อยู่ใกล้ชิดกับผู้เยี่ยมสำรวจมาพอสมควร
และได้สังเกตการทำงานของอาจารย์ทั้งหลายในสถาบันพัฒนาและรับรองคุณภาพโรงพยาบาล
อยากจะมาแลกเปลี่ยนกัน
สำหรับคำว่า“ SURVEYOR”ในส่วนตัวยืนยันที่จะชอบใช้คำว่า“ผู้เยี่ยมสำรวจ”
มากกว่าผู้สำรวจ เพราะเราไม่ได้สำรวจอย่างเดียว
แต่ไปเยี่ยมให้กำลังใจกับคนทำคุณภาพในโรงพยาบาลเพื่อให้เขามีกำลังใจที่จะพัฒนาอย่างต่อเนื่อง
ชื่นชมในสิ่งที่ทำได้ดี และเสนอมุมมองในความเห็นที่แตกต่าง
เพื่อให้โอกาสพัฒนา โดยใช้ทักษะการโค้ช
ซึ่งอาจจะไม่เหมือนกับในต่างประเทศซักเท่าใดนัก
กลับมาเรื่องวิถีชีวิตของผู้เยี่ยมสำรวจต่อดีกว่านะคะ
เมื่อผู้เยี่ยมสำรวจได้รับมอบหมายให้เยี่ยมโรงพยาบาลหนึ่ง
ถ้าเป็นโรงพยาบาลขนาดเล็กหรือรพ.ชุมชนก็อาจจะสบายหน่อยทั้งสบายกายและสบายใจ
หน่วยงานที่เยี่ยมก็ไม่มากเท่าไหร่
แบบประเมินตนเองก็อาจจะไม่หนามากนัก ถ้าเป็นโรงพยาบาลขนาดใหญ่
มีจำนวนเตียงมาก หน่วยงานเยอะ
หรือเป็นโรงเรียนแพทย์ด้วยความยากจะเพิ่มมากขึ้นเพราะมีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจำนวนมาก
แต่ละท่านก็มีความเก่งอยู่ในตัว
ท่านผู้เยี่ยมสำรวจจะมีการเตรียมตัวหนักขึ้น
การเตรียมตัวก่อนเข้าเยี่ยม คือการอ่านแบบประเมินตนเอง สกัดสิ่งที่ดี
และสิ่งที่จะต้องไปดูที่หาข้อมูลเพิ่มเติม ถ้าเป็นประเด็นที่ดี
ต้องไปหา Evidence สนับสนุน
เพื่อให้รายงานมีน้ำหนักขึ้นเมื่อรายงานต้องเข้าคณะกรรมการรับรอง
มีการทำทีมก่อนเข้าเยี่ยม โดยจะมีหัวหน้าทีมผู้เยี่ยมสำรวจ
ส่วนใหญ่จะเป็นผู้อาวุโส หรือเป็นผู้เยี่ยมสำรวจประจำของสถาบันฯ
(ซึ่งมีอยู่น้อยมากถ้าเทียบกับความต้องการทั้งประเทศ)
หัวหน้าทีมและสมาชิกจะทำ Teleconference
แลกเปลี่ยนประเด็นจุดดีและโอกาสพัฒนาของโรงพยาบาล
หากโรงพยาบาลมีข้อมูลยังไม่ชัดเจนอาจขอข้อมูลโรงพยาบาลเพิ่มเติมก่อนเข้าเยี่ยมสำรวจ
เมื่อถึงวันเยี่ยมสำรวจก็ต้องมีการประชุมทีมในเย็นวันก่อนเยี่ยมสำรวจจริง
แบ่งทีมเยี่ยมหรืออาจปรับกำหนดการเยี่ยมก็จะแจ้งให้ผู้ประสานงานของโรงพยาบาลทราบเพื่อจะได้เตรียมตัว
เตรียมทีม
ในเดือนหนึ่งๆ ผู้เยี่ยมสำรวจแต่ละท่าน
ทำงานค่อนข้างหนักเยี่ยมโรงพยาบาลหลายแห่ง
เมื่อเยี่ยมเสร็จแล้วก็ต้องกลับมาเขียนรายงานทั้งหมด 20 บท
โดยแบ่งบทที่รับผิดชอบตั้งแต่ก่อนเข้าเยี่ยม
ในแต่ละวันที่เยี่ยมเสร็จต้องมีการประชุมทีม
เพื่อแลกเปลี่ยนประเด็นที่พบจากการเยี่ยมและเตรียมเขียนรายงาน
บางครั้งใช้เวลาถึงสอง สามทุ่มก็มี
กลับที่พักก็ต้องเตรียมประเด็นสำหรับเยี่ยมหน่วยงานในวันรุ่งขึ้นอีกกว่าจะได้นอนก็ดึกแล้ว
และต้องตื่นแต่เช้า เพื่อเดินทางเข้าเยี่ยมโรงพยาบาล
ตัวเองยังไม่ได้ถามเหตุผล
ว่าทำไมท่านผู้เยี่ยมสำรวจถึงยอมที่จะทำงานหนักแบบนี้
แต่ถ้าจะให้เดาคำตอบก็คงจะรู้สึกคล้ายกับตัวเองที่รักการพัฒนาคุณภาพ
และมีความตั้งใจจริงที่จะพัฒนาการสาธารณสุขของไทยให้ดีขึ้นกว่าเดิม
สุดท้ายก็เพื่อประเทศชาติของเรา
ลูกหลานของเราจะได้รับบริการที่มีมาตรฐาน และปลอดภัยในที่สุด
โอกาสหน้าจะขอนำบรรยากาศระหว่างการเยี่ยม มาเล่าสู่กันฟัง
(โดยการสัมภาษณ์ผู้เยี่ยมสำรวจของสถาบันฯ ) และจะนำสิ่งดีๆ
ประสบการณ์ดีๆ ของท่านมาเล่าสู่กันฟังใหม่นะคะ