การประเมินเพื่อดำรงวิทยฐานะของครูและบุคลากรทางการศึกษา


ถือเป็นการช่วยกระตุ้นให้ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาได้ตื่นตัวพัฒนาเส้นทางวิชาชีพของตนเองให้ก้าวหน้าตามตำแหน่งและวิทยฐานะที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่องด้วย

    เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2550 ผมได้รับเชิญจาก ก.ค.ศ.เข้าร่วมประชุมพิจารณาหลักเกณฑ์และวิธีการประเมินเเพื่อดำรงวิทยฐานะของครูและบุคลากรทางการศึกษา ตามมาตรา 55 ของ พรบ.ระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ.2547 ที่กำหนดไว้ว่า
    “ให้มีการประเมินตำแหน่งและวิทยฐานะสำหรับตำแหน่งที่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพเป็นระยะๆ เพื่อดำรงไว้ซึ่งความรู้ ความสามารถ ความชำนาญการ หรือความเชี่ยวชาญในตำแหน่งและวิทยฐานะที่ได้รับการบรรจุและแต่งตั้ง ทั้งนี้ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ ก.ค.ศ.กำหนด
กรณีที่ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาผู้ใดไม่ผ่านการประเมินผลการปฏิบัติงานตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ ก.ค.ศ.กำหนด ให้ดำเนินการตามความเหมาะสมดังต่อไปนี้
1)ให้มีการพัฒนาข้าราชการผู้นั้นให้สามารถปฏิบัติงานในหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประสิทธิผล เพื่อให้สามารถผ่านการประเมินผลการปฏิบัติงานได้
2)ให้ดำเนินการในมาตรการเกี่ยวกับการเลื่อนขั้นเงินเดือนข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาตามมาตรา 73 หรืองดเงินประจำตำแหน่ง หรือเงินวิทยฐานะแล้วแต่กรณี
3)ในกรณีที่ผู้ใดไม่สามารถปฏิบัติราชการให้มีประสิทธิภาพและเกิดประสิทธิผลในระดับที่กำหนด ให้ผู้มีอำนาจตามมาตรา 53 สั่งให้ผู้นั้นออกจากราชการตามมาตรา 110(6)
การดำเนินการตามวรรคสองให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ ก.ค.ศ.กำหนด”

       ถ้าอ่านตาม
มาตรา 55 แล้วเราอาจรู้สึกว่าค่อนข้างรุนแรง แต่จริงๆแล้วเจตนาของมาตรานี้ก็เพื่อต้องการกระตุ้นให้ผู้ที่ผ่านการประเมินมีหรือเลื่อนวิทยฐานะตามมาตรา 54 และได้เงินค่าวิทยฐานะแล้ว(ทุกวิทยฐานะ)ได้มีการพัฒนาตนเอง พัฒนางานอย่างต่อเนื่องเท่านั้น (ไม่ใช่ได้แล้วได้เลย)
      เท่าที่
คณะผู้ทรงคุณวุฒิ ได้พิจารณากำหนดหลักเกณฑ์วิธีการเบื้องต้น ก็คือ ให้มีการประเมินผลการปฏิบัติงานทุก 3 ปี โดยดูความต่อเนื่องหรือความก้าวหน้าในด้านการประพฤติปฏิบัติตนด้านวินัยคุณธรรมจริยธรรม ด้านสมรรถนะการปฏิบัติงาน และมีผลงาน(ชิ้นงาน)จากการพัฒนาตามวิทยฐานะที่เกิดขึ้นกับผู้เรียนหรือกลุ่มผู้รับบริการอย่างต่อเนื่อง เพราะนอกจากจะเป็นการพัฒนาเพื่อคงสภาพแล้วยังถือเป็นการช่วยกระตุ้นให้ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาได้ตื่นตัวพัฒนาเส้นทางวิชาชีพของตนเองให้ก้าวหน้าตามตำแหน่งและวิทยฐานะที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่องด้วย
      ถ้าเราดูเส้นทางวิชาชีพครูตาม พรบ.ฉบับนี้จะเห็นว่า เมื่อบรรจุเข้ารับราชการจะต้องเป็น
“ครูผู้ช่วย”ก่อน และจะถูก “ประเมินความพร้อมและพัฒนาเข้ม” เป็นเวลา 2 ปี จึงจะได้บรรจุลงตำแหน่ง “ครู” ซึ่งก็ยังไม่มี “วิทยฐานะ” แต่เมื่อปฏิบัติงานไป พัฒนาตนเองไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ ก.ค.ศ.กำหนดในมาตรา 54 ก็จึงจะได้มีและได้เลื่อนวิทยฐานะตามลำดับ และก็จะได้รับสวัสดิการและค่าตอบแทนต่างๆตามมาอีกหลายเรื่อง ซึ่งจะทำให้วิชาชีพครูเราได้ยกระดับและได้รับการยอมรับมากขึ้น
       ดังนั้นผมจึงมอง
มาตรา 55 เรื่องการประเมินดำรงวิทยฐานะในแง่ของตัวช่วยกระตุ้นให้เราก้าวหน้ามากกว่าในแง่การถูกริดรอนสิทธิ
อยากฟังความเห็นในเรื่องนี้จากท่านบ้างครับเพื่อเป็นข้อมูลสะท้อนให้ ก.ค.ศ.ต่อไป 

หมายเลขบันทึก: 109018เขียนเมื่อ 6 กรกฎาคม 2007 08:00 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 มิถุนายน 2012 16:03 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

สวัสดีค่ะท่าน...ธเนศ ขำเกิด

  • บันทึกนี้ดีมากเลยค่ะ  ทำไมไม่มีใคร ที่เป็นครู เข้ามาอ่านนะคะ
  • ต้องพัฒนาตนเองเสมอ ...มิฉะนั้นถูก ขอคือ หากไม่มีคุณภาพ..ใชไหมคะ  ต้องบอกกล่าวเพื่อนฝูงแล้วค่ะ

ขอบคุณค่ะ

เรียน  ท่านอาจารย์ธเนศ

           ระบบราชการไทย  การวางแผน ได้คะแนน พอใช้  ด้านการนำแผนไปปฎิบัติ  ได้คะแนน ระดับดี   ด้านการประเมินผล  ได้ระดับ  ควรปรับปรุง   ถึงแม้จำกำหนดกฎกติกาดีเยี่ยมอย่างไร  พอถึงการปฏิบัติที่ควรปรับปรุง ก็ใช้ไม่ได้ ไม่เป็นจริงในทางปฏิบัติ  เป็นอย่างนี้ทั้งอดีต ปัจจุบัน และอนาคต

ผู้บริหารจึงจำเป็นต้องทบทวนเรื่องการวางแผนที่มีชีวิตไงละ  และวงจร PDCA ที่เราพูดกันมีชีวิตหรือยัง เรายังทำตามฟอร์มกันอยู่  และระบบกำกับติดตาม ประเมินผลเราก็ยังไม่ชัดเจน  คำว่า "เขียนในสิ่งที่ทำ  ทำในสิ่งที่เขียน  และปรับปรุงพัฒนาต่อเนื่อง" จึงยังไม่เห็นภาพที่เป็นระบบและต่อเนื่อง

คนที่ได้เลื่อนวิทยฐานะเป็นอาจารย์ ๓ บางคน ไม่เห็นสอนเด็ก  เอาแต่ทำผลงาน    แล้วก็ลอยไปลอยมา   เวลาประเมิน ก็ประเมินกันตามตัวอักษร     เวลาพูดถึงหลักการ ก็สวยหรูทั้งนั้น  ตอนนี้คุณภาพการศึกษาไทย สวยหรูที่ตัวเลขและตัวอักษร  แต่คุณภาพทางความรู้ของเด็กถดถอย    ผู้หลักผู้ใหญ่หลอกตัวเองหรือเปล่า     และสงสัยว่าความคิดเห็นนี้จะได้ลงพิมพ์ไหมหนอ?

เนื้อหาทางวิชการท่ใกบผู้ท่สนใจเป็นความร้ท่ดีมาก ควรมีการประกาศเผยแพร่เพื่อเป็นวิทยาทานต่อไป

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท