กุศโลบายในการทำดี


ความดี

กุศโลบายในการทำดี

          ๑. ทำดีถูกกาล  คือเมื่อเห็นเป็นเวลาอันเหมาะสมแล้วจึงทำ ไม่ใช่ต้องดูฤกษ์ยามแล้วจึงทำ แต่หมายถึงทำให้ทันเวลาเหมาะแก่เวลา เช่นจะช่วยเหลือคนต้องช่วยให้ทันเวลาที่เขาต้องการความช่วยเหลือ ตรงกับเวลาที่เขาขาดแคลน

          เหมือนให้น้ำแก่คนที่กำลังกระหาย ให้ข้าวแก่คนที่กำลังหิว แม้จะตักเตือนคนให้เว้นความชั่ว ก็ต้องดูเวลาอันเหมาะสม ไม่ให้เขาต้องอับอายเพราะคำเตือนของเรา หรือเตือนเขาเมื่อสายเสียแล้ว เขาได้ทำผิดพลาดไปมากแล้ว

          บางอย่างเราควรเตือนเขาล่วงหน้าเพื่อเขาจะได้ไม่ถลำลึกลงไปในความผิดพลาด การทำดีผิดเวลามักจะให้โทษเหมือนคนเอาเสื้อหนาวมาใส่หน้าร้อน จะร้อนยิ่งขึ้น จะโทษเสื้อไม่ได้ต้องโทษความโง่เขลาของเราเอง

          การช่วยเหลือคนนั้น สิ่งสำคัญที่สุดอย่างหนึ่งก็คือต้องช่วยให้ทันท่วงที อย่าให้พลาดได้ มิฉะนั้นจะเสียประโยชน์ เหมือนช่วยคนตกน้ำ จะต้องช่วยให้ทันท่วงทีก่อนที่จะจมน้ำตาย มัวลังเลล่าช้าอยู่ เขาจมน้ำตายไปแล้วจะช่วยอะไรกันอีก

         นักปราชญ์จีนเช่นจังจื้อ ได้เคยตกยากแล้วกล่าวคำเปรียบเทียบที่น่าคิดเอาไว้ มีเรื่องโดยย่อว่า คราวหนึ่งจังจื้อตกทุกข์ได้ยากบากหน้าไปขอยืมข้าวสารจากเจ้าเมืองคนหนึ่งซึ่งเคยเป็นเพื่อนกัน ท่านเจ้าเมืองพูดว่า "ให้ขอยืมแต่ต้องรอให้เขาเก็บส่วยหรือภาษีจากราษฎรเสียก่อน แล้วจะให้ยืมสัก ๓๐๐ เหรียญเพื่อไปซื้อข้าวสาร"

          จังจื้อได้ฟังดังนั้น จึงเล่าเรื่องเปรียบเปรยว่า "เมื่อวานนี้ขณะฉันเดินทางมาหาท่านที่นี่ ได้ยินเสียงเรียกตะโกนอยู่เบื้องหลัง จึงหันไปดูเห็นปลาตัวหนึ่งดิ้นอยู่ในรอยล้อเกวียนบนดิน ซึ่งมีน้ำแฉะ ๆ ขังอยู่นิดหน่อย ฉันถามมันว่ามานอนดิ้นอยู่ที่นี่เพื่ออะไร?

          ปลาตอบว่ามาจากทะเลตังไฮ มาติดอยู่ที่นี่ ท่านโปรดเมตตาช่วยเหลือฉันสักครั้งหนึ่ง ด้วยการเอาน้ำสักเล็กน้อยมาเทลงบนรอยเกวียนนี้ ฉันฟังปลาพูดดังนั้นจึงตอบว่า "ข้ากำลังเดินทางไปภาคใต้ มุ่งไปแสดงธรรมของข้าให้เจ้านครโง้ว เจ้านครอ๊วดฟัง ข้าจะไประบายน้ำในลำแม่น้ำไซกังมาให้เจ้าจะดีหรือไม่เล่า?"

          ปลาได้ฟังดังนั้นก็น้อยใจ เสียใจ พลางตอบว่า "ฉันรับทุกข์ทรมานอยู่นี้เพราะขาดน้ำ หากได้น้ำเพิ่มอีกเพียงเล็กน้อยก็จะพอยังชีพไปได้ ไม่จำเป็นถึงกับต้องไประบายน้ำในแม่น้ำมาช่วย ถ้าท่านจะทำอย่างนั้น ก็จงรีบไปซื้อฉันตามร้านขายปลาแห้งในตลาดเถิด"

          ๒. ทำดีถูกบุคคล ทำดีถูกบุคคลนั้นทำอย่างไร ? คือการที่เราทำความดีแก่บุคคลที่ควรได้รับความดี เช่น การช่วยเหลือเขาก็ควรช่วยเหลือคนที่ควรช่วย และกำหนดขอบเขตว่าควรช่วยเหลือเพียงใด ถ้าเราช่วยเหลือคนที่ไม่ควรช่วยและช่วยไม่ถูกวิธี ก็จะมีโทษติดตามมา เช่นในนิทานเรื่องชาวนากับงูเห่าเป็นตัวอย่าง

          การช่วยคนที่ควรช่วยนั้นเป็นกุศลมาก เพราะเป็นการบำบัดทุกข์ของเขาจริง ๆ การบำบัดทุกข์มีความสำคัญกว่าการบำรุงสุข ต่อเมื่อบำบัดทุกข์ได้ดีแล้วจึงค่อยบำรุงสุข แต่ถ้าบำบัดทุกข์ยังไม่ได้ มัวแต่พะวงแต่เรื่องบำรุงสุข

          ความสุขที่ได้นั้นก็เป็นความสุขปลอม และเป็นความสุขในกองทุกข์นั้นเองเหมือนเอาดอกไม้หอมไปปักไว้บนสิ่งปฏิกูลเป็นต้นว่าบนกองอุจจาระ จะเป็นอย่างไรจงตรองดูเถิด

          คนบางพวกคิดแต่จะบำรุงสุขสนุกสนาน ทั้งแก่ตนเองและญาติมิตร ในขณะที่การบำบัดทุกข์ที่จำเป็นก็ยังทำไม่ได้ สังคมของเราทำความดีแบบเอาเนื้อหนูไปแลกเนื้อช้างกันเสียเป็นส่วนมาก

          หนูเนื้อน้อยอยู่แล้ว การขูดรีดเอาจากคนยากจน หรือคนที่มีรายได้น้อยไปบำรุงบำเรอความสุขของคนมั่งมีอยู่แล้ว เป็นการทำความดีแบบเอาเนื้อหนูไปใส่เนื้อช้าง หรือขอดน้ำในหลุมเท้าโคไปใส่แม่น้ำทำนองเดียวกัน


          นอกจากนี้ ควรพิจารณาถึงคุณธรรมของคนที่เราจะช่วยเหลืออีกด้วย  คนมีคุณธรรมน้อยช่วยไปก็ได้ผลน้อย (นี่พูดถึงทำความดีด้วยการหวังผล) เหมือนหว่านข้าวลงไปในนาที่ไม่ดี, คนที่มีคุณธรรมสูงมาก ความดีที่ทำให้ผลมากเหมือนหว่านพืชลงในที่ดินดี นี่เป็นเหตุผลประการหนึ่งที่คนชอบทำบุญทำทานกับผู้มีศีลธรรม

          อีกประการหนึ่งความกตัญญูกตเวทีนั้นเป็นภูมิธรรมของคนดี คนที่มีภูมิธรรมอันนี้มีไม่มากนัก ถ้าเราทำความดีไปถูกคนที่มีความกตัญญูกตเวที ผลดีก็มีเพิ่มพูนเป็นทวีคูณ ตรีคูณหรือได้รับผลดี ตอบแทนเป็นร้อยเท่าพันเท่า

          แต่ถ้าเราทำความดีไปถูกคนที่อกตัญญูกตเวทีเข้า ก็เหมือนว่าหว่านพืชลงบนหิน เหนื่อยแรงเปล่า อาจจะกลับกลายไปเป็นโทษภายหลังได้ด้วย เพราะคนอกตัญญูอกตเวทีนั้นชอบประทุษร้ายคนที่มีบุญคุณต่อตน มิะนั้นเขาจะเรียกคนอกตัญญูหรือ

๓. ทำดีเหมาะกับเหตุการณ์ ทำดีให้เหมาะกับเหตุการณ์นั้นทำอย่างไร ? ในที่นี้หมายถึงการทำถูกเรื่องถูกราว ไม่ดึงดันถือเอาแต่ความเห็นของตน หรือความพอใจไม่พอใจของตนเป็นสำคัญ แต่ยืดหยุ่นผ่อนผันตามเหตุการณ์ที่เรียกรวม ๆ ว่า

          การณวสิกตา ความเป็นผู้ทำกิจเหมาะแก่เหตุการณ์, ทำพอสมควรแก่ฐานะ ความรู้ความสามารถของตน อนึ่งเหตุการณ์ของโลกย่อมเปลี่ยนไปเรื่อย ๆ

          การดึงดันแข็งขืนอยู่คนเดียวย่อมไม่ได้ประโยชน์ นอกจากคนทั้งหลายจะไม่เห็นดีแล้ว ตัวเองก็ต้องคอยแข็งขืนขัดแย้งกับคนในสังคมอยู่ตลอดเวลา ทำให้เกิดการทะเลาะวิวาทเป็นศัตรูต่อกัน

          ความรู้ความสามารถ ศิลปวิทยาที่จะอำนวยผลมากก็ต้องเป็นความรู้ความสามารถอันเป็นที่นิยมของสังคม เพราะฉะนั้น ความรู้ความสามารถที่ทันสมัยจึงเป็นอุปการะต่อชีวิตมาก

          จะเห็นคุณของศิลปวิทยาการก็ต่อเมื่อสังคมต้องการและนำไปใช้ประโยชน์นั้นเอง ความรู้ความสามารถจะเป็นหมันถ้าไม่ได้ใช้ เหมือนอาหารที่ไม่ย่อยมีแต่ให้ความอึดอัดหามีประโยชน์อันใดไม่

          ความรู้อย่างหนึ่ง อาจมีประโยชน์มากในสมัยหนึ่ง แต่ต่อมาความนิยมของคนทั้งหลายเสื่อมไป ใครยังดึงดันยึดถือความรู้อย่างนั้นเป็นที่พึ่งอยู่ก็อาจจะต้องเดือดร้อน

          จะพร่ำรำพันว่าฉันมีความรู้ความสามารถดี แต่ทำไมจึงไม่ได้ดีดังนี้หาควรไม่ เพราะไม่เหมาะกับเหตุการณ์และความนิยม การทำความดีที่ถูกต้องตามระเบียบกฏเกณฑ์อันดีงาม ก็จัดอยู่ในข้อนี้เหมือนกัน

          รวมความว่า การทำความดีนั้น จะต้องมีกุศโลบาย มีความฉลาดรอบคอบพอสมควรจึงจะได้รับผลเต็มที่ จะได้ไม่ต้องคิดอีกต่อไปว่าทำดีแล้วไม่ได้ดี คนที่ทำความดีเป็นนั้นจะได้รับผลดีเสมอ และได้รับเท่าที่ต้องการหรือมากกว่าที่ต้องการ

          เหมือนเพาะมะม่วงไว้เมล็ดหนึ่งพองอกเป็นต้น ถึงคราวมีลูกมันจะให้ลูกเป็นร้อยเป็นพันและมีลูกให้นานถึง ๖๐ - ๗๐ ปี จนกว่าจะแก่ตายไป

 

 
คำสำคัญ (Tags): #ความดี
หมายเลขบันทึก: 114991เขียนเมื่อ 27 กรกฎาคม 2007 10:24 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 พฤษภาคม 2015 01:46 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท