BM.chaiwut
พระมหาชัยวุธ โภชนุกูล ฉายา ฐานุตฺตโม

พรรษา


พรรษา

พรรษา เป็นคำที่ล้อมาจากสันสกฤต ส่วน วัสสะ เป็นคำบาลี ... ทั้งสองคำนี้นอกจากจะมุ่งหมายถึง ฤดูฝน หรือ ฝน แล้ว... บางครั้งก็หมายถึง ปี ได้อีกด้วย...

ในภาษาไทยนิยมใช้คำว่า พรรษา มากกว่า เช่น วันนี้แรมค่ำ ๑ เดือน ๘ ถือว่าเป็น วันเข้าพรรษา ... ส่วน วัสสะ ก็มีใช้บ้างเหมือนกัน เช่น สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ซึ่งคำว่า วัสสา แปลว่า ปี นั่นเอง...

พรรษา หรือ วัสสะ นอกจากจะแปลว่า ฤดูฝน ฝน หรือ ปี แล้ว... เมื่อใช้เป็นกิริยาก็อาจแปลว่า ชุ่ม ชื้น เอิบอาบ .. หรือ แปลว่า (ฝน) ตก ก็ได้... 

...........

ฤดูกาลตามพระวินัยซึ่งอาศัยแดนพุทธภูมิคือชมพูทวีปเป็นเกณฑ์ ปีหนึ่งจะประกอบด้วย ๓ ฤดู กล่าวคือ ฤดูฝน ฤดูหนาว และฤดูร้อน... 

  • ฤดูฝน...     แรม ๑ ค่ำเดือน ๘    -   ขึ้น ๑๕ ค่ำเดือน ๑๒
  • ฤดูหนาว... แรม ๑ ค่ำเดือน ๑๒  -   ขึ้น ๑๕ ค่ำเดือน ๔
  • ฤดูร้อน...    แรม ๑ ค่ำเดือน ๔   -   ขึ้น ๒๕ ค่ำเดือน ๘

สำหรับการอยู่จำพรรษาของพระภิกษุนั้น พระวินัยกำหนดเพียง ๓ เดือน กล่าวคือ ตั้งแต่ แรม ๑ ค่ำเดือน ๘ - ขึ้น ๑๕ ค่ำเดือน ๑๑ ... นี้เป็นการเข้าพรรษาตามปกติ เรียกว่า เข้าพรรษาแรก ...

แต่ถ้าพระภิกษุบางรูปไม่สามารถเข้าพรรษาแรกได้ตามนัยข้างต้นด้วยสาเหตุบางอย่าง เช่น เดินทางมาไม่ทัน หรือเกิดอาพาธเจ็บป่วย ก็สามารถ เข้าพรรษาหลัง ได้... โดยจะเริ่มตั้งแต่ แรม ๑ ค่ำเดือน ๙ - ขึ้น ๑๕ ค่ำเดือน ๑๒ .... การเข้าพรรษาหลังนี้ ตามสำนวนในวัดเรียกกันว่า เข้ามัชฌิม ... แต่ปกติจะนิยมเข้าพรรษาแรกมากกว่า...

.......

ธรรมเนียมการอยู่จำพรรษาจะยึดถือตามนี้ ไม่ว่าพระพุทธศาสนาจะอยู่ยังภูมิภาคใดของโลกก็ตาม มิได้อนุวัตรไปตามฤดูกาลของท้องถิ่นนั้นๆ...

อนึ่ง ในช่วงอยู่จำพรรษา ถ้ามีเหตุต้องไปธุระฉุกเฉินแล้ว... พระวินัยอนุญาตให้ ลาพรรษา ได้ โดยผูกใจว่าจะกลับมาภายใน ๗ วัน...   

หมายเลขบันทึก: 115631เขียนเมื่อ 30 กรกฎาคม 2007 11:21 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 19:14 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

นมัสการพระคุณเจ้า

  • อนึ่ง ในช่วงอยู่จำพรรษา ถ้ามีเหตุต้องไปธุระฉุกเฉินแล้ว... พระวินัยอนุญาตให้ ลาพรรษา ได้ โดยผูกใจว่าจะกลับมาภายใน ๗ วัน...   

  • หากมิสามารถกลับมาภายใน 7 วันดังผูกใจไว้จะเป็นเช่นไรค่ะ

P
เมื่ออธิษฐานอยู่จำพรรษาแล้ว ถ้าลาพรรษาและไม่สามารถกลับมาได้ภายใน ๗ วัน จะผิดวินัยสงฆ์ เรียกกันว่า อาบัติ ...
อาบัติ มีหลายระดับ เฉพาะการขาดพรรษานี้ เรียกว่า อาบัติทุกกฎ เป็นอาบัติเล็กน้อย (น้อยกว่าการฆ่าสัตว์ ฉันอาหารยามวิกาล ดื่มสุรา หลอกพระให้กลัวผี ฯลฯ)...
นอกจากนั้นก็จะไม่ได้สิทธิพิเศษตามพระวินัยอื่นๆ บางอย่าง เช่น อานิสงส์การอยู่จำพรรษา ๕ ประการ เป็นต้น...
......
แม้จะเป็นวินัยเล็กน้อยก็ตาม แต่ธรรมเนียมพระสงฆ์ทั่วไป จะถือการอยู่จำพรรษาอย่างเคร่งครัด
รายละเอียดอื่นๆ เกี่ยวกับเรื่องนี้ สามารถค้นหาอ่านในเน็ตได้ทั่วไป...(ลองค้นแล้ว มีผู้เขียนไว้เยอะ)
เจริญพร
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท