ลงเรือไปลากอวนกุ้งที่ขนอม


อันที่จริง อัตราการจับก็เพียง “พอประมาณ” ตามกำลังความสามารถของเครื่องมือ คือ อวนและแรงงาน

วันที่เพื่อนเสี่ยวเกลอแวะไป อ.ขนอม จ.นครศรีฯ (17 มิย)  เราตั้งใจจะไปเยี่ยมกลุ่มประมงที่เป็นเครือข่าย  แต่ไปถึงช้ากว่ากำหนดมากเพราะพรรคพวกจากอีสานไปติดอยู่ในเมืองเพื่อ  ตามหาจตุคามฯ     ผลสุดท้าย  ไปถึงเอาเมื่อบ่าย เลยเวลาอาหารเที่ยงไปนานโข  เรื่องกินเลยเป็นเรื่องใหญ่เฉพาะหน้า  เรื่องปรับกำหนดการใหม่เพื่อให้ทันส่งสมาชิกขึ้นรถทัวร์กลับกรุงเทพฯ เป็นเรื่องใหญ่อันดับสอง   แต่พี่เรืองหัวหน้าทีมก็ได้บอกให้เจ้าบ้าน (หัวหน้ากลุ่มประมง)  ไปวางอวนลอบกุ้งเอาไว้   จึงต้องรับผิดชอบลงเรือไปช่วยเจ้าบ้านลากอวนกลับขึ้นมา   ผลสุดท้าย  จึงไม่มีสมาชิกคนใดได้คุยกับเจ้าบ้าน

 

          ตอนจะไปลงเรือ  พี่เรืองเรียกเราไปด้วย   ก็เลยเป็นครั้งแรกที่ได้ลงเรือไปลากอวนกุ้ง  เรือลำเล็กมีเครื่องยนต์ดีเซล  ไปกันได้รวมแค่สี่คน คือ เรา พี่เรือง และเจ้าของเรือสองคนสามีภรรยา   เมาเรือไหม?”   เราส่ายหน้า แล้วบอกว่า แต่เมาเรือบิน   ตอนเป็นเด็ก  นั่งเรือข้ามทะเลสาบสงขลาจากระโนดไปพัทลุงอยู่บ่อยๆ  นั่งรถข้ามเขาพับผ้า (ก่อนเขาถล่ม) มึนกว่าตั้งเยอะ  ตอนโตนั่งเรือใหญ่ไปปากแม่น้ำเจ้าพระยาเจอคลื่นแรงๆก็แค่มึน แต่ไม่เมา     ที่เคยมึนมากกว่า คือตอนนั่งเครื่องบินเวลาป่วย

 

          อากาศครึ้มๆ  อยู่ชายฝั่งคลื่นไม่แรง  แต่ออกไปไกลนิดสักหนึ่งกิโลเมตร  คลื่นใหญ่ขึ้น  สามีเป็นนายท้าย  ภรรยาคอยวิดน้ำออกจากเรือตลอดเวลา   เรือกระเพื่อมขึ้นลงตอนแล่นโต้คลื่นออกไป  เจอคลื่นใหญ่เข้าลูกหนึ่งทำเอาตัวเปียกเหมือนกัน  รู้สึกดีที่ได้อยู่กับธรรมชาติ  ทำให้หัวใจมีเรี่ยวแรงขึ้น   พี่เรืองสูบมวนยาสบายใจเฉิบอยู่ตรงหัวเรือ   ที่เห็นอยู่ไม่ไกลนัก คือ  เกาะสมุย

 

          เป้าหมายของเราคือ ไม้หลักผูกธงสีน้ำเงินที่ปักอยู่กลางทะเลตรงหน้า   เรือแล่นเข้าไปใกล้  พี่เรืองเอื้อมไปคว้าไม้จนเรือเอียง   ดึงไม้ขึ้นเก็บในเรือ   มีปลายอวนผูกอยู่ที่ไม้  จึงเริ่มสาวอวนขึ้นมา   เจ้าของเรือหยุดเครื่องยนต์ปล่อยให้เรือลอยตามคลื่นและตามแรงสาวอวนซึ่งจะมีจุดสิ้นสุดอยู่ที่ไม้หลักอีกต้นที่ผูกอีกปลายของสายอวนไว้

 

          เจ้าของเรือทั้งสองคนลงมาอยู่ที่หัวเรือช่วยกันสาวอวนขึ้นมา   มีกุ้งตัวเหลืองติดขึ้นมาด้วย  หนึ่งตัว  สองตัว  สามตัว   สาวอวนไป ปลดกุ้งใส่ตะกร้าไปด้วย   บางทีก็มีปลาตัวเล็กติดขึ้นมาด้วย  ก็จะถูกปลดออกทิ้งทะเล  เรานึกว่า ปลายังมีชีวิตอยู่  แต่พี่เรืองบอกว่าปลาพวกนี้จะตาย   ปลาเล็กๆพวกนี้บางทีก็เอาไปทำปลาบ่น (ถ้าจับได้เยอะ)   ลอบกุ้งครั้งนี้ ติดกุ้งแชบ๊วยมาด้วย  ที่ตัวโตมากๆกิโลละสามร้อย  ติดมา 1 ตัว  ที่เหลือมีปลาหมึกติดมาบ้าง   พี่เรืองโดน ปลาหมึกกัด  ร้องโอย  พี่เรืองบอกว่า  ปลดกุ้งปลดปลาออกจากอวนไม่ง่ายเลย 

 

          ครู่หนึ่งฝนก็ตกลงมา   เจ้าของเรือจึงเลิกปลดเพราะจะเสียเวลา ได้แต่สาวอวนอย่างเดียว บอกว่าค่อยไปปลดริมฝั่ง    ดูแล้วชาวประมงแข็งแรงมากทั้งผู้หญิงผู้ชาย เพราะสาวอวนก็ต้องใช้กำลัง   เจ้าของเรือบอกว่า  ใช้เวลาวางอวนเพียงแค่ 15 นาทีก็เก็บอวนได้  เพราะถ้าวางนานกว่านี้  กุ้งจะติดมากกว่านี้   จะเก็บอวนยากขึ้น   อวนยาว เป็นกิโล วางอวน 15 นาที  ใช้เวลาสาวเก็บอวนอีกประมาณ 15   นาที ก็ได้กุ้งมาพอสมควร    เดาไม่ถูกว่าได้กี่กิโล  แต่ก็น่าจะกว่าครึ่งตะกร้า  ถือว่าใช้ได้ดีทีเดียว  ได้ผลเร็วและดูจะลงทุนลงแรงน้อยกว่าการเพาะปลูกข้าว  แต่ไม่รู้ว่าฤดูกาลอื่นจะได้แบบนี้ไหม  ถ้าทะเลตรงนี้ยังเป็นท่าเรือเฟอร์รี่ไปเกาะสมุยเหมือนเมื่อหลายปีก่อน ชาวประมงคงไม่เหลือปลาเหลือกุ้งไว้ให้จับ 

         มัวแต่ดูมัวแต่คิด ไม่ได้คุยกับเจ้าของเรือ    สาวอวนเสร็จ  เก็บไม้ปักอวน  ก็สตาร์ทเครื่องวิ่งเรือกลับเข้าฝั่ง  ใช้เวลาทั้งหมดประมาณครึ่งชั่วโมงเท่านั้น

 

ขากลับสวนกับเรือประมงเล็กอีกลำ  ชาวเรือสองลำยิ้มทักทายกันด้วยมิตรภาพ  เรานึกถึงทฤษฎี   “open access”  ทรัพย์สินแบบเปิด ใครๆก็เข้าถึงได้  มือใครยาวสาวได้สาวเอา    แต่รอยยิ้มของเจ้าของเรือสองลำ ไม่ได้บอกถึงความคิดว่า แย่งกันจับ แบบมือใครยาวสาวได้สาวเอา  แต่อย่างใด   อันที่จริง  อัตราการจับก็เพียง พอประมาณ  ตามกำลังความสามารถของเครื่องมือ  คือ อวนและแรงงาน  อย่างที่บอกว่า จะวางนานเกินไปเพื่อให้จับได้มากๆ ก็ปลดไม่ไหว ลากไม่ไหว 

  

ความ ไม่พอประมาณ  จึงมาจากเรือประมงพาณิชย์ขนาดใหญ่กว่า ที่มีเทคโนโลยี  มีเครื่องมือทันสมัยกว่า   ตาอวนถี่มากกว่า   มีเรดาร์ไว้จับตำแหน่งปลารวมถึงไว้จับตำแหน่งเรือตรวจการที่ออกมากวาดจับเรือที่ผิดกฎหมาย  (เช่น บุกรุกเข้ามาในเขตประมงพื้นบ้านหรือที่ใช้เครื่องมือจับปลาผิดกฎหมาย ...ตรงนี้มาจากการคุยกับชาวประมงที่สตูลเมื่อหลายปีก่อน)

 

ที่ริมฝั่ง  พรรคพวกรออยู่  ฝนไม่ตกเหมือนที่กลางทะเล   พี่เรืองบอกว่า เอาอาจารย์ปัทไปลงเรือดูว่าเมาเรือรึเปล่า  ฝึกความอดทน  เราตอบไปว่า มาฝึกความอดทนอะไรกันตอนแก่...

 

ตอนนั่งรถกลับ   นึกถึงกราฟ production function ของการจับปลาที่เคยสอนนักศึกษา กราฟเส้นโค้งตัดกับกราฟเส้นตรงของเส้นต้นทุน เกิดเป็นจุดที่เหมาะสมสำหรับการผลิต เสน่ห์ของมันเทียบไม่ได้กับเส้นสายลายอวนและวิถีการผลิตจริงที่เป็นชีวิตของชาวประมง  จุดเหมาะสมของการจับที่มาจากต้นทุนจริงของชีวิตกับประโยชน์จริงจากความเอื้ออารีของธรรมชาติ

  
หมายเลขบันทึก: 106827เขียนเมื่อ 27 มิถุนายน 2007 20:09 น. ()แก้ไขเมื่อ 4 มิถุนายน 2012 16:54 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท