เพลงพื้นบ้าน จากการปฏิบัติจริง 11 (เพลงแหล่)


เสน่ห์ของเพลงแหล่ อยู่ที่การหาคำมาร้องได้อย่างฉับพลัน

 

เพลงพื้นบ้าน

จากการปฏิบัติจริง (11)

เพลงแหล่ ตอนที่ 1 

            เพลงแหล่ มีวิวัฒนาการมาจากพระที่นั่งเทศน์อยู่บนธรรมาสน์ เทศมหาชาติทั้ง 13 กัณฑ์ ในสมัยก่อน พระนักเทศน์องค์ที่จะทำหน้าที่เทศน์มหาชาติในกัณฑ์ใดได้จะต้องมีลีลา มีน้ำเสียง และท่วงทำนองในการร้องออกมาเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว เพราะในแต่ละกัณฑ์จะมีทำนองแหล่ที่ไม่เหมือนกัน เช่น เทศน์กัณฑ์มหาพน มีทำนองที่ฟังแล้วอ่อนช้อย นุ่มนวล ชวนให้ติดตาม  สำเนียงของพระนักเทศน์แต่ละรูปจะแตกต่างกันออกไป โดยการฝึกหัดจะต้องให้เหมาะสมกับการเทศน์ในแต่ละกัณฑ์ โดยเฉพาะน้ำเสียงที่ออกมาในทางเสียงปี่แบบใดแบบหนึ่ง เช่น เสียงเทียบได้กับปี่ชวา แสดงว่ามาทางชวา หรือเสียงที่เทียบได้กับปี่ใน มาทางใน และพระบางรูปก็มีน้ำเสียงของท่านมาทางขลุ่ย ซึ่งก็ทำให้น่ารับฟัง เช่นกัน 

                จะเห็นได้ว่าในการเทศน์มหาชาตินั้น มิใช่ว่าเป็นพระ มีน้ำเสียงดี ไพเราะเท่านั้น แต่น้ำเสียงของพระแต่ละรูป จะต้องเป็นเอกลักษณ์ของแต่ละกัณฑ์เทศน์ได้อีกด้วย และจะต้องมีการฝึกฝนคำร้อง ท่วงทำนอง และลีลาในการเอื้อนเอ่ยมาจากการกระทบนาสิกที่ไพเราะน่ารับฟัง เสียงที่ร้องออกมาจากลำคอ ทั้งนี้เพราะว่า ในการเทศน์มหาชาตินั้นถึงแม่ว้าจะมีวงดนตรีไทยรับเมื่อจบในแต่ละกัณฑ์ กล่าวคือ มีเพลงประจำกัณฑ์ แต่ในระหว่างที่พระท่านทำการเทศนาอยู่นั้น เป็นการแหล่ด้วยเสียงสดล้วน ๆ ไม่มีดนตรีและเครื่องให้จังหวะประกอบ 

                        

                         เมื่อมีผู้คน ได้รับฟังพระเทศนาในรูปแบบแหล่ ก็มีคนเลียนแบบฝึกร้องแหล่อย่างพระ หรือบางทีก็พระนั่นแหละสึกออกมาเป็นนักร้อง ร้องเพลงแหล่ สำหรับศิลปินเพลงแหล่ที่เป็นที่ยอมรับกันว่า ท่านเป็นบรมครูของนักร้องเพลงแหล่ เป็นต้นแบบฉบับของเพลงแหล่ในยุคต้น ๆ คือ พระพร ภิรมย์ หรือ บุญสม ลูกอยุธยา (ในนามคณะลิเก)  ในยุคต่อมาก็เป็นนักร้องรุ่นน้องในวงดนตรีจุฬารัตน์ ของครูมงคล อมาตยกุล ท่านผู้นั้นคือ ชาย  เมืองสิงห์ หรือ สมเศียร  พานทอง 

                         ส่วนนักร้องเพลงแหล่ที่มีผลงานบันทึกเสียงมากที่สุดนับพันเพลง และเป็นนักแหล่สดที่ได้รับการยกย่อง อันดับหนึ่งของเมืองไทย คือ ไวพจน์  เพชรสุพรรณ ศิลปินแห่งชาติด้านนักร้องนักแสดงเพลงลูกทุ่ง ปี พ.ศ. 2540 ท่านเป็นนักร้องเพลงแหล่ ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวเป็นต้นแบบของนักแหล่ที่ยืนยงมาตลอดกาล มีผลงานเป็นที่ยอมรับ และได้รับความนิยมไม่มีตก 

                         ผมเป็นอีกคนหนึ่งที่มีความสนใจ ในการร้องแหล่มานาน เริ่มต้นจากการฝึกแหล่ตามแผ่นเสียงของพร ภิรมย์ เพลงพ่อหม้ายลาบวช  เพลงเมียจาก  เพลงใจเดียว และอีกหลาย ๆ เพลงที่ผมฝึกร้องและนำเอาไปประกวดบนเวทีร้องเพลงลูกทุ่ง ตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2505 ต่อมาก็มาฝึกร้องเพลงแหล่ตามแนวของชัยชนะ  บุญโชติ แต่ว่าแนวเพลงแหล่ของท่านจะร้องช้า จังหวะเนิบ ๆ ไปสักนิด มาถึงปี พ.ศ. 2513 ผมฝึกหัดทำขวัญนาค กับ คุณตาวัน  มีชนะ (พ่อคุณวัน  มีชนะ) ตรงนี้เองที่ผมได้ฝึกหัดร้องเพลงแหล่อย่างเต็มตัว ฝึกอย่างจริงจัง ในยุคนั้น พ่อคุณใช้เพลงแหล่อย่างเดียวบทเพลงที่แทรกเป็นลูกเล่นในการทำขวัญนาค (รานิเกลิง ห้ามร้อง) และร้องเพลงไทยที่เรียกว่า  เพลงไทยเดิมได้ พ่อคุณไม่ว่า  

                        ผมฝึกหัดร้องเพลงแหล่ โดยจดเนื้อร้องจากหนังสือทำขวัญนาคไปท่องจำ และก็มาร้องให้พ่อคุณฟัง ในช่วงนั้นหัดกันหลายคน (มีอยู่ 9 คน) เวลานำเอาเพลงไปร้องก็จะเลือกเพลงที่เข้ากับพิธีทำขวัญนาค แต่ถ้าวันใด พ่อคุณไม่ได้ไปด้วย ผมก็ร้องแยกออกไปโดยใช้เพลงลูกทุ่งที่มีเนื้อหาและคำสัมผัสง่าย ๆ ที่เรียกว่ากลอนเดียวตลอดไปร้อง และแยกออกไปร้องเนื้อที่ไม่ได้เตรียมเอาไว้ก่อน (ด้นสด) ร้องเพียงสั้น ๆ เพราะคิดไม่ออก  แต่เมื่อร้องไปนาน ๆ หลาย ๆ งานมากเข้า  ผมเริ่มมองเห็นว่า คำที่ผมจะนำเอามาร้อง มันรอให้ผมจับเอามาใส่สมองร้องออไปได้อย่างฉับพลัน ทั้งนี้อาจจะเกิดจากท่องเพลงได้มาก ฝึกหัดร้องบ่อย ๆ และแตกเนื้อหาไปตามที่ใจเราอยากจะไปแต่ค่อยเป็นค่อยไป ครับ 

                      

                          เพลงแหล่กับการด้นกลอนสดเป็นสิ่งคู่กัน นักแหล่ที่ด้นกลอนสดเก่ง ๆ รุ่นใหม่ ๆ ได้แก่ คุณบุญโทน  คนหนุ่ม  นักร้องผู้นี้คิดคำได้รวดเร็ว ไวมาก และใช้ท่วงทำนองเร็ว กระชับ น่าฟัง  

                         เพลงแหล่ที่น่าสนใจ น่าติดตามรับฟังในงานต่าง ๆ คงจะหนีไม่พ้น การแหล่ด้นกลอนสด เพราะจะเป็นเพลงที่ร้องออกมาสด ๆ ในสถานการณ์นั้น ๆ โดยเฉพาะเลย  พูดได้ว่าเป็นเพลงเฉพาะงาน และเป็นเพลงเดียวในงานนั้น ๆ ไม่มีคนอื่นมาร้องซ้ำได้ แม้แต่นักร้องเองก็ร้องใหม่อีกเที่ยวหนึ่งให้เหมือนเก่าไม่ได้ เสน่ห์ของการแหล่ด้นกลอนสดจึงอยู่ที่ ความเป็นปัจจุบันทันด่วน การทำให้ผู้ฟังคาดไม่ถึงว่าจะสามารถหาคำมาร้องได้ และมีการผูกสัมผัสตามแบบแผนผังของบทกลอนได้ โดยรูปแบบลักษณะใหญ่ ๆ ถ้ายึดเอาบทร้องเป็นหลักแล้ว เพลงแหล่จะมี 2 ลักษณะ 

(ติดตามเพลงแหล่ในตอนต่อไป  ชำเลือง  มณีวงษ์ / 2550)

 

หมายเลขบันทึก: 113196เขียนเมื่อ 21 กรกฎาคม 2007 00:06 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 18:10 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

ไม่อนุญาตให้แสดงความเห็น
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท