ร้อง เล่น เต้น ฟัง หลังเรียนดนตรี


 
 
 
 
 
ร้อง เล่น เต้น ฟัง หลักเรียนดนตรีด้วยวิธีบูรณาการ 1  
   
ใครเลยจะคิดว่า เพียงแค่การ “ร้องเพลง” เพื่อความเพลิดเพลินจำเริญใจ อาจหมายถึงการพัฒนาทักษะเรื่องการอ่าน การเคลื่อนไหวกล้ามเนื้อ การมีความคิดสร้างสรรค์ การมีความเชื่อมั่น และการมีมนุษยสัมพันธ์ที่ดีไปได้โดยไม่รู้ตัว และความจริงอันนั้นก็เกิดขึ้นแล้วผ่านความคิดที่ตกผลึกของอาจารย์ บุปผวรรณ ธีระวรรณวิไล และ อาจารย์สนทนี ศุขประเสริฐ 2 อาจารย์สาวแห่งโรงเรียนจินตการดนตรี ผู้ริเริ่มเขียนเนื้อร้องเป็นภาษาไทยแทนภาษาอังกฤษในหลักสูตร “ร้อง เล่น เต้น ฟัง” ซึ่งเป็นหลักสูตรการเรียนการสอนดนตรีที่ต้องการจุดประกายให้เด็กน้อยวัย 3 – 5 ปี ได้ฝึกพัฒนาการด้านต่าง ๆ ตามศักยภาพที่เด็กมีอยู่จริง

เหตุที่หลักสูตรนี้เน้นเนื้อร้องเป็นภาษาไทยก็เพราะ ทั้งสองเห็นพ้องต้องกันว่า ภาษาไทยเป็นภาษาที่เด็กน้อยวัยใสสดต้องใช้ในชีวิตประจำวันอยู่แล้ว เด็กจะรู้สึกคุ้นเคยและสนุกสนานที่ได้ใช้ภาษาที่เขาเองไม่ได้รู้สึกแปลกแยกเหมือนกับการใช้เนื้อร้องภาษาอังกฤษตามที่เคยมีมาแต่เดิม

“ในอดีตเราเคยทดลองดูว่าระหว่างกลุ่มเด็กที่เรียนเนื้อร้องภาษาอังกฤษกับเนื้อร้องภาษาไทย เด็กกลุ่มไหนดูสนุกสนานกว่ากัน เราพบว่าเด็กไม่สนใจ ไม่รู้สึกสนุกที่ต้องมาร้องเนื้อเพลงภาษาอังกฤษ แต่ถ้าเป็นภาษาไทยเขาจะชอบจะสนุกที่ได้ใช้ความคิดสร้างสรรค์ของเขาร่วมกันกับเพลงนั้น ๆ

เหตุผลที่เราคิดหลักสูตร “ร้อง เล่น เต้น ฟัง” ก็เพราะว่าดิฉันสังเกตเห็นโรงเรียนอนุบาลในบ้านเราไม่มีหลักสูตรที่เรียนวิชาดนตรีอย่างจริง ๆ จัง ๆ ทั้ง ๆ ที่ดนตรีสามารถช่วยให้เด็กมีพัฒนาการที่ดีขึ้นกว่าเดิม ตามโรงเรียนต่าง ๆ คุณครูแค่เปิดเทปเพลงให้เด็กฟัง หรือให้เด็กร้องตาม แต่ไม่ได้เน้นเรื่องพัฒนาการของเด็กเลย ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว การเล่นดนตรีสามารถช่วยในเรื่องพัฒนาการต่าง ๆ ได้อย่างดีเยี่ยม อีกทั้งยังช่วยให้เด็กมีความเชื่อมั่นมากขึ้นด้วย ดูอย่างเด็กที่ในตอนแรกเพิ่งเข้ามาเรียนกับเราอาจจะขี้อาย ไม่กล้าร้องเพลงต่อหน้าเพื่อน ๆ นาน ๆ ไปเขาก็เริ่มกล้าร้อง กล้าแสดงออก มีความเชื่อมั่นมากขึ้น

แล้วการร้องเพลงนี้จะช่วยในเรื่องพัฒนาการของการพูดด้วยนะคะ สังเกตได้ว่าเด็กที่เรียนดนตรีจะพูดมีจังหวะจะโคนมากกว่าเด็กที่ไม่ได้เรียน การเรียนดนตรียังช่วยสร้างให้เด็กมีสุนทรีย์ในการฟังเพลงด้วยค่ะ เขาสามารถเรียนรู้ถึงระดับของเสียง การแยกแยะโทนเสียงสูง-ต่ำ หรือรู้แม้กระทั่งว่าเพลงนั้นเพราะไหม นอกจากนี้ดนตรียังช่วยให้เด็กมีความคิดสร้างสรรค์ด้วย เพราะเวลาที่เขาฟังเพลงที่ครูกำลังเล่นอยู่ เขาจะมีจินตนาการตามไปด้วย เมื่อเขารับรู้ เขาก็เริ่มคิดตาม มีปฏิกิริยาตอบกลับกับบทเพลงนั้น ๆ เราก็ได้สอดแทรกเรื่องจริยธรรมเข้าไปในเนื้อร้องด้วยนะคะ อาจารย์บุปผวรรณกล่าว

หลังจากย่างก้าวเข้าสู่ห้องเรียนแห่งหลักสูตร “ร้อง เล่น เต้น ฟัง” เสียงเล่านิทานของคุณครูดนตรีสาวดังเจื้อยแจ้ว เหล่าเด็กน้อยต่างตั้งอกตั้งใจฟังด้วยความสนุกสนาน บ้างก็ยิ้มหัว บ้างก็กระโดดขึ้นยืน ก่อนร่วมมือร่วมใจกันร้องเพลงอย่างพร้อมหน้าพร้อมตากัน ถ้อยสำเนียงแห่งบทเพลงเริ่มสนุกสนานมากขึ้น เมื่อครูสาวกระตุ้นให้เด็กน้อยร่วมเป็นส่วนหนึ่งในบทเพลงนั้น ๆ “ฮัลโหล…น้องแก๊ปอยู่ไหมครับ?” “อยู่นี่ครับ” “แล้วจะไปเที่ยวเขาดินกันไหมค่ะ?” “ไปครับ” ต่อจากนั้นก็ถึงตาน้องเอ น้องบอย น้องแก้ว น้องนก น้องนา ฯลฯ ซึ่งในกระบวนการนี้นี่เอง ที่ถือว่าเป็นการกระตุ้นเตือนให้เด็กน้อยมีความรู้สึกร่วมไปกับบทเพลงนั้น ๆ เด็กเริ่มคิด เริ่มจินตนาการไปพร้อม ๆ กับเนื้อร้องของเพลงนั้น ๆ และที่สำคัญตัวเด็กเองรู้สึกสนุกสนานที่จะเรียนดนตรี ความรู้สึกเหมือนถูกบังคับให้เรียนสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่ตัวเด็กเองไม่ชอบมิอาจเกิดขึ้นได้ในกรณีนี้
คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 11024เขียนเมื่อ 30 ธันวาคม 2005 14:08 น. ()แก้ไขเมื่อ 26 มีนาคม 2012 00:51 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (11)

การร้อง เล่น เต้น ฟัง นั้นเป็นกิจกรรมที่ทำให้เด็กๆเกิดความสนุกสนาน  พร้อมทั้งยังเกิดการเรียนรู้ที่จะช่วยพัมนาเด็กได้ทั้งทางภาษาในการร้องเพลง  การฟังดนตรี  จังหวะ  การกล้าแสดงออก  และการใช้จินตนาการ เพื่อทำให้เกิดความสนุกสนานพร้อมทั้งพัฒนาการที่เด็กจะได้  และครูผู้สอนยังได้สอดแทรกเนื้อหาสาระในการเรียนรู้สิ่งต่างๆเป็นการบรูณาการผ่านดนตรีและเสียงเพลง  ดังนั้นจึงเป็นการดีที่จะมีการพัฒนาการเรียนการสอนแลร้อง เล่น เต้น ฟัง ะจัดทำหลักสูตรขึ้นมา

 

การร้องเล่น  เต้น  ฟัง มีประโยชน์ที่ดีมากเพราะทำให้เด็กมีพัฒนาการการฟัง การพูด  การอ่าน  ความคิดสร้างสรรค์และทำให้เด็กเกิดความสนุกกับกิจกรรมที่ทำ  จากที่ได้ฝึกสอนทางโรงเรียนที่ได้ฝึกก็มีหลักสูตร  ร้อง  เล่น เต้น  ฟัง  เช่นกัน  เด็กได้เรียนก็มีความสุขและเข้าใจได้ง่ายด้วยค่ะ

จาการอ่านบทความข้างต้นนี้
การเรียนของเด็กในยุคปัจจุบันโดยมากจะมีการจัดการเรียนการสอนแบบบูรณาการซึ่งจากบทความนี้ทำให้ทราบว่าได้มีการนำดนตรีและการร้อง เล่น เต้น ฟังมาบูรณาการเข้ากับการเรียนการสอนทำให้การเรียนมีความสนุกสนานมากยิ่งขึ้น

       บทความนี้ทำให้เห็นและเข้าใจเด็กว่าการ ร้อง เล่น เต้น ฟัง เป็นสิ่งที่ทำให้เด็กเกิดความสนุกสนานเพราะขนาดผู้ใหญ่อย่างเราๆยังชอบเรื่องแบบนี้กันเลยและเด็กก็มักจะเกิดการเรียนรู้จากเรื่องเช่นนี้เหมือนกันและถ้าเด็กเกิดความสนุกต่อการเรียนรู้ก็จะทำให้เด็กมีทัศนะคติที่ดีต่อการเรียนอีกด้วย

จากบทความกิจกรรมดนตรีเป็นอีกกิจกรรมที่ส่งเสริมพัฒนาการของเด็กได้ครบทุกด้านไม่ว่าจะเป็นด้านร่างกายก็มีการเต้นระบำ อารมณ์เด็กก็มีความสนุกสนาน สังคมมีการเล่นกับเพื่อน สติปัญญาทักษะทางภาษา เป็นต้น ดังนั้นเราควรนำกิจกรรมของดนตรีมาจัดการเรียนการสอนให้กับเด็กเพื่อให้เด็กมีพัฒนาการที่สมบูรณ์

พูดถึงเสียงเพลง เสียงดนตรี การร้องรำ ใครๆก็ชอบในธรรมชาติของเด็กก็เช่นกันเด็กชอบความสนุกสนานการได้คิดได้ทำได้แสดงออก ดังนั้นเห็นว่าหลักสูตรการเรียนการสอนดนตรีดังกล่าวสามารถช่วยกระตุ้นความสนใจในตัวเด็กทำให้หลักสูตรการเรียนนี้มีประสิทธิภาพในการพัฒนาและส่งเสริมพัฒนาการของเด็กได้อย่างมาก

ดนตรี และการร้อง เล่น เต้น ฟัง  เป็นสิ่งที่ช่วยในการเรียนการสอนสำหรับเด็กเป็นอย่างมาก  เพราะสิ่งเหล่านี้จะช่วยให้เด็กรู้สึกว่าการเรียนเป็นเรื่องสนุก และไม่เบื่อหน่าย  เด็กๆ ได้มีส่วนในการทำกิจกรรม  และแสดงออกร่วมกับเพื่อนๆ ซึ่งจะช่วยพัฒนาเด็กได้ในหลายๆ ด้าน  และดีกว่าการเรียนการสอนแบบปกติที่เด็กได้แต่นั่งฟังและตอบคำถามเป็นอย่างมาก
ดนตรีเป็นกิจกรรมที่เด็กสามารถเรียนรู้ได้อย่างดี สนุกสนาน ดนตรีสามารถสอดแทรกบทเรียนเข้าไปได้อย่างดีอีกด้วย
ดนตรีและการร้อง เล่น เต้น ฟังถือว่าเป็นสิ่งที่ดีสำหรับเด็กทำให้เด็กเกิดความสนุกสนานเพลิดเพลิน และคลายเครียดเหมาะแก่การจัดการเรียนการสอนสำหรับเด็ก ทำให้เด็กสนุกและไม่รู้สึกเบื่อเด็กได้ทำกิจกรรมร่วมกับเพื่อนๆ ทำให้เด็กได้รับการพัฒนาหลายๆด้านซึ่งเป็นผลดีต่อเด็ก 
เห็นด้วยกับบทความนี้  ดนตรีเป็นศาสตร์แห่งศิลปะที่ช่วยให้เด็กเกิดความผ่อนคลายทางอารมณ์  ทำให้เด็กรู้สึกสนุกสนานเพลิดเพลินและยังทำให้เด็กมีจินตนาการและความคิดสร้างสรรค์
เห็นด้วยกับบทความนี้ เพราะดนตรีช่วยกล่อมเกลาจิตใจได้และทำให้มีพัฒนาการทางอารมณ์ที่ดี
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท