"การพัฒนาคุณภาพคือการหมุนของวงล้อ PDCA (Plan Do Check Act) ที่เราคงจะคุ้นเคยกันมาบ้างแล้วหรืออาจเรียกว่า DALI= Design-Action-Learn-Improvement "
กระบวนการ Hospital Accreditation (HA) คือกระบวนการเรียนรู้ โดยใช้การประเมิน/พัฒนาตนเอง และการประเมินจากภายนอก โดยมีเป้าหมายเพื่อให้โรงพยาบาลทำหน้าที่ตามเป้าหมายได้อย่างสมบูรณ์ นั่นคือการให้บริการที่มีคุณภาพและปลอดภัย การพัฒนาคุณภาพคือการหมุนของวงล้อ PDCA (Plan Do Check Act) ที่เราคงจะคุ้นเคยกันมาบ้างแล้วหรืออาจเรียกว่า DALI= Design-Action-Learn-Improvement ซึ่งหมายถึง การออกแบบระบบงาน การปฏิบัติตามระบบงานที่ออกแบบไว้ การควบคุม ติดตาม ประเมินผล เรียนรู้ และการปรับปรุง/พัฒนาอย่างต่อเนื่อง
มีสิ่งที่จะช่วยให้วงล้อ PDCA หรือ DALI หมุนไปได้ด้วยดีและเป็นธรรมชาติ เกิดความยั่งยืนและเป็นกระบวนการเรียนรู้ในที่สุด คือการกำหนดเป้าหมายหรือทิศทางของการพัฒนาโดยใช้แนวคิดของ 3 C ซึ่งประกอบด้วย
1. Context (บริบท) คือส่วนที่เป็นสถานการณ์ ปัญหาเฉพาะของโรงพยาบาล ความสามารถข้อจำกัด ทรัพยากรของโรงพยาบาล หรืออาจเป็นส่วนที่เรารู้ตัวนั่นเอง
2. Concept&Core value คือค่านิยมร่วม หลักคิดแนวคิดที่อยู่ในใจของคนทุกคนในองค์กรในการทำกิจกรรมใดกิจกรรมหนึ่ง (เป็นส่วนที่เรารู้ใจตัวเอง) มีทั้งหมด 5 กลุ่ม (17 ตัว) เช่น ทิศทางนำ ผู้รับผล คนทำงาน การพัฒนา พาเรียนรู้ หรือแนวคิดง่ายๆ คือทำงานประจำให้ดี มีอะไรให้คุยกัน ขยันทบทวน
3. Criteria มาตรฐาน กฎเกณฑ์ แนวทาง ข้อกำหนดทางวิชาชีพ ( รู้แนวทางในการพัฒนาคุณภาพ)
หรือสรุปว่าเป็นการกำหนดเป้าหมายของการพัฒนาที่สอดคล้องกับบริบท (context) หรือสถานการณ์เฉพาะของตนเอง การมีค่านิยมหรือหลักคิดในการพัฒนาที่เหมาะสม (core values & concepts)
และการปฏิบัติตามมาตรฐานหรือเกณฑ์ (standards/criteria) ที่ครอบคลุมประเด็นสำคัญ
จะขอยกตัวอย่าง การพัฒนาคุณภาพของโรงพยาบาลหนึ่งทาง ภาคเหนือของประเทศไทย โรงพยาบาลได้เล่าให้ฟังว่า โรงพยาบาลตั้งอยู่บนเขา ประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวเขาเข้าถึงบริการยาก ผู้มาใช้บริการน้อยมาก ทำให้ไม่มีปัญหาในการให้บริการ โรงพยาบาลจึงได้นำปัญหาของชาวเขาที่มีอัตราการตายของแม่และทารกที่พบสูงมาก เกิดแม่ตกเลือดหลังคลอดมาก มาทบทวน วิเคราะห์หาสาเหตุ พบว่าเกิดจากชาวเขาที่อยู่บนดอย ระยะทางไกล ไม่สามารถมาโรงพยาบาลได้ทันเวลาโดยเฉพาะในท้องหลังๆ ทำให้เกิดการตกเลือด มารดา ทารก เสียชีวิตมาก โรงพยาบาลจึงได้แก้ปัญหา โดยออกไปให้บริการเชิงรุก ค้นหากลุ่มมารดาชาวเขาที่ตั้งครรภ์ ให้ความรู้ สุขศึกษา การสังเกตอาการเมื่อใกล้คลอด และร่วมมือกับองค์กรท้องถิ่น, อบต, อสม, NGO สร้างที่พักให้ชาวเขาที่ตั้งครรภ์ใกล้คลอด ทำให้อัตราการตายของมารดา ทารกลดลงมาก และในที่สุดไม่มีมารดาเสียชีวิตเลย
จากกรณีนี้จะเห็นว่าโรงพยาบาลได้ใช้บริบทของตัวเองมาพัฒนา คือประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวเขา มีการเดินทางที่ยากแก่การเข้าถึงบริการมาปรับการบริการ นั่นคือการใช้บริบท (Context) นั่นเอง และเห็นแนวคิดที่อยู่ในใจของผู้ให้บริการ ( Core value) ได้แก่ community responsibility, management by fact , Focus on health, Visionary leadership, CQI เป็นต้น ซึ่งหากเป็นดังนี้ก็ทำให้โรงพยาบาลมีทิศทางหรือเป้าหมายในการพัฒนาคุณภาพที่ก่อให้เกิดการเรียนรู้ได้โดยธรรมชาติของรพ.เอง