนฐานของความรักและความเมตตา เป็นสิ่งที่ตรงกับใจของคุณหมอและหนังสือได้สะท้อนออกมาอย่างชัดเจน

ต้องขอบคุณทีมงานอีกครั้งที่ทำให้การเขียนง่ายขึ้นมาก ทั้งการจัดให้มีโอกาสพบเห็นสิ่งที่เกิดขึ้นจริงและการเขียนไว้ในบล็อกอย่างยอดเยี่ยมค่ะ

สวัสดีค่ะคุณพนิดา ความยินดีของครูบาอาจารย์ คือการได้ชี้นำ ได้เปิดมุมมองแก่คนรุ่นใหม่ ให้มีวิธีคิด ให้ศึกษาเพื่อความรู้ที่จะใช้ประโยชน์กับตนเองและสังคมอย่างแท้จริง

การที่คุณพนิดาตระหนักว่า การพยายามสถาปนาให้ภูมิปัญญาท้องถิ่นกลายเป็นวิทยาศาสตร์อีกแขนง ซึ่งมันไม่ได้ก่อให้เกิดการสร้างความรู้ใหม่ มากไปกว่าการไปจัดการให้ความรู้ท้องถิ่นเหล่านี้มันเข้าที่เข้าทางและดูดีมีระดับในสายตานักวิทยาศาสตร์มากขึ้นเท่านั้นเอง เป็นสิ่งที่ในฐานะผู้เขียนหนังสือเล่มนี้ภูมิใจอย่างยิ่งค่ะ

อ่านแล้วอยากถามอะไรเพิ่มเติม ยินดีนะคะ

 

สวัสดีค่ะ อาจารย์พี่นุช

        ตามอ่านบันทึกนี้ตั้งแต่เมื่อวานค่ะพี่นุช  แอมแปร์ยกมือสนับสนุนจนสุดแขนและรอจองอ่านล่วงหน้าแล้วค่ะ  แค่ชื่อเรื่องก็ตรึงใจแล้ว
             
                
ศาสตร์แห่งการสื่อสารวิทยาศาสตร์ 
                           Science Communication
              หรือ Public Communication of Science
                               and Technology  

        ชอบคำถามที่พี่นุชตั้งไว้จังเลย
        1. ารสื่อสารวิทยาศาสตร์คืออะไร
        2. ประเทศไทยควรจะใช้ศาสตร์นี้อย่างไรจึงจะเหมาะสม (ไม่ใช่คิดและทำตามรูปแบบฝรั่งทุกอย่าง)

          สุดยอดบูรณาการข้ามศาสตร์เลยค่ะพี่นุช  ถ้ามองว่า  "การสื่อสาร"  เป็นวิชา  ขณะเดียวกันแอมแปร์มองว่า การสื่อสารเป็นเครื่องมือหลักในการขับเคลื่อน  วิชา (ความรู้)และขับเคลื่อนชีวิต   เป็นยาดำที่อยู่ในความรู้ทุกชุด  เพราะการนำเสนออะไรก็ตาม     นั่นคือการสื่อสารแล้ว  แต่ต่างกันตรงที่ว่าเราจะมีศิลปะในการนำเสนอให้เหมาะแก่ประเภทของสารและองค์ประกอบแวดล้อมในการสื่อสารนั้นๆอย่างไร   

        แอมแปร์กำลังสนุกกับการจินตนาการเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับ"การสื่อสาร"ที่(คิดเอาเองว่า)น่าจะบรรจุในชุดวิชา การศึกษาทั่วไป ระดับปริญญาตรี ซึ่งเป็นวิชาสำคัญที่จะปูพื้นฐานความเป็นมนุษย์  ที่ทำให้อยู่ร่วมกับมนุษย์ผู้อื่นได้อย่างมีความสุข

       วิชาเหล่านี้จะช่วยรับไม้ต่อมือจากมัธยม  ช่วยให้เด็กไม่กลายเป็นนกหงษ์หยกที่หลุดพรูออกจากกรง  แล้วก็บินกันเปะปะ   เพราะวิชาเหล่านี้เป็นวิชาสอนคนให้เป็นคน  ไม่ใช่ทำคนให้เป็น "นัก"

       ถึงแม้วันนี้  แอมแปร์จะทำได้แค่เป็นครูยืนสอนหน้าชั้นธรรมดา   แต่การสื่อสารช่วยให้แอมแปร์ได้พบกับกลุ่มคนที่มีแนวคิดคล้ายๆกัน  ทำให้สบายอกสบายใจอยู่บ้างว่า หนึ่งเรา(คง)ปกติดี..   : )  สอง  ยังมีคนอีกมากที่รอ...เหมือนเรา  และเขาเหล่านั้นมองเห็น  และได้พยายามทำ   ในสิ่งที่ตนทำได้  อย่างสุดกำลัง    แอมแปร์จึงทำโน่นทำนี่ไปทีละเล็กทีละน้อยอย่างรื่นเริงบันเทิงใจ 
                            ...และ  รอ....  เช่นกัน...

       เคยมีอยู่วิชานึงในราชภัฏค่ะพี่นุช  ชื่อวิชาการคิดและการตัดสินใจ  แอมแปร์ดีใจไชโยมาก   เพราะเห็นทางสว่างในการการสร้างคนแล้ว  เมื่อสอนวิธีคิดแบบต่างๆ ฝึกให้คนรู้จักตัดสินใจ  โดยความรู้ที่ใช้การได้ในชีวิตจริงอย่างนี้  ลูกๆราชภัฏไกลเมือง  อันเป็นฐานรากกากมะพร้าวของสังคมปิรามิด  ก็จะสามารถเดินในสังคมอย่างผึ่งผายด้วยหัวใจพอเพียงและรู้เท่าทัน 

      แอมแปร์ดีใจอยู่ได้ไม่กี่ปี  ท่านก็เปลี่ยนชื่อเป็น "คณิตศาสตร์กับการคิดและการตัดสินใจ"     ด้วยเหตุผลว่าวิชานี้ควรสังกัดคณะวิทยาศาสตร์  ควรเป็นครูคณิตศาสตร์สอน  และควรว่าด้วยความน่าจะเป็นทางวิทยาศาสตร์เท่านั้น  วงเล็บ  
 

      
แอมแปร์ขอโทษพี่นุชด้วยเถิดนะคะ หากแอมแปร์พูดอะไรที่ผิดไปจากที่ควรจะเป็น    แต่แอมแปร์คิดว่า การคิดและการตัดสินใจในชีวิตจริง  ต้องอาศัยวิธีคิดที่หลากหลาย  และเครื่องมือประกอบการคิดที่รอบด้าน (ไม่ใช่รูปแบบการคิดชุดเดียว   จากคนชุดเดียวที่นำเสนอวิธีคิดแบบดิ่งเดี่ยว  เพราะถูกจำกัดด้วยคำอธิบายรายวิชา) 
         บวกกับประสบการณ์การฝึกคิดที่สอคคล้องกับชีวิตจริงอย่างสอดคล้อง  ต่อเนื่อง และจริงจัง  ด้วยวิธีสอนที่เนียนเข้าไปในเนื้อ  
         วิชาเช่นนี้ต้องใช้ปราชญ์สอน  ต้องใช้หลายๆคนด้วย   ถ้าไม่มีก็ต้องสร้าง  และต้องรีบสร้างด้วย 

         แอมแปร์เห็นชาวบ้าน(คือพี่น้องทั้งหลาย) ท่านเรียนรู้จากปัญหา  และสร้างคุณค่าร่วม  สร้างความสามัคคีเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวได้เพราะปัญหาร่วมเป็นตัวตั้ง  แล้วท่านรวมพลังกันเป็นใจเดียวเพื่อแก้ปัญหา  เพราะท่านรู้ว่าถ้าไม่ร่วมมือกันในวันนี้ จะซี้หยังเขียดในวันพรุ่ง  (ขอโทษค่ะพี่นุช  กลอนพาไป)

        ปราชญ์ชาวบ้านท่านหาทางออกในสภาพจริง  และวิธีการของท่านคือลองหลายๆวิธี  ลองด้วยภูมิปัญญาชุดที่มีมาก่อน  และลองผิดลองถูก ด้วยชีวิตจริงๆ  แบบที่ไม่บังคับวิธีทำ  และไม่มีคำตอบสำเร็จรูปรอล่วงหน้า  ท่านกล้าและจำเป็นที่ต้องจะรับผลจากการเสี่ยงครั้งนั้นๆด้วย     

        พอเห็นชื่อวิชา   "ที่บังคับวิธีทำ" ( และนำไปสู่การบังคับวิธีคิด   และจำกัดตัวผู้ฝึกให้คนรู้จักคิดด้วย)   แอมแปร์ก็พูดอะไรต่อไม่ถูก   ....แต่นั่นยิ่งทำให้รู้สึกมุ่งมั่นหนักเข้าไปอีก   แอมแปร์บอกตัวเองว่าต้องรู้จักจังหวะ รู้จักรอ   แต่ขณะที่รอ...จงทำไป  อย่าหยุด  อย่าท้อ 

       ไม่ว่าเราจะสอนวิชาอะไร  หากเราตั้งใจสอนคนให้เป็นคน  พัฒนาคนให้เป็นมนุษย์แล้ว  ก็จงทำไป  อย่าได้ท้อ   ถ้าเราพยายามต่อไป  ก็อาจมีสักวันหนึ่งที่เราจะได้คำตอบว่าเราควรทำอย่างไร  จึงจะได้เห็นผลอย่างที่เราหวัง  คือถึงตอนนั้นเราคงแก่กำลังดี  และปลงได้  คือแอมแปร์หวังว่าจะได้เห็นก่อนเกษียณ
 
       
และพอรู้สึกว่าก็อีกไม่นานเท่าไหร่  เลยทำให้มีกำลังใจจะรอน่ะค่ะพี่นุช   
: )

ปล. ขอโทษจริงๆค่ะที่เขียนยาวๆ  แต่แอมแปร์อยากพูดให้ครบอย่างที่รู้สึก  ขออนุญาตพี่นุชนะคะ
: )

เช้านี้แวะมาอ่านบันทึกเบาหวาน ได้รูปแบบการพัฒนาสื่อความรู้ทางสุขภาพครับ ขอบคุณที่อาจารย์แวะไปเยี่ยมที่บันทึกของผมเสมอ

ขอบพระคุณมากครับ

สวัสดีค่ะน้องแอมแปร์P แหมเล่นเรียกพี่ว่า"อาจารย์พี่นุช" ทำเอาเขินเลยที่"อาจารย์น้อง" เกรงใจเรียกเช่นนั้น คราวหน้าเอาแค่ "พี่นุช" ก็พอจะได้ไม่ต้องพิมพ์ยาวนะคะ

ดีใจและมีความสุขไปด้วยที่น้องแอมแปร์มีความสนุกในการเดินทางสายที่ตนเองเลือกที่จะเชื่อ และเลือกที่จะทำเช่นนั้น แม้ว่าจะมีอุปสรรคมาทดสอบความตั้งมั่นบ้าง

หนึ่งเรา(คง)ปกติดี..   : ) ยืนยันและรับรองค่ะ

สอง  ยังมีคนอีกมากที่รอ...เหมือนเรา  และเขาเหล่านั้นมองเห็น  และได้พยายามทำ   ในสิ่งที่ตนทำได้  อย่างสุดกำลัง    แอมแปร์จึงทำโน่นทำนี่ไปทีละเล็กทีละน้อยอย่างรื่นเริงบันเทิงใจ 
                            ...
และ  รอ....  เช่นกัน...  

เหมือนกันเลยค่ะ



       วิชาการคิดและการตัดสินใจ  .....
 ก็เปลี่ยนชื่อเป็น "คณิตศาสตร์กับการคิดและการตัดสินใจ"     ด้วยเหตุผลว่าวิชานี้ควรสังกัดคณะวิทยาศาสตร์  ควรเป็นครูคณิตศาสตร์สอน  และควรว่าด้วยความน่าจะเป็นทางวิทยาศาสตร์เท่านั้น  วงเล็บ
   

เข้าใจว่าเหตุผลมีหลายประการ ข้อหนึ่งคือหาผู้รับผิดชอบ และคนที่เรียนมาแบบตะวันตกย่อมคิดแบบฝรั่ง คือความรู้วิทยาศาสตร์เท่านั้นที่เป็นที่สุด ดังนั้นวิธีที่ได้มาซึ่งความรู้จึงควรใช้กับความรู้ทุกประเภท สมัยนี้เราพบมากค่ะ กายเป็นคนไทยแต่หัวใจแบบฝรั่ง ไม่ได้ว่าหัวใจฝรั่งไม่ดี  แต่อยู่ผิดร่าง ผิดที่ค่ะ

      
แอมแปร์คิดว่า การคิดและการตัดสินใจในชีวิตจริง  ต้องอาศัยวิธีคิดที่หลากหลาย  และเครื่องมือประกอบการคิดที่รอบด้าน (ไม่ใช่รูปแบบการคิดชุดเดียว   จากคนชุดเดียวที่นำเสนอวิธีคิดแบบดิ่งเดี่ยว  เพราะถูกจำกัดด้วยคำอธิบายรายวิชา)  

ใช่แล้วค่ะ คนมีสติ เข้าใจบริบท ต้องคิดเช่นนี้   ฝรั่งหลายคนเขาก็เริ่มเข้าใจ แต่คนไทยยังติดกับความรู้เดิม ยึดมั่นกับความรู้เก่าๆที่หากจะคิดตามฝรั่งก็ยังตามเขาไม่ทัน จะคิดเองก็ไม่กล้าออกนอกกรอบ แนวคิดเช่นนี้เช่น Epistemological Pluralism และMultiperspective Reflection

       บวกกับประสบการณ์การฝึกคิดที่สอคคล้องกับชีวิตจริงอย่างสอดคล้อง  ต่อเนื่อง และจริงจัง  ด้วยวิธีสอนที่เนียนเข้าไปในเนื้อ  
         วิชาเช่นนี้ต้องใช้ปราชญ์สอน  ต้องใช้หลายๆคนด้วย   ถ้าไม่มีก็ต้องสร้าง  และต้องรีบสร้างด้วย  

มาช่วยกันค่ะ

        
        ปราชญ์ชาวบ้านท่านหาทางออกในสภาพจริง  และวิธีการของท่านคือลองหลายๆวิธี  ลองด้วยภูมิปัญญาชุดที่มีมาก่อน  และลองผิดลองถูก ด้วยชีวิตจริงๆ  แบบที่ไม่บังคับวิธีทำ  และไม่มีคำตอบสำเร็จรูปรอล่วงหน้า  ท่านกล้าและจำเป็นที่ต้องจะรับผลจากการเสี่ยงครั้งนั้นๆด้วย     

ควมรู้ที่มาจากการปฏิบัติ ย่อมตอบโจทย์ในชีวิตได้จริง

         แอมแปร์บอกตัวเองว่าต้องรู้จักจังหวะ รู้จักรอ   แต่ขณะที่รอ...จงทำไป  อย่าหยุด  อย่าท้อ  

        ถ้าเราพยายามต่อไป  ก็อาจมีสักวันหนึ่งที่เราจะได้คำตอบว่าเราควรทำอย่างไร....  จึงจะได้เห็นผลอย่างที่เราหวัง  คือถึงตอนนั้นเราคงแก่กำลังดี  และปลงได้  .....
       

 ทำให้เต็มความสามารถ คำตอบจะค่อยๆปรากฎ การปลงได้ ไม่ใช่การยอมจำนนว่าทำได้แค่นี้แหละ แต่ปลงได้ด้วยความเข้าใจในการไม่ยึดมั่น ถือมั่นว่า ทุกอย่างจะเป็นไปตามที่เราหวังไว้ "มันเป็นเช่นนั้นเอง" ทุกอย่างล้วนเป็นไปตามเหตุปัจจัย

และพอรู้สึกว่าก็อีกไม่นานเท่าไหร่  เลยทำให้มีกำลังใจจะรอน่ะค่ะพี่นุช    : )

แปลว่านี่รอหนังสือพี่จริงๆหรือคะ อิ อิ สงสัยจะหลอกน้องหรือเปล่านะเนี่ย คงไม่ให้รอถึงแก่แน่ๆค่ะ

สวัสดีค่ะดร.ป๊อป ผลัดไปเยี่ยมเยือนกัน ให้รู้ว่ายังคิดถึงกันอยู่เสมอค่ะ แค่รู้ว่ามีความคิดถึงกันอยู่แวะมาแม้ไม่แสดงตัวเขียนข้อคิดเห็นไว้ กระแสจิตก็ถึงกันค่ะ

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท