3.Communities of Practice -ชุมชนนักปฏิบัติ (แป๋ม)


ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในชุมชนนักปฏิบัติ

          สวัสดีค่ะ เรื่องที่เลือกมาเขียนบันทึกนี้เป็นเรื่อง “Communities of Practice” หรือชุมชนนักปฏิบัติ ค่ะ   แต่เนื่องจากไม่เคยทำงานด้าน HR และไม่เคยอยู่ในหน่วยงานที่มีการจัดตั้ง Communities of Practice มาก่อน เนื้อหาที่นำมาเขียนนี้จึงได้มาจากเวปไซต์และหนังสือ ซึ่งได้ใส่ไว้เป็นเอกสารอ้างอิงไว้ตอนท้ายของบันทึกนะคะ

           ที่เลือกหัวข้อนี้ก็เพราะเห็นว่าปัจจุบันนี้ การจัดการความรู้” (Knowledge Management หรือ KM) กำลังเป็นเรื่องที่องค์การต่างๆ ตื่นตัวที่จะนำแนวคิดนี้มาใช้เพื่อพัฒนาองค์การ    และCommunities of Practice (CoPs) ก็คือเครื่องมือสำคัญ ที่จะนำมาใช้ในการจัดการความรู้ในองค์การค่ะ            

 ความเป็นมาของ Communities of Practice   

          เนื่องมาจากสภาพเศรษฐกิจและสังคมที่มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา องค์การต่างๆ จึงต้องปรับตัวให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงต่างๆ เหล่านั้นด้วย เช่น มีการปรับโครงสร้างองค์การใหม่ มีการใช้การจัดจ้างจากภายนอก มีการลดขนาดองค์การ ฯลฯ   อาจมีผลให้พนักงานบางส่วนต้องจากองค์การไป    ซึ่งก็หมายถึง องค์ความรู้ที่อยู่กับพนักงานเหล่านั้นจากไปด้วย    ในช่วงกลางของยุค 90 แนวคิดที่เรียกว่า Knowledge Management เริ่มปรากฏขึ้น   โดยแนวคิดนี้ถือว่าเป็น innovation ของวิธีการแก้ปัญหาต่างๆในองค์การที่เป็นผลมาจากการที่องค์การต้องรับมือกับการเปลี่ยนแปลงเหล่านั้น   KM จึงเป็นแนวคิดเพื่อ  “การรวบรวมความรู้ที่มีอยู่ในองค์การซึ่งกระจัดกระจายอยู่ในตัวบุคคลหรือเอกสาร  โดยนำมาพัฒนาให้เป็นระบบ เพื่อให้ทุกคนในองค์การสามารถเข้าถึงความรู้ และพัฒนาตนเองให้เป็นผู้รู้ รวมทั้งปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อจะส่งผลให้องค์การมีความสามารถในเชิงแข่งขันสูงสุด    แต่คำถามคือ เราจะจัดการความรู้ โดยเฉพาะความรู้ประเภท Tacit Knowledge ได้อย่างไร  การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ใน ชุมชนนักปฏิบัติจึงเป็นวิธีการที่สามารถทำให้ความรู้ต่างๆ ของบุคคลหนึ่งได้ถ่ายทอดไปยังบุคคลอื่นๆ ทำให้ความรู้นั้นไม่สูญสลาย แต่คงอยู่ยั่งยืน

ความหมายของ Communities of Practice             

            มีผู้ให้ความหมายของ CoP ไว้ว่า คือ ชุมชนที่มีการรวมตัวกันอย่างไม่เป็นทางการ สมาชิกของชุมชนจะมีความสนใจในเรื่องเดียวกัน มีเป้าหมายเดียวกัน หรือประสบปัญหาเดียวกัน มีความต้องการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ แลกเปลี่ยนการเรียนรู้จากกันและกัน อาจพบกันด้วยตัวจริงหรือผ่านเทคโนโลยี มีการร่วมมือให้ความช่วยเหลือกัน"               หากพูดถึง CoP ในองค์การ ก็จะหมายถึง คนกลุ่มเล็กๆ ที่ทำงานมาด้วยกันระยะหนึ่ง มีเป้าหมายร่วมกัน ต้องการที่จะแบ่งปันแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์จากการทำงาน มักจะเกิดจากความต้องการทางสังคมมากกว่าจะเกิดจากการจัดตั้งขององค์การ   ในองค์การหนึ่งๆ อาจมีหลาย CoP และคนคนหนึ่งอาจจะเป็นสมาชิกของหลาย CoP ก็ได้

ประโยชน์ของ Communities of Practice

            นอกจากที่กล่าวไว้ว่า CoP เป็นองค์ประกอบที่สำคัญยิ่งของ KM แล้ว  การที่สมาชิกใน CoP ได้พัฒนาความสัมพันธ์ขึ้นในชุมชนเล็กๆ นี้  ยังก่อให้เกิดแรงจูงใจภายในตนเอง ที่จะสร้างความรู้มาแบ่งปันให้แก่กัน  ช่วยสร้างสภาพแวดล้อมแห่งความคิดริเริ่มสร้างสรรค์  และ CoP ยังช่วยให้เกิดการแบ่งปันวิธีการทำงานที่มีประสิทธิภาพ อันจะเป็นตัวขับเคลื่อนที่นำไปสู่การพัฒนาทุนสังคม    องค์การใหญ่ๆ อย่างเช่น IBM, Shell, Siemens หรือ Johnson & Johnson ก็สนับสนุนให้มีชุนชนนักปฏิบัติเพื่อให้มีการแบ่งปันความรู้ แลกเปลี่ยนมุมมอง ความคิด ถ่ายทอดความเชี่ยวชาญชำนาญ และประสบการณ์ของพนักงาน

องค์ประกอบของ Communities of Practice

            CoP ในองค์การต่างๆ นั้น จะมีองค์ประกอบสำคัญที่คล้าย ๆกัน คือ

-มีสมาชิกเริ่มก่อตั้งประมาณ 2-3 คน โดยมีหน้าที่หลักๆ ที่ต้องแบ่งกันรับผิดชอบได้แก่ คือ หน้าที่วางแผน ประสานงาน กระตุ้นให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ บันทึกจัดเก็บความรู้

-มีผู้เชี่ยวชาญ (Expert) อย่างน้อย 1 คนขึ้นไป ที่มีความรู้ในหัวข้อของ CoP ของตน

-มีหัวเรื่องที่จะร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของกลุ่มชัดเจน (Domain)

-เพื่อให้เกิดแรงผลักดันในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ องค์การมักมีกฎให้แต่ละ CoP ต้องมีการดำเนินกิจกรรมต่างๆ อย่างต่อเนื่องในระยะเวลาที่แต่ละองค์การกำหนด รวมถึงมีการให้การสนับสนุนจากผู้บริหาร เพื่อกระตุ้นให้พนักงานมีความเข้าใจและมีกำลังใจในการดำเนินกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในองค์การ

ตัวอย่างองค์การที่มีการจัดตั้ง Communities of Practice

            องค์การที่มีการจัดตั้ง CoP ที่นำมาเสนอในบันทึกนี้คือ DaimlerChrysler  บริษัทผลิตยนตกรรมระดับโลกที่มีชื่อเสียงที่เรารู้จักกันดีค่ะ     DaimlerChrysler เป็นองค์การหนึ่งที่มีกระบวนการจัดการความรู้ในองค์การที่น่าสนใจมาก   กิจกรรมของ CoP ที่ DaimlerChrysler นั้นได้รับการยอมรับว่าเป็นวิธีการหนึ่งที่มีประสิทธิภาพในการแบ่งปันความรู้ในองค์การ จนบาง CoP นั้นได้รับการยอมรับจากองค์การภายนอกด้วย

            แนวความคิดเรื่อง KM ของ DaimlerChrysler เป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงอันรวดเร็วของโลกธุรกิจ   เป็นที่ทราบกันว่า ธุรกิจยานยนต์นั้นมีการแข่งขันสูงและต้องสร้างนวัตกรรมอยู่เสมอ  ดังนั้นความรู้จึงเป็นสิ่งสำคัญ     กรอบของการจัดการความรู้ที่ DaimlerChrysler ในแต่ละขั้นตอน จะต้องคำนึงถึง 3 องค์ประกอบคือ คน กระบวนการ และเทคโนโลยี กล่าวคือ อันดับแรก ต้องรู้ว่าความรู้ที่เป็นที่ต้องการของคนหรือพนักงานนั้นคืออะไรบ้าง   นำความรู้ดังกล่าวไปใส่ไว้ในกระบวนการต่างๆ ขององค์การ   โดยมีเทคโนโลยีเป็นตัวสนับสนุนในกระบวนการต่างๆ     สำหรับแนวคิดที่ DaimlerChrysler นั้น เชื่อว่าพนักงานมีส่วนถึง 80% ในการสร้าง KM ในองค์การ และ CoP เป็นวิธีการที่มีประสิทธิภาพที่จะนำไปสู่ความสำเร็จในการพัฒนากระบวนการทางธุรกิจ  

           การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ใน CoP ของ DaimlerChrysler มุ่งเน้นในเรื่องการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ที่เป็นกระบวนการทางธุรกิจเพื่อนำไปสู่การปรับปรุงและพัฒนา โดยความรู้ต่างๆ นั้นอยู่ในขอบข่ายของเรื่องที่เป็นที่สนใจของแต่ละ CoP    อย่างที่เราทราบว่า DaimlerChrysler คือผู้นำทางด้านยนตกรรม ดังนั้น ความรู้ที่นำมาแบ่งปันกันในองค์การส่วนใหญ่จึงเป็นเรื่องทางด้านวิศวกรรม      เนื่องจาก หน้าที่อีกประการหนึ่งของ CoP ที่ DaimlerChrysler คือ จะต้องบันทึกความรู้ต่าง ๆ นั้นให้อยู่ในรูปของเอกสาร   ที่ DaimlerChrysler เขาใช้เทคโนโลยีเพื่อการสื่อสารในองค์การเป็นเครื่องมือที่สำคัญ โดยมีชื่อเรียกว่า Engineering Book of Knowledge หรือ EBoK  เพื่อช่วยให้การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ใน CoP บรรลุวัตถุประสงค์  

           EBoK ก็คือระบบในรูปแบบเวปไซต์ ที่รวมรวมความรู้ด้านต่างๆ ขององค์การ  โดยจัดทำในรูปแบบต่างๆ ได้แก่ บทเรียน, ข้อปฏิบัติ, รายนามผู้เชี่ยวชาญ และเวทีอภิปราย   การใช้งาน EBoK นั้น ได้รับการออกแบบให้พนักงานสามารถเข้าไปหาความรู้ที่ตนสนใจได้ง่าย และเปิดโอกาสให้พนักงานได้แสดงความคิดเห็นที่มีต่อเรื่องที่เขียนไว้ใน EBoK ได้    ซึ่งเจ้าของเรื่องก็ต้องรับทราบและตอบกลับทุกความคิดเห็นต่างๆ ที่เสนอเข้ามา   การเข้าถึงข้อมูลต่างๆ ใน EBoK ได้ง่ายเช่นนี้ ทำให้ EBoK เป็นเครื่องมือในการส่งความรู้ไปถึงโต๊ะทำงานของวิศวกรโดยวิศวกรด้วยกันเอง  รูปข้างบนคือหน้าตาของ EBoK ค่ะ ตัวอักษรเล็กไปหน่อย พอมองเห็นกันไหมเอ่ย

          ในส่วนขององค์การนั้น มีหน้าที่ส่งเสริมกิจกรรมของ CoP   โดยต้องมีการสร้างแรงจูงใจให้กับเจ้าของเรื่องใน EBoK  มีการอบรมทักษะการเขียนให้กับวิศวกรและกระตุ้นให้มีการแบ่งปันความรู้แก่กัน  มีการตรวจสอบเนื้อหาที่เขียนอย่างเป็นระบบเพื่อความโปร่งใส  และด้วยการจัดการที่เป็นระบบและมีประสิทธิภาพของ DaimlerChrysler  ทำให้ CoP ของ DaimlerChrysler ที่มีชื่อว่า Tech Clubs ซึ่งเป็น CoP ที่เกิดจากการรวมตัวกันของนักออกแบบ วิศวกร และเพื่อนร่วมงานในสายการผลิตต่างๆ ของ DaimlerChrysler ได้รับการยอมรับในระดับประเทศว่าเป็นตัวอย่างของ CoP ที่มีประสิทธิภาพ         

         จะเห็นได้ว่า กิจกรรมของ CoP ที่ DaimlerChrysler นั้นค่อนข้างเป็นระบบและมีเป้าหมายเพื่อการพัฒนาธุรกิจอย่างชัดเจน   อาจจะดูเป็นทางการมากกว่านิยามที่ให้ไว้ข้างต้นนะคะ  ความเห็นส่วนตัวคิดกว่า อาจเป็นเพราะว่าเป็นองค์การขนาดใหญ่ มีสาขาอยู่ทั่วโลก ข้อมูลทุกอย่างขององค์การมีความสำคัญ การที่จะสื่อสารออกไปต้องมีความรัดกุม ถูกต้อง   แต่ก็นับว่าเป็นผลดียิ่ง ทั้งต่อสมาชิกของชุมชนและองค์การ   ส่วนในองค์การของเราเองนั้น หากว่าอยากมี CoP เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้กัน  ก็อาจจะนำแนวทางของ DaimlerChrysler ไปปรับใช้ให้เข้ากับบรรยากาศขององค์การและลักษณะการทำงานของเราก็ได้    หรือจะลองค้นหาตัวอย่างของ CoP ขององค์การในเมืองไทยก็มีหลายแห่งค่ะ ลองค้นหาคำว่า   communities of practice ใน google โดยค้นหาแค่เฉพาะเวปไซต์ในไทย เราก็จะพบชื่อองค์การที่เราคุ้นเคยหลายแห่งมีการจัดตั้ง CoP ค่ะ

การนำแนวปฏิบัติของ CoP มาประยุกต์ใช้ในองค์การ 

          จากประสบการณ์การทำงานที่ผ่านมา ดิฉันนึกถึงองค์การแห่งหนึ่งที่เคยร่วมงานด้วย  ซึ่งเป็นองค์การของประเทศไต้หวัน  แผนกที่ทำนั้นเป็นงานบริการที่ต้องติดต่อสื่อสารกับลูกค้าโดยตรง   ลูกค้าส่วนใหญ่นั้นเป็นชาวต่างชาติ โดยเฉพาะชาวไต้หวัน  ปัญหาของพนักงานประการหนึ่งคือ การสื่อสารด้วยภาษาจีนกลาง   เนื่องจากตอนคัดเลือกพนักงานเข้ามาทำงาน กำหนดไว้แค่ ต้องสื่อสารภาษาอังกฤษได้เท่านั้น   แต่ไม่ได้กำหนดว่าต้องสามารถสื่อสารภาษาจีนกลางได้ด้วย    ดังนั้นพนักงานส่วนใหญ่จะพูดภาษาจีนกลางไม่ได้    อย่างไรก็ตาม มีพนักงานบางคนที่พูดภาษาจีนกลางได้ และบางคนสามารถพูดได้ในระดับดีมาก 

          ปัญหาจึงเกิดขึ้น เมื่อลูกค้าที่พูดได้แต่ภาษาจีนกลาง มาเจอกับพนักงานที่พูดจีนกลางไม่ได้   เมื่อมีปัญหาขัดข้องขึ้น จึงลำบากในการที่จะสื่อสารกันให้เข้าใจ    ดิฉันคิดว่าถ้าหากเรามีการรวมกลุ่มกันสร้าง CoP เพื่อช่วยกันสอนภาษาจีนกลางให้กับเพื่อนร่วมงาน ก็น่าจะเป็นวิธีการช่วยเหลือกันเพื่อพัฒนาทักษะการทำงานให้ดีขึ้น  

           ขอเรียก CoP ของเราว่า ชุมชนเรียนภาษาจีน นะคะ  โดยมีพนักงานที่เก่งภาษาจีนกลางรับหน้าที่เป็น expert     สำหรับกิจกรรมของชุนชนเรียนภาษาจีนนั้น เนื่องจากพนักงานทุกคนมีปริมาณงานที่ต้องทำมากอยู่แล้ว และทุกคนค่อนข้างเหนื่อยและเครียดกับการทำงานที่ต้องสื่อสารกับลูกค้าหลากหลายแบบ   การมานั่งเรียนกันในห้องแบบนักเรียน อาจไม่ได้รับความสนใจจากพนักงาน  และเรายังไม่มี EBoK แบบ DaimlerChrysler    ดังนั้นช่องทางการแบ่งปันความรู้แบบง่ายๆ ที่คิดไว้คือ

-การจัดบอร์ดเพื่อสอนคำศัพท์ หรือรูปประโยคที่ใช้บ่อยในการทำงาน เพื่อให้พนักงานได้อ่านได้ผ่านตาเมื่อมีเวลาว่าง   ภายในหนึ่งอาทิตย์พนักงานอาจจะได้ศัพท์ภาษาจีนเพิ่มขึ้น 10 คำ ได้ประโยคใหม่อีก 10 ประโยค   ทั้งนี้ CoP จะต้องมีการตรวจสอบ feedback จากเพื่อนร่วมงานว่า เนื้อหาความรู้ที่จัดให้นั้น น้อยไป มากไปเพียงใด หรือต้องการให้มีการแลกเปลี่ยนความรู้ในรูปแบบอื่นใดอีกบ้าง

-นอกจากนี้ อาจจัดเวลาประมาณ 1 ชั่วโมงในแต่ละสัปดาห์ ให้มีวันพบปะกันของพนักงานในแผนก  เพื่อเป็นช่วงเวลาของการซักถามเกี่ยวกับการใช้ภาษาจีน  คำศัพท์หรือรูปประโยคที่อยากรู้ เพื่อนำไปใช้สื่อสารในการทำงานจริง

           การสนับสนุนจากองค์การในการดำเนินกิจกรรมต่างๆ ของ CoP ถือว่ามีความสำคัญ  เพราะทำให้สมาชิกชุมชนได้รับความสะดวกในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ยิ่งขึ้น เช่น จัดหาห้องประชุมให้ใช้  จัดสรรงบประมาณเพื่อจัดทำบอร์ดความรู้  

            กิจกรรมการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของ CoP ภาษาจีน หากประสบความสำเร็จ อาจจะเป็นการสร้างแรงบันดาลใจให้เกิดการจัดตั้ง CoP ใหม่ๆ ขึ้นอีก เพื่อการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในเรื่องอื่นๆ ของการทำงานอีกด้วย 

            ดิฉันมีความเห็นว่านอกจากชุมชนนักปฏิบัติจะเป็นวิธีการจัดการความรู้ในองค์การเพื่อไม่ให้ความรู้นั้นสูญหายไปกับตัวบุคคลแล้ว   สมาชิกในองค์การก็ได้มีส่วนช่วยเหลือซึ่งกันและกันให้มีการพัฒนาตนเองเพื่อการทำงานที่มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น   นอกจากนี้ การที่พนักงานได้พูดคุยกันในเรื่องที่ตนสนใจ ได้แบ่งปันความรู้และประสบการณ์ รวมถึงปัญหาที่พบร่วมกัน ยังทำให้เกิดความผูกพัน เกิดความรู้สึกอบอุ่นในการทำงานกับองค์การของตน   สร้างบรรยากาศที่ดีในองค์การ องค์การจึงมีความแข็งแกร่ง พร้อมแข่งขันในตลาด และรับมือกับการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ของสภาพแวดล้อมค่ะ

พิริยา (แป๋ม)

เอกสารอ้างอิง

Hildreth, P, & Kimble, C. (2004).Knowledge Networks : Innovation Through Communities of Practice. Hershey : Idea Group Publishing.

ชัชวาล วงษ์ประเสริฐ. 2548. Knowledge Management in Business Firms. กรุงเทพมหานคร : ธรรกมลการพิมพ์.

กรมการปกครอง. 2550. การจัดการความรู้. [ออนไลน์] เข้าถึงได้จาก http://www.dopa.go.th/web_pages/m03060000/km/km_des.html [เข้าถึงเมื่อ 2 กรกฎาคม 2550]

Kannan, G., Aulbur, W. & Haas, R. (2005).Knowledge Management in Practice: Making Technology Work at DaimlerChrysler. In  M. Rao (Ed), Knowledge Management Tools and Techniques (pp.175-184). New Delhi: Elsevier Inc. 

 

หมายเลขบันทึก: 115019เขียนเมื่อ 27 กรกฎาคม 2007 11:53 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 18:12 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (25)

เป็นแนวคิดที่ ดี แต่ส่วนตัวแล้วคิดว่ายากที่จะปฏิบัติจัง

เพราะแต่ละคนแค่เวลาทำงานก็จะไม่พออยู่แล้ว เวลาส่วนตัวก็แทบไม่เหลือ ฉะนั้นก็ขึ้นอยู่กับบุคคลแต่ละคนมากกว่า เหมือนที่เราเอาความรู้มาแชร์ กันในบล็อคนี้ยังละครับ

ขอบคุณมากเลยค่ะ สำหรับความเห็น เข้าใจเลยที่บอกว่าเวลาทำงานก็ไม่พอ เวลาส่วนตัวก็ไม่เหลือ แค่นี้ก็เหนื่อยน่าดูแล้วค่ะ

ตอนที่หาข้อมูลมาเขียนบันทึกนี้ มีหนังสือเล่มหนึ่งบอกว่า กิจกรรมการแลกเปลี่ยนเรียนรู้สามารถทำได้หลายวิธีค่ะ แค่การพูดคุยกันระหว่างมื้ออาหาร หรือพักดื่มกาแฟ ก็สามารถแลกเปลี่ยนความรู้กันได้  ก็น่าสนใจดีนะคะวิธีนี้ แต่ต้องอาศัยความร่วมมือของเพื่อนๆ ร่วมก๊วนทานข้าวด้วย :) 

กิจกรรมของ CoP ของบางองค์การ อาจไปทำให้พนักงานรู้สึกว่าเป็นภาระที่เพิ่มเข้ามาอีก แม้จะรู้ว่าเป็นสิ่งที่ดีก็ตาม ก็คิดว่าสิ่งที่จะกระตุ้นให้พนักงานเข้าร่วมกิจกรรมคงต้องอาศัยการสนับสนุนขององค์การด้วย คนที่ active จะได้ภูมิใจกับสิ่งตนได้ทำให้กับองค์การและเพื่อนร่วมงานน่ะค่ะ

citrus say:

คุณแป๋มคะ

ลองเขียนบันทึกใน word แล้วค่อยมา paste ลงในบันทึกก็ได้ค่ะ โดยใช้ font tahoma 14pt จะทำให้อ่านง่ายกว่านี้ค่ะ

เรื่องเนื้อหายังไม่ให้ความเห็นก็แล้วกันค่ะ รอให้ทำเสร็จก่อนนะคะ

ขอบคุณค่ะอ.ส้ม

คือแป๋มอ่านจากหน้าจอตัวเอง ตัวอักษรก็เป็นระเบียบดีค่ะ แต่ก็ได้แก้ต้นฉบับใน word ให้เป็น font ที่อ.แนะนำ แล้วลองมา paste อีกที ก็ยังเห็นตัวหนังสือหน้าตาเหมือนเดิมเลยค่ะ เลยไม่ทราบว่าแก้ไขได้หรือเปล่า  คราวหน้าจะลองใช้เครื่องอื่นดูนะคะ ขอบคุณค่ะ

 

อาจารย์ส้มคะ

ตอนนี้บันทึกเขียนเสร็จแล้วค่ะ ช้าไปหนึ่งวันเพราะเข้าใจผิดจริงๆ ว่ายังสามารถมาเขียนต่อได้จนถึง 15 ส.ค.   พอวันนี้เข้ามาอ่านเห็นข้อความของอาจารย์เลยตกใจ รีบโพสต์ต่อ  ก็เลยไม่แน่ใจว่าตัวหนังสือจะอ่านยากอีกมั้ย เพราะยังใช้คอมเครื่องเดิมอยู่เลยค่ะ

รอความเห็นจากอ.ส้ม และเพื่อนๆ พี่ๆ น้องๆ นะคะ

แป๋ม 

citrus say:

ขอบคุณค่ะ อ่านง่ายขึ้นแล้วค่ะ

ส่วนเรื่องเนื้อหาตอนนี้ให้รอความเห็นจากคนอื่นๆ นะคะ แล้วไปอ่านที่พี่ comment ของเพื่อน เผื่อมีอะไรอยากปรับยังมีเวลาถึง 15 ส.ค.ค่ะ

ขอชมนายต้อง ไปอ่านหลายคน ก็เจอนายเข้าไปอ่าน แล้วให้ความเห็น เอาไปเลย participation score

     ได้ฤกษ์งามยามดีในการเข้ามาแสดงความคิดเห็นของพี่แป๋มแล้วนะคะ ^_^ เรื่องของเราสองคนคล้ายกันมากๆเลย ปอมทำเรื่อง Peer Assist ก็เป็นเครื่องมืออย่างหนึ่งในการจัดการความรู้เหมือนกัน แต่ชื่ออาจดูแปลกใหม่ ไม่พบได้บ่อยเหมือนเรื่องของพี่แป๋มนะคะ เพราะทั้งหนังสือและเวปไซต์ต่างๆที่เกี่ยวกับ KM จะหนีไม่พ้นเรื่องนี้ด้วย.....กำลังคิดอยู่ว่า ความต่างของสองเรื่องนี้มันคืออะไร จุดประสงค์คงคล้ายๆกัน แต่อาจต่างกันในตัวรายละเอียดของการปฏิบัติ เรื่องของปอมน่าจะเป็นทางการมากกว่า ซึ่งเป็นกลไกการเรียนรู้ก่อนลงมือทำกิจกรรม จะต้องมีทีมเจ้าบ้าน ซึ่งเป็นผู้ร้องขอความช่วยเหลือจากทีมผู้ช่วย โดยมี facilitator และเน้นว่าแต่ละทีมต้องมีทักษะ ความสามารถ ประสบการณ์ที่แตกต่างกัน เพื่อจะได้มุมมองที่กว้างขึ้น.....ส่วนเรื่องของพี่แป๋มก็โอเคนะคะ ตอนนี้ตัวหนังสือใหญ่ได้ใจมาก แถมสีสันสดใส แล้วจะเพิ่มเติมแก้ไขอะไรอีกหรือเปล่าคะ ยังไงจะติดตามอ่านนะคะ สู้ๆๆๆ ^_^

ในส่วนงานที่รับผิดชอบ มีนโยบายให้จัดตั้ง CoP เหมือนกันค่ะ แต่ขณะนี้มีเพียงชมรมเดียวคือ ESRI English Club ซึ่งเป็นชุมชนบน web application สมาชิกในกลุ่มจะ share ความรู้เกี่ยวกับภาษาอังกฤษในเรื่องต่างๆ ให้สมาชิกทราบผ่าน intranet ของบริษัท และในบางครั้ง จะมีการ share ความรู้เกี่ยวกับการใช้ภาษาอังกฤษให้พนักงานคนอื่น ๆ ที่ไม่ใช่สมาชิกทราบด้วย โดยสื่อผ่านทาง email ในส่วนของการจัดกิจกรรมร่วมกันระหว่างสมาชิกนั้น ไม่ได้มีการขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม แต่ถือว่าเป็นชุมชนทางสังคมอย่างหนึ่งเหมือนกันค่ะ

อ่านเรื่องของพี่แป๋มแล้วชอบครับ เป็นความรู้ใหม่เลย อ่านแล้วก็เคลียร์ดีด้วยครับ แต่ก็ยังแอบสงสัยอยู่ดีว่าหัวเรื่องของพี่กะปอมแอบไปนัดกันมาหรือเปล่าครับเนี้ย มาแนวๆ เดียวกันเลย ^^"

ชัยยุทธ (ปิค) กลีบบัว

เป็นเรื่องที่อ่านแล้วรู้สึกชอบอีกเรื่องนึงเลยครับ รู้สึกชอบแนวความคิดเรื่อง KM ของDaimlerChrysler มากเลยครับ รู้สึกเค้าคิดได้ดีจิงๆ และเนื้อเรื่องที่พี่เขียนมาอ่านแล้วเข้าใจเห็นง่ายดีครับ

     ส่วนตัวคิดว่าการทำ Cop นั้นดีนะครับแต่ก็เหนด้วยกับพี่ต้องนะครับที่ว่าทำจริงๆอาจยาก เพราะวันๆก็ทำงานหน้าที่ตัวก็เหนื่อยอยู่แล้วและอาจทำให้พนักบางคนคิดว่าเป็นการเพิ่มภาระให้เค้าอีกก็ได้ ดังนั้นเลยคิดว่าต้องจูงใจหรือปลูกฝังค่านิยมรักการเรียนรู้ควบคู่กันไปด้วย และยิ่งในก๊วนเราเวลากินข้าวหรือทานกาแฟมีการแลกเปลี่ยนความรู้อย่างที่พี่แป๋มบอกด้วยก็ยิ่งดีเลย ทำให้ได้ความรู้แล้วฝึกการคิดไปพร้อมๆกันในระหว่างการสนทนาด้วย จะได้ใช้เวลาได้คุ้มค่า (ถ้าคุยกันด้วยความสนุกไม่เครียดด้วยนะ คิดว่าน่าจะทำให้คนมาสนใจหรือเข้าถึงเรื่องนั้นได้เร็วขึ้นด้วย)

ขอบคุณครับ

หนุ่ม  แต๊งกิ้วที่มาอ่านและเม้นท์นะ แต่ที่เรื่องคล้ายกับปอมนี่ไม่ได้นัดนะจ๊า บังเอิญๆ

น้องปิค ขอบคุณที่มาร่วมแชร์จ้า ว่าจะหาหน้าเวป EBoK ของDaimlerChrysler มาแปะ ไม่รู้จะเจอมั้ย จะพยายามค่ะ

พี่แป๋ม

แป๋ม

ดีนะ ได้ยิน CoPs เป็นครั้งแรกเลย สนใจว่าเขามีวิธีสนับสนุนอย่างไรให้มัน sustainable น่ะ

พี่บุป

เป็นศัพท์ใหม่ที่เพิ่งเคยได้ยิน แต่ก็ถือเป็นความรู้เพิ่มเติมค่ะ เท่าที่อ่านดูคิดว่าถ้าองค์การไหนได้มีการจัดตั้งชุมชนนักปฏิบัติขึ้นมานับว่าเป็นเรื่องที่ดี เพราะทำให้พนักงานได้มีการพัฒนาความรู้ รวมถึงรวบรวมความรู้ที่ตัวเองมีนำมาแลกเปลี่ยนให้เพื่อนๆที่มีความสนใจในเรื่องนั้นๆได้ทราบก็เป็นประโยชน์มากค่ะ

อธิบายเรื่อง CoPs ได้เข้าใจอย่างละเอียดมากเลยครับ ซึ่งท่านใดอ่านเรื่องนี้แล้วสนใจอยากทราบเรื่อง KM ต่อก็อ่านได้ที่ blog ของผมได้นะครับ(ขอโฆษณาของตัวเองหน่อยนะครับ)http://gotoknow.org/blog/neoindust/115740 ขอบคุณครับ... 

CoP เป็นเรื่องที่น่าสนใจมากเลยค่ะ เหมาะสมกับทุกองค์กร เพราะชุมชนที่ก่อตั้งเพื่อการแลกเปลี่ยนความรู้นั้นเป็นการทำให้เกิดการเรียนรู้ตลอดเวลาด้วย ซึ่งเมื่อพนักงานมีการแลกเปลี่ยนความรู้กันอย่างสม่ำเสมอ ย่อมทำให้พนักงานมีความรู้เพิ่มเติมอย่างสม่ำเสมอ จึงนับว่าเป็นการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ที่ดีอย่างมาก และยังส่งผลต่อความสำเร็จทางธุรกิจด้วย

CoP เป็นเรื่องที่น่าสนใจมากเลยค่ะ เหมาะสมกับทุกองค์กร เพราะชุมชนที่ก่อตั้งเพื่อการแลกเปลี่ยนความรู้นั้นเป็นการทำให้เกิดการเรียนรู้ตลอดเวลาด้วย ซึ่งเมื่อพนักงานมีการแลกเปลี่ยนความรู้กันอย่างสม่ำเสมอ ย่อมทำให้พนักงานมีความรู้เพิ่มเติมอย่างสม่ำเสมอ จึงนับว่าเป็นการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ที่ดีอย่างมาก และยังส่งผลต่อความสำเร็จทางธุรกิจด้วย

             ที่เราทำกันอยู่ตอนนี้  ในblock นี้  มันก้อคือ CoPs รูปแบบหนึ่งใช่มั้ยคะ    การตั้งวงเล่าคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์ความรู้  เพื่อให้เกิดเป็นเกลียวความรู้ขึ้นมา  หรือการทำ After action review  ก้อจัดว่าเป็นรูปแบบการเรียนรู้ที่คล้ายกันอยู่    เหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งในการสร้างการเรียนรู้เพื่อให้เกิดนวัตกรรม  เช่นเดียวกับแนวความคิดเรื่อง KM ของ DaimlerChrysler  แนวคิดเรื่องนวัตกรรมยังไงถ้าสนใจลองอ่านเพิ่มเติมได้ที่ http://gotoknow.org/blog/neoindust/115866  นะคะ

              ชอบกรณีศึกษาค่ะ  น่าสนใจดี  ขอบคุณสำหรับความรู้ใหม่ๆ(สำหรับนันทน์)  นะคะ

นันทน์

เป็นความรู้ใหม่อีกแล้วครับท่านนน เคยได้ยินมานานแล้วนะแต่ว่าไม่เคยได้รับรู้ข้อมูลเต็มๆขนาดนี้เลย ขอบคุณที่แบ่งปันค้าบบบ ที่เคยได้ยินมานะสำหรับเรื่องนี้ที่อาจจะเสริมได้อีกกรณีหนึ่งเลย คือ บริษัทสหพัฒนพิบูลย์ซึ่งตอนนี้การบริหารส่งต่อมาถึงรุ่นลูกแล้ว แต่ยังยึดถือการบริหารงานตามแนวคิดของ คุณ เทียม โชควัฒนา  ซึ่งท่านได้เป็นคนแรกๆในบรรดานักธุรกิจในไทยที่นำแนวคิดนักปฏิบัติมาใช้ กล่าวคือ ท่านจะทำตัวให้เป็นเหมือนพนักงานคนหนึ่ง มีการสอนงานแลกเปลี่ยนความรู้กันอย่างทั้งหน้างานและ สอนการดำเนินชีวิตประจำวัน ซึ่งผู้บริหารที่มีแนวทางการดำเนินชีวิตแบบผู้ปฏิบัติจะสามารถนำเอาความคิดที่เป็นรูปแบบมาใช้กับการพัฒนาบุคลากรได้เป็นอย่างดี และแนวทางวนักปฏิบัติของท่านได้ส่งผ่านมาที่ลูกน้องคนสำคัญที่ครั้งหนึ่งเคยอยู่ในใต้ร่มเงาของเครือสหพัฒน์มีอยู่มากมาย เช่น คุณไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม (แกรมมี่) หรือจะเป็น คุณ วิเชียร แห่งค่ายเพลงนิธิทัศน์ ก็ตามบุคคลเหล่านี้เป็นเตรื่องการันตีได้ดีถึงการเป็นต้นแบบนักปฏิบัติ

ชอบนะเรื่องนี้ จะไปหาข้อมูลอ่านเพิ่มเติมอีกคะ

 นอกเหนือจากเครื่องมือข้างต้นแล้วนะคะ ในองค์กรมีอีกวิธีที่จะจัดการ KM ก็คือ การทำบอร์ดขนาดกะทัดรัดไปติดตามห้องน้ำทุก ๆ ห้องและทุก ๆ อาคาร อย่างเช่นขณะนี้ ภาษาอังกฤษกำลังฮิต พนักงานต้องเกิดการเรียนรู้เรื่องนี้ ก็จะจัดหาคำหรือประโยชน์ที่มีความเกี่ยวข้องกับองค์กรมาให้พนักงานได้เรียนรู้ หรืออย่างเรื่อง BSC , KPI , PMS ก็จะดำเนินการแบบนี้เหมือนกัน ฟังดูแล้วน่าขำกันไหมคะ แต่ก็เป็นวิธีการเรียนรู้ที่เข้าท่าได้เหมือนกัน เพราะรู้สึกว่าตัวเองจะจำได้มากกว่าการไปอ่านท่องในหนังสือ เพราะบอร์ดจะมีรูปแบบน่าสนใจน่าอ่านมีสีสรร และสถานที่ก็ช่วยให้นึกถึงขณะกำลังคิดว่าคำเหล่านี้ไปรู้มาจากไหนค่ะ

บุษบงค์ (ยิน : ปี 2)

CoPs นอกจากจะสร้างบุคลากรให้มีประสทธิภาพมากขึ้น  สิ่งที่เห็นอย่างหนึ่งคือ  จากกรณีที่ยกตัวอย่างว่ามีการสอนภาษาจีนกลางใรหมู่พยักงานด้วยกัน ยังเป็นสร้างความสามัคคีการช่วยเหลือซึ่งกันและกันในรูปแบบหนึ่งอีกด้วย

ชอบหัวข้อนี้มากๆค่ะ  รู้สึกถ้าสามารถเอาไปใช้งานได้  ผลที่ออกมาต้องดีมากๆแน่ๆ

เคยได้ยินเรื่องนี้หลายครั้ง แต่ก็นึกไม่ค่อยออกว่าจะนำมาประยุกต์ใช้อย่างไรกับองค์การ...พอได้มาอ่านที่พี่แป๋มเขียน เห็นแนวคิดไปพร้อมๆ กับตัวอย่างก็ช่วยให้เข้าใจ CoP มากขึ้นเลยค่ะ

ตอนแรกคิดว่าจะยาก เพราะภาพที่นึกออกคือ พนักงานมานั่งแลกเปลี่ยนความรู้กันในห้องประชุมหลังเลิกงาน เหนื่อยทั้งผู้เรียนและผู้สอน คงไม่ค่อยได้ความรู้กันซักเท่าไหร่...แต่ตอนนี้เปลี่ยนความคิดแล้วค่ะ เป็นเรื่องที่น่าสนใจมาก ทำได้ง่ายๆ ในกลุ่มเพื่อนด้วยซ้ำ แล้วค่อยขยายวงกว้างออกไปให้ผู้อื่นรู้ด้วย ถ้ามีโอกาสจะลองนำไปปฏิบัติบ้างค่ะ

ขอบคุณสำหรับความรู้และแนวคิดดีๆ นะคะ ^_^  

 

  • ขอบคุณค่ะพี่แป๋มที่ให้ความรู้ใหม่เพิ่มขึ้นอีก1เรื่อง ไม่รู้จักCoPs มาก่อนเลย  พี่แป๋มเป็นคนแรกที่จุดชนวนค่ะ อยากให้ทุกองค์กรมีCopsรวมไปถึงที่ทำงานเดิมด้วยนะคะเพระจะได้เป็นช่องทางในการแลกเปลี่ยนประสบการณ์และความรู้อีกช่องทางหนึ่ง ซึ่งสามารถพัฒนาskill&knowledgeให้กับพนักงานได้
  • มีตัวอย่างหน่วยงานภาครัฐบ้างไหมคะ ถ้ามีก็น่าสนใจทีเดียว!!!!!!เพื่อนๆพี่ๆน้องพอจะมีข้อมูลไหมคะ

 

โบว์ พัชวรินทร์ ภัทรนาวิก

งั้นสรุปแล้ว Cop = ชุมชน KM ใช่มั๊ยค่ะพี่แป๋ม แล้วเราจะมีการทำ Motivation อย่างไรเพื่อให้คนมากเข้าร่วมใน CoP เยอะๆน่ะค่ะ

 ขอบคุณล่วงหน้าสำหรับคำตอบนะคะ :)

ปล.คนคิดทฤษฎีต้องแอบเชียร์ liverpool แน่ๆเลยอ่ะ (Liverpool = The Cop) อิอิ

ขอขอบคุณความเห็นของทุกๆท่านค่ะ

ขอบคุณปอม น้องภู่ น้องพิงค์ หนุ่ม น้องปิค น้องต้องน้องนัท น้องบอย น้องนันทน์ น้องอาฟ พี่ยิน พี่บุป น้องนุก น้องหวาน น้องเป็ด น้องโบว์ (ครบยังเอ่ย) ที่มาให้ความเห็นและข้อมูลดีๆ ที่นำมาแชร์เพิ่มเติมนะคะ

พี่บุปคะ ที่ถามว่ามีวิธีอย่างไรที่จะให้ CoP นั้นคงอยู่ยั่งยืน  แป๋มคิดว่า องค์การต้องมีส่วนสนับสนุนและให้กำลังใจค่ะ บางแห่งจะมีกฎเลยว่า CoP ของคุณต้องมีการเคลื่อนไหวในการดำเนินกิจกรรมสม่ำเสมอ ถ้าขาดไปเกินกว่า 6 เดือน จะมีการเตือน บางที่ก็กำหนดเวลาไว้สั้นกว่า 6 เดือนอีกค่ะ    นอกจากนี้การที่ผู้บริหารให้การชื่นชมผู้ที่เป็นสมาชิกที่ active ใน CoP ก็ทำให้เกิดกำลังใจในการดำเนินงานต่อไปด้วย

น้องเป็ด  หน่วยงานภาครัฐที่มี CoP  มีตรึมเลยค่ะ ถ้า search ใน google นะคะ พี่ว่าหาได้ง่ายกว่าภาคเอกชนอีกค่ะ อาจเป็นเพราะว่าภาครัฐอยากให้ความรู้เหล่านั้นได้แชร์ออกไปให้กับประชาชนด้วยก็เป็นได้  ที่มักพบก็เป็นโรงพยาบาล และสถาบันการศึกษา 

CoP ของโรงพยาบาลก็จะมีชื่อเก๋ๆ ค่ะ เช่นที่รพ.แห่งหนึ่งก็จะมีชุมชนแผลและออสโตมี   ชุมชนความปลอดภัยในเรื่องยา  ชุมชนพยาบาลวิสัญญี ลอง serach ดูได้ค่ะ

น้องโบว์ พี่แป๋มก็เห็นด้วยค่ะว่า พวกเราใน Blog นี้ก็เป็นสมาชิก CoP เหมือนกันนะ แต่จะเป็น The C(K)op กันทุกคนหรือเปล่า อันนี้ไม่ชัวร์ ^^

เดี๋ยวแวะมาปรับรายงานอีกรอบค่ะ

แป๋ม

หลังจากได้มีโอกาสได้ฟังท่านอาจารย์ ดร.ประพนธ์ ผาสุขยืด มาให้ความรู้เพิ่มเติมในเรื่อง KM และท่านก็ได้แตะเรื่องของ CoP ด้วย ไม่แน่ใจว่าจะมีเพื่อนๆ แวะเข้ามาดูรายงานของเราอีกสักรอบมั้ยหนอ  ถ้าแวะมาก็ยังแชร์ความเห็นกันได้นะคะ

อ่านความเห็นของน้องโบว์อีกรอบ  เลยรู้ว่า อ้อ เรายังไม่ได้ตอบเรื่องที่ถามว่าจะสร้าง motivation อย่างไรให้คนมาเข้าร่วมใน CoP เยอะๆนี่นา    งั้นพี่แป๋มขอแอบนำคำพูดที่ท่านอาจารย์ประพนธ์เล่าให้พวกเราฟังมาตอบนะคะ ว่าเราต้องสร้างให้ CoP เป็นที่ที่คนอยากเข้าไป เพื่อไปเอาความรู้มาใช้ เพื่อไปให้ความรู้เพิ่มเติมแก่กัน  โดยอาจจะมีการระบบ reward & recognition เป็นแรงเสริม  คนสร้าง CoP ก็ปลื้มใจ คนเข้าไปศึกษา/ไปนำความรู้จาก CoP มาใช้ก็ได้ประโยชน์  ก็น่าจะสร้าง motivation ให้คนมาเข้าร่วมใน CoP ได้ 

PS. CoP คือ กัลยาณมิตร ค่ะ [ อิอิ ก๊อบคำพูดอาจารย์ประพนธ์อีกแล้ว :)]

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท