ภาพอนาคตของโรงพยาบาลบ้านตาก


นี่คือบทบาทแรกของการเป็นCEOของโรงพยาบาลคือฝันหรือVisionary Leadership(อีก 2 หน้าที่ที่ต้องทำต่อไปคือขายความฝันและประคับประคองความฝันให้เป็นจริง)

           เมื่อก่อนปีใหม่ผมได้คุยกับหมอพัลลภซึ่งได้ถามและคุยกันเกี่ยวกับโรงพยาบาลหลายเรื่อง ผมก็ได้เล่าให้ฟังถึงทิศทางในอนาคตของโรงพยาบาลบ้านตาก ภายใต้การำนของผมในฐานะผู้อำนวยการว่าจะไปในทิศทางไหน เขาก็บอกว่าทำไมพี่ไม่พูดให้ชัด ให้คนอื่นๆรู้ด้วย ผมก็บอกว่าได้คุยให้เจ้าหน้าที่หลายคนฟังแล้ว แต่อาจไม่ได้คุยอย่างเป็นทางการทั้งหมด ในการประชุมวันนี้ถือเป็นการประชุมปฐมฤกษ์ของโรงพยาบาลในปี 2549 นี้ ก็จะขอเล่าให้พวกเราฟังอย่างเป็นทางการ ว่าทิศทางหรือวิสัยทัศน์ของผู้อำนวยการเป็นอย่างไรบ้าง

           นี่คือบทบาทแรกของการเป็นCEOของโรงพยาบาลคือฝันหรือVisionary Leadership(อีก 2 หน้าที่ที่ต้องทำต่อไปคือขายความฝันและประคับประคองความฝันให้เป็นจริง) ซึ่งก็คือภาพฝันบทบาทในอนาคตของโรงพยาบาลบ้านตาก ที่มีเป้าหมายสูงสุดคือ CEO หรือ Customer, Employee, Organization หรือประชาชนมีสุขภาพดี เจ้าหน้าที่มีความสุขและโรงพยาบาลอยู่รอด โดยเราต้องพยายามสร้างสมดุลทั้ง 3 ด้านนี้ให้ได้ เพราะหากเกิดความสมดุลอย่างเหมาะสมก็คือความพอดี ความพอดีจะนำไปสู่ความสุขหรือสุขภาพได้ 

            ในการขับเคลื่อนไปสู่สามสิ่งนี้ของโรงพยาบาลบ้านตากจะบริหารจัดการไปโดยคณะกรรมการ 4 ชุดด้วยกันคือคณะกรรมการบริหารโรงพยาบาล คณะกรรมการพัฒนาโรงพยาบาล คณะกรรมการมูลนิธิโรงพยาบาลบ้านตากและคณะกรรมการประสานงานสาธารณสุขอำเภอบ้านตาก

            การที่เราจะบรรลุความฝันหรือผลลัพธ์บั้นปลาย(Ultimate Outcomes)นี้ได้ เราจะต้องปรับหรือเพิ่มบทบาทของโรงพยาบาลให้ครอบคลุมทั้ง 3 ด้าน ดังต่อไปนี้

1)    เป็นศูนย์บริการสุขภาพที่ครบวงจร (Healthy Complex)  ถ้าพูดภาษาธุรกิจก็คือเป็นโรงพยาบาลสะดวกซื้อ (Convenience hospital) แต่ถ้าเป็นภาษาสาธารณสุขก็คือใกล้บ้านใกล้ใจ (To be the hospital of choice) โดยมีขนาดตัวโรงพยาบาลไม่ใหญ่มากแต่มีหน่วยบริการย่อยกระจายอยู่เต็มพื้นที่ในลักษณะโรงพยาบาล 10,000 เตียง แม้ในโรงพยาบาลจะถูกระบบGIS ลิดรอนจำนวนเตียงลงไปจาก 60 เตียงให้เหลือ 35 เตียง ก็ไม่เป็นไรเพราะเราจะขยายขนาดเตียงโดยใช้เตียงนอนที่บ้านชาวบ้านแทน นำแนวคิดเวชปฏิบัติครอบครัวมาใช้อย่างค่อยเป็นค่อยไป เพื่อลดผลเสียของการนำมาใช้แบบจัดตั้งหรือจัดสร้างซึ่งมันไม่ยั่งยืน  มีการดูแลทั้งระดับผู้ป่วย ครอบครัวและชุมชน การเป็นศูนย์บริการสุขภาพที่ครบวงจร ไม่ได้หมายความว่าเราจะต้องทำเองทุกเรื่อง หลายอย่างที่ไม่ใช่จุดแข็งของเราๆก็หาพันธมิตรมาทำหรือใช้ระบบส่งต่อที่ดี  โดยบริการทั้งหมดจะทำโดยทีมสหสาขาวิชาชีพ ดังนี้

-      บริการในโรงพยาบาล จะเป็นแบบผสมผสานและองค์รวมที่มีทั้ง Acute & Chronic Secondary care, Rehabilitation, Dental care, Alternative Medicine,บริการสมุนไพร

-      บริการดูแลผู้สูงอายุหรือ Aged care

-      บริการเด็กเล็กและเด็กที่มีปัญหาด้านสุขภาพหรือChildhood care

-         Community & Population care ดูแลประชากรทั้งอำเภอไม่ว่าจะเป็นกลุ่มปกติ กลุ่มเสี่ยง กลุ่มป่วย กลุ่มพิการและกลุ่มเจ้าหน้าที่กับญาติ

-         Primary care จะมีทั้งในโรงพยาบาลและในเขตรับผิดชอบของโรงพยาบาลที่ให้บริการโดยทีมของโรงพยาบาลโดยตรง กับในพื้นที่ของนอกเขตรับผิดชอบด้านส่งเสริมป้องกันจะดูแลโดยสถานีอนามัยที่จะเป็นเหมือนStrategic Business Unit(SBU) ที่เป็นทีมงานร่วมของอำเภอ ที่สนับสนุนโดยโรงพยาบาลให้อยู่ได้แต่มีการบริหารจัดการที่เป็นอิสระ สอดคล้องกับปัญหาของพื้นที่ อาจเรียกว่า Strategic Healthy Unit และประสานกับคลินิกเอกชนในพื้นที่เพื่อเป็นเครือข่ายบริการร่วมกับโรงพยาบาลในลักษณะของPCU ที่สามารถสั่งการรักษาให้ผู้ป่วยมารับบริการที่โรงพยาบาลได้ ตามมาดูคนไข้ในโรงพยาบาลได้ ให้เกิดลักษณะของ Public-private mixed services

-         Medical spa จะเป็นStrategic busuness unit ที่บริหารกึ่งธุรกิจในนามของมูลนิธิโรงพยาบาลบ้านตาก ที่มีรูปแบบบริการที่มีเอกลักษณ์ของความเป็นไทย จัดบริการสำหรับคนทั่วไปและนักท่องเที่ยว

2)      เป็นศูนย์การเรียนรู้ด้านสุขภาพ (Health Learning Center) จะมีการจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้บ้านตาก (Bantak Learning Center) ขึ้นโดยจับมือกับมูลนิธิโรงพยาบาลบ้านตาก วิทยาลัยชุมชนตาก มหาวิทยาลัยต่างๆที่ส่งนักศึกษามาฝึกงานหรือมาเรียนภาคปฏิบัติ โดยส่งเสริมการเรียนรู้ทั้งเจ้าหน้าที่ ประชาชน นักเรียน นักศึกษา รวมทั้งหน่วยงานต่างๆ เพื่อทำให้เกิด Knowledge worker, Knowledge citizen เช่นการจัดอบรม การรับศึกษาดูงาน การจัดวิทยากรสนับสนุน  การจัดอบรมวิชาชีพด้านแพทย์แผนไทย เป็นต้น

3)      เป็นศูนย์ประสานงานเครือข่ายเพื่อสุขภาพหรือเครือข่ายสร้างสุข (Health promotion Network) เพราะการสร้างสุขภาพหรือการทำให้มีสุขภาพดีไม่มีใครสร้างให้ใครได้ มีแต่เจ้าตัวเท่านั้นที่จะต้องสร้างเอง แต่การทำอะไรคนเดียวจะไม่เกิดพลัง ดังนั้นเราจึงต้องมาร่วมกันหลายๆฝ่ายเพื่อให้เกิดพลังและกระแสอย่างยั่งยืน ซึ่งต้องไม่ใช่กระแสที่สร้างจากเงิน โฆษณาประชาสัมพันธ์แต่เป็นกระแสของการปฏิบัติจริงของคนในชุมชน กระตุ้นให้มีการจัดตั้งกลุ่มต่างๆตามPopulation health Group การนำกลุ่มต่างๆในชุมชนที่มีอยู่แล้ว มาจัดตั้งเครือข่ายหรือภาคี ตามตัวแบบรวบหรือโรงเรียน วัด บ้าน ให้โรงพยาบาลเป็นสถานที่ให้คน(สุขภาพ)ดีมาพบกัน คุยกัน ไม่ใช่ให้แค่คนเจ็บป่วยมาเท่านั้น เป็นที่รวมของทีมสหสาขาวิชาชีพชุมชน ที่มาร่วมกันทำเพื่อความสุขของชุมชน

           จากสิ่งที่เล่ามาทั้งหมด  จำเป็นต้องใช้เวลา แต่เชื่อว่าถึง ณ วันนี้ หลายคนคงจะมองเห็นว่า มีหลายอย่างเกิดขึ้นไปแล้ว กำลังเกิดขึ้นและผมคาดว่าน่าจะเกิดขึ้นอีก หากพลังของพวกเราชาวบ้านตากยังคงไหลแรงอย่างต่อเนื่องเช่นนี้  เชื่อมั่นและศรัทธาครับ

            บันทึกนี้เป็นสิ่งที่ผมแจ้งให้กับคณะกรรมการบริหารโรงพยาบาลบ้านตาก ในการประชุมในเดือนมกราคม 2549 นี้ครับ
คำสำคัญ (Tags): #kmกับงานประจำ
หมายเลขบันทึก: 11607เขียนเมื่อ 8 มกราคม 2006 15:59 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 14:17 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท