Nodame Cantabile คอนเสิร์ตนี้ไม่มีเสียว(4)/การจากลาที่แสนเศร้า


และที่โชคดีที่สุดก็คือ คนที่เรียนรู้ ‘วิถี’ ของการเป็นนักดนตรีได้ ‘ช้า’ ที่สุดกลับเป็น ‘โนดาเมะ’ นางเอกของเรานั่นเอง...เราก็เลยได้ดื่มด่ำและเรียนรู้เรื่องของดนตรีต่อเนื่องกันไปจนถึงตอนที่ 11 ซึ่งเป็นตอนอวสานของเรื่อง

      ผมมาได้ข้อสรุปว่าธีมจริงๆ ในครึ่งแรกของ Nodame Cantabile คือ เรื่องของการเรียนรู้ให้จบการศึกษาของตัวละครแต่ละตัว ไม่ว่าจะเป็นตัวเอกอย่าง โนดาเมะ นางเอกของเรา, จิอากิ หรือบทพระรองอย่าง มิเนะ, โนโซมิ มือทิมปานีที่เป็นกะเทยน้ำใจงาม
       
        ทุกตอน ทุกฉาก และทุกนาทีคือภาพของการเรียนรู้เพื่อให้เข้าถึงและดื่มด่ำกับดนตรีให้มากที่สุด...ที่สำคัญธีมนี้มีน้ำหนักมากกว่าเรื่องความรักระหว่างตัวละครซึ่งเด่นน้อยกว่ามาก
       
        โชคดีของคนดูครับ เพราะขณะที่ตัวละครกำลังอยู่ในขั้นตอนของการเรียนรู้ คนดูแบบเราซึ่งอาจจะไม่เคยสนใจเรื่องของดนตรีคลาสสิกมาก่อน ก็ดื่มด่ำและเรียนไปพร้อมๆ กันตามไปด้วย ที่โชคดียิ่งกว่านั้นก็คือกว่าที่ตัวละครหลายตัวจะเรียนรู้ได้จบสิ้น ก็ปาเข้าไปตอนที่ 6 คนดูก็เลยอิ่มหู และอิ่มใจจนกระทั่งรักมันมากขึ้นๆ เป็นอย่างยิ่งเหมือนกัน
       
        และที่โชคดีที่สุดก็คือ คนที่เรียนรู้ ‘วิถี’ ของการเป็นนักดนตรีได้ ‘ช้า’ ที่สุดกลับเป็น ‘โนดาเมะ’ นางเอกของเรานั่นเอง...เราก็เลยได้ดื่มด่ำและเรียนรู้เรื่องของดนตรีต่อเนื่องกันไปจนถึงตอนที่ 11 ซึ่งเป็นตอนอวสานของเรื่อง
       
        สรุปก็คือ ขณะที่นางเอกของเราเข้าสู่การเป็นนักดนตรีอาชีพ คนดูก็จบคอร์ส Music Appreciation ไปพร้อมๆ กันและรับประกาศนียบัตรของคอร์สนี้ไปด้วยเลย!!
       
        โนดะ เมกูมิ เป็นตัวละครที่น่าสนใจและไม่ธรรมดา ขณะที่เธอขี้เกียจซ้อม ไม่ยอมดูสกอร์เพลง เล่นตลกไปวันๆ ไม่สนใจที่จะเป็นอะไรไปมากกว่าการเป็นครูสอนโรงเรียนเด็กอนุบาล และแต่งเพลงเกี่ยวกับ ‘ตด’ เพื่อให้เด็กออกกำลังกายตาม
       
        แต่กระนั้นในความไร้สาระของโนดาเมะ ประกายแห่งความเป็นอัจฉริยะก็ออกมาให้คนประหลาดใจจนได้ เสียงเปียโนของเธอที่มั่วสุดขีดกลับแฝงไปด้วยวิญญาณอันเจิดจ้า มีชีวิตชีวา เป็นมนต์ขลังที่ทำให้คนที่มีหูทองสามารถรู้ได้ว่า เธอคนนี้ไม่ธรรมดา
       
        แล้วก็เป็นโชคดีอีกเหมือนกันที่คนที่รับรู้ความมหัศจรรย์ของโนดาเมะคือจิอากิ ตามมาด้วยอีกคนที่ฟังแพล็บเดียวก็รู้ว่าเด็กคนนี้ควรค่าแก่การเจียระนัย นั่นคือ สเตรเซอร์มันน์ คอนดักเตอร์ระดับโลกที่ดูเหมือนจะบ้าๆ บอๆ ซึ่งไปกันได้กับโนดาเมะจังเป็นยิ่งนัก
       
        สำหรับโนดาเมะกับจิอากิ...มันเหมือนกับจับคู่กันที่ลงตัว เพราะ แต่ละฝ่ายมีสิ่งที่ตัวเองขาด ความสัมพันธ์ของตัวละครสองตัวนั้นจึงวิ่งและเติบโตไปพร้อมกับหัวใจและการเรียนรู้ที่จะช่วยพัฒนาให้ทั้งคู่กลายเป็นคนดนตรีที่สมบูรณ์แบบ
       
        ตอนที่ 5 และ ตอนที่ 6 ใน Nodame Cantabile จับเอาเหตุการณ์หลังจากที่วง S-Special หรือวงรวมเด็กอ่อนประกาศศักดาของตัวเองให้คนได้รับรู้ ขณะที่จิอากิเองก็ได้เกิดในฐานะคอนดักเตอร์ ขณะที่ทุกอย่างกำลังไปได้ดี ปรากฏว่าสเตรเซอร์มันน์อาจารย์ตัวประหลาดก็มีเหตุให้ต้องเดินทางกลับต่างประเทศ แต่ก่อนกลับเขาสั่งให้จิอากิร่วมแสดงกับเขาในบทเพลงเปียโนคอนแชร์โต้ หมายเลข 2 ของ รัคมานินอฟ (Rachmaninov) โดยสเตรสเซอร์มันน์จะเป็นคอนดักเตอร์ให้ โดยเลือกให้วงที่บรรเลงเป็นวง A ซึ่งเป็นวงเด็กท็อปของมหาวิทยาลัย
       
        แต่ไฮไลท์ของเรื่องกลับไม่ได้มีอยู่แค่นั้น เพราะ วง S เกิดฮึดขึ้นมาและอยากแสดงกับเขาบ้าง ทั้งหมดตัดสินใจซ้อมกันเองด้วยความกระตือรือร้น ทำเอาโนดาเมะเองเกิดคึกขึ้นมาจนต้องเอ่ยปากขอมีส่วนร่วมในคอนเสิร์ตด้วยคน เพราะจุดประสงค์ของวง S อยู่ที่ความสนุกและความจริงใจ มิเนะหัวหน้าวงเสนอให้ โนดาเมะเล่น เปียนิกา ( Pianica ) แทนที่จะเล่นเปียโนตามปรกติ
       
        เปียนิกานั้นจริงๆ มันก็คือเครื่องดนตรีที่เรียกเป็นชื่อสามัญว่าเมโลดิก้า (Melodica) เป็นเครื่องเป่าที่มีคีย์กดคล้ายๆ เปียโน เอาไว้ให้เด็กๆ เล่นกัน ซึ่งมีหลายชื่อครับตามบริษัทผู้ผลิต คือถ้าเรียกว่า เปียนิกา ก็หมายถึงผลิตโดยยามาฮ่า ถ้าบริษัทซูซูกิผลิตก็เรียกว่า เมโลเดียน หรือเรียกว่าเมโลเดียตามที่บริษัทไดอาน่าผลิต

        การแสดงเพื่อลาจากของอาจารย์และศิษย์คนเก่ง รวมถึงการแสดงครั้งแรกของโนดาเมะก็เกิดขึ้นด้วยประการนี้
        .........
        สองตอนนี้ถ้าใครชอบดนตรีแล้วละก็จะอิ่มเอามากๆ ครับ เพราะดนตรีที่ถูกเลือกมาเล่นนั้นล้วนแต่มีความหมายต่อเรื่องทั้งสิ้น

       
        สำหรับ เปียโน คอนแชร์โต้ หมายเลข 2 ของ รัคมานินอฟ (Piano Concerto In C Minor) นั้น ในวงการแสดงของโลกถือว่านี่คือท็อปเทนของเพลงเปียโนคอนแชร์โต้ เป็นบทเพลงที่มีเบื้องหลัง เพราะรัคมานินอฟแกเขียนขึ้นหลังจากความล้มเหลวอย่างหนักของเปียโนคอนแชร์โต้ หมาย 1 ซึ่งโดนนักวิจารณ์สับเสียแกธาตุไฟแตกต้องเข้าโรงพยาบาลบ้าไปเลยในปี 1900
       
        นักวิจารณ์เมืองนอกนั้นปากร้ายกว่านักวิจารณ์เมืองไทยเสมอ...ใครที่คิดว่าผมร้ายนั้นยังเทียบไม่ได้กับนักวิจารณ์เมืองนอกแม้แต่นิดเดียว...จำข้อนี้เอาไว้ให้ดีนะครับ(อิอิอิ)
       
        มีบทบันทึกของเจ้าตัวที่เกี่ยวกับบทเพลงนี้ซึ่งเขาเขียนเอาไว้เสียจนน้ำตาแทบจะไหลว่า บทวิจารณ์แต่ละที่ซึ่งซัดเอาๆ เสียจนคนซึ่งอ่อนไหวง่ายอย่างรัคมานินอฟอยากจะเกิดใหม่ให้มันรู้แล้วรู้รอดเอาทีเดียว รัคมานินอฟเชื่อว่า ตัวเองเกิดมาเพื่อจะเป็นคนที่ล้มเหลว และเป็นคนที่ไม่มีความสามารถอะไรที่จะอยู่ในสังคมนี้ได้ ความหวาดกลัวที่ว่าทำเอารัคมานินอฟขยาดที่จะมองบรรทัด 5 เส้น ซึ่งเป็นบรรทัดสำหรับเขียนโน้ตดนตรีถึง 3 ปีเต็มๆ ตลอดช่วงเวลานั้นรัคมานินอฟเหมือนคนบ้า เขานอนไม่หลับ ซึมเศร้า เงียบไม่พูดจากับใคร และเกิดอาการผวาจนในที่สุดผู้ที่เกี่ยวข้องก็ทนไม่ได้ต้องส่งเขาเข้าหลังคาแดงในที่สุด
       
        ที่โรงพยาบาลบ้ารัคมานินอฟมีโอกาสได้รับการรักษากับคุณหมอ ‘นิโคไล ดาห์ล (Nikolai Vladimirovich Dahl)’ ที่ไม่ได้ให้ยาอะไรนอกจากพยายามนั่งคุย กระตุ้นให้เขาฟังเพลงใหม่ เขียนเพลงใหม่ รวมไปถึงการรักษาแบบสะกดจิต (hypnotherapy) ทำให้รัคมานินอฟมีกำลังใจขึ้นมาอีกครั้ง เขาค่อยๆ เขียนเปียโนคอนแชร์โต้นี้อย่างบรรจง โดยเอาอารมณ์หดหู่ของตัวเองเป็นที่ตั้ง เอาความรู้สึกสูญเสีย เศร้าหมองเป็นแบ็คกราวด์ ก่อนจะแฝงตัวโน้ตที่เป็นความหวังใหม่ลงในท่อนสุดท้ายของบทเพลงนี้
       
        ความโศกเศร้าอาดูรในเพลงนี้ประการหนึ่งเกิดมาจากความรู้สึกของรัคมานินอฟที่ค่อนข้างกลัวที่จะต้องจากโรงพยาบาลบ้า และต้องลาจากคุณหมอดาห์ลซึ่งเป็นคนเดียวที่ทำให้เขามีชีวิตอยู่ได้ เรียกว่าทุกตัวโน้ตที่รัคมานินอฟเขียนจะต้องมีน้ำตาจากสาเหตุใดสาเหตุหนึ่งอยู่ด้วยเสมอ
       
        ว่ากันว่าตลอด 1 ปีที่เขียนเพลง คุณหมอดาห์ลต้องอยู่เคียงข้างเขา เพราะรัคมานินอฟเขียนไปแป๊ปเดียวก็จะหยุด เพราะ รู้สึกว่างานเขาไม่ดี ก็ต้องได้หมอมาช่วยเชียร์ว่างานนี้มีคุณค่า และอาศัยความที่แกเป็นนักเชลโล่เก่าช่วยวิจารณ์ไปด้วย เพราะฉะนั้นจึงไม่แปลกใจที่พอเพลงนี้จบลงรัคมานินอฟจึงเขียนอุทิศเพลงๆ นี้ให้กับหมอดาห์ลเพียงคนเดียวเท่านั้น
       
        บทเพลงนี้จึงเป็นสัญลักษณ์ของการลาจากของคนสองคนที่อุดมไปด้วยน้ำตามากที่สุดเท่าที่เคยมีมา

      ..........
        เมื่อครั้งที่ จิอากิ ได้รับมอบหมายให้บรรเลงเพลงนี้ ส่วนหนึ่งเพราะสเตรสเซอมันน์เล็งเห็นสิ่งที่จิอากิขาด นั่นคือ การที่ยังไม่สามารถแสดงอารมณ์ดนตรีออกมาได้อย่างเต็มที่อย่างที่ควร เพราะจิอากิยังยึดติดอยู่กับฟอร์มบางอย่างที่เขายังก้าวไม่ข้ามเสียที
       
        ด้วยความเป็นนักดนตรีที่ขยันซ้อม และนักฟังผู้เชี่ยวชาญ จิอากิสามารถเล่นได้ด้วยตัวโน้ตเป๊ะๆ ไม่มีผิด ไม่มีเพี้ยน แต่ด้วยระดับของการบรรเลงเพียงเท่านี้ มันไม่เพียงพอที่เขาจะก้าวต่อไปสู่ระดับโลก เพราะเอาเข้าจริงแล้วการคุมวง S เมื่อคอนเสิร์ตครั้งแรกของเขาก็ไม่ใช่การคุมที่ดีที่สุด แต่เป็นการกำกับวงและการแสดงที่เซอร์ไพรส์คนฟังมากที่สุดมากกว่า
       
        คือเซอร์ไพรส์ว่าวงเด็กบ๊วยเล่นได้ขนาดนี้เชียวหรือ และ จิอากิผู้ยะโสโอหังนั้นมีฝีมือกำกับวงได้ขนาดนี้เชียวหรือ?
       
        หลักฐานแห่งการยังไม่ก้าวพ้นกำแพงนี้เกิดอย่างชัดเจนระหว่างการซ้อม เพราะจิอากิที่ตั้งหน้าตั้งตาเล่นตามสกอร์เป๊ะๆ ถูกสเตรสเซอร์มันน์ตะโกนให้หยุดดังลั่น
       
        “เล่นภาษาอะไรของแกหือ จิอากิ? นี่เป็นท่อนที่เปี่ยมไปด้วยความเสน่ห์หา หัดแสดงอารมณ์ดนตรีออกมาข้างนอกเสียบ้าง” ครูคนเก่งกล่าวอย่างเหลืออด
       
        “ทำไมผมต้องทำอะไรบ้าๆ อย่างงั้นด้วยล่ะ ผมไม่ได้เป็นนักเล่นสไตล์นั้นนี่นา?” จิอากิตอบก่อนโดนสวนมาว่า
       
        “การดึงดูดใจผู้ชมเป็นเรื่องสำคัญ นายต้องเล่นให้โรแมนติกกว่านี้ เล่นให้งามหยดกว่านี้ และเล่นให้เย้ายวนกว่านี้ ให้เหมือนกับว่านายกำลังเจ็บอย่างแสนสาหัส ฉันต้องการให้นายดื่มด่ำกับดนตรีมากกว่านี้ ถ้านายทำไม่ได้นายจะไม่มีวันเข้าถึงดนตรีที่แท้จริงเลย” สเตรเซอร์มันน์ลั่น
       
        จิอากิงงกับสิ่งที่ครูบอก เขาไม่เข้าใจว่าการดื่มด่ำกับดนตรีจริงๆ เป็นอย่างไร...เพราะจิอากินั้นเกิดมาในครอบครัวที่สมบูรณ์พร้อม เขาไม่เคยเจอประสบการณ์ด้านความเศร้าในชีวิตจริงๆ เลย จิอากิไม่เคยสูญเสียอะไร
       
        นึกถึงตรงนี้ทีไรผมอดจะขำกับมุกตลกของหนังไม่ได้ เพราะหนังฉายภาพเวลาที่จิอากิจะสร้างอารมณ์เศร้า เขาจะนึกถึงตัวละครเรื่องเด็กขายไม้ขีดไฟกับหมาเซนต์เบอร์นาร์ดที่ชื่อปะโตราชูอันเป็นการ์ตูนที่โคตรเศร้าในสมัยก่อนขึ้นมาแทน
       
        ถึงตอนนี้คนดูเอาใจช่วยจิอากิว่าเขาจะหาความเศร้าเจอได้อย่างไร และเขาจะเข้าใจเรื่องของการแสดงอารมณ์ทางดนตรีได้อย่างไร เพราะถึงวันแสดงแล้วหมอก็ยังไม่เก็ต เอาแต่ซ้อมในลีลาเดิมๆ จนดูเหมือนจะบ้าเสียเอง
       
        พูดก็พูดเถอะครับเปียโน คอนแชร์โต้ ของ รัคมานินอฟ นั้นมีอาถรรพณ์นะครับ เพราะมือเปียโนที่ไม่เก่งจริงๆ นั้นถ้าเอาเพลงนี้มาเล่นมักจะมีอาการเครียดเหมือนถูกสาบเป็นประจำ นักเปียโนชาวออสซี่อย่าง เดวิด เฮล์ฟก็อทท์ ( David Helfgott) ก็ยังเคยสติแตกมาแล้วจาก ‘เปียโน คอนแชร์โต้ หมายเลข 3’ ของรัคมานินอฟ ใครเคยดูหนังเรื่อง Shine ก็คงจะเข้าใจดี
       
        โชคดีสำหรับจิอากิที่เขาไปบรรลุเอาในช่วงไม่กี่ชั่วโมงก่อนแสดง แต่จะบรรลุด้วยวิธีไหนและอย่างไรคราวหน้าจะมาเฉลย แต่บอกไว้ก่อนให้เร้าใจเล่นๆ ว่า สัปดาห์หน้า โนดาเมะ และวง S เป็นพระเอกครับ

ที่มา : http://www.manager.co.th/Entertainment/ViewNews.aspx?NewsID=9500000065933

หมายเลขบันทึก: 116163เขียนเมื่อ 1 สิงหาคม 2007 19:33 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 19:44 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท