วิถีชีวิตพอเพียง


วิถีชีวิตพอเพียงคือคำตอบ... เหตุคนแพร่มีความสุขติดอันดับต้นของประเทศ

 

 

 

ยึดภูมิปัญญาท้องถิ่นในการทำมาหากิน ใช้ชีวิตตามอัตภาพ ไม่ยุ่งเกี่ยวอบายมุข สร้างสุข,ภาคเหนือ,ภุมิปัญญาท้องถิ่น,วัฒนธรรม,พอเพียง,แพร่          "หม้อฮ้อม ไม้สัก ถิ่นรักพระลอ ช่อแฮศรีเมือง ลือเลื่องแพะเมืองผี คนแพร่นี้ใจงาม" คำขวัญ จ.แพร่ บ่งบอกได้ดีถึงความเป็นจังหวัดที่สงบสุขและมีวัฒนธรรมยาวนานถ้าดูกันในด้านเศรษฐกิจแล้ว แพร่เป็นจังหวัดที่ค่อนข้างยากจน ตกอยู่ในอันดับท้ายๆ ในจำนวน 17 จังหวัดภาคเหนือ เพราะสภาพภูมิประเทศโดยรวมของพื้นที่แม้จะมีมากถึง 4 ล้านไร่เศษ แต่กว่าร้อยละ 80 เป็นป่าเขา ซึ่งตามกฎหมายแล้วไม่สามารถใช้เป็นพื้นที่ทำกินได้เหลือพื้นที่ใช้สอยเพียงร้อยละ 20 ซึ่งครึ่งหนึ่งถูกใช้เป็นพื้นที่อยู่อาศัย ทำให้พื้นที่ทำกินจริงๆ มีเพียงร้อยละ 10 หรือเพียง 4 แสนกว่าไร่เท่านั้นเทียบกับประชากรปัจจุบันที่มี 4.7 แสนคน ก็เรียกได้ว่ามีพื้นที่ไม่ถึง 1 ไร่ต่อประชากรแต่ละคน           แต่จังหวัดแพร่ กลับถูกจัดอันดับจากโครงการ Child Watch ให้เป็นจังหวัดที่น่าอยู่อันดับ 1 ของประเทศไทยเมื่อ 2 ปีที่ผ่านมานี้ สอดคล้องกับรายงานสุขภาพไทยคนไทยปี 2550 ที่บ่งชี้ว่าความสุขมวลรวมของภาคเหนือจะสูงกว่าทุกภาคในประเทศไทยโดยปัจจัยสำคัญที่นำมาสู่ความสุขที่ยั่งยืนก็คือ "วิถีชีวิตแบบพอเพียง"           ปลายปี 2550 นี้ จังหวัดแพร่ได้รับเลือกในฐานะตัวแทน 17 จังหวัดภาคเหนือ เป็นเจ้าภาพจัด "งานสร้างสุขภาคเหนือ" ปี 2550 ว่าด้วย "สุขแบบพอดี ด้วยวิถีพอเพียง" ที่สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) แพร่,ความสุข,ภูมิปัญญาท้องถิ่น,สร้างสุข,วัฒนธรรม,ภาคเหนือ,หมูหลุม          นพ.ชาญชัย ศิลปอวยชัย นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดแพร่ กล่าวว่า แน่ใจว่าแม้แพร่จะเป็นจังหวัดที่ยากจน แต่ประชาชนมีความสุข ครอบครัวอบอุ่น จำนวนเยาวชนที่เรียนต่อมหาวิทยาลัยเป็นอันดับ 1 ของภาคเหนือ ผู้ปกครองให้ความสำคัญกับการศึกษาของบุตร นอกจากนั้นเมืองแพร่ไม่มีปัญหาเรื่องเยาวชน แก๊งค์วัยรุ่น เด็กเมืองแพร่ส่วนใหญ่ยังนิยมไปวัดกับพ่อแม่ เมื่อเห็นว่าในเรื่องสุขภาวะน่าจะพออวดคนอื่นได้ จึงได้เสนอตัวเป็นเจ้าภาพจัดงานสร้างสุข ที่จะเกิดขึ้นในเดือน พฤศจิกายนที่จะถึงนี้           "สถาบันพัฒนาผู้นำท้องถิ่น" ซึ่งตั้งอยู่ที่ อ.สูงเม่น ก็เป็นตัวอย่างสำคัญอย่างหนึ่งที่องค์การบริหารส่วนจังหวัดแพร่จะหยิบยกขึ้นมาเป็นตัวอย่างให้ผู้มาเยือนจากจังหวัดอื่นๆ ได้ชมในแง่ของการปลูกฝังเรื่องแนวคิดความเป็นอยู่ตามวิถีพอเพียงให้กับประชากร           สถาบันพัฒนาผู้นำท้องถิ่นนี้เริ่มก่อตั้งเมื่อปี 2548 โดย อบจ.แพร่ เพื่อเป็นศูนย์เรียนรู้ ถ่ายทอดเทคโนโลยี สอนวิชาชีพด้านต่างๆ ให้เกษตรกรและผู้สนใจสามารถนำไปทำจริงตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง โดยในพื้นที่ของสถาบัน จะมีการสาธิตกิจกรรมหลากหลาย แต่ที่โดดเด่นและได้รับความสนใจอย่างมากก็คือ การสาธิตการเลี้ยงหมูหลุม หรือการเลี้ยงหมูอินทรีย์ ไว้บนหลุมที่ใส่ดิน แกลบและเกลือ ให้หมูกินผักตลอดทั้งวัน มีการผสมสมุนไพร จุลินทรีย์ผลไม้ในน้ำดื่มให้เข้าไปในร่างกายหมูทำให้มูลของหมูไม่เหม็นและยังมีการราดพื้นคอกด้วยน้ำจุลินทรีย์ที่หมักเองทำให้คอกไม่มีกลิ่น และยังได้ปุ๋ยจากพื้นคอกเอาไปใส่ผักแทนปุ๋ยเคมีได้อีกด้วย การเลี้ยงกบคอนโดนคือการเลี้ยงกบไว้ในยางรถยนต์ที่เรียงสูงเป็นชั้นๆ โดยยาง 1 วงจะเลี้ยงกบได้ 50 ตัว ซึ่งการเลี้ยงแบบนี้แทบจะไม่ต้องลงทุนเลย เพราะตอนกลางวันจะใช้ฝาชีครอบไว้ ตกกลางคืนจะเปิดฝาชีและเปิดหลอดไฟเหนือยางรถยนต์ เพื่อล่อให้แมลงมาตอมไฟแล้วตกลงไปเป็นอาหารของกบ ซึ่งใช้เวลาเลี้ยงแค่ 2 เดือน จะได้กบตัวโต (3 ตัว 1 กิโลกรัม) ขายได้กิโลกรัมละ 20 บาท แพร่,ความสุข,ภูมิปัญญาท้องถิ่น,สร้างสุข,วัฒนธรรม,ภาคเหนือ,หมูหลุม     แพร่,ความสุข,ภูมิปัญญาท้องถิ่น,สร้างสุข,วัฒนธรรม,ภาคเหนือ,หมูหลุม     แพร่,ความสุข,ภูมิปัญญาท้องถิ่น,สร้างสุข,วัฒนธรรม,ภาคเหนือ,หมูหลุม           นอกจากนั้นยังมีการสาธิตการเลี้ยงไข่มดแดง ที่ไม่ต้องลงทุนเช่นกัน โดยการเอาอาหารและน้ำไปผูกไว้กับต้นไม้ ภายใน 7 วันจะมีมดแดงมาทำรังประมาณ 10 รัง ผ่านไป 20 วันจะมีถึง 60 รัง สร้างรายได้ได้มากขนาดที่ขายมะม่วงหมดทั้งต้น ยังได้ถูกกว่าขายไข่มดแดงซึ่งขายได้ถึงกิโลกรัมละ 200 บาท นับว่าเป็นวิถีชีวิตพอเพียงแบบภูมิปัญญาชาวบ้านที่ไม่ต้องลงทุนเลย  "ทั้งหมดจะเน้นภูมิปัญญาชาวบ้าน คือเอาชาวบ้านมาสอนชาวบ้าน ไม่เอานักวิชาการหรือเจ้าหน้าที่เกษตรมาสอน แต่จะให้มาเรียนกับชาวบ้าน ซึ่งสถาบันรูปแบบนี้นับว่าเป็นแห่งแรก ในประเทศไทย" นพ.ชาญชัยกล่าว           อ้อยใจ บุญหล้า ผอ.สถาบันพัฒนาผู้นำท้องถิ่น กล่าวว่าเกือบ 2 ปีที่ผ่านมาสถาบันถูกใช้เป็นสถานที่จัดอบรมมาแล้วกว่า 100 โครงการทั้งการอบรมอาชีพให้เกษตรกรทั้งในแพร่และในจังหวัดใกล้เคียง และอบรมเจ้าหน้าที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 17 จังหวัดภาคเหนือ ผลที่เห็นเป็นรูปธรรมก็คือตอนนี้มีเกษตรกรกว่า 200 รายที่เลี้ยงหมูหลุมในจ.แพร่ 

          "เชื่อว่าสถาบันฯ สามารถช่วยชาวบ้านได้เยอะมาก เพราะพวกเขาไม่มีที่พึ่งพิงที่ไหน หากเขามีอาชีพก็จะสามารถสร้างรายได้พึ่งตนเองได้ โดยอาชีพที่แนะนำที่นี่ไม่ต้องใช้การลงทุนมาก และหากไม่มีทุนจริงๆ ที่นี่ก็พร้อมสนับสนุน" อ้อยใจกล่าว

แพร่,ความสุข,ภูมิปัญญาท้องถิ่น,สร้างสุข,วัฒนธรรม,ภาคเหนือ,หมูหลุม          นอกจากให้ความสำคัญกับเรื่องความเป็นอยู่อย่างพอเพียงของประชาชนในจังหวัด องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นยังได้ให้ความสำคัญกับความสุขทางใจ เรื่องของวัฒนธรรม ที่จะมีการจัดพื้นที่บวกทางสังคมเพื่อให้เด็กและเยาวชนมาแสดงออกที่ "ลานวัฒนธรรม" และการให้ความสำคัญกับประวัติศาสตร์ท้องถิ่น เช่นที่ "คุ้มเจ้าหลวง" ซึ่งเป็นบ้านของเจ้าผู้ครองนครแพร่องค์สุดท้าย อายุกว่า 115 ปี ได้รับการดูแลรักษาอย่างดีจนได้รับรางวัล "สถาปัตยกรรมไทยดีเด่น" จากสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ซึ่งมีเพียง 2 แห่งเท่านั้นคือ จ.แพร่ และ จ.พระนครศรีอยุธยา อาคารหลังนี้จึงนับว่าเป็นโบราณสถานที่ทรงคุณค่าทางประวัติศาสตร์และศิลปวัฒนธรรมของชาวแพร่ที่มีมนต์ขลัง           เรียกได้ว่าจังหวัดเล็กๆ แห่งนี้ยังมีอีกหลายอย่างที่น่าสนใจและน่าศึกษาว่าทำไมประชาชนชาวแพร่ถึงเป็นคนที่มีความสุขมากที่สุดจังหวัดหนึ่งของประเทศไทย        jj     ที่มาข้อมูลจาก : สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.)ภาพประกอบ : www.thaihealth.or.th
หมายเลขบันทึก: 115165เขียนเมื่อ 27 กรกฎาคม 2007 21:06 น. ()แก้ไขเมื่อ 4 มิถุนายน 2012 23:07 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
สวัสดีครับ

นศ.ม.ชีวิตนครศรีธรรมราช  ก็กำลังขับเคลื่อนชุมชนอยู่เย็นเป็นสุขเช่นกันครับ  โดยเฉพาะพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนัง  ศูนย์เรียนรู้หัวไทร และปากพนัง  กำลังทำงานร่วมกับชุมชนและนักศึกษาของเรา  ในการขับเคลื่อนชุมชนเรียนรู้ชุมชนเป็นสุข  สักวัน  เราจะไปอยู่ในกลุ่มเดียวกับจังหวัดแพร่ให้ได้ครับ

ที่ราบลุ่มแม่น้ำปากพนัง  เคยเป็นดินแดนที่อยู่เย็นเป็นสุขในอดีต  ก่อนที่จะมีการแพร่กระจายอย่างรวดเร็วของการทำนากุ้ง  จนทำให้ระบบนิเวศน์พังทลาย  ผนวกกับโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ที่ให้ผลในทางตรงกันข้าม  ชาวบ้านในบริเวณลุ่มน้ำ  จึงอยู่ในสภาพ "ผีซ้ำด้ามพลอย"  ผมได้มีโอกาสไปสัมผัสชาวบ้านในแถบตำบลเกาะเพชร  บ้านบางโฮ้  พบว่า  แถบนี้  เต็มไปด้วยบ่อเลี้ยงกุ้งที่ถูกทิ้งร้าง...น่าเศร้าจริง ๆ ความพยายามของหน่วยงานรัฐในการพยายามแก้ปัญหา  ดูเหมือนว่า  จะทำให้อาการเหล่านี้สาหัสขึ้นเรื่อย ๆ เหมือนคนป่วยหนักที่หมอบังคับให้กินยาผิด  ยังไงยังงั้นเลย

ยังดีที่มีกลุ่มชาวบ้านจำนวนหนึ่ง  ได้รวมตัวกันเพื่อประกอบอาชีพดั้งเดิมที่บรรพบุรุษเคยทำมา  ประยุกต์กับความรู้เรื่องเศรษฐกิจพอเพียง  ศูนย์เรียนรู้ ม.ชีวิตหัวไทร  ได้ทำหน้าที่เป็นผู้เชื่อมประสานให้เกิดการเรียนรู้  เพื่อนำไปสู่ชุมชนเข้มแข็ง  ชุมชนอยู่เย็นเป็นสุขในอนาคต

สวัสดีค่ะ

น่าประทับใจมากค่ะ

อยากให้จังหวัดอื่นๆ ใช้เป็นแบบอย่างบ้าง

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท