ขุมทรัพย์แห่งอดีต ลายแทงสู่อนาคต (2)


หัวหน้างานทุกคนก็คงจะทำได้ดีต่อไปอย่างที่ผมรับประกันไว้ ไม่ใช่เป็นไม้หลักปักเลน โอนเอนเปลี่ยนไปเรื่อย ต้องมีหลักในการทำงานเสมอ

ขุมทรัพย์แห่งอดีต ลายแทงสู่อนาคต เป็นการเล่าสรุปภาพอดีตที่ผ่านมาและ พยายามจะฉายภาพไปสู่อนาคตของโรงพยาบาลบ้านตากในมุมมองของผม และได้บันทึกแจ้งให้กับผู้อำนวยการและเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลบ้านตากได้รับทราบ ดังต่อไปนี้

  1.  โครงสร้างการบริหารจัดการโรงพยาบาลที่แบ่งออกเป็น 3 กลุ่มภารกิจ 6 กลุ่มงานนี้มีความเหมาะสมและสอดคล้องกับภารกิจและโครงสร้างของกระทรวงสาธารณสุขอยู่แล้ว เรามีการปรับปรุงพัฒนามาตลอดตามความเปลี่ยนแปลงด้านต่างๆแล้ว กลุ่มภารกิจมีรองผู้อำนวยการช่วยดูแล กลุ่มงานมีหัวหน้ากลุ่มงานดูแลและงานต่างๆมีหัวหน้างานดูแล ทำให้ผู้อำนวยการมีผู้ช่วยจำนวนมากขึ้นเป็นหูเป็นตาให้ การทำงานจึงควรให้งานให้เกียรติหัวหน้ากลุ่มงาน ไม่ใช่ทำอะไรข้ามหน้าข้ามตากลุ่มงานไป มีอะไรก็ยิงตรงถึงผู้อำนวยการเลย ด้วยอาจเพราะสนิทสนมหรือรู้จักคุ้นเคยกันอยู่แล้ว เป็นสิ่งที่หัวหน้างานไม่ควรทำ เป็นการไม่ให้เกียรติกัน การทำงานของผมจึงปรึกษาหัวหน้ากลุ่มงานอยู่เสมอและผมเชื่อมั่นว่าหัวหน้ากลุ่มงานมีความสามารถและความรับผิดชอบที่ดีเป็นส่วนใหญ่ มีความเป็นผู้ใหญ่ ไว้ใจได้และอยู่กับโรงพยาบาลมานาน บางคนอาจมีจุดด้อยบ้างแต่ไม่ใช่เรื่องใหญ่จนทำงานไม่ได้หรือพัฒนาไม่ได้ ดังนั้นตัวหัวหน้างานทุกคนก็คงจะทำได้ดีต่อไปอย่างที่ผมรับประกันไว้ ไม่ใช่เป็นไม้หลักปักเลน โอนเอนเปลี่ยนไปเรื่อย ต้องมีหลักในการทำงานเสมอ จึงจะคงระบบดีๆที่เราพยายามอุตส่าห์สร้างกันมาเป็นสิบปีไว้ได้
  2. ในเรื่องตำแหน่งของเจ้าหน้าที่ สิบปีที่ผ่านมาก็ได้พยายามจัด จ.18 ของเจ้าหน้าที่มาไว้ที่โรงพยาบาลบ้านตากให้ได้มากที่สุด ตอนนี้ก็ยังมีบางคนที่มาใหม่ก็ฝากช่วยดูแลให้สามารถตัดย้ายจ. มาไว้ที่เราด้วย รวมทั้งการปรับเปลี่ยนตำแหน่งเป็นพยาบาลวิชาชีพก็ทำให้ได้หมดทุกคน
  3. การจัดทำแผนยุทธศาสตร์ แผนปฏิบัติการ แผนเงินบำรุงของเราเป็นไปตามหลักการทางการบริหารอย่างมากและได้รับการยอมรับจากผู้บริหารหลายท่านว่าเป็นแนวทางที่ดีมาก จึงขอให้เรายังคงหลักการวางแผนนี้ไว้ ส่วนในเรื่องวิสัยทัศน์นั้นสามารถปรับเปลี่ยนได้ตามกาลเวลา แต่พันธกิจ ปรัชญา ผลลัพธ์สุดท้าย ค่านิยมและวัฒนธรรมได้ผ่านการหล่อหลอมมานานแล้วและส่งผลดีในการพัฒนาโรงพยาบาลจึงไม่ควรเปลี่ยน
  4. คณะกรรมการพัฒนาโรงพยาบาล (กพร) มีบทบาทที่สำคัญมาก เป็นจุดเชื่อมต่อที่สำคัญจุดหนึ่งของโรงพยาบาลกับชุมชน กรรมการทุกท่านยินดีมาช่วยแนะนำโรงพยาบาล มาเป็นหูเป็นตาให้ จึงขอให้มีการนัดประชุมให้สม่ำเสมอในทุกๆ 2 เดือน และน้อมรับข้อเสนอและคำแนะนำมาใช้ประโยชน์
  5. คณะกรรมการมูลนิธิโรงพยาบาล (กธร) เป็นผู้บริหารจัดการมูลนิธิโรงพยาบาลบ้านตากซึ่งมีสถานภาพเป็นนิติบุคคล ไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของโรงพยาบาลแต่เป็นพี่เลี้ยงที่จะช่วยประคับประคองโรงพยาบาลได้ รายได้หลักทางหนึ่งคือเงินบริจาคจากแหล่งต่างๆเช่นวัดพระบรมธาตุและตู้รับบริจาคในโรงพยาบาล ก็ฝากทางโรงพยาบาลให้ช่วยดูแลแหล่งที่มาของรายได้เหล่านี้ของมูลนิธิและอนุญาตให้เจ้าหน้าที่ที่ได้รับการแต่งตั้งให้ช่วยงานมูลนิธิทำหน้าที่ต่อไป บทบาทหน้าที่สำคัญของมูลนิธิคือการสนับสนุนใน 4 ด้านคือการสาธารณสุข การเรียนรู้ด้านสุขภาพ การสงเคราะห์ผู้ด้อยโอกาสและการสร้างเสริมจริยธรรม วัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่น โดยใช้เงินดอกผลของมูลนิธิสนับสนุนให้โรงพยาบาลหรือหน่วยงานต่างๆจัดทำโครงการที่เกี่ยวข้อกับหน้าที่ 4 ประการข้างต้นเสนอให้คณะกรรมการมูลนิธิเป็นผู้อนุมัติ
  6. การประชุม คปสอ.บ้านตาก ถือเป็นการประชุมร่วมที่สำคัญของเรากับทางสสอ.และสอ. ตลอดระยะเวลาสิบปีที่ผ่านมา ผมให้ความสำคัญกับการประชุมนี้มาตลอดเพื่อเป็นการพบปะพูดคุย ประสานงาน ประสานสัมพันธ์กัน เราช่วยสนับสนุน สสอ.และสอ.ได้ ขอให้ดำรงการทำงานร่วมกันที่ดีนี้ไว้และควรมีการประชุมร่วมกันทุก 1 เดือน ในส่วนกรรมการก็ประกอบไปด้วย 3 ส่วนคือจากโรงพยาบาล จากส่วนสสอ./สอ.และจากชุมชนและถือว่าเป็นคณะกรรมการบริหารCUP Board ด้วย
  7. โครงสร้างของคณะกรรมการบริหารโรงพยาบาลทั้ง 16 คนได้พยายามออกแบบไว้เพื่อสร้างความสมดุลในคณะกรรมการอยู่แล้ว การทำงานทั้งหมดคณะกรรมการจะมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ วางแผน ประเมินผลด้วยเสมอ เพราะการตัดสินใจด้วยคนหลายคนจะช่วยกันลดข้อผิดพลาดของการตัดสินใจได้มากขึ้น
  8. เป้าหมายสุดท้ายหรือเป้าหมายสูงสุดที่ เราได้ร่วมกันกำหนดขึ้นมาคือการสร้างสมดุลใน 3 อย่างคือประชาชนมีสุขภาพดี เจ้าหน้าที่มีความสุข โรงพยาบาลอยู่รอด ก็ฝากให้เป็นธงหรือทิศทางการทำงานของพวกเราต่อไป
  9. การประชุมคณะกรรมการบริหารมีการจัดประชุมทุกเดือน มีวาระการประชุมที่กำหนดชัดเจน เนื้อหาบันทึกการประชุมได้ถูกบันทึกไว้ทั้งในรูปของกระดาษและสื่ออิเล็คโทรนิกส์ ผมได้จัดทำรวมเล่มไว้เป็นปีๆ อยู่ในตู้หนังสือห้องผู้อำนวยการ สามารถนำมาศึกษา อ้างอิงได้ บางปีอาจถูกศูนย์คุณภาพยืมไปให้อาจารย์ดูช่วงประเมินคุณภาพ มติต่างๆที่ทำมา 10 ปี จะถูกบันทึกไว้ ส่วนในคอมพิวเตอร์เก็บรวบรวมไว้ในเครื่องห้องผู้อำนวยการ บันทึกเหล่านี้ถือเป็นประวัติศาสตร์ทางการบริหารโรงพยาบาลบ้านตากได้
หมายเลขบันทึก: 108553เขียนเมื่อ 4 กรกฎาคม 2007 14:33 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 เมษายน 2012 15:37 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

สวัสดีค่ะ คุณหมอ

              คุณหมอค่ะ พอหนูอ่านเรื่องที่คุณหมอเขียนมาแล้ว   หนูก็นึกถึงหนังสืออ่านนอกเวลาเรื่อง "เกิดเป็นหมอ" ทันดีทันใดเลยค่ะ เพราะว่าที่โรงเรียนหนูวิชาภาษาไทย อาจารย์จะให้อ่านหนังสือนอกเวลา เทอมละ ๒ เล่ม  หนึ่งในนั้น  หนูก็ได้เลือกเรื่องเกิดเป็นหมอ เพราะเป็นเรื่องที่  อ่านง่าย สบายๆ ให้แง่คิด ที่สำคัญ เนื้อหาอ่านแล้วจบเร็ว แต่ได้ใจความ  จะได้ทำรายงานเสร็จเร็วๆ  หนูเป็นกำลังใจให้คุณหมอนะค่ะ

สวัสดีครับน้องจิ ขอบคุณที่เข้ามาอ่านและให้กำลังใจครับ เมื่อวันจันทร์ที่ 2 กรกฎาคมที่ผ่านมา ผมได้ไปบรรยายการจัดการความรู้สู่องค์กรอัจฉริยะที่โรงพยาบาลสมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ 17 ที่อำเภอสองพี่น้องมา ได้นั่งรถผ่านโรงเรียนบางลี่วิทยาด้วย เป็นอำเภอที่น่าอยุ่และร่มรื่นมากครับ

ได้เข้าไปอ่านในเว็บบล๊อคก็ขอชื่นชมในความรุ้ความสามารถของเด็กรุ่นใหม่อย่างน้อจิครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท