การพัฒนาจิตใจ1


การพัฒนาจิตใจ จึงต้องควบคู่ไปกับการปฏิบัติหน้าที่และวิถีชีวิต อบรมจิตให้อยู่ในสภาพพร้อมที่จะปฏิบัติหน้าที่ ให้มีความสามารถ ฉลาด ควรแก่การงาน
 

ความหมายของศัพท์

สิ่งที่ควรทำความเข้าใจก่อนคือคำว่าการพัฒนา และคำว่า จิตใจ การพัฒนา แปลว่า การฝึกฝนอบรมให้มีความเจริญ ให้มีความก้าวหน้า ส่วนจิตใจ คือธรรมชาติที่รับรู้ธรรม นำความคิด วิจิตรา และรักษากรรม

จิตใจที่ให้ความหมายว่า ธรรมชาติที่รับรู้ธรรม คือรับรู้อารมณ์ที่มากระทบ เช่น สิ่งที่ตามองเห็น หูได้ยิน จมูกได้กลิ่น ลิ้นลิ้มรส กายสัมผัสถูกต้อง รวมถึงธรรมารมณ์คือหวนนึกถึงเรื่องราวที่ผ่านมา เรียกว่า วิญญาณ

จิตใจที่ให้ความหมายว่านำความคิด คือจิตเป็นผู้คิดไปต่างๆ เรียกว่า เจตนาหรือเจตจำนง 

จิตใจที่ให้ความหมายว่าวิจิตรา คือจิตทำหน้าที่ปรุงแต่งไปต่างๆหรือระบายสี เหมือนจิตรกร ระบายสีเป็นรูปต่างๆให้สวยงามหรือให้น่ากลัว เรียกว่า จิต

จิตใจที่ให้ความหมายว่ารักษากรรม คือจิตมีหน้าที่สั่งสมกรรมที่เราทำไว้ไม่ให้สูญหายและรักษาไว้ตราบเท่าที่เรายังมีชีวิต หรือจิตที่รักษาภพเรียกว่า (ภวังค)จิต

จิตใจทั้งสี่ความหมายแบ่งเป็นชนิดใหญ่ๆได้สองชนิด คือ จิตไร้สำนึก เรียกว่า ภวังคจิต ได้แก่จิตที่ให้ความหมายว่ารักษากรรม, และจิตรู้สำนึก เรียกว่าวิถีจิต ได้แก่จิตที่ให้ความหมายว่า รับรู้ธรรม นำความคิด วิจิตรา

ภวังคจิต เป็นจิตที่ทำงานอยู่ตลอดเวลา เป็นขุมพลังงาน เป็นฐานข้อมูลที่รวบรวมอุปนิสัย อารมณ์ พฤติกรรมที่ได้สั่งสมมาตั้งแต่เยาว์วัย, ส่วนวิถีจิต เป็นจิตที่ทำงานในขณะเรารู้สึกตัวหรือมีสติสมปฤดี เป็นจิตที่มีพลังงานน้อย  แสดงพฤติกรรมตามอุปนิสัย อารมณ์ที่สั่งสมมาแต่เยาว์วัย

การพัฒนาจิตใจ คือการอบรมจิตใจให้มีความเจริญ ให้มีความก้าวหน้า ให้มีสุขภาพดี ให้มีคุณภาพดี ให้มีสมรรถภาพดี ให้เหมาะสมแก่การปฏิบัติหน้าที่  หรือให้ปฏิบัติหน้าที่ได้สมบูรณ์ คือ ทำงานสำเร็จ เต็มความสามารถและปราศจากมลทิน  

สอดรับกับหน้าที่

ดังนั้น การพัฒนาจิตใจ จึงควบคู่ไปกับวิถีชีวิตและหน้าที่ ที่เราจะต้องทำในชีวิตประจำวัน  ให้สอดคล้องต้องกัน คือเราสามารถปฏิบัติธรรมะได้ใน ขอให้มีความเข้าใจให้ถูกต้องเป็นเบื้องต้นก่อนว่า การพัฒนาจิตใจ ก็คือการพัฒนาการปฏิบัติหน้าที่  ด้วยเหตุนี้ อาตมาภาพจะกล่าวถึงหน้าที่ของตำรวจโดยทั่วไปก่อน

หน้าที่ ของตำรวจโดยทั่วไปมีอยู่ 4 ประการ  1.       ป้องกัน2.       ปราบปราม3.       สร้างสรรค์สันติ4.       พิทักษ์สันติราษฎร์

เมื่อมาดูหน้าที่ของตำรวจทั้ง 4 ประการนี้  ก็เห็นว่าตรงกับพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ ทำให้คิดว่า คนที่บัญญัติศัพท์ที่เป็นหน้าที่ของตำรวจคงจะได้ศึกษาพระธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาอย่างดี พระธรรมนี้เรียกว่า ©สัมมัปปธาน แปลว่า ความเพียรถูกต้อง มีอยู่ 4 ประการคือ

1.       สังวรปธาน เพียรระวังเพื่อไม่ให้อกุศลธรรมอันลามก(เหตุร้าย, ความไม่สงบ)ที่ยังไม่เกิด เกิดขึ้น(ป้องกัน)

2.       ปหานปธาน เพียรเพื่อละอกุศลธรรมอันลามก(เหตุร้าย, ความไม่สงบ)ที่เกิดขึ้นแล้วให้สงบราบคาบ(ปราบปราม)

3.       ภาวนาปธาน เพียรเพื่อให้กุศลธรรม(ความดีงาม ความรัก ความสามัคคี ความสงบสุข)ที่ยังไม่เกิด เกิดขึ้น(สร้างสรรค์สันติ)

4.     อนุรักขนาปธาน เพียรเพื่อรักษากุศลธรรม(ความดีงาม ความรัก ความสามัคคีความสงบสุข)ที่เกิดขึ้นแล้วให้เจริญไพบูลย์ยิ่งขึ้น (พิทักษ์สันติราษฎร์)

การพัฒนาจิตใจ จึงต้องควบคู่ไปกับการปฏิบัติหน้าที่และวิถีชีวิต อบรมจิตให้อยู่ในสภาพพร้อมที่จะปฏิบัติหน้าที่ ให้มีความสามารถ ฉลาด ควรแก่การงาน ประสานโลกและธรรมให้ดำเนินไปด้วยดี เหมือนบทกวีที่นักกวีรจนาไว้ว่า 

ศีลธรรมนำโลก                             ให้ จำเริญ

โลกห่างธรรมธรรมเหิน               โลกเศร้า

โลกกับธรรม ร่วมทางเดิน            เสพสุข สราญพ่อ

โลกสุขทุกค่ำเช้า                             ชิดเชื้อธรรมเสมอ



© ปธานสูตร จตุกกนิบาต อังคุตตรนิกาย
คำสำคัญ (Tags): #ศาสนา ธรรมกถา
หมายเลขบันทึก: 107723เขียนเมื่อ 1 กรกฎาคม 2007 01:40 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 มิถุนายน 2012 13:27 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท