เครื่องทุ่นแรงคุณครู


เท่านี้ครูก็ได้เครื่องทุ่นแรง ทำงานน้อยแต่ได้ผลมากงานของนักเรียนชิ้นหนึ่งใช้อย่างคุ้มค่าดีกว่าสั่งให้นักเรียนทำงานจนมากมายแต่ครูไม่มีเวลาตรวจงานปล่อยให้ความผิดพลาดในการตรวจงานปรากฏอยู่ในแบบฝึกหัดบ่อยๆ

     วงจรการสอนที่พบเสมอๆ มักจะเริ่มต้นจากคุณครูมอบหมายงานให้นักเรียนทำเมื่อทำเสร็จแล้วก็ส่งครู ครูตรวจให้คะแนนเก็บชิ้นงานเข้าแฟ้มสะสมงานนักเรียนหรือไม่ก็ส่งกลับคืนนักเรียนไป อาจมีการแจ้งผลการตรวจงานบ้างตามสมควรเช่นเขียนเครื่องหมายถูกอันใหญ่ๆ หรือผิดอันใหญ่ๆ เมื่อผมไปเยี่ยมห้องเรียนและพบชิ้นงานประดิษฐ์ของนักเรียนที่แสดงไว้หลังห้องเรียน เคยลองถามคุณครูว่าทำไม คนนี้ได้คะแนน 7 คะแนน และทำไมคนนี้ได้ 8 คะแนน คุณครูก็บอกว่าจำไม่ได้แล้ว มันนานมาแล้วหรือบอกได้รวมๆ ว่าอันนี้สวยกว่าอันนี้ เป็นต้นและลองถามอีกว่า เจ้าของผลงานชิ้นนี้มีความเห็นต่องานของเขาอย่างไร... คุณครูตอบว่าไม่ทราบไม่เคยถาม เมื่อนักเรียนส่งงานแล้วตรวจให้คะแนน อันไหนสวยครูก็นำไปแสดงหลังห้องเรียน ผมลองถามนักเรียนเจ้าของผลงานว่า นักเรียนคิดว่าผลงานชิ้นนี้มีข้อบกพร่องหรือควรจะปรับปรุงตรงไหน... นักเรียนสามารถบอกได้ อธิบายได้...และหากทำงานแบบนี้อีกชิ้นหนึ่งนักเรียนจะปรับปรุงอย่างไร...นักเรียนก็สามารถอธิบายได้อย่างครอบคลุมจนครูผู้สอนประหลาดใจไม่คิดว่านักเรียนจะประเมินงานของตัวได้และยังไม่ลืมแม้เวลาจะผ่านมาเนิ่นนาน...


     ผมเสนออีกว่าในการทำงานของนักเรียนชิ้นหนึ่งๆ ครูควรจะใช้ประโยชน์จากงานนั้นให้มากที่สุดในกระบวนการทำงานที่เริ่มตั้งแต่ให้นักเรียนวางแผน ออกแบบ ผลิตงานรวมทั้งประเมินชิ้นงานด้วยตนเองและประเมินชิ้นงานของเพื่อนโดยนักเรียนเป็นผู้กำหนดเกณฑ์ในการประเมินลักษณะรูบริคส์ (rubric) เพราะหากถามนักเรียนว่า ชิ้นงานที่ดีน่าจะต้องมีคุณสมบัติอย่างไร นักเรียนก็จะช่วยกันกำหนดรายการประเมินออกมารวมทั้งระดับคุณภาพของแต่ละรายการว่าคุณภาพระดับ4 ระดับ3 ควรจะมีคุณลักษณะหรือมิติคุณภาพอย่างไร...และเชื่อหรือไม่ว่านักเรียนทุกคนเขาประเมินงานของเขาหรือของเพื่อนอย่างเที่ยงธรรมไม่ลำเอียงใดๆ แบ่งเบาภาระครูได้มาก ผลการประเมินก็นำมาใช้ในการปรับปรุงงานแต่ไม่ควรนำไปตัดสินได้ตกเพราะจะทำให้นักเรียนกังวลใจมีผลกระทบต่อการประเมินงานได้...เท่านี้ครูก็ได้เครื่องทุ่นแรง ทำงานน้อยแต่ได้ผลมากงานของนักเรียนชิ้นหนึ่งใช้อย่างคุ้มค่าดีกว่าสั่งให้นักเรียนทำงานจนมากมายแต่ครูไม่มีเวลาตรวจงานปล่อยให้ความผิดพลาดในการตรวจงานปรากฏอยู่ในแบบฝึกหัดบ่อยๆ ใครมาพบเห็นก็อาจจะขาดความเชื่อถือได้ ความขยันอาจจะกลายเป็นโทษได้เหมือนกันครับ...

หมายเลขบันทึก: 114929เขียนเมื่อ 26 กรกฎาคม 2007 23:28 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 18:12 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
แวะมาเยี่ยมค่ะ... ขับเคลื่อนการคิดสู่ห้องเรียนได้เยี่ยมมากเลย
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท