การเลือกตั้งท้องถิ่น ถึงระดับชาติ ท่านว่าบ่อนทำลายความสมานฉันท์ไหม?


"คนนั้นอยู่ไม่ต้องมาชวนผม" "ใครบ้างที่จะมาร่วม" "ทีมไหน...บอกก่อนแล้วจะตัดสินใจ" ถ้อยคำเหล่านี้บอกนัยยะ...

     ได้เปิดประเด็นนี้หลายครั้งแล้ว แต่ก็ไม่เคยนำเข้ามาใน G2K เลย หวั่น ๆ จะบานปลายไปเป็นว่าผมไม่สนับสนุนการเลือกตั้งในระบบประชาธิปไตย แต่ชั่งใจดูก็บอกตัวเองได้ว่ายังไงแล้วก็เลื่อมใสในระบบการปกครองแบบประชาธิบไตยที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขอย่างแน่นอน จึงตัดสินใจนำมาบันทึกไว้ว่าคิดอย่างไรกับเรื่องนี้ เชื่อว่าในภาพรวมของสังคมเองก็คงยังไม่มีคำตอบที่ดีนัก เพราะถึงยังไงก็ยังใช้รูปแบบเดิม รูปแบบการเลือกตั้งที่ผมมองว่าทุกวันนี้ได้ทำลายความสมานฉันท์ของสังคมไปมาก ถึงไม่มีส่วนทั้งหมด ก็ต้องถือว่ามีส่วนสำคัญระดับหนึ่งที่มีอิทธิพลต่อความสมานฉันท์ที่ว่านี้

     การเข้าไปทำงานในชุมชน เราจะพบร่องรอยของความไม่ลงรอยกันที่เหลืออยู่หลังการเลือกตั้งนายก อบต. นายกเทศมนตรี นายก อบจ. ส.อบต. สท. หรือ ส.อบจ.ให้เห็นอย่เสมอ ๆ มีการแบ่งพรรคแบ่งพวก ไม่สามารถจัดให้เขานั่งคุยพร้อมกันได้ หากนั่งคุยด้วยกันก็แบบไม่เปิดใจ สิ่งเหล่านี้หากผมจะเอาประสบการณ์เปรียบเทียบเมื่อครั้งจบทำงานใหม่ ๆ ตอนนั้นยังไม่มี อบต. การเมืองท้องถิ่นไม่ดุเดือดกันมากนัก การแข่งขันเต็มไปด้วยศักดิ์ศรี เมื่อผลการตัดสินโดยคนในชุมชนออกมา กลุ่มแพ้การเลือกตั้งก็ยังมานั่งสังสรรค์กับคนชนะได้ เพราะถือว่าเกมส์จบลง ค่อยว่ากันอีกในสมัยหน้า หรือคราวหน้า

     ตอนนี้การเลือกตั้งมีกำหนดเวลาไม่ว่าจะเป็นกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน หรือท้องถิ่นรูปแบบอื่น ๆ ตามมาด้วยการเลือกตั้งที่ยิ่งใหญ่อย่าง สว.หรือ สส. ประเด็นที่สำคัญมักจะได้ยินเสียงชาวบ้านพูดกันหนาหูว่าถี่ ๆ มาก (ก่อนที่จะมี คมช.) ความถี่ทำให้รบกวนวิถีปกติของชุมชนระดับหนึ่ง แต่ที่ร้ายกว่านั้นคือชุมชนแทบไม่มีเวลาสมานรอยร้าวที่เกิดขึ้นเลย เรียกว่าร้าวแล้วร้าวอีก ซ้ำ ๆ จนยากที่จะประสาน

     คนในชุมชนห่างเหินกัน ไม่ไว้วางใจกัน ไม่เปิดใจ ตั้งแง่เล่นงอน "คนนั้นอยู่ไม่ต้องมาชวนผม" "ใครบ้างที่จะมาร่วม" "ทีมไหน...บอกก่อนแล้วจะตัดสินใจ" ถ้อยคำเหล่านี้บอกนัยยะอะไร ๆ ได้มากมาย บางทีอาจจะต้องถึงเวลาที่จะมานั่งทบทวนกันบ้างว่าหนทางที่ดีกว่าควรเป็นอย่างไร

     เท่าที่แลกเปลี่ยนกันมานอก G2K ยังไม่มีคำตอบอะไร แต่ผมไม่เชื่อว่าจะไม่มีคำตอบสำหรับการแก้ปัญหานี้ เพียงแต่ตอนนี้ยังคิดไม่ออก และยังหาไม่เจอครับ
    

หมายเลขบันทึก: 110061เขียนเมื่อ 9 กรกฎาคม 2007 21:51 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มีนาคม 2015 08:32 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (13)
ถ้าสมานฉันท์ หมายถึง ก้มหัว ยอมๆ ไป วันๆ.

คุณบ่าววีร์ ครับ

     ยินดีครับที่เข้ามา ลปรร.กันไว้
     ผมอาจจะไม่เข้าใจนะครับ ในประเด็นที่ต่อยอดไว้ หากจะได้ขยายความสักเล็กน้อยก็จะเป็นประโยชน์ยิ่งครับ

ถ้าเราเข้าแถวซื้อข้าวอยู่ แล้วมีคนมาแทรก เราบอกเขาว่าทำแบบนั้นไม่ได้ นี่ทำลายความสมานฉันท์หรือเปล่าครับ?

 เรียนคุณบ่าววีร์ ครับ

   เคยได้ยินนิทานมาเขาเล่าว่า (จำไม่แม่นนัก แต่ทำนองนี้) มีคน 2 คนคุยกันคนที่หนึ่งคิดจะปลูกถั่วหลังเกี่ยวข้าวแล้ว แต่เกรงว่าคนเลี้ยงวัวจะปล่อยวัวไปหยีบย่ำถัว คนที่สองก็ต่อว่างั้นหากว่าวัวมาหยีบย่ำแล้วเราก็คงต้องทะเลาะกับเจ้าของวัว เจ้าคนแรกก็บอกต่อว่าหากต้องทะเลาะกันกับเจ้าของวัว คงต้องเสียเปรียบแน่แท้ เนื่องจากตอนเลือก ผญบ.ไปถือข้างคนที่ไม่ได้รับเลือก คนที่สองก็ขยายความว่างั้นอย่าปลูกถั่วเลย เพราะต้องเป็นเสียเหลี่ยมแน่ ๆ หากต้องเป็นความกับเจ้าของวัว แล้วยังถูกตัดสินให้แพ้อีก
   ในความเป็นจริง ถั่วยังไม่ได้ลงมือปลูกเลย เจ้าคนแรกก็ล้มเลิกความตั้งใจเสียแล้วครับ เรียกว่าพ่ายแพ้ต่อความวิตกกังวลของตัวเอง "หรือตีตนไปก่อนไข้"
   กรณีการเลือกตั้งรูปแบบและวิธีการที่เป็นอยู่นี้เป็นเรื่องจริงและเกิดขึ้นแล้ว และชุมชนได้รับผลกระทบอยู่ก็เป็นเรื่องจริงเชิงประจักษ์ครับ การเข้าแถวซื้อข้าวกับการเลือกตั้ง เพื่อตอบเรื่อง "สมานฉัทน์ของสังคม" เป็นเรื่องไกลกันมาก หากจะเปรียบเทียบกันคงไม่เหมาะสมครับ อันนี้ในทัศนะผมส่วนตัวนะครับ

วัดดี๊ครั่บ..ต่อนนี่พ้มยู่ป้ากนัง...สำเนียงเลยชักจะเลยประจวบไปแล้ว...ไม่ได้เจอกันนาน...วันนี้เสนอประเด็น "เผือกร้อน" ดี...จะลอง ลปรร. สักหน่อยนะครับ...หลังจากพักหลังนี้...ชักจะละวางกับประเด็นทางโลกไปพอสมควร...ถึงขั้นไประงับการออกอากาศของบันทึกตัวเองที่เขียนประเด็นทางโลกซะเหี้ยนเลย...ประมาณว่า...สงสัยจะแรง...ตรงเกินไป...เลยชักจะห่วงสวัสดิภาพตัวเองครับ...รังสีอัมหิตแผ่กระจายยังไงไม่รู้บ้านเราพักนี้...เลยขอเป็นเต่าหดหัวสักพัก...เมื่อรังสีเย็นพัดผ่าน  คงจะได้ออกอากาศอีกครั้ง...คราวนี้มาในนามอาคันตุกะ...คงจะปลอดภัยนะครับ  จะลองรื้อฟื้นความแรงมาแลกเปลี่ยนในประเด็นนี้ดู...

นึกดูแล้วก็เศร้านะครับคุณชาย (ขอบ) การเมืองบ้านเรา...ผ่าน 75 ปีมาเมื่อไม่นานนี้...วันนั้นได้มีโอกาสอ่าน นสพ. ไทยรัฐ "กิเลนประลองเชิง" ท่านนำบันทึกของ พลโทประยูร  มาเล่าอีกทอดหนึ่ง...ได้ใจความประมาณว่ากรมพระนครสวรรค์ กล่าวแก่พลโทประยูรว่า  "คนไทยคิดจะเปลี่ยนแปลงการปกครองทั้ง ๆ ที่คนไทยยังไม่รู้จักคนไทยดี..."

จากจุดตรงนี้  ดูเหมือนคนเขียนบันทึกอยากจะบอกสังคมไทยว่า  "คนไทยยังไม่พร้อมที่จะมีการปกครองในระบอบประชาธิปไตย" ด้วยเหตุผลหลายอย่าง  ซึ่งผู้เขียนบันทึกก็ไม่ได้กล่าวไว้  แต่ผมพอจะตีความได้ว่า...คนไทยยังไม่ผ่านบททดสอบที่จำเป็นสำหรับการปกครองที่ต้องรับผิดชอบตัวเองอย่างประชาธิปไตย

หากเราย้อนกลับไปดูประเทศที่พอจะกล่าวได้ว่าประสบความสำเร็จในการปกครองและเป็นต้นแบบของการปกครองระบอบประชาธิปไตยและเป็นประเทศผู้นำการ "ปฏิวัติ" ไปสู่ประเทศทั้งหลายทั่วโลกอย่างสหรัฐอเมริกา  จะพบว่า  กว่าที่ประชาชนของรัฐทั้งหลายในอเมริกาจะเห็น "คุณค่า" ของประชาธิปไตย  ประชาชนของก็ต้องผ่านการประจักษ์แจ้งด้วยตนเองถึงความโหดร้ายของสงครามกลางเมืองที่กินเวลายาวนานถึง 30  ปี  ฝรั่งเศษก็เป็นอีกประเทศหนึ่งที่ประสบความสำเร็จในลักษณะใกล้เคียงกันแต่อาจแตกต่างในรายละเอียด  แต่ทั้งสองประเทศก็ประสบความเร็จไม่แพ้กันในเรื่อง "การสร้างชาติ"

สำหรับประเทศอังกฤษ  ต้นแบบการปกครองของไทยจะพบความแตกต่างตรงที่  คนของประเทศนี้มีความเป็น "สุภาพบุรุษ" แบบที่เขามักจะกล่าวกันว่า "ผู้ดีอังกฤษ" ยังไงยังงั้นเลย  แม้อังกฤษจะไม่ต้องผ่านความโหดร้ายของสงครามกลางเมืองเหมือนอเมริกาและฝรั่งเศษ  แต่ด้วยความเป็น "สุภาพบุรุษ" ของคนอังกฤษ  ทำให้คนอังกฤษยอมรับในความคิดเห็นที่แตกต่างได้  แม้จะมีปัญหาในเรื่อง "การสร้างชาติ" อยู่บ้าง

กรณีของไทย  ตอนนี้ก็ดูเหมือนจะงง ๆ อยู่ว่า  แล้วจะไปทางไหนดี...รัฐธรรมนูญที่ร่างมาแต่ละครั้ง  รวบรวมความวิปลาสของรัฐธรรมนูญจากทั่วโลกมารวมไว้ในฉบับเดียวกันได้อย่างน่าอัศจรรย์  ที่ผมกล่าวหาเช่นนี้  เพราะผมเห็นว่า  ประเทศที่เขาร่างรัฐธรรมนูญและใช้ได้ผลในประเทศเขา  มันก็ไม่เห็นจะต้องคิดว่าจะใช้ได้ผลในประเทศไทยสักกะหน่อย  เพราะคนบ้านเขากับคนบ้านเรา  ไม่เห็นจะเหมือนกันตรงไหน  แม้เราจะกินพิซซ่าเป็นเหมือนเขาก็เถอะ...รัฐธรรมนูญไทย  ควรมีพื้นฐานมาจากประวัติศาสตร์ของชาติไทย...มากกว่านำเข้าแบบสำเร็จรูปใช่ไหมคุณชาย (ขอบ)

สงสัยไอ้เรื่องชอบนำเข้าของสำเร็จรูปเนี่ย...ติดเชื้อมาตั้งกะสมัยเราชอบนำเข้าแนวคิดในการพัฒนาสมัยใหม่...นำเข้าเทคโนโลยี...นำเข้าปริญญาบัตร...และนำเข้าอะไรต่อมิอะไรอีกมากมาย...ไอ้การค่อย ๆ สร้างของเราเองคงไม่ท้นใจอุปนิสัย...ซื้อทุกอย่างที่ขวางหน้าที่แพร่เชื้อมาจากสังคมไฮโซกระมัง?

เอาหละ...เมื่อมันเป็นอย่างนี้แล้ว...จะทำพันพรือ?...อันดับแรกเลยครับ...ทำใจ...จริงนะครับ...ทำใจ...ไม่ใช่ทำใจยอมรับ...แล้วนั่งรอเมตตาจากฟ้า...แต่เป็นการ "ทำใจให้สงบ" ครับ...ให้สติบังเกิด...ปัญญาจะได้แก่กล้า...ปัญหาในเรื่องนี้ผมเห็นว่า...เหมือนวัวพันหลักครับ...ยิ่งพยายาม...ยิ่งดิ้น...ยิ่งยุ่งเหยิง...เพียงแต่ทุกคนสงบ...นิ่ง...ปัญหาจะคลี่คลายไปเอง...โดยไม่ต้องใช้ความพยายามเลย...โอพูดเหมือนคนกวนยังไงไม่รู้นะ...แต่ผมกำลังจะให้คำอธิบายถึงความเชื่อมโยงเชิงเหตุผลที่ผมบังอาจสรุปเช่นนี้ครับ...กลัวโดนข้อหา "ทึกทักเอาเอง" ที่ผมมักจะไปมอบให้กับผู้คนที่กล่าวคำสรรเสริญเยินยอแบบไม่มีที่มาที่ไปอยู่บ่อย ๆ สมัยยังข้องเกี่ยวกับทางโลก...

มันเชื่อมโยงกันอย่างนี้ครับ...เมื่อใจสงบ...สติเกิด...ปัญญาจะเริ่มเห็นตามจริงว่า...นี่มันไม่ใช่ "ตัวกู หรือของกู" เลยนะเนี่ย...กูยึดมั่นเอาเองทั้งนั้น...เมื่อละ "ตัวกู ของกู" ได้  ทุกอย่างจะง่าย  ง่ายจริง ๆ ครับ...แต่แน่นอน...ไอ้ "ตัวกู ของกู" นี่  จะบังคับให้ละกันไม่ได้หรอกครับ...ต้องปล่อยให้เกิดภาวะเช่นนี้ขึ้นเอง...เราคนทำงานสังคมทำได้เต็มที่เพียง  "สร้างบรรยากาศที่เอื้อแก่การละตัวกูของกู" เท่านั้นเองครับ...

ยาวไปหรือเปล่าครับเนี่ย...สวัสดีครับ

สวัสดีครับท่านพี่ ดร.สวัสดิ์ ที่รักและเคารพ

     ก่อนอื่นจะบอกท่านว่าผมครับที่โทรหาท่าน แต่ท่านไม่ได้รับสาย กะว่าจะแจ้งรายละเอียดที่จะพบกันพรุ่งนี้ (10 ก.ค.2550) ที่ จ.นครฯ ตกลงว่าไม่ทราบท่านจะมาได้ไหม หรือจะมาร่วมก๊วนกันในวันที่ 13 ก.ค.2550 วันเปิดโรงเรียนคุณอำนวยดีครับ
     สำหรับประเด็นที่ท่านโยนมา ตั้งหลักนิดนึงเดี่ยวจะกลับมาใหม่นะครับ

  มาเยี่ยมให้กำลังใจค่ะ ทุกวันนี้หลายคนโหยหาความสัมพันธ์แบบในอดีต จริงใจ ช่วยเหลือ เกื้อกูล ซึ่งหายไป แค่หายไปยังไม่น่ากลัวเท่าไร  แต่ถ้าสูญพันธ์นี่ซิ ใจหายนะคะ รักษาสุขภาพนะคะ

ท่านพี่ ดร.สวัสดิ์ อีกครั้ง

     ท่านพี่ตอบมาเสียยาว เกรงใจมาก แต่ขอน้อมรับในคุณค่าของ คห.นี้เลยครับ แต่ประเด็นที่บอก "ยังว่าไม่พร้อม" น่าสนใจในเชิงเราต้องทำให้พร้อมได้แล้ว เพราะจะถอยหลังไปก็คงไม่ใช่ ใช่ไหมครับ ส่วนประเด็นที่บอกว่าทำไมเราต้องยำกันทุกอย่างเพื่อบอกว่าทัดเทียมอารยะแล้วนี่ ผมเห็นด้วยกับท่านพี่มาก เห็นด้วยว่ามันน่าจะเป็นความจำเพาะที่เรียนรู้มาปรับใช้กันนะได้ แต่ไม่น่าจะพยายามลอกมาใช้ เพราะยังไง ๆ อุปนิสัย วัฒนธรรม ประเพณี ฯ มันต่างกันครับ
     เราน่าจะหยุดนิ่ง ตั้งสติ แล้วคิดทบทวนกันด้วยปัญญานะครับ ผมเชื่อว่ามีทางออก แต่ตอนนี้ดูวุ่นวายเหลือเกินครับ เวลาข่าว กับหน้าหนังสือพิมพ์ หมดไปกับข่าวประท้วง ข่าวม๊อบ ข่าวโหด ๆ ข่าวที่จะเป็นประเด็นเพื่อแก้ไขอะไร ๆ เชิงระบบหายากมาก มีบ้างแก้เป็นการแก้ไขสถานการณ์เฉพาะหน้า ระยะสั้น ๆ เท่านั้นครับ

อีกนิสส์...ก่อนไปนอน...พรุ่งนี้ต้องไปทุ่งสงตั้งกะ "ตีเจ็ด  หัวรุ่ง"...พรุ่งนี้อาจจะได้สื่อสารกันครับ  ฝากหวัดดีคุณครูนงด้วย..

ผมเคยโจมตีว่า...ประชาธิปไตยทุกวันนี้เป็นแบบ theme park democracy นะครับ คุณชาย (ขอบ)...คุณชายขอบคงจะรู้จักสวนสนุกแบบ theme park นะครับ  คือมีเรื่องราวสำเร็จรูปไว้แล้ว  คนเข้าไปไม่ต้องจินตนาการอะไร  แค่จ่ายตังค์แล้วก็บริโภคเท่านั้นก็พอ

ประชาธิปไตยบ้านเรา (หรือแม้แต่ประเทศส่วนใหญ่ในโลก) ก็เป็นแบบนี้  ข่าวที่ออกมา...มันมีเรื่องราวกำกับไว้เรียบร้อยแล้วครับ...เขาไม่เปิดโอกาสให้ "พลเมือง" ตีความแล้ว หรือเรียกว่า "ผู้บริโภค" จะถูกต้องกว่า "พลเมือง"  เพราะพลเมืองจะถูกมองว่า...ขัดขวางความเจิรญ...และอะไรอีกสารพัดแล้วแต่ "เขา" ผู้เขียนเรื่องราวจะให้ความหมาย

ข่าวบางครั้ง...ก็เป็นตั้งแต่ "การสร้างข่าว" ไปจนถึง "การแสดงข่าว" เสียมากกว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจากความคิดที่มีอิสระ...สงสัยผมจะคิดมากไปหรือเปล่าเนี่ย...ไปนอนดีกว่า...จะได้หายฟุ้ง...หวัดดีครับ
คงเอาเรื่องเข้าแถวซื้อข้าวมาเปรียบเทียบไม่ได้จริงหละครับ  อบต.ผลประโยชน์มากกว่าการต่อแถวซื้อข้าวตั้ังเยอะ

คุณหิ่งห้อยครับ

     ใช่ครับ ตอนนี้ยังไม่สูญพันธุ์ครับ ผมเลยคิดว่ายังพอมีเวลาแก้ไข และหากได้ช่วยกันคิด ๆ ก็ต้องมีหนทางครับ ผมไปเจอบางตำบลที่ไม่มีปัญหาความขัดแย้งจากการเลือกตั้ง ก็จะไม่พบเรื่องการหมกเม็ดผลประโยชน์ และการพัฒนาก็ไปโลดอย่างแตกต่างครับ

ท่านพี่ ดร.สวัสดิ์ ครับ

     วันนี้ผมเจอครูนงแล้ว และแจ้งข่าวเรื่องที่ท่านพี่จะมาร่วมแจมด้วยในวันที่ 13 ก.ค.นี้
     เรื่องนี้ยังต้องขยายผลกันอีกยาวครับ แต่ผมเชื่อในเรื่องการเมืองภาคประชาชน หากประชาชนเข้าใจอย่างแท้จริงว่าการเลือกตั้งเป็นเพียงกลไกเล็ก ๆ กลไกหนึ่งที่เป็นเรื่องการฝากอำนาจ/การตัดสินใจไปให้ตัวแทน เพื่อทำหน้าที่ตามระบบประชาธิปไตย จะแก้ได้ระดับหนึ่ง ปัญหาตอนนี้คือเลือกตั้งเสร็จ ก็หมดหน้าที่ ก่อนเลือกตั้งไม่กี่วัน เขาเป็นเพื่อนเรา พอเลือกเขาแล้ว เขาเกือบจะเป็นเจ้าชีวิตเรา ที่เราไปจัดการอะไรไม่ได้อีกเลย... ยาว..ไปแล้วครับ เอาไว้ยกใหม่อีกสักเรื่องดีกว่านะครับ

คุณบ่าววีร์ ครับ

     OK นะครับ ผลประโยชน์มันมีทั่วไปไม่ว่าองค์กรใหญ่หรือเล็ก ผมเคยพูดคุยกับเพื่อนที่เป็นผู้จัดการบริษัทเอกชนครับ มีประเด็นเรื่องนี้ที่น่าติดตามอีกเยอะครับ แต่เกรงว่าจะต่อยอดไว้ที่นี่นั้นประเด็นจะฉีกไปอีก ค่อยเขียนบันทึกใหม่ดีกว่าครับ หากผมมีเวลาตรงนี้พอ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท