เมื่อลูกอยากเป็นภารโรง
การสอนนักเรียนชั้นประถมศึกษา เป้าหมายการทำงานของครูอยู่ที่จุดเน้นที่สำคัญที่สุด คือ ให้เด็กๆ ที่เข้ามาใช้ชีวิตร่วมกับผู้ใหญ่ในโรงเรียน มีความสุข เป็นชีวิตที่สร้างพลังความคิดและความใฝ่ฝันที่จะให้ทุกคนรอบตัวเขามีความสุขอย่างชีวิตที่มีสุขสัมผัสได้เช้าวันหนึ่ง ขณะที่ครูภาวิณี กำลังเดินตรวจช่องของใช้ของนักเรียนแต่ละคน มีผู้ปกครองเดินมาพบ หลังจากกล่าวทักทายแล้ว ผู้ปกครองท่านนั้นก็ปรารภถึงความคิดของลูกว่า ลูกมีความคิดแปลกๆ อยากให้คุณครูช่วยแนะนำ ความคิดที่ผู้ปกครองเป็นห่วง คือ ลูกบอกว่าเมื่อโตขึ้นลูกอยากเป็นภารโรง ลูกยืนยันความคิดนี้กับพ่อสองครั้งแล้ว พ่อมีความห่วงใยในความคิดที่ดูเหมือนไม่เป็นผู้ใหญ่ และกลัวจะไม่เป็นปกติ เพราะ “เห็นลูกคนอื่น อยากเป็นหมอเหมือนแม่ เพราะช่วยเหลือคนเจ็บ อยากเป็นตำรวจเหมือนพ่อเพราะมีลูกน้องเยอะ หรือ อยากเป็นนักร้องเหมือนดาราที่ดูจากทีวี เพราะมีคนปรบมือให้พวงมาลัยคล้องคอ แต่ลูกผมยังคงยืนยันว่าอยากเป็นภารโรงอย่างพี่ส้มเช้าเพราะช่วยจัดอาหารและทำความสะอาดให้ทุกครั้งที่เด็กๆทำเลอะเทอะ” ขณะที่ผู้ปกครองบอกเล่าด้วยความรู้กังวล ครูภาวิณีนึกถึงหน้าเด็กผู้หญิงตัวน้อย อายุห้าขวบเศษๆ หน้าตาร่าเริงสดชื่นอยู่เสมอ มาโรงเรียนแต่เช้า เพราะผู้ปกครองต้องขับรถไปทำงานในเมืองที่มีจราจรค่อนข้างคับคั่ง เป็นเด็กช่างซักช่างถาม ทำงานเรียบร้อย และค่อนข้างเร็ว จนมีเวลาช่วยครูดูแลเพื่อนที่ทำงานช้า ครูภาวิณี บอกกับผู้ปกครองว่า เป็นเรื่องปกติสำหรับเด็ก ๆ วัยนี้ เด็กที่อยากจะเป็นภารโรงแต่ละปีมีหลายคน แต่ทุกคน เปลี่ยนความคิดไปเรื่อย ๆ พอโตขึ้น เขาจะเลือกอาชีพของเขาเองตามเหตุผลที่เป็นของเขา ผู้ปกครองไม่ต้องกังวลใจมาก แต่ให้รับรู้ความคิดของลูกด้วยความเข้าใจว่าลูกมีเหตุผลในการคิดอย่างไร ใช้เวลาแลกเปลี่ยนความคิดกับลูก ให้ลูกได้เรียนรู้วิธีคิดแบบผู้ใหญ่ไปด้วย แต่สิ่งสำคัญ ต้องไม่หักล้างความคิดของลูกเพียงเพื่อให้ลูกเป็นเด็กดีอยู่ในโอวาท แต่อยากให้ค้นหาความคิดที่ถูกต้องของลูกแล้วให้กำลังใจ ชมเชย เพื่อสร้างเสริมให้เด็กคิดเป็นแต่เด็ก
กรณีของเด็กหญิงนิพดา คุณครูบอกกับผู้ปกครองว่า เขาเป็นเด็กฉลาด มีพื้นฐานความคิดเป็นคนดี อยากช่วยเหลือผู้อื่น ซึ่งคงเป็นผลจากการเลี้ยงดูอบรมที่บ้าน จากการบ้านที่ครูให้นักเรียนไปเขียนเรียงความสั้น ๆ “งานที่ฉันอยากทำ” พร้อมบอกเหตุผล พบว่า นักเรียนที่อยากเป็นภารโรงมีประมาณ 5 คน ในห้องเรียน ป1/ท ซึ่งมี 72 คน เหตุผลที่เด็กหญิงนิพดาให้ไว้คือ อยากมีโอกาสช่วยเหลือผู้อื่นอย่างที่พี่สัมเช้าได้ช่วยเหลือนักเรียนทุกวัน
ครูภาวิณี ได้ชี้แจงให้ผู้ปกครองคลายความกังวลว่า ลูกฉลาด ลูกใช้เกณฑ์ความดี ในภาวะที่กำลังของตนเองจะทำได้เป็นตัวกำหนดในการตัดสินใจ ครูภาวิณีเชื่อว่า ถ้าเด็กได้รับกำลังใจให้ใช้ความคิดอย่างมีเหตุผลต่อไปเรื่อยๆ และมีสภาพแวดล้อมของการยอมรับความดีเป็นเกณฑ์ของวิถีสังคม เมื่อเด็กเติบโตขึ้น เขาย่อมเลือกอาชีพ หรืองานที่เขาสามารถทำความดีได้มากว่างานภารโรงอย่างแน่นอน ครูขอให้ผู้ปกครองได้ติดตามความคิดและการเปลี่ยนแปลง ขอให้เป็นผู้สนับสนุนความคิดที่ถูก และความเหมาะสมและศักยภาพที่เป็นไปได้ของลูก หวังว่าเด็กๆจะได้เป็นอย่างที่อยากเป็นอย่างมีความสุขที่สร้างสรรค์ พร้อมที่จะสร้างสรรค์ความสุขกับสังคมต่อไป
ครูภาวิณี
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาง ภาวิณี ศรีสุขวัฒนานันท์ ใน เหตุเกิดในห้องเรียน
เสียงทักทายจากอดีตค่ะ..
ระหว่างเข้ามาตรวจงานนักศึกษาในชุมชนของตัวเอง บังเอิญพบหัวข้อบันทึกนี้ปะทะสายตา ทำให้นึกถึงตัวเองที่เคยฝึกสอนสอนนักเรียนชั้น ป.2 วิชาสังคมศึกษาเรื่องอาชีพในชุมชน แล้วนักเรียนกลับไปบอกผู้ปกครองว่า "อยากเป็นคนเก็บขยะ" จนทำให้ผู้ปกครองต้องมาพบเพื่อถามว่า "สอนอะไรไป ลูกผมถึงอยากเป็นคนเก็บขยะ?" จึงได้เปิดเข้ามาอ่านรายละเอียดค่ะ
แล้วก็พบว่า...เป็นบันทึกของพี่หัวหน้าทีมชั้น ป.1 ซึ่งตัวเองไปเริ่มทำงานครูเป็นครั้งแรกที่โรงเรียนสาธิตเกษตรในปี พ.ศ. 2518 นั่นเอง และไม่ได้ติดต่อกันมานานครบ 30 ปีพอดี..
ก็เลยเกิดอาการย้อนรำลึกถึงช่วงเวลาการสอนห้อง team teaching เมื่อครั้งกระโน้นขึ้นมาสิคะ เห็นภาพของอาจารย์ภาวิณี หัวหน้าทีมกับการสอนคณิตศาสตร์ที่ทำให้เด็ก 72 คนเรียนรู้ได้โดยไม่เบื่อตลอดคาบ นึกถึงอาจารย์พรทิพย์เพื่อนร่วมทีมที่ใจเย็นอย่างมหัศจรรย์ นึกถึงภาพของลูกศิษย์ในปีนั้นหลายคน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง "สิระ" กับน้ำตาที่ร่วงพรูเป็นเม็ดกลมๆ เล็กผ่านแก้ม ทันทีที่เผลอหลุดปากไปว่า "ทำอย่างนี้ ครูไม่รักแล้วนะ"..
แม้ว่าจะมีโอกาสได้สอนชั้น ป.1 เพียงปีเดียว แต่ก็ดีใจที่ได้มีโอกาสร่วมงานกับหัวหน้าทีมคนเก่งอย่าง "อาจารย์ภาวิณี" ค่ะ