ตำนานเพลงอีแซว "100 ปีที่วัดป่าเลไลยก์" ตามรอยครูเพลง


ชมเพลงอีแซวของแท้ ได้ที่งานประจำปี วัดป่าเลไลยก์

 

ตำนานเพลงอีแซว

100 ปี ที่วัดป่าเลไลยก์

ตามรอยครูเพลง

           เพลงอีแซว จัดเป็นเพลงพื้นบ้านประเภทหนึ่ง ที่สันนิษฐานกันว่า เกิดขึ้นทีหลังเพลงพื้นบ้านประเภทอื่น ๆ  โดยเฉพาะทีหลังเพลงฉ่อย เพลงแคน เพลงยั่ว ตามที่ครูเพลง  และคนเพลงเก่า ๆ บอกเล่ากันต่อ ๆ มาว่า ที่วัดป่าเลไลยก์ อำเภอเมือง จังหวัดสุพรรณบุรี ในแต่ละปีจะมีงานปิดทองหลวงพ่อโตปีละ 2 ครั้ง โดยครั้งแรกจะมีงานในวันขึ้น 7-9 ค่ำ เดือน 5 (หน้าแล้ง) และครั้งที่ 2 จะมีงานในวันขึ้น 7-9 ค่ำ เดือน 12 (หน้าหนาว) แต่ความเป็นจริงงานประจำปี ปิดทองหลวงพ่อโตที่วัดป่าเลไลยก์ทั้ง 2 เทศกาล มักจะโดนฝนเสียเกือบทุกครั้ง ด้วยความศรัทธาที่ผู้คนมีต่อหลวงพ่อโต พอถึงหน้าเทศกาลปิดทอง ก็เดินเท้ากันมา ที่มาทางเรือบ้างก็มี เขาว่า มาขึ้นจากเรือที่วัดประตูสาร   ส่วนคนเดินเท้าก็มาจากทั่วสารทิศ   รวมทั้งในเขตติดต่อกับจังหวัดใกล้เคียง ได้แก่

        -   อำเภอสามโก้  อำเภอวิเศษชัยชาญ จังหวัดอ่าทอง

        -    อำเภอพนมทวน  จังหวัดกาญจนบุรี

        -    อำเภอลาดบัวหลวง  จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

        -    อำเภอบางเลน     จังหวัดนครปฐม

        -    เขตติดต่อจังหวัดอุทัยธานี จังหวัดสิงห์บุรี  เดินทางมาโดยเกวียนเทียมวัวเทียมควาย 

                หลังจากที่ได้ปิดทองไหว้พระหลวงพ่อโตเสร็จแล้ว บรรดาพ่อเพลง แม่เพลง หรือนักเล่นเพลงที่มีความสามารถก็จะชักชวนกันออกมาว่าเพลง โดยใช้บริเวณโคนต้นโพธิ์ เป็นเสมือนเวทีทำการแสดง ไม่มีเครื่องขยาย ไม่มีไฟฟ้า และในยุคนั้นไม่แยกว่า เป็นผู้แสดงกับผู้ดูหรือผู้ชม ใครมีความสามารถ ก็นำเอามาแสดง ใครเหนื่อยก็หยุดพักสลับผลัดเปลี่ยนกันไปคืนยันรุ่ง

         พ่อเพลง  แม่เพลงในแถบจังหวัดสุพรรณบุรี จะมีมากหน่อย  เพราะเป็นเจ้าของถิ่น และแถบสามโก้ จังหวัดอ่างทอง มากันมากโดยมีการนัดหมายกันเอาไว้ล่วงหน้าเมื่อตอนที่เจอกันในเทศกาลที่ผ่านมา บางคนให้แหวน เป็นการสัญญากันว่า  เทศกาลหน้าจะต้องมาเจอกัน บางคนมอบผ้าเช็ดหน้าให้กัน

         นายจำลอง  รุณเจริญ  เป็นพ่อค้าขายของอยู่ที่หน้าวัดป่าเลไลยก์   ปัจจุบัน อายุ 70 กว่าปีแล้ว ท่านเล่าว่าเพลงอีแซวมีมานานก่อนที่ท่านจะมาตั้งบ้านเรือนอยู่ที่หน้าวัดป่าเสียอีกตอนสมัยหนุ่ม ๆ มองเห็นผู้คนจำนวนมากลงไปอาบน้ำที่คลองข้างวิหารวัดป่าเลไลยก์ แล้วก็แต่งตัวกันตามร่มไม้ เวลาค่ำ ซื้อธูป เทียน ทอง ดอกไม้ เข้าไปไหว้หลวงพ่อโตในวิหาร พอถึงครึ่งคืนจะได้ยินเสียงเพลงอีแซวร้องโต้กันอย่างสนุกสนานจนรุ่งเช้า

         นางบัวผัน  จันทร์ศรี (ศิลปินแห่งชาติสาขาศิลปะการแสดง เพลงอีแซว) เล่าถึงความเป็นมาของเพลงอีแซวว่า แต่ก่อนไม่มีชื่อเรียกว่าเพลงอีแซว มีแต่เพลงแคน เมื่อได้ยินเสียงแคนก็ออกไปรำกันอย่างสนุกสนาน แล้วก็มีเพลงยั่ว ร้องกันไปรำกันไปเป็นวง พวกผู้ชายใช้ปากทำเป็นเสียงกลอง (กลองยาว) ปุ ปะ โทน ๆ บอม ๆ ๆ  เล่นกันได้ถึงครึ่งคืน พอมหรสพ อื่น ๆ เลิกหมดก็มีคนมาชวนให้พวกสาว ๆ ออกไปร้องเพลงโต้ (รุ่นพ่อ แม่เล่ามาอีกต่อหนึ่ง)

         นางอ้น จันทร์สว่าง พูดถึง งานปิดทองหลวงพ่อโต ที่วัดป่าเลไลยก์ เล่าความหลังให้ผมฟังอย่างแม่นยำ ท่านบอกว่า เตรียมตัวไปงานวัดป่ากันเป็นแรมเดือน เพราะสมัยนั้นต้องเดินเท้ากันไป นัดหมายกันก่อนไปกันเป็นชุม ๆ (เป็นกลุ่ม) เดินทางกันไปตั้งแต่ไก่โห่ (หลังเที่ยงคืน) เหนื่อยก็หยุดพัก พวกผู้ชายก็จะร้องเพลงฉ่อยบ้าง เพลงอีแซวบ้าง บางทีก็ร้องแก้กันไปตลอดทาง ไปถึงวัดป่าก็บ่าย ตะวันคล้อยลงไปแล้ว พออาบน้ำแต่งตัวหวีผมผัดหน้ากันเสร็จก็กินอาหารเย็นที่โรงทาน  แล้วซื้อธูปเทียนทอง  นำเข้าไปไหว้ทองหลวงพ่อโต แล้วก็ออกมาเที่ยวชมงาน จนถึงเที่ยงคืนมีเพลงอีแซวแล่นกันหลายชุม เล่นกันตามใต้ต้นไม้

          นายหนุน กรุชวงษ์  บ้านทะเลบก อำเภอดอนเจดีย์  นักเพลงรุ่นราวคราวเดียวกันกับป้าอ้น จันทร์สว่าง และแม่บัวผัน จันทร์ศรี   ท่านเล่าถึงความเป็นมาของเพลงอีแซวที่วัดป่าคล้าย ๆ กับครูเพลงที่ผมกล่าวมา ท่านบอกว่าก็เล่นกันคืนยันรุ่ง ต่อว่ากันไปต่อว่ากันมา เลยเรียกว่า เพลงอีแซว

          บางคนพยายามที่จะพูดให้เกียรติเพลงอีแซว เรียกชื่อใหม่ว่า เพลงคุณแซว ผมถามพี่เกลียว เสร็จกิจ (ขวัญจิต ศรีประจันต์) ว่าเรียกได้ไหม พี่เขาบอกว่าคงจะไม่ถูกต้องตามตำนานดั้งเดิมที่เขาเรียกกันมานานแล้วว่า เพลงอีแซว จะเรียกสั้น ๆ ว่า อีแซว ก็ไม่ถูก ต้องเรียกว่า เพลงอีแซว  ส่วนที่ว่าเพลงอีแซวถือกำเนิดมานานเท่าไร กี่ปีได้แล้ว ผมขอเปรียบ เทียบดังนี้ ยกเอาอายุของแม่บัวผัน จันทร์ศรี เป็นหลัก แม่บัวผันหัดเพลงตอนอายุ 15-16 ปี ส่วนคุณพ่อของท่านเล่นเพลงฉ่อยมาก่อน คนที่หัดเพลงให้ท่านคือ คุณอา ซึ่งเป็นน้องของพ่อ ก็น่าที่จะมีอายุมากกว่าแม่บัวผันสัก 20-30 ปี แม่บัวผันเสียชีวิตไปเมื่ออายุ 85 ปี (8 พ.ย. 2548) -15 ปี (อายุที่แม่บัวผันหัดเพลง) และ + 30 ปี (อายุรุ่นครูที่ฝึกหัดให้)  กะประมาณว่าเพลงอีแซว น่าที่จะมีอายุราว 100 ปี  (นับถึง พ.ศ. 2550)

        

          ที่สำคัญที่สุดก็คือ แหล่งกำเนิดเพลงอีแซวที่นักเพลงต่างก็พูดตรงกันว่า เกิดขึ้น ครั้งแรกที่ งานปิดทองหลวงพ่อโต วัดป่าเลไลยก์  อำเภอเมือง จังหวัดสุพรรณบุรี  วันนี้ที่วัดป่าเลไลยก์ ยังคงมีงานปิดทองไหว้หลวงพ่อโต เช่นเดิม เพียงแต่ขยายเวลาออกไปเป็นเทศกาลละ 5 วัน คือ ขึ้น 5-9 ค่ำ เดือน 5 และเดือน 12 และทางคณะกรรมการของวัดป่าเลไลยก์ยังคงรักษาเอกลักษณ์ดั้งเดิมเอาไว้อย่างเหนียวแน่น นั่นคือ จัดให้มีเพลงอีแซวแสดงในงานตลอดทั้ง 5 คืน 5 คณะ สลับผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันไปโดยตลอด

          ขอเชิญชวนทุกท่านที่ผ่านไปแถบจังหวัดสุพรรณบุรี ถ้าตรงกับเทศกาลปิดทองหลวงพ่อโตแวะชมเพลงอีแซวต้นกำเนิด ของแท้ได้ที่ลานวัดหน้าวิหารหลวงพ่อโตมีตลอดทั้ง 5 คืน ครับ

ชำเลือง  มณีวงษ์ / นักเพลงพื้นบ้าน-เพลงอีแซวสุพรรณ ย้อนตำนานดั้งเดิมสู่เยาวชน

 

หมายเลขบันทึก: 106820เขียนเมื่อ 27 มิถุนายน 2007 19:28 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 มิถุนายน 2012 01:28 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท