ขุมทรัพย์แห่งอดีต ลายแทงสู่อนาคต (1)


การใจร้อนปรับเปลี่ยนเร็วเกินไป อาจดูดีช่วงสั้น แต่ระยะยาวอาจทำลายขวัญกำลังใจหรือส่งผลกระทบที่ไม่พึงประสงค์ได้

                 ขุมทรัพย์แห่งอดีต ลายแทงสู่อนาคต เป็นการเล่าสรุปภาพอดีตที่ผ่านมาและ พยายามจะฉายภาพไปสู่อนาคตของโรงพยาบาลบ้านตากในมุมมองของผม และได้บันทึกแจ้งให้กับผู้อำนวยการและเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลบ้านตากได้รับทราบ ดังต่อไปนี้

  1. ขอแสดงความยินดีกับชาวโรงพยาบาลบ้านตากที่สามารถผ่านการประเมินHealthy Workplace ระดับทองเป็นปีที่ 6 จนได้รับโล่รางวัลสถานที่ทำงาน่าอยู่น่าทำงานระดับทองต่อเนื่อง แสดงให้เห็นถึงการพัฒนาของโรงพยาบาลเราที่มีมาตลอด มีฐานการพัฒนาที่ดีมา จนได้รับการยอมรับในระดับประเทศ เพราะฉะนั้นการจะทำอะไร ปรับเปลี่ยนอะไร ขอให้ศึกษาของที่มีมาก่อนอย่างรอบคอบ ทุกอย่างมีที่มาที่ไป ทุกอย่างมีระบบวางไว้ดีในระดับหนึ่ง การยกเลิกหรือรื้อทิ้งไปเลย อาจทำให้เราต้องกลับไปเริ่มที่ศูนย์หรือนับหนึ่งใหม่ ซึ่งเป็นสิ่งที่น่าเสียดาย อย่างยิ่ง หลายสิ่งหลายอย่างที่ผ่านมาได้ถูกบันทึกไว้ในรายงานการประชุมคณะกรรมการบริหารโรงพยาบาล การประชุม คปสอ.และการสรุปผลงานประจำปี สามารถศึกษาดูได้ง่าย การเปลี่ยนแปลงอะไรโดยไม่ศึกษาของเก่า ย่อมสุ่มเสี่ยงต่อการทำลายสิ่งดีๆที่สั่งสมกันมานานนับสิบปี อาจแตกสลายหายไปในเวลาอันสั้นได้ อยากให้ทั้งคนเก่าและคนใหม่ช่วยกันไตร่ตรองให้ดีก่อนปรับเปลี่ยน
  2. ผมมาอยู่ที่โรงพยาบาลบ้านตากเมื่อ 19 พฤษภาคม 2540 ครบ 10 ปีเต็มเมื่อ 19 พฤษภาคม 2550 ที่ผ่านมา และผมจะส่งมอบงานให้กับคุณหมอสุวิชัยในวันที่ 19 มิถุนายน 2550 เนื่องจากได้รับทุนไปเรียนต่อที่ประเทศเบลเยียมเป็นเวลา 10 เดือน ผมจำได้ว่าเมื่อผมมารับตำแหน่งใหม่ผมใช้เวลาศึกษาสิ่งต่างๆของโรงพยาบาลที่เป็นมาตั้งแต่อดีตจนถึงตอนที่คุณหมออนุเวชเป็นผู้อำนวยการและส่งมอบให้ผม ผมอ่านรายงานการประชุมที่มี ศึกษาประวัติโรงพยาบาล ความเป็นมา ใช้เวลาถึง 6 เดือน กว่าจะกล้าเปลี่ยนแปลงอะไรในสิ่งที่ตนเองคิดว่าดีกว่าที่เขาทำไว้อยู่ หลายสิ่งหลายอย่างที่ผมคิดและจดไว้ตั้งแต่เดือนแรกๆที่มาอยู่ พอได้ศึกษาข้อมูลอย่างรอบด้าน เราก็เห็นว่าไม่จำเป็นต้องปรับปรุงก็มีหลายอย่าง ทุกอย่างที่เกิดขึ้นมีเหตุผลของการเกิดเสมอ การใจร้อนปรับเปลี่ยนเร็วเกินไป อาจดูดีช่วงสั้น แต่ระยะยาวอาจทำลายขวัญกำลังใจหรือส่งผลกระทบที่ไม่พึงประสงค์ได้ ผมจำได้ว่าในช่วงที่ผมมาเป็นผู้อำนวยการใหม่ทั้งที่แม่พริกและบ้านตาก จะมีบางคนที่เข้ามาใกล้ชิด ให้ข้อมูลอย่างนั้นอย่างนี้ บางทีถ้าเราหูเบา เชื่อถือไปเลย เราก็อาจตัดสินใจผิดพลาดได้ จะเห็นได้ชัดเลยว่าบางคนจะเข้ามาพูดเสนอความคิดมากมายจนเราเกือบหลงเชื่อว่า คนนี้ดีจริงๆ ดูเป็นคนเอาการเอางาน ขยัน ขันแข็ง แต่บางทีก็ไม่เป็นแบบนั้นเสมอไป ช่วงที่เรามาเป็นผู้อำนวยการใหม่จะเป็นช่วงใกล้พิจารณาสองขั้นพอดี บางคนอาจทำขยันอย่างออกหน้าออกตาได้ ส่วนคนที่ขยันอย่างสม่ำเสมออาจถูกมองข้ามไปได้เช่นกัน ในช่วงที่ผมอยู่บ้านตากผมจึงมักจะขอคำปรึกษาผชช.ว.คือคุณหมอศุภกิจ เสมอๆเพื่อประกอบการตัดสินใจ  ช้าแต่ยั่งยืน ดีกว่าเร็วแล้วล้มลุกคลุกคลานหรือล้มคว่ำ
  3. เรื่องของวันเกิดโรงพยาบาลที่แท้จริงต้องถือเอาวันที่ 2 เมษายน 2516 ซึ่งเป็นวันแรกของการทำงานของโรงพยาบาลบ้านตากที่มีแพทย์มาประจำเป็นครั้งแรก แม้ตอนนั้นจะเป็นศูนย์การแพทย์และอนามัยก็ตาม พอขยายเป็นโรงพยาบาลอำเภอในปี 2527 ย้ายอาคารมาที่อยู่ปัจจุบันแล้วทำพิธีเปิดอย่างเป็นทางการในวันที่ 24 กันยายน 2527 โดยมีคุณเทอดพงษ์ ไชยนันท์ เป็นประธาน ขยายเป็นโรงพยาบาล 30 เตียงในปี 2539 เปิดอย่างเป็นทางการวันที่ 24 กันยายน 2539 โดยมีนพ.ยุทธ โพธารามิก เป็นประธาน ขยายเป็นโรงพยาบาล 60 เตียงโดยเงินบริจาคทำพิธีเปิดอย่างเป็นทางการวันที่ 13 พฤษภาคม 2543 โดยมีนพ.วิชัย โชควิวัฒน์ เป็นประธาน เปิดอาคารผู้ป่วยนอกจากเงินบริจาคในวันที่ 4 เมษายน 2544 โดยมี นพ.มงคล ณ สงขลา เป็นประธาน
  4. จากการที่เรามีอาคารบริจาค 3 หลังคืออาคารสโมสรไลออนส์เมืองตากอุทิศ อาคารพระครูพิทักษ์บรมธาตุ อาคารไชยกุล ผไทฉันท์ เราชาวโรงพยาบาลบ้านตากจึงพึงตระหนักเสมอว่าโรงพยาบาลเราพัฒนามาได้ด้วยการช่วยเหลือของประชาชนเราต้องทำเพื่อประชาชนเสมอ จากการที่ตึก 3 หลังมีชื่อ ผมก็เลยให้ตึกที่เหลือมีชื่อไปด้วยตามสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ในอำเภอบ้านตากคืออาคารพระบรมธาตุ อาคารหลวงพ่อทันใจ อาคารยุทธหัตถี ทั้งนี้เพื่อเป็นศิริมงคลแก่โรงพยาบาลและเจ้าหน้าที่ทุกคนด้วย รวมทั้งการจัดสร้างศาลพระภูมิประจำโรงพยาบาลและการสร้างศาลพระที่ทำในสมัยคุณหมออนุเวชด้วย  
  5. การพัฒนาโรงพยาบาลบ้านตากที่ผ่านมานั้นจะได้รับเงินบริจาคมาตลอดด้วยความศรัทธาของประชาชน จงอย่าทำลายศรัทธาประชาชนเด็ดขาด ในสมัยที่ผมอยู่ได้เงินบริจาคมากว่า 20 ล้านบาท ดังนั้นรายชื่อของผู้บริจาคที่ได้บันทึกไว้ขอได้อย่าลบทิ้ง เป็นการให้เกียรติแก่ความดีที่ผู้บริจาคเหล่านั้นได้กระทำไว้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเงินบริจาคจำนวนมากจากผู้ที่ให้โดยไม่หวังผลตอบแทนเลยคืออาจารย์ทัศนีย์ เทียนทอง ครูบาพานและคุณอุดร-คุณรักษ์ ตันติสุนทรและครอบครัว และกว่าจะได้ตึก ได้ครุภัณฑ์ ได้เงินบริจาคมาพวกเราหลายคนเหนื่อยกันมาก ขอให้พวกเราช่วยกันดูแลรักษาไว้ด้วย
หมายเลขบันทึก: 108551เขียนเมื่อ 4 กรกฎาคม 2007 14:29 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 19:18 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท