Nodame Cantabile คอนเสิร์ตนี้ไม่มีเสียว(3) : บทบาทของครู /โดย ต่อพงษ์ 3 มิถุนายน 2550 12:31 น.


แต่ละฉากในช่วงนี้ จิอากิโดนเหตุการณ์ระหว่างการคุมวงดนตรีสุดห่วยให้เรียนรู้ว่า การจะเป็นคอนดักเตอร์ได้ก็คือ การทำให้คนที่มาร่วมกันเล่นมีกำลังใจ ต้องเชื่อใจ และเชื่อมั่นในสิ่งที่คนกำกับวงเชื่อ และที่สำคัญให้เกียรติเสียงดนตรี และให้เกียรติคนอื่น
       มิติและแง่มุมใน Nodame Cantabile มีอยู่เยอะและ ไอ้ความเยอะที่ว่านั้น ล้วนแล้วแต่ทำให้เมื่อดูแล้วผมว่าร้อยละ 90 ของคนที่ดูจะเกิดอาการอิ่มอกอิ่มใจและปิติ บางคนดูแล้วน้ำตาไหลอย่างไม่รู้ตัวทั้งๆ ที่ไม่มีฉากตบตีน้ำเน่าเศร้าใจในชะตาชีวิตแบบที่ละครไทยต้องมี
       
        หนึ่งในแง่มุมที่คนทำเขาเสนอก็คือ ‘บทบาทของครู’ และ ‘วิธีการสอน’ นะครับ
       
        ครูในเรื่องนั้นมีบทบาทสำคัญครับ เพราะความปรารถนาดีของครู มีให้แก่กันตลอด แม้วิธีการแสดงออกจะแตกต่างกัน แต่สุดท้ายก็ไม่มีใครที่อยากจะให้ลูกศิษย์ของตัวเองล้มเหลว
       
        ประเด็นคือ ครูแต่ละคนเขาสอนอะไรกันและสอนอย่างไร?
       
        ครูคนแรกของจิอากิคือ อาจารย์ ทานิโอกะ ผู้ซึ่งจับเขาไปอยู่คอร์สเดียวกับโนดาเมะนางเอกซึ่งถือเป็นนักเรียนบ๊วยที่สุด ที่นี่เองที่จิอากิเริ่มที่จะรู้จักดูแลคนอื่น ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการเป็นคอนดักเตอร์ที่ดี จากที่เคยเป็นแค่มือเปียโนที่ห่วงเฉพาะที่ตัวเองเล่น จิอากิต้องเลิกยึดตัวตนแบบนั้นแล้วหันมาดูแลคนข้างเคียงนั่นคือ โนดาเมะที่เล่นเปียโนได้มั่วแต่อุดมไปด้วยวิญญาณ ฉากที่ทั้งคู่เล่นเปียโนคู่กันในเปียโนโซนาต้าของโมซาร์ตที่ชื่อว่า Sonata in D major for two Pianos K 375a (K 448) ถือว่าทรงพลังและงดงามสุดๆ เลยครับ
       
        ในตอนนี้จิอากิเล่นในไลน์ที่ต้องอุ้มอีกฝ่ายอยู่ตลอดเวลา จากที่ต้องหงุดหงิดเพราะนางเอกเราเล่นแบบตามใจฉัน หมอก็ฉายแววแห่งการเป็นคอนดักเตอร์ออกมา ด้วยการเล่นประสานผสมเสียงมั่วๆ ของโนดาเมะให้ออกมาเป็นเพลงที่ไพเราะได้อย่างที่โมทซาร์ตตั้งใจไว้ นั่นคืออีกฝ่ายต้องคอยอุ้มกันไป ดูแลกันไป ต้องเชื่อใจกัน ต้องให้เกียรติกันจนกระทั่งจบเพลง
       
        การเรียนรู้แบบนี้ของจิอากิยิ่งพัฒนาขึ้นเมื่อต้องเล่นประสานให้กับ มิเนะ มือไวโอลินที่หิ้วไวโอลินไฟฟ้าติดตัวตลอดเวลา มิเนะก็เป็นแบบที่โนดาเมะเป็น นั่นคือ พลุ่งพล่าน เต็มไปด้วยพลัง จะหมื่นกว่าน้องโนดาเมะก็ตรงที่ว่า แกคิดจะเป็นมือไวโอลินสายร็อกตลอดเวลา แต่สุดท้ายเมื่อต้องมาเล่นประกบกับจิอากิในบทเพลง Spring Sonata ของเบโธเฟน มิเนะก็เข้าใจว่าวิถีที่มันควรจะเป็นนั้นเป็นอย่างไร

      พัฒนาการในการเป็นคอนดักเตอร์ของจิอากิอยู่ในขั้นก้าวกระโดด เมื่อเขาได้ครูคนที่สองที่เป็นคอนดักเตอร์ตัวประหลาดจากเมืองนอกผู้มีนามว่า “สเตสเซอร์มันน์” หมอนี่ดูเหมือนคนบ้า เป็นติสต์แบบเลอะเทอะ และสร้างความกังขาให้กับคนดูและตัวละครในเรื่องว่า มันใช่ตัวจริงแน่หรือ? เพราะ เท่าที่เห็น นอกจากหลีสาว ร้องคาราโอเกะ และเล่นเกมจับคู่แล้ว สเตรสเซอร์มันน์ก็ไม่ได้ทำอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน
       
        งานแรกของคอนดักเตอร์ผู้นี้ในเรื่องคือการตั้งวงดนตรีที่ชื่อว่าวง Sโดยเด็กที่สเตรสเซอร์มันน์เลือกมาล้วนเป็นเด็กบ๊วยทั้งสิ้น...แน่นอนเด็กบ๊วยระดับเดียวกับโนดาเมะ ระดับเดียวกับมิเนะ ระดับที่ถูกเมินมาตลอด!!
       
        จิอากิซึ่งอยากจะเรียนรู้กับคอนดักเตอร์ระดับโลกตัดสินใจขอเข้ามาเป็นลูกศิษย์ของสเตรสเซอร์มันน์ แต่ทว่าถูกปฏิเสธหลายต่อหลายรอบ หนังผูกเรื่องให้ฮาแตกเมื่อโนดาเมะเป็นตัวจักรสำคัญที่ทำให้สเตรสเซอร์มันน์เปิดทางให้จิอากิมาเป็นคอนดักเตอร์ของวง S
       
        พัฒนาการที่ก้าวกระโดดแบบสุดยอดของจิอากิในการเป็นคอนดักเตอร์เกิดขึ้นมาช่วงนี้ เมื่อนักเรียนบ๊วยของมหาวิทยาลัยถูกถ่ายโอนมาให้เขาดูแลแทน ที่สำคัญในเวลาอันสั้นเขาต้องขุนให้เด็กบ๊วยเหล่านี้มีฝีมือในระดับที่ต้องสู้ให้ได้กับวง A ที่มีสเตสเซอร์มันน์เป็นคนคอนดักท์
       
        ที่น่าสนใจก็คือ เพลงที่วง S เลือกเล่นครับ ซึ่งเป็นผลงาน Symphony No.7 in A Major ของเบโธเฟน เพลงนี้เริ่มเขียนเมื่อปี 1809 และเบโธเฟนทำให้มันจบลงในปี 1812
       
        ว่ากันว่าเพลงนี้เป็นก้าวกระโดดอีกครั้งหนึ่งในการแต่งเพลงของเบโธเฟน เมื่อเขาเอาองค์ประกอบของบทเพลงในยุคสมัยคลาสสิก มาตีความและเสนอในรูปแบบใหม่ให้เสมือนเพลงในยุคโรแมนติก ซึ่งซับซ้อน แพรวพราว เริงร่า ไพเราะ อ่อนหวาน ครบถ้วนไปด้วยพลังงานไฮออคเทนและเต็มไปด้วยความพลุ่งพล่านในการนำเสนอ
       
        นักทฤษฏีดนตรีบอกด้วยเหมือนกันว่า เนื้อหาที่บรรจุอยู่ในเพลงนี้ของเบโธเฟนเป็นสัญลักษณ์ของการเปลี่ยนแปลงทางจิตใจของเขา อย่างที่เคยเล่าให้ฟังไปแล้วว่าเบโธเฟนนั้นเมื่อหนุ่มเป็นคนมีเพื่อนน้อยมาก ส่วนหนึ่งเพราะเกราะแห่งอัจฉริยะ และความยโสในความเก่งกาจของตัวเอง กับดักนี้มีมาตลอดจนกระทั่งอาการหูหนวกเริ่มมาเยือนแกถึงเริ่มความเปลี่ยนแปลงในใจตัวเองขึ้นมา
       
        บทเพลงๆ นี้เบโธเฟนเริ่มเขียนเมื่อตอนที่อาการหูหนวกเล่นงานแล้ว แม้ว่ายังไม่หนวกสุดๆ แต่มันก็ทำให้เขากลัดกลุ้มมากโข ด้วยคำแนะนำของแพทย์ที่ให้ลดความเครียดและไปเที่ยวเสียบ้างเบโธเฟนก็เลยเดินทางไปเที่ยวแถวทางเหนือของโบฮีเมียในเมืองที่ชื่อว่า Teplitz อากาศที่เมืองไม่ได้ช่วยให้อาการหูหนวกดีขึ้นหรอกครับ แต่เบโธเฟนกลับตุหรัดตุเหร่มาเจอยอดคนของเยอรมันคนหนึ่งโดยบังเอิญ...
       
        “โยฮัน โวล์ฟกัง ฟอน เกอเธ” นักคิดผู้เป็นทั้งนักการเมือง นักปราชญ์ นักเขียน เป็นมหากวี เป็นผู้เชี่ยวทางทางวัฒนธรรมคือคนที่เบโธเฟนมีโอกาสได้เจอด้วย เกอเธ่เองถึงกับเขียนบันทึกเมื่อคราวเจอกับเบโธเฟนเอาไว้ว่า
       
        “ผมไม่เคยเจอศิลปินคนไหนที่เครียด จริงจัง มีสมาธิและจดจ่อกับสิ่งที่ตัวเองกำลังทำ มีความเชื่อที่จะท้าทายโลก ท้าทายตัวเอง และเต็มไปด้วยจิตวิญญาณแห่งความเป็นคนมากขนาดนั้น ผมเห็นเขาแล้วก็เข้าใจเลยว่า ด้วยคุณสมบัติที่เขามีอยู่นั้น มันถึงยากเย็นแสนเข็ญเลยสำหรับเบโธเฟนที่จะเปลี่ยนแปลงและปรับตัวเขาเองให้เข้ากับโลกใบนี้”
       
        เกอเธ่ไม่ได้บอกว่าเขาคุยเรื่องอะไรกัน แต่ที่แน่ๆ ผลของการคุยกันในช่วงเวลานั้น ทำให้เบโธเฟนเรียนรู้อะไรบางอย่าง เพราะเกอเธ่ไม่ได้สอนอะไรตรงๆ อย่างที่หลายคนคิด เขาเพียงแค่คุยกันเท่านั้น

      “เป็นเรื่องที่น่าแปลกเพราะเบโธเฟนปล่อยให้ผมเข้ามาวิจารณ์ แนะนำ พูดคุยเรื่องเพลง เรื่องกวี และเราทั้งคู่เล่าเรื่องราวต่างๆเกี่ยวกับชีวิตที่ตรงกันข้ามกันอย่างสุดขั้วนี้แก่กันและกัน” เกอเธ่กล่าว
       
        ช่วงเวลานั้นเองที่เบโธเฟนเริ่มต้นเขียนงานชิ้นนี้ของเขาที่ Teplitz จากนั้นหลายเดือนถัดมามันก็สำเร็จจนกระทั่งสามารถแสดงได้สำเร็จที่เวียนนาเพื่อเป็นคอนเสิร์ตหาทุนให้กับทหารชาวบาวาเรียและออสเตรียในการทำสงครามที่ฮันเนากับนโปเลียน เบโธเฟนเรียกงานชิ้นนี้ของเขาว่า “The most excellent symphony” เขายอมรับว่ามันคือซิมโฟนีที่เขียนขึ้นมาด้วยจิตใจที่มองโลกในแง่ดี ท่วงทำนองของบทเพลงจึงเจิดจ้าและให้ความหวังเป็นพิเศษ
       
        ที่มันกว่านั้นก็คือ เสียงวิจารณ์ของนักวิจารณ์ที่พยายามจะบอกว่างานนี้มันห่วย คาร์ล มาเรียน ฟอน เวเบอร์ นักแต่งเพลงเรียกมันว่า งานสำหรับคนบ้า ขณะที่ เฟร็ดริค วีค พ่อของ คลาร่า ชูมันน์ บอกว่างานชิ้นนี้เหมาะสำหรับคนที่ถูกพิษเข้าเต็มตัว
       
        สำหรับคนรุ่นหลังอย่าง ริชาร์ด วากเนอร์ นักแต่งเพลงรุ่นหลังเขาเรียกมันว่า The Apotheosis of Dance หรือมหากาพย์แห่งการเต้นรำ วากเนอร์เขียนวิจารณ์งานชิ้นนี้ไว้อย่างน่าชื่นชมว่า
       
        “ถ้าเผื่อใครซักคนเล่นเพลงนี้ ทั้งโต๊ะ ทั้งเก้าอี้ ทั้งกระป๋อง ทั้งถ้วย แม้กระทั่งคุณยายที่บ้าน คนเป็นง่อย ศัตรู หรือแม้กระทั่งเด็กๆที่นอนอยู่ในเปลจะลุกขึ้นมาเต้นรำร่วมกันได้”
       
        บทเพลงซิมโฟนี่หมายเลข 7 จึงเป็นสัญลักษณ์ของการเปลี่ยนแปลงอันยิ่งใหญ่ การปรับปรุงใจของตนเองเพื่อเข้าสู่สังคม ที่สำคัญมันคือซิมโฟนี่ที่จะทำให้เกิดเพื่อนฝูงขึ้นมาอีกมากมาย ไม่ใช่มาทำอะไรกันหรอกครับ แต่มาร่วมเต้นรำ ร่วมสนุกกันให้สมกับคุณค่าของเพลงนั่นเอง
       
        เขียนถึงตรงนี้ผมถึงชื่นชมว่าคนเขียนเรื่องโคตรฉลาด เพราะขณะที่จิอากิพยายามจะกำกับให้วงดนตรีวงนี้เล่นเพลงตามสกอร์เพลงเป๊ะๆ เขาก็พบทันทีว่าวิญญาณของบทเพลงมันหายไป เขาเองไม่เข้าใจตรงนี้แม้แต่น้อย ขณะเดียวกันในแง่ของการเป็นคอนดักเตอร์ที่ดีเขาก็สอบตก เหตุผลง่ายๆ ที่สเตรสเซอร์มันน์บอกก็คือ
       
        “จิอากิ !! แกสอบตกในการเป็นคอนดักเตอร์เพราะแกทำให้ผู้หญิงเสียน้ำตา”
       
        แต่ละฉากในช่วงนี้ จิอากิโดนเหตุการณ์ระหว่างการคุมวงดนตรีสุดห่วยให้เรียนรู้ว่า การจะเป็นคอนดักเตอร์ได้ก็คือ การทำให้คนที่มาร่วมกันเล่นมีกำลังใจ ต้องเชื่อใจ และเชื่อมั่นในสิ่งที่คนกำกับวงเชื่อ และที่สำคัญให้เกียรติเสียงดนตรี และให้เกียรติคนอื่น
       
        เรื่องของคอนดักเตอร์ที่ต้องเป็นมนุษย์ในลักษณะนี้ทำให้นึกถึง อาทูโร ทอสกานินี่ มือคอนดักเตอร์ระดับโลกที่ล่วงลับไปแล้ว ทอสกานินี่นั้นเอาใจใส่กับวงดนตรีที่เขาจะเล่นเสมอ เขามักจะชงกาแฟหอมๆ มาให้ พร้อมเสิร์ฟเอง พร้อมที่จะหยุดซ้อมไปก่อนเพื่อให้นักไวโอลินในวงลับบ้านไปเอาคันชักคู่ขา หรือแม้กระทั่งเดินแจกกาแฟให้กับผู้ชมที่รอคอยคิวยาวเหยียดเพื่อซื้อตั๋วการแสดงของพวกเขา
       
        บทบาทของครูอย่างสเตรสเซอร์มันน์นั้นก็ไม่ได้สอนอะไรตรงๆ นอกจากจัดการให้จิอากิเจอบททดสอบจริงๆ นั่นคือ เขาต้องเปลี่ยนตัวเองให้มีเพื่อน เขาต้องเข้าใจคนอื่น เขาต้องคิดแทนคนอื่น และให้เกียรติคนอื่น เหนือกว่านั้นเขาต้องให้เกียรติดนตรีอีกด้วย
       
        คือถ้าเพลงที่เขาจะเล่นเขียนขึ้นโดยมีเจตนาให้มันสนุกสุดๆ คอนดักเตอร์ก็ต้องนำทางให้เพลงมันสนุกสุดๆเช่นกัน!!
       
        ฉากพลันคิดตกของจิอากิเกี่ยวกับเรื่องนี้น่ารักมากครับ เมื่อเขาได้ยินโนดาเมะเล่นเปียโนตัวเดียวกับเพลงหมายเลข 7 เพลงนี้ โนดาเมะบอกพระเอกว่า เธอจำได้เพราะนั่งฟังบ่อยๆ แล้วก็รู้สึกว่าเมโลดี้ของเพลงนี้มันสนุกจะตาย ทำไมจะต้องจริงจังขนาดนั้น เธอเล่นไป ร้องไป เติมเนื้อให้ไป ขณะที่จิอากิก็ยืนฟังไปสุดท้ายเขาก็ “บรรลุ” หรือ “ซาโตริ (Satori) ” ขึ้นมา
       
        จิอากิไปขอโทษเพื่อนๆ และยอมให้เล่นได้อย่างสนุกสนาน ปล่อยให้ทุกคนทำท่าทางชวนฮาระหว่างการแสดง แม้กระทั่งยอมใส่เสื้อยืดสัญลักษณ์ของวง S ขึ้นเวที เมื่อมิตรภาพบังเกิด ความเชื่อใจก็เกิดตามมา พลังแห่งการควบคุมวงก็ปรากฏขึ้น ตามมาด้วยความสนุกสนานที่ควรจะเป็นของบทเพลงนี้ผ่านทั้งอารมณ์การแสดง ผ่านทั้งลีลาท่าทางที่ใส่กันอย่างเต็มที่ ซึ่งผู้ชมรับรู้ได้
       
        ความงามของการแสดงในฉากนี้ส่งผลถึงขนาดที่ว่า ใครเป็นคนหัวอ่อนหน่อยก็ต้องมีน้ำตาซึมด้วยความปิติละครับ
       
ที่มา : http://www.manager.co.th/Entertainment/ViewNews.aspx?NewsID=9500000063044
หมายเลขบันทึก: 116160เขียนเมื่อ 1 สิงหาคม 2007 19:21 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 19:44 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท