เรื่องเล่าจากดงหลวง 132 ย้อนมองข้างหลัง


ปราชญ์ชุมชนที่ก้าวขึ้นมาอยู่แนวหน้าของสังคมไทยนั้น ไม่ว่า ผู้ใหญ่วิบูลย์ เข็มเฉลิม พ่อผาย สร้อยสระกลาง พ่อมหาอยู่ สุนทรชัย และพ่ออะไรต่อพ่ออะไรมากมายนั้น รวมไปถึงครูชบ ยอดแก้วแห่งคึรึวง ท่านเหล่านี้ส่วนมากสัมฤทธิ์ผลทางการปฏิบัติจนถูกกล่าวขานเป็นปราชญ์ได้นั้น มาจากการสรุปบทเรียนจากตัวเอง แล้วปรับเปลี่ยนวิธีคิดใหม่ ย้อนทำสิ่งใหม่ๆที่มิใช่ทำตามกระแสงานส่งเสริมการพัฒนาตามสายหลัก

ในช่วงหนึ่งที่มีการพูดกันถึงเรื่องการพัฒนาโดยอาศัยแนวทางวัฒนธรรมชุมชนนั้นเป็นประเด็นถกเถียงกันมากทั้งนักวิชาการและนักพัฒนาชุมชนว่ามันคืออะไร เวลามันผ่านมาแล้วจะไปย้อนฟื้นคืนชีพมันไม่ได้แล้ว กลุ่มหนึ่งมีความเห็นเช่นนั้น อีกกลุ่มก็ยืนยันว่าเขาเห็นวัฒนธรรมชุมชน และเห็นศักยภาพ เห็นพลังท่ามกลางกระแสทุนนิยม จนท่านอาจารย์ฉัตรทิพย์ นาถสุภาศึกษาค้นคว้าเรื่องราวเกี่ยวกับชุมชนออกมา  

คนอย่างท่านอาจารย์ฉัตรทิพย์พูด ก็ย่อมมีคนฟังมากกว่านักพัฒนาโนเนมที่ไหน เพราะท่านมีหลักฐานทางวิชาการมายืนยัน ในที่สุดแนวทางนี้ที่นักพัฒนากล่าวมาก่อน เช่นท่านบาทหลวงนิพจน์ เทียนวิหาร แห่งเชียงใหม่ที่เปิดฉากเรื่องนี้ได้ลึกซึ้งมาก พี่บำรุง บุญปัญญา พี่ใหญ่แห่งวงการพัฒนาอีสาน ผู้จบเกียรตินิยม Soil science จาก มก. ผู้ปฏิเสธห้องเรียนที่มหาวิทยาลัย Leading แห่งสหราชอาณาจักร ปีที่สอง เพราะเห็นว่างานพัฒนาชุมชนมิใช่อยู่ในห้องเรียน แต่อยู่ที่ชนบท เป็นผู้ที่นักพัฒนายกย่องท่านเป็น ราชสีห์อีสาน  ออกมาย้ำอย่างหนักแน่นถึงศักยภาพชุมชนที่ซ่อนอยู่บนใบหน้าที่เหี่ยวย่น มือที่หยาบกร้าน และคุณอภิชาติ ทองอยู่ นักพัฒนาเก๋ากึก ร่างใหญ่ ใจถึง มาตอกย้ำพลังชุมชนในแนวทางวัฒนธรรมที่มีอยู่ ไม่แตกสลาย มลายสิ้นอย่างที่ใครๆกล่าวถึง  

อานิสงค์การที่วงการนักพัฒนา และนักวิชาการได้หยิบเรื่องนี้มาตีแผ่ให้เห็นกันอย่างชัดเจน ทำให้กิจกรรมงานพัฒนาได้ปรับเปลี่ยนโฉมหน้าไปอย่างมากมาย และช่างสอดคล้องกับแนวโน้มโลก ที่เน้นการมีส่วนร่วมของประชาชนในงานพัฒนา เน้น บทบาทชายหญิงในงานพัฒนา เน้นฟื้นฟูคุณค่าวัฒนธรรมเดิมที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตของเกษตรมากกว่า ที่จะไหลตามกระแสการปฏิวัติเขียวที่รัฐบาลนำเข้ามา และการเน้นปริมาณผลผลิตมากกว่าความพอดี  ท่าน ดร. เจมส์ ซี เยน แห่ง PRRM ก็สร้าง Credo ขึ้นมา โดยย้ำถึงการเข้าไปหาชาวบ้าน ฟังเขา คลุกคลีกับเขา เรียนรู้จากเขา ร่วมงานกับเขา ไม่ใช่ไปสั่งไปสอนดั่งระบบราชการแบบเก่าๆ 

หากจะสังเกตให้ดี ปราชญ์ชุมชนที่ก้าวขึ้นมาอยู่แนวหน้าของสังคมไทยนั้น ไม่ว่า ผู้ใหญ่วิบูลย์ เข็มเฉลิม  พ่อผาย สร้อยสระกลาง พ่อมหาอยู่ สุนทรชัย และพ่ออะไรต่อพ่ออะไรมากมายนั้น รวมไปถึงครูชบ ยอดแก้วแห่งคึรึวง ท่านเหล่านี้ส่วนมากสัมฤทธิ์ผลทางการปฏิบัติจนถูกกล่าวขานเป็นปราชญ์ได้นั้น มาจากการสรุปบทเรียนจากตัวเอง แล้วปรับเปลี่ยนวิธีคิดใหม่ ย้อนทำสิ่งใหม่ๆที่มิใช่ทำตามกระแสงานส่งเสริมการพัฒนาตามสายหลัก  ท่านเหล่านั้นคิดได้เอง แน่นอน อาจจะมีส่วนหนึ่งที่ท่านได้ยิน ได้ฟังแนวคิด ความรู้มาบ้าง  แต่ท่านปฏิบัติด้วยตัวท่านเอง โดยไม่มีโครงการใดๆสนับสนุน.... และยังมีปราชญ์ชุมชนนิรนามอีกมายมายที่ซ่อนตัวอยู่ในชนบทอย่างเงียบสงบ 

นี่คือ การย้อนมองข้างหลังหาไม่แล้ว ตาอยู่ ตาผาย ตาวิบูลย์ ตาชบ..ก็เป็นเพียงชาวบ้านแก่เฒ่าคนหนึ่ง ที่มองลูกหลานเดินไปสู่หุบเหวมรณะด้วยสังคมทุน อย่างน่าสังเวชใจ บทเรียนของท่านเหล่านั้นลงทุนมาด้วยชีวิต หยาดเหงื่อ แรงกาย และสติปัญญาแห่งการไม่ยอมจำนนต่อความทุกข์ต่างๆที่เกิดขึ้นกับครอบครัว แต่กลับพาลูก เมีย ฝ่าฟันอุปสรรคการดำรงชีวิตมาได้เหมือนเดินขึ้นฝั่งไปแล้ว ท่านเหล่านี้ยังโยนเชือกกลับลงมาพร้อมตะโกนให้พี่น้องชาวชนบทรีบเกาะเส้นเชือกเส้นนี้โดยเร็ว มิเช่นนั้น กระแสทุนจะกลืนกินเจ้าให้หายไปกับสายน้ำสีม่วง สีแดงแห่งการบริโภคนี้ 

เด็กรุ่นแอ๊บแบ๊ว นี้ ไม่เคยเข้าใจว่าทำไมทุกครั้งที่กลับบ้าน พ่อกับแม่ต้องพาไปบอกกล่าวเจ้าปู่ตา ยามที่จะลาจากบ้านเพื่อสร้างอิสรภาพ(ปลอม)ในสังคมเมืองหลวง พ่อกับแม่ก็ต้องพาไปบอกกล่าวเจ้าปู่ตาอีก อธิบายไม่ได้ บอกไม่ได้ว่าทำไมพ่อ แม่ จึงต้องทำเช่นนั้น แถมบางคนไม่รู้ประวัติศาสตร์การต่อสู้ชีวิตของพ่อ แม่ด้วยซ้ำไป รู้เพียงว่าลำบากมาก่อน 

คนสองคนที่เป็นเพื่อนรักกันมากมายนั้น เพราะต่างรู้กำพืดของกันและกัน สังคมจะอยู่ด้วยกันได้ระหว่างเมืองกับชนบท ต่างต้องเข้าใจอย่างลึกซึ่งกันและกัน ผู้บันทึกขอเทิดทูนพระราชดำรัชพระองค์ท่านที่ว่า เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา นี่คือ  การมองย้อนหลัง ก่อนที่จะลุยไปข้างหน้า อย่างรู้เท่าทัน .....

หมายเลขบันทึก: 113152เขียนเมื่อ 20 กรกฎาคม 2007 20:17 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 19:33 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (12)
เห็นด้วยับผู้เขียนเล่าเรื่องว่าภูมิปัญญาไทยเป็นสิ่งที่สำคัญที่สะท้อนให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับสิ่งเหนือธรรมชาติ  เวลาลูกหลานจะไปต่างจังหวัด /ไปสอบต่างๆไ/ ย้ายที่อยู่เราต้องมีการบอกกล่าวกับเจ้าที่เจ้าทาง / การสู่ขวัญ   อยากให้ทุกๆ  คนหันกลับมาช่วยกันฟื้นฟูสิ้งที่ดีงามขึ้น คงส่งผลให้เกิดผลดีหลายๆ  อย่างกับชีวิตได้
  • ประวัติศาสตร์การต่อสู้ชีวิตของพ่อ แม่
  • ชอบมากครับ
  • ออตมานั่งคิดตามว่าถ้าเราเก็บเกี่ยวเรื่องที่แม่เล่าเกี่ยวกับชีวิตพ่อและแม่คงจะดี
  • อ่านวันไหน พลังคงเพิ่มเป็นหลายเท่าตัว
  • ชีวิตพ่อแม่เป็นแรงบรรดาลใจให้เราต้องทำหน้าที่ของตัวเอง

สวัสดีครับคุณ ท้องฟ้า

  • ปรากฏการณ์ต่างๆที่สะท้อนออกมานั้นผมก็เห็น พบ และผ่านสิ่งที่ชุมชนดำเนินมา ตอนแรกๆก็ไม่เข้าใจ พร้อมคิดว่าไร้สาระ
  • แต่ต่อมาสิ่งที่คิดเช่นนั้นมันไม่ใช่ มันมีคุณค่า มีความหมาย แล้วแต่มุมมองของนักอะไร.. แต่ในฐานะที่ทำงานพัฒนาชุมชนจึงเคารพสิ่งที่เขาทำและเข้าใจสิ่งที่เขาปฏิบัติ
  • คุณค่าเป็นสิ่งที่มีค่าที่สุด และคุณค่าของชาวบ้านต่อพิธีกรรมนั้น แตกต่างจากคุณค่าพิธีกรรมเดียวกันที่คนนอกเข้าไปรับรู้
  • ขอบคุณครับ

สวัสดีครับคุณ  P ออต

  • ความจริงพ่อแม่ต้องเคยเล่าความทุกข์ยากต่างๆให้ลูกฟัง  แต่ลูกๆมักฟังแล้วก็ผ่านไปครับ  แต่เมื่อเราโตขึ้น มีความรับผิดชอบในชีวิต หากให้พ่อแม่มาเล่าใหม่  มันซาบซึ้งมากจริงๆ จนน้ำตาไหล
  • ผมเคยใช้จุดนี้ทำกระบวนการที่เรียกว่า Conscientization หรือที่เรียกว่า กระบวนการปลุกจิตสำนึกครับ เราฟังพ่อแม่แล้วเรารับรู้ได้ และมีความรู้สึกรับช่วงของความสุข ความทุกข์ที่พ่อแม่ประสบมา สิ่งที่ได้คือเข้าใจคนที่เป็นพ่อมากขึ้น เข้าใจคนที่เป็นแม่มากขึ้น และรักท่านมากขึ้นเป็นกอง
  • ในทำนองเดียวกันหากชุมชนของเรามีผู้เฒ่าผู้แก่สมัยสร้างบ้านกันมาเล่าเหตการณ์ต่างๆในอดีตให้ลูกหงานสมัยนี้ฟัง คุณออต เดาซิว่าเด็กๆสมัยนี้จะรู้สึกอย่างไร หากผู้เฒ่านั้นเป็นนักพูดด้วยแล้ว  เราจะพบว่ามันสร้างพลังรักชุมชน รักผู้เฒ่าผู้แก่มากขึ้นจริงๆ
  • เด็กได้แต่ลุยไปข้างหน้า  เรื่องเล่าจากดงหลวง 131 ลุยไปข้างหน้า  ไม่ได้มองกลับไปข้างหลังบ้างเลยครับ  ผมเรียกร้องให้กลับมามองหลังกันบ้างครับ
  • ขอบคุณคุณออตที่เกิดแนวคิดเช่นนั้น ผมเห็นด้วยครับ
  • เชื่อมั่นในภูมิปัญญาชาวบ้าน
  • ปราชณ์ของอีสาน
  • ว่าสามารถทำสิ่งดีให้แผ่นดินได้
  • มาทักทายพี่ชายครับผม

สวัสดีค่ะ

ช่วงนี้รัฐบาล กำลังมีโครงการจัดหางานให้คนกลับมาทำที่บ้านแล้วค่ะ

เด็กได้แต่ลุยไปข้างหน้า  เรื่องเล่าจากดงหลวง 131 ลุยไปข้างหน้า  ไม่ได้มองกลับไปข้างหลังบ้างเลยครับ  ผมเรียกร้องให้กลับมามองหลังกันบ้างครับ

สวัสดีครับน้อง P 

  • น่าสังเกตไหมครับว่าการรับรู้ของเราถึงปราชญ์ที่มีชื่อเสียงปรากฏในสังคม(ไม่นับที่เป็นปราชญ์นิรนาม) มักเป็นชาวอีสาน
  • เรามักจะไม่ค่อยดำเนินตามปราชญ์ เหมือนมีบางอย่างเป็นกำแพงอยู่ ทีเรียนรู้เรื่องบริโภคนิยมหละเร็วจริงๆครับ
  • แล้วพบกันนะครับ 

สวัสดีครับท่าน P 

  • ดีครับที่รัฐบาลมีนโยบายเช่นนั้น การทำงานอยู่กับบ้านมี่ส่วนดีหลายประการนะครับ
  • โดยเฉพาะอย่างยิ่งการได้อยู่กับครอบครัวครับ
  • สวัสดีค่ะ ..

เด็กรุ่นแอ๊บแบ๊ว นี้ ไม่เคยเข้าใจว่าทำไมทุกครั้งที่กลับบ้าน พ่อกับแม่ต้องพาไปบอกกล่าวเจ้าปู่ตา ยามที่จะลาจากบ้านเพื่อสร้างอิสรภาพ(ปลอม)ในสังคมเมืองหลวง พ่อกับแม่ก็ต้องพาไปบอกกล่าวเจ้าปู่ตาอีก อธิบายไม่ได้ บอกไม่ได้ว่าทำไมพ่อ แม่ จึงต้องทำเช่นนั้น แถมบางคนไม่รู้ประวัติศาสตร์การต่อสู้ชีวิตของพ่อ แม่ด้วยซ้ำไป รู้เพียงว่าลำบากมาก่อน 

เห็นด้วยค่ะ  หรืออาจจะเป็นเพราะว่าเด็กรุ่นนี้เติบโตไปพร้อม ๆ กับสังคมทุนนิยมหรือการแข่งขันกันให้วิ่งไปข้างหน้า

เป็นคนรุ่นกลางเก่ากลางใหม่ค่ะ  ประมาณวัยโจ๋วัยจ๊าบ  ไม่ใช่แอ๊บแบ๊ว  อิอิ

เมื่อก่อนก็ไม่เคยเข้าใจอะไร อะไร  ปิดเทอมมาบ้านคุณตาคุณยายก็  บอกว่ามาบ้านนอก  ทั้งๆที่มาจริงๆ  บ้านคุณตาคุณยายมีอะไรทุกอย่าง อยู่ในเมือง ( ติดรั้วมศว.มหาสารคาม ในอดีตค่ะ )

พอโตมาเรียนพยาบาลได้ออก com-med นี่  โห...เขาอยู่กันได้อย่างไร  ไข่ต้มใบเดียวกินกันทั้งบ้าน  ( จ้ำไปจ้ำมา จนหนอนวิน )  จบมาก็ทำงานกลางสุขุมวิท  ได้เห็นอะไรที่แตกต่างชัดเจน  คนกทม. เข้ารพ.คลอดลูกกันที  สองแสน (ใส่ซองให้หมออีกเท่าไหร่ไม่รู้) แต่คนบ้านนอกแถวบ้านเอารถสกายแลปมากัน  คลอดแล้วค่าผ้าอนามัย (หลังคลอดคุณแม่ต้องใช้) ก็ไม่มีจ่าย  ค่าคลอดค่ายา ก็ต้อง สปน.ให้อ่ะค่ะ  ก็คิดมาตลอดว่า  ชาวบ้านคือคนจน  ทั้งที่เราเองก็จนอ่ะนะ  แต่เราเป็นคนจนรุ่นกลางๆ 

จนได้มารู้จัก  ผู้นำชุมชน  รู้จักพ่อบ้านแม่เมือง  จึงรู้ว่า  เรานี่แหละคนจน  คนจนแบบไม่มีอะไรเลย ( นอกจากหนี้สหกรณ์ )

พ่อใหญ่  : "ทุกข์ติ  จั๋งได จังว่าทุกข์  คั่นทุกข์แปลวา บ่มีเงิน  แมนหยู้ พ่อทุกข์"

หนิง : "สิแมนหละพ่อ"

พ่อใหญ่ : "ทุกข์ติ  พ่อก็กินอิ่มทุกคาบเด้อ"

หนิง : "อิ่มจั๋งไดหละพ่อ"

พ่อใหญ่ : "อิ่มกะอิ่ม  คือบ้านเมืองเขาหั่นหละ  กินแซบนอนหลับ  ยามแล้งกะกินก้อยไข่มดแดง  ยามน้ำกะกินหมกปลา บ่อึดบ่อยาก "

หนิง : "ห๊า อยากกินแนวอื่นเด้พ่อ "

พ่อใหญ่ : " ฮ่วย มีหยังก็กินอันนั้นตั๊วะ  อยากหยังก็หาเอา  ปลูกเอา บ่ได้ซื้อ  คั่นอยากกินบ่รู้ฟ้ารู้ฟัง  มันสิเหลือหยังหละหล่า หาได้บ่พอจ่ายดอกนาง "

ปราชญ์ชาวบ้าน กับเศรษฐกิจพอเพียง  ขณะที่บางหน่วยงานยังต้องไปอบรมกัน  บางแห่งคิดค่าลงทะเบียนอบรมแพงๆด้วยนะคะ

สวัสดีครับคุณน้อง P เนปาลี

  • มีผู้กล่าวว่าสังคมปัจจุบันด้วยระบบและวิถีที่เปลี่ยนไปจากเดิมจึงทำให้กิจกรรมที่ทำร่วมกันระหว่างครอบครัว พี่น้อง ชุมชน อันเป็นแรงเกาะเกี่ยวที่สำคัญดุจสายใยแห่งชีวิตน้อยลง หรือหดหายไป คนจึงไปเกาะเกี่ยวสิ่งใหม่ที่เข้ามาทางระบบสื่อสาร ลองเปิด วิทยุ ทีวี หนังสือพิมพิ์ซิ ข่าวสารมีอะไรที่กรอกเข้าหัวคนรุ่นใหม่ รุ่นแอ๊บแบ๊ว หาสาระแก่ชีวิตที่เข้าถึงแก่นสารจิตวิญญาณสังคม ยาก
  • เอ้า ช่วยกันครับ.. 

สวัสดีครับน้อง  P DSS "work with disability" ( หนิง )

พ่อใหญ่  : "ทุกข์ติ  จั๋งได จังว่าทุกข์  คั่นทุกข์แปลวา บ่มีเงิน  แมนหยู้ พ่อทุกข์"

หนิง : "สิแมนหละพ่อ"

พ่อใหญ่ : "ทุกข์ติ  พ่อก็กินอิ่มทุกคาบเด้อ"

หนิง : "อิ่มจั๋งไดหละพ่อ"

พ่อใหญ่ : "อิ่มกะอิ่ม  คือบ้านเมืองเขาหั่นหละ  กินแซบนอนหลับ  ยามแล้งกะกินก้อยไข่มดแดง  ยามน้ำกะกินหมกปลา บ่อึดบ่อยาก "

หนิง : "ห๊า อยากกินแนวอื่นเด้พ่อ "

พ่อใหญ่ : " ฮ่วย มีหยังก็กินอันนั้นตั๊วะ  อยากหยังก็หาเอา  ปลูกเอา บ่ได้ซื้อ  คั่นอยากกินบ่รู้ฟ้ารู้ฟัง  มันสิเหลือหยังหละหล่า หาได้บ่พอจ่ายดอกนาง "

  • ขอกราบแทบตักคุณพ่อท่านนี้งามๆ นี่แหละ นี่เลย หลักการ หรือปรัชญาแห่งการดำรงชีวิต ของแท้ดั้งเดิมหละ หล่า
  • คุณค่าทางหลักคิดแบบนี้ไม่มีสอนในระบบเศรษฐศาสตร์ในห้องเรียน ??
  • คุณค่าทางหลักการดำรงชีวิตแบบนี้ไม่มีถกเถียงในห้องเรียน มัธยม อาชีวะ หรือแม้แต่มหาวิทยาลัย
  • แต่มีที่ชุมชน หมู่บ้าน ของพ่อใหญ่ท่านนี้เป็นต้น
  • ประเด็นของพ่อใหญ่ เช่นนี้ น่าที่จะหยิบเอาไปทำละคอน หนัง นิยาย
  • จะได้ช่วยกระตุกความคิดคนมาบ้าง
  • สุดยอดน้องหนิงครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท