เศรษฐกิจพอเพียง ทางรอดของสังคมโลก ความพยายามขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียงสู่การปฏิบัติด้วยย่างก้าวเล็ก ๆ ของนักศึกษามหาวิทยาลัยชีวิต


ในระดับชุมชนท้องถิ่นของไทยนั้น หลายพื้นที่ถูกกระทำชำเราด้วยการพัฒนาสมัยใหม่รอบแล้วรอบเล่า จนทรัพยากรธรรมชาติที่เคยอุดมสมบูรณ์ถูกสูบเข้าไปสู่กระบวนการผลิตของอุตสาหกรรมในเมืองใหญ่ พร้อม ๆ กับถนน เขื่อน และไฟฟ้าที่รุกคืบเข้ามาในท้องถิ่นชุมชน แม้ว่าโครงการพัฒนาโครงการแล้ว โครงการเล่าได้เข้ามาสู่พื้นที่ของชุมชนท้องถิ่นนั้น ๆ แต่ก็ดูราวกับว่า หลายโครงการที่มีหลักการของเศรษฐกิจพอเพียงและการพัฒนาที่ยั่งยืน กลับให้ผลในทางกลับกัน หรือให้ผลได้ไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย
บันทึกนี้  นำมาจากบทความที่ผมเขียนให้นักศึกษาวิชาเศรษฐกิจพอเพียงโครงการมหาวิทยาลัยชีวิตศูนย์ฯ หัวไทร และปากพนังอ่าน  ก่อนเข้าร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนในวันแรก  ท่านผู้อ่านลองพิจารณาดูนะครับ

 
ประวัติศาสตร์ของมนุษย์ชาติ  ต้องประสบกับภาวะ 
โตแล้วแตก  ครั้งแล้วครั้งเล่า  นับตั้งแต่เศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ในปี ค.ศ. 1929 และหลังจากนั้น  ปรากฏการณ์โตแล้วแตกก็มีให้เห็นบ่อยขึ้นตั้งแต่อเมริกาใต้ไปจนถึงตะวันออกไกล  แต่ก็ดูเหมือนว่า  มนุษย์เรียนรู้ความเจ็บปวดแต่ละครั้งได้น้อยมากโดยเฉพาะคนไทย  ที่วิ่งตามการพัฒนาสมัยใหม่ตั้งแต่สมัยสงครามเย็นจนถึงสมัยหลังสงครามเย็น  กระทั่งเมื่อไม่นานมานี้ก็เวียนมาถึงดินแดนที่เป็นอู่ข้าวอู่น้ำของโลกอย่างประเทศไทย  คนไทยจึงเริ่มตั้งสติได้  คงเป็นเพราะความเพลิดเพลินในการบริโภคลดน้อยลง  เนื่องจากสมบัติร่อยหรอลง  จึงพอจะมีเวลามาใคร่ครวญถึงคำสอนที่ทรงคุณค่าของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว  ที่ตรัสไว้ตั้งแต่ทรงขึ้นครองราชย์เมื่อ 60 ปีที่แล้วว่า  เพื่อประโยชน์สุข แต่ดูเหมือนว่า  เมื่อครั้งกระโน้นหาคนที่จะเข้าใจยาก  อาจจะเป็นเพื่อเมื่อครั้งกระโน้น  สยามประเทศยังไม่มีวี่แววของความทุกข์ยากอย่างเช่นทุกวันนี้ก็เป็นไปได้
               

ก่อนหน้าที่แนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงจะได้รับการใส่ใจอย่างจริงจังอย่างเช่นในปัจจุบัน  ทั่วทั้งโลกรวมทั้งประเทศไทยด้วย  ต่างก็มุ่งพัฒนาเศรษฐกิจไปในแนวทางเดียวกันหมด  ตามการกำหนดทิศทางขององค์การโลกบาลซึ่งกุมบังเหียนโดยสหรัฐอเมริกาและประเทศอุตสาหกรรมตะวันตกทั้งหลาย  แนวทางที่ว่านั้นคือ  การเอาการเจริญเติบโตทางวัตถุเป็นตัวชี้วัดความเจริญของประเทศต่าง ๆ รวมทั้งเอาตัวเงินเป็นตัวชี้วัดคุณภาพชีวิตของมนุษย์  ประชาชนที่อยู่ในดินแดนที่ความเจริญทางด้านวัตถุยังไปไม่ถึง  ถูกมองว่าเป็นชุมชนล้าหลัง  หรือชุมชนด้อยพัฒนา  ตามการให้ความหมายของการพัฒนาสมัยใหม่  ดังนั้น  ผู้ที่อยู่ในท้องถิ่นห่างไกลเหล่านั้น  จึงยินยอมพร้อมใจที่จะให้การพัฒนาสมัยใหม่เข้าไปถึงท้องถิ่นของตนให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไป  ไม่ว่าจะในรูปของเขื่อนขนาดใหญ่  ถนน  ไฟฟ้า  และอีกสารพัด
               

ไม่เพียงแต่ความเป็นเจ้าของวัตถุที่เป็นประดิษฐกรรมของการพัฒนาสมัยใหม่เท่านั้น  ที่จะเป็นตัวบ่งชี้ว่า  ชุมชนแห่งนั้นเจริญ  แต่การพฤติกรรม 
ซื้อทุกอย่างที่ขวางหน้า  ได้ถูกบ่มเพาะขึ้นในสังคมทีละเล็กละน้อย  จนกลายเป็นเรื่องธรรมดา  และเป็นเรื่อง  จำเป็น  ในที่สุด  จึงจะพบเห็นได้บ่อย ๆ ในสังคมบริโภควัตถุนิยมว่า  บางครั้งการซื้อสินค้าบางอย่างก็ซื้อเพื่อประโยชน์ในเชิงสังคมมากกว่าประโยชน์ใช้สอยจริง ๆ ของสินค้า  พฤติกรรมการบริโภคดังกล่าวนี้  เป็นตัวกระตุ้นความเติบโตของเศรษฐกิจแบบเก่า  หรือเศรษฐกิจในยุคอุตสาหกรรมได้เป็นอย่างดี  รัฐบาลก็ต้องการตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจ  เพื่อความชอบธรรมในการบริหารประเทศ  ชาวบ้านก็ได้บริโภคสินค้าใหม่ ๆ สนองความต้องการได้อย่างไม่มีที่สิ้นสุด  นักลงทุนก็ได้กำไรมหาศาล  ดูเผิน ๆ ก็ราวกับว่าสังคมเราเข้าสู่ยุค  พระศรีอาริยเมตไตร แล้วยังไงยังงั้น  หากไม่มีสัญญาณเตือนครั้งใหญ่ทางเศรษฐกิจในปี 2540 ผนวกกับภิบัติภัยทางธรรมชาติที่นับวันจะรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ ไม่ว่าจะเป็นน้ำป่า  ลมพายุ  น้ำท่วมใหญ่  มนุษย์คงไม่มีวันตระหนักได้ว่า  เศรษฐกิจแบบเก่ากำลังมุ่งหน้าไปสู่หายนะ  เพราะในขณะที่มนุษย์บริโภคกันอย่างสนุกสนาน  แต่สิ่งเดียวที่ต้องทนทุกข์คือ  ธรรมชาติ  เพราะเศรษฐกิจแบบเก่า  เป็นเศรษฐกิจที่ใช้ทรัพยากรฟุ่มเฟือยและสิ้นเปลือง  คราวนี้เอง  มนุษย์จึงเริ่มเชื่ออย่างจริงจังขึ้นทุกวัน ๆ ว่า  เศรษฐกิจพอเพียงคือทางรอดเดียวของโลกมนุษย์
               

ในระดับชุมชนท้องถิ่นของไทยนั้น  หลายพื้นที่ถูกกระทำชำเราด้วยการพัฒนาสมัยใหม่รอบแล้วรอบเล่า  จนทรัพยากรธรรมชาติที่เคยอุดมสมบูรณ์ถูกสูบเข้าไปสู่กระบวนการผลิตของอุตสาหกรรมในเมืองใหญ่  พร้อม ๆ กับถนน  เขื่อน  และไฟฟ้าที่รุกคืบเข้ามาในท้องถิ่นชุมชน  แม้ว่าโครงการพัฒนาโครงการแล้ว  โครงการเล่าได้เข้ามาสู่พื้นที่ของชุมชนท้องถิ่นนั้น ๆ แต่ก็ดูราวกับว่า  หลายโครงการที่มีหลักการของเศรษฐกิจพอเพียงและการพัฒนาที่ยั่งยืน  กลับให้ผลในทางกลับกัน  หรือให้ผลได้ไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย  นี่อาจมีสาเหตุจาก  วิธีเราเปลี่ยนความคิดในการพัฒนาเศรษฐกิจจากแบบอุตสาหกรรมมาเป็นแบบพอเพียง  แต่วิธีการเรากลับไม่ได้ใช้วิธีการแบบเศรษฐกิจพอเพียง  เรากลับไปใช้วิธีการแบบเศรษฐกิจอุตสาหกรรม  คือนำเข้าการพัฒนาแบบเศรษฐกิจพอเพียงจากเมืองมาสู่ชุมชนท้องถิ่น  ซึ่งเราเคยทำพลาดมาแล้วสมัยเรานำเข้าการพัฒนาสมัยใหม่จากสหรัฐอเมริกามาสู่ประเทศไทย  แต่ก็นับว่ายังโชคดีที่เรารู้ตัวทัน  เพราะเริ่มมีคนตั้งข้อสังเกตได้เร็วว่า 
ทำไมเศรษฐกิจพอเพียงจึงไม่แพร่กระจายเท่าที่ควร  แต่กว่าจะมีการศึกษาวิชาเศรษฐกิจพอเพียงในชุมชนท้องถิ่น  ก็ต้องใช้เวลาหลายปี  กว่าจะเป็นรูปธรรม 
การพัฒนาแบบเศรษฐกิจพอเพียง  เป็นการพัฒนาที่สวนกระแสกับเศรษฐกิจแบบอุตสาหกรรม  ดังนั้นวิธีการก็ต้องสวนกระแสกับการพัฒนาของเศรษฐกิจอุตสาหกรรม  ในเศรษฐกิจแบบอุตสาหกรรมนั้น  การสั่งการจากส่วนกลางเป็นสิ่งที่สามารถทำได้  เพราะมนุษย์ในระบบเศรษฐกิจแบบอุตสาหกรรมนั้น  ขับเคลื่อนไปด้วย  ความอยาก  ขาดสติ  ไร้เหตุผล  จึงสามารถทำตามคำสั่งได้โดยไม่ต้องคิด  เพียงแต่มีเครื่องล่อก็ยินดีปฏิบัติตามคำสั่ง  เปรียบเสมือน  ปลาตาย  ที่พร้อมจะลอยตามน้ำที่ไหลแม้เพียงแผ่วเบาได้ตลอดเวลา  แตกต่างกับการพัฒนาแบบเศรษฐกิจพอเพียง  เพราะมนุษย์ในระบบเศรษฐกิจพอเพียงนี้  ขับเคลื่อนไปด้วย  ความพอดี  มีสติ  และเหตุผล  จึงสามารถแยกแยะได้เองว่า  อะไรควร  และอะไรไม่ควร  สามารถตัดสินใจเองได้  หากเห็นว่าสิ่งใดชอบธรรม  ก็พร้อมที่จะทุ่มเทพลังโดยไม่ขึ้นกับเงื่อนไขเครื่องล่อใจแต่อย่างใด  การเรียนรู้แนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง  จึงเปรียบเสมือนการใส่จิตวิญญาณให้มนุษย์  และคืนชีวิตให้ปลาเพื่อให้สามารถว่ายทวนน้ำได้  เศรษฐกิจพอเพียง  จึงจะงอกเงย  เจริญเติบโต  และยั่งยืนได้  ก็แต่โดยการเติบโตจากพื้นดินโดยการเพาะเมล็ดเท่านั้น  การนำเข้าเศรษฐกิจพอเพียงจากส่วนกลางสู่ชุมชนท้องถิ่นดังที่เคยปฏิบัติมาแบบเก่า  จะไม่ได้ผลแน่นอนเพราะสภาพสังคมไม่เอื้ออำนวย    เปรียบเสมือนกับการนำไม้มาปักชำในสภาวะแวดล้อมที่เต็มไปด้วยพายุฝนและลมแรง  โอกาสที่กล้าไม้ที่ปักชำจะติดรากและเติบโตแทบจะเป็นไปไม่ได้เลย  การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงในชุมชนท้องถิ่นจึงเป็นดั่งการ  เพาะเมล็ด  แห่งเศรษฐกิจพอเพียงให้งอกงามขึ้นมาเอง  แม้จะใช้เวลานาน  แต่ก็จำเป็นต้องทำ  เพราะทางเลือกและเวลาเหลือไม่มากนักในสังคมโลกปัจจุบัน
หมายเลขบันทึก: 114891เขียนเมื่อ 26 กรกฎาคม 2007 20:05 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 มิถุนายน 2012 19:34 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ยังขาดโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ไปนะครับ. กัลกีอาจจะมากับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ก็ได้นะครับ :-).

ขออนุญาตเข้ามาแนะนำศูนย์เรียนรู้มหาวิทยาลัยชีวิตน้องใหม่ครับ นั่นคือ "ศูนย์เรียนรู้มหาวิทยาลัยชีวิตช้างกลาง" ตั้งอยู่ที่ วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีนครศรีธรรมราช ต.ช้างกลาง อ.ช้างกลาง จ.นครศรีธรรมราช 80250 เผื่อว่ารุ่นพี่ผู้ผ่านประสบการณ์มาก่อนจะเข้าไปให้คำแนะนำน้อง ๆ ทางปักษ์ใต้บ้างนะครับ ที่อยู่บนเน็ตของเราคือ http://cklifecenter.blogspot.com/

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท