ถามตัวเองก่อน


ต้องรู้จักถามแบบตัวเองก็มีความคิดไว้บ้างแล้ว ไม่ถามแบบ "สมองว่างเปล่า"
ถามตัวเองก่อน


ผมได้รับคำถามจากนักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษาอยู่เนืองๆ ว่าต้องการคำแนะนำเรื่องนั้นเรื่องนี้     และผมไม่เคยตอบเลย     หลายคนคงคิดว่าผมใจดำ     ซึ่งมองมุมหนึ่งก็จริง   
ผมคิดว่าสถาบันการศึกษาต้องสร้าง “วัฒนธรรมเรียนรู้” แบบช่วยตัวเอง ขึ้นในสถาบัน และแก่ นศ. ของตน     หรืออาจจะเรียกว่า “วัฒนธรรมเรียนรู้แบบเน้นความเป็นผู้สร้าง” ก็ได้     ผมมองว่าการที่นักศึกษาไปถามใครสักคนที่ตนคิดว่าเป็นผู้รู้ ว่าขอให้ช่วยบอกเรื่องนั้นเรื่องนี้     ช่วยแนะนำเรื่องนั้นเรื่องนี้ว่าตนควรทำอย่างไร    เป็นความประพฤติตาม “วัฒนธรรมผู้เสพ”     ซึ่งจะไม่ช่วยส่งเสริมการเรียนรู้ของนักศึกษาเหล่านั้น   
ตรงนี้มาพ้องกับหลักการ KM เข้าพอดี    KM คือเครื่องมือสร้างวัฒนธรรม “ผู้สร้างและผู้ใช้ความรู้”     โดยเน้นวัฒนธรรมรวมหมู่ และจิตวิญญาณแบ่งปัน – เรียนรู้และแบ่งปัน (ความรู้ – เน้นที่ความรู้ปฏิบัติ)    
การสร้างความรู้ทำโดย คิด – ปฏิบัติ – บันทึก – ตีความ – แลกเปลี่ยน      การที่ นศ. ระดับบัณฑิตศึกษา มุ่งเรียนรู้โดยให้คนอื่นสอนจึงไม่น่าจะเป็นวิธีที่ถูกต้อง    และสถาบันอุดมศึกษาที่ส่งเสริมหรือปล่อยให้ นศ. ทำเช่นนั้นจึงเป็นสถาบันที่ไม่น่ายกย่อง     ผมจึงไม่ตอบคำถามดังกล่าวแล้ว เพราะผมไม่อยากเข้าไปร่วมส่งเสริมวิธีเรียนรู้ผิดๆ (ผมอาจเป็นผู้ผิดเสียเองก็ได้)       
สถาบันอุดมศึกษาควรปลูกฝังให้ นศ. ระดับบัณฑิตศึกษาของตนเป็นคนที่ ถามตัวเองก่อน   ก่อนจะถามผู้อื่น     นั่นคือควรถามผู้อื่นว่าตนกำลังเรียนเรื่องนั้นๆ     และคิดว่าจะทำวิทยานิพนธ์โดยตั้งโจทย์ว่า - - - -      และจะใช้วิธีวิทยาต่อไปนี้ - - - -    ในการตอบโจทย์วิจัย     ขอคำแนะนำว่าที่คิดไว้เหมาะสมหรือไม่     จะเป็นการสร้างความรู้ใหม่หรือไม่     จะทำเสร็จภายใน ๒ ปี ได้หรือไม่     มีประเด็นอะไรบ้างที่จะต้องระวัง    เป็นต้น     ถ้ามีคนมาถามผมแบบนี้ ผมยินดีตอบ และยินดีเสียเวลาให้     เพราะนี่คือวิธีการเรียนรู้แบบตัวเองได้พยายามช่วยตัวเองมาก่อนแล้ว    เป็นการเรียนแบบสร้าง ไม่ใช่แบบเสพ
เทคนิค KM ที่เรียกว่า “เพื่อนช่วยเพื่อน”  (Peer Assist) ใช้หลักการนี้     คือผู้ขอเรียนรู้ต้องสรุปมาก่อนว่าเวลานี้ตนทำเรื่องที่ต้องการขอเรียนรู้อย่างไร     และคิดมาก่อนว่าต่อไปจะปรับปรุงวิธีปฏิบัติอย่างไร    โดยฝ่ายผู้ขอแบ่งปันความรู้ต้องพูดก่อน     ผู้มีความรู้ให้ปัน จะเป็นผู้พูดทีหลัง     นี่คือการเรียนรู้แบบสร้างสรรค์ ไม่ใช่แบบเสพ
การขอเรียนรู้จากคนอื่นแบบตนเองมาแบบสมองเปล่า เป็นความประพฤติที่ใช้ไม่ได้สำหรับคนที่จบปริญญามาแล้ว      และเป็นความประพฤติที่ทำให้เสื่อมเสียต่อสถาบันทั้งที่จบมาและที่กำลังเรียน
วิจารณ์ พานิช
๒๕ ธค. ๔๘ 

หมายเลขบันทึก: 11164เขียนเมื่อ 2 มกราคม 2006 11:14 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 14:16 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)
ผมมีประสบการณ์ตรงกับตัวอาจารย์เลยครับ แต่ไม่ได้รู้สึกว่าถูกปฏิเสธ กลับคิดว่าอาจารย์มีเมตตาชี้ทางให้ แต่ก็มีมารยาทที่จะบอกอย่างสุภาพว่าให้กลับไปศึกษาเองให้มากพอเพียงในเชิงวิชาการ โดยการบอกว่าที่ท่านทำนน่ะเน้นปฏิบัติ ผมก็ยังคงแสวงหาอยู่ต่อไป และไม่เคยกลับไปหาอาจารย์อีก จนกว่าผมจะมั่นใจว่าจะมีคุณสมบัติดังที่อาจารย์ว่า อาจารย์มีความคงเส้นคงวาดีนะครับ
อนุพันธ์ ตันติวงศ์
ขอบคุณที่อจ.ช่วยเตือนสติเรื่องการเรียนรู้แบบสร้างสรรค์ เพราะผมก็เผลอทำตัวเป็นผู้เสพด้วยเช่นกัน ในการสอน นศพ ผมก็พยายามให้เขาคิดเองก่อน ถูก-ผิด ไม่เป็นไร
การศึกษาวิจัยเกี่ยวกับพฤติกรรมผู้นำ ผู้ตาม พบว่า ในกลุ่มคนใดๆ จะมีผู้ตามอยู่ราว 75%  ผู้นำราว 25% พฤติกรรมการขอความรู้/เสพความรู้ เป็นพฤติกรรมของผู้ตาม  ส่วนการให้ความรู้ เป็นพฤติกรรมผู้นำ  ในการผลิตบัณฑิตศึกษาทุกหลักสูตรจะเขียนในทำนองว่า  เพื่อสร้างผู้นำทางวิชาการ  นั่นคือเขาจะต้องมีกระสวนพฤติกรรมที่เป็นผู้ให้ความรู้ ไม่ใช่ผู้ขอความรู้  เราฝึกพวกเขาโดยการสอนแบบสัมมนา คือนั่งร่วมวงอภิปราย ถ้าเขามักจะถามว่า  ผมขอให้อาจารย์อธิบายเรื่องนั้นอีกครั้งครับ ผมยังไม่รู้ ยังจดไม่ทัน ขอความรู้เป็นประจำจนเป็นกระสวนพฤติกรรมของเขาแล้วละก้อ จบยาก  แต่ถ้าเขาเพิ่มเติมว่า อ้อ เรื่องนี้ผมเพิ่มเติมดังนี้.... จนเป็นนิสัย แสดงว่าเขาพร้อมที่จะจบ  หรือแม้กระทั่งว่า ที่อาจารย์พูดนั้นผมขอเพิ่มเติมได้ไหมครับ...(อาจารย์ต้องไม่โกรธ) แล้วละก้อ เราภูมิใจได้ ดังนั้น การสอนแบบบรรยายเป็นกลุ่มใหญ่  การทำวิจัยก่อนจบก็ไม่ได้เข้าพบอาจารย์บ่อยๆเพื่อตรวจสอบพฤติกรรมดังกล่าว จึงนับเป็นการล้มเหลวแต่ต้นแล้วครับ  ผู้ควบคุมโปรมแกรมบัณฑิตศึกษาควรมีคุณสมบัติอย่างคุณหมอนี่แหละ  แต่มันขัดแย้งกับธุรกิจการศึกษาครับ

ขอบคุณ อาจารย์ ดร. ไสวครับ    ตอนนี้อาจารย์อยู่ที่ไหนครับ    ขอ address ผมจะส่งหนังสือไปให้

วิจารณ์

๕๓/๑๗ หมู่ที่ ๒,ถ.ทุ่งสง-ทุ่งใหญ่,ต.ควนกรด,อ.ทุ่งสง,จ.นครศรีธรรมราช ๘๐๑๑๐ ; e-mail; [email protected] ครับ ไม่ทราบว่าเป็นหนังสืออะไร  แต่ถือเป็นของขวัญปีใหม่ ขอขอบพระคุณล่วงหน้าเป็นอย่างสูง ครับ

ไสว เลี่ยมแก้ว

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท