KM ที่ไม่ใช่ (แค่) การจัดการความรู้


KM เป็นการบริหารจัดการตัว “ความรู้” ตัวคน และบริบทไปด้วยกัน พูดง่ายๆก็คือ เป็นการจัดการ “ความรู้” และความสัมพันธ์เชิงอำนาจของผู้คนรวมถึงสถาบันต่างๆที่เกี่ยวข้องกับ “ความรู้” ให้สามารถนำไปสร้างอำนาจต่อรองให้กับกลุ่มคนหรือสังคมใดสังคมหนึ่งในบริบทเฉพาะหนึ่งๆ

การจัดการความรู้ (KM) คำแปลของ KM นี่เป็นมายาสัญญะ นะครับ คือ มักทำให้คนไปติดยึดว่าเป็นเรื่องการจัดการ ความรู้เพียงอย่างเดียว  ซึ่งสุ่มเสี่ยงต่อการทำให้เรามอง ความรู้เป็นเอกเทศจากผู้ที่สร้างมัน บริบทที่แวดล้อมมัน และนัยยะเชิงอำนาจแฝงเร้นของมัน

  ยกตัวอย่างที่สังคมไทย กำลังตื่นตัวเรื่องการทำ KM อย่างมาก โดยเฉพาะในหน่วยงานภาครัฐ นัยยะว่ามันเป็น หลักประกันมาตรฐานหรือจะเรียกว่ามันเป็น หลักประกันเงินเดือน ก็ตามแต่ ปฏิเสธไม่ได้ว่ามันเป็น แฟชั่น ที่ใครๆต้องพูดถึง ซึ่งก็ไม่ผิดอะไร ถ้าเรามองเห็นว่ามันเป็น แฟชั่น” (ซึ่งต้องมีการผลัดเปลี่ยนไปเรื่อยๆ)  

แต่ไม่งั้น หลายคนอาจจะมองดูมันด้วยความลุ่มหลง เหมือนกับ KM เป็นศาสดาใหม่ ที่ทำให้นักวิชาการและนักพัฒนาแนววิทยาศาสตร์ ลุแก่ อหังการ์ทางวิชาการ จนคิดว่าจะสามารถจับเอา มิติทางสังคมวัฒนธรรมไปใส่ล็อกเกอร์แยกออกเป็นชั้นๆ ได้ก็คราวนี้  โดยลืมนึกไปว่ามิติทางสังคมศาสตร์มันมีลักษณะเฉพาะที่ไม่สามารถจะเอากรอบวิทยาศาสตร์มาสวบทับลงไปได้

 

บ่อยครั้งที่ ผมรู้สึกไม่ค่อยไว้วางใจ เวลามีคนบอกจะเอา KM มาใช้ในงานพัฒนาชุมชน เพราะทั้งสองสิ่ง มันมาจากฐานคิดที่ต่างระดับกันมหาศาล  KM กระแสหลักที่นิยมพูดถึงกัน ทุกวันนี้เป็นองค์ความรู้ที่มาจากตะวันตกที่วางอยู่บนฐานคิดแบบวิทยาศาสตร์ที่ให้ความสำคัญกับระบบระเบียบ สิ่งที่จับต้องได้ เน้นความเป็นแก่นสาร (essentialism) ที่ให้ความสำคัญกับการจัดการเชิงเดี่ยว ความชัดเจน เป็นขั้นเป็นตอน และสามารถถ่ายทอดออกมาเป็นภาษาวิชาการที่สามารถเข้าใจได้ 

 ในขณะที่การ เฮ็ดความรู้ของชาวบ้านไม่ใช่เรื่องของการจัดการเชิงเดี่ยว แต่มันผสมกลมกลืนกันจนแยกไม่ออก ซึ่งมีแง่จิตวิญญาณ ความเชื่อ อารมณ์ความรู้สึก อยู่เต็มไปหมด และบางทีก็ไม่ต้องการภาษาเขียน หรือภาษาที่แข็งทื่อแบบวิชาการ รวมถึงสัญลักษณ์ทางวิทยาศาสตร์มาใช้แทนความหมายสิ่งต่างๆ  

ยกตัวอย่าง ความรู้บางอย่าง ชาวลีซูก็ไม่สามารถเขียนออกมาได้ เพราะ ผีห้ามเขียน บางเรื่องตามจารีตห้ามผู้หญิงพูด แต่พูดไม่ได้ เขียนไม่ได้ ถึงจะเขียนก็เขียนแปลออกมายาก แล้วจัดการกันอย่างไร นี่ KM แบบฝรั่งงงเต็กเลย   ความรู้บางอย่าง จะถ่ายทอดได้ ต้องทำพิธีเลี้ยงผี บูชาผีครับ ไม่งั้นไม่ได้ และไม่ ศักดิ์สิทธิ์      ไม่มีคนยอมรับ  

ไม่ได้บอกว่าชาวบ้านทำ KM ไม่ได้ แต่ผมคิดว่าชาวบ้านเขามี KM ในแบบจารีตประเพณีของเขาอยู่แล้ว ซึ่งการเอากรอบคิดทฤษฏีอะไรจากข้างนอกไปจับนี่ต้องระวังมาก เพราะนอกจากคุณจะไม่เจอ KM ของชาวบ้านแล้ว พวกเขาอาจจะถูกตัวเราและถูกสังคมมองว่าเป็นพวกล้าหลัง คล้ายๆกับที่เราใช้แนวคิดทฤษฏีวิวัฒนาการ ไปตัดสิน คนป่า ว่าโง่เง่ากว่า ชาวยุโรปในยุคล่าอาณานิคมทำนองนั้น 

 เพราะ KM ไม่ได้เป็นแค่ศาสตร์ แต่มันเป็นมายาคติให้คนทั่วไปมักจะคิดว่า ถ้ามี KM แบบที่นักวิชาการแบบตะวันตกว่าแล้ว จะเป็นหน่วยงานหรือชุมชนที่เก่ง ดี มีความเจริญ มีความทันสมัย (civilization) ฯลฯ พูดง่ายๆคือมีสถานะทางสังคมสูงขึ้น ดูดีขึ้นโดยปริยาย  

ทั้งๆที่ การมี KM ไม่ได้เป็นตัวชี้วัดอะไรมากมาย และมันใช้ตัดสินไม่ได้ว่าหน่วยงานใด ชุมชนใด วัฒนธรรมใด สูงหรือต่ำกว่า และการตัดสินเช่นนี้เป็นหายนะของการยอมรับความหลากหลายทางวัฒนธรรม และอาจนำไปสู่การลดทอนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ อันนี้ต้องระวัง  

จึงเห็นด้านมืดด้านแรกของ KM ก็คือมันได้สร้างมาตรฐานเชิงคุณค่า หรือไปปะป้ายให้กับกลุ่มที่ไม่สามารถทำ KM หรือปฏิเสธ KM ที่สถาบันวิชาการหรือเทคโนแครตสร้างขึ้นอย่างไม่ยุติธรรม  

ด้านมืดอีกด้าน ก็คือ มีคำถามสำคัญที่ท้าทาย KM ก็คือ K (knowledge) ในที่นี้ใครเป็นคนสร้าง ชนชั้นไหน ผู้ชายหรือผู้หญิง มีสถานะภาพสังคมอย่างไร และใครเป็นผู้ได้ประโยชน์ ใครเสียประโยชน์  เพราะถ้า ตัว K ไม่ชัด จะไปหาตัว M ก็เลอะไปกันใหญ่ การทำ KM ก็จะสูญเปล่า มิหน้ำซ้ำยังไปผลิตซ้ำการเอารัดเอาเปรียบ การกดขี่คนบางกลุ่มให้ยิ่งรุนแรงขึ้น  

ด้านมืดสุดท้าย (เท่าที่คิดออกในขณะนี้)  ก็คือ การแปล KM ว่าเป็นเรื่องการจัดการ ความรู้ทำให้คนทั่วไปมอง KM อย่างฉาบฉวย ทั้งๆที่ KM ไม่ว่าจะมาจากฝรั่งหรือบนดอย ก็ล้วนเกี่ยวพันกับบริบท เกี่ยวพันกับความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่มีความซับซ้อน  

เราไม่สามารถแยก ความรู้ออกจากตัวผู้สร้างมันได้ และเราไม่สามารถแยก ความรู้ออกจากบริบทที่ก่อกำเนิดและช่วยให้มันขับเคลื่อนได้  ตรงนี้หมายความว่า จะจัดการ ความรู้ให้ขับเคลื่อนได้ ต้องจัดการตัวคนและบริบทแวดล้อมไปพร้อมๆกันด้วย   

หมายความว่า KM เป็นการบริหารจัดการตัว ความรู้ตัวคน และบริบทไปด้วยกัน พูดง่ายๆก็คือ เป็นการจัดการ ความรู้ และความสัมพันธ์เชิงอำนาจของผู้คนรวมถึงสถาบันต่างๆที่เกี่ยวข้องกับ ความรู้ให้สามารถนำไปสร้างอำนาจต่อรองให้กับกลุ่มคนหรือสังคมใดสังคมหนึ่งในบริบทเฉพาะหนึ่งๆ   

KM สำหรับผม จึงไม่เป็น (แค่) การจัดการความรู้ แต่มีนัยยะเชิงบริบท อำนาจ และด้านมืดที่อยากจะสะท้อนออกมา

  

ผมไม่ได้ต้องการจะบอกว่า ทุกคนเลิกทำ KM กันเหอะ หรือมองคนทำ KM ในแง่ร้ายนะครับ ผมศรัทธาในเจตนาของทุกคนที่อยากเห็นประเทศของเรา ชุมชนยากจน คนชายขอบ ติดอาวุธทางปัญญาเพิ่มขึ้นโดยใช้ KM และผมรู้ว่า คนที่ผลักดัน KM นั้นโคตรเหนื่อยกันทั่วหน้า

อย่างไรก็ตาม อาวุธที่ว่า อาจกลายมาเป็น ดาบสองคม ด้วยอุดมการณ์เดียวกัน ผมจึง ขอคิดด้วยคนออกมาดังนี้ครับ

หมายเลขบันทึก: 106794เขียนเมื่อ 27 มิถุนายน 2007 16:50 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 19:13 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

สวัสดีค่ะคุณยอดดอย

มาแวะเยี่ยม หลังจากหายไปนาน เพราะช่วงที่ผ่านมากลับไปทบทวนตนเอง พยายามอยู่กับตัวเองให้มาก    KM ก็เข้ามาเกี่ยวข้องในชีวิตของดิฉันเหมือนกันค่ะ ก็มอง KM เป็นเสมือนกัลยาณมิตรนะคะ ตอนนี้ก็เลยใช้จัดการชีวิตตัวเองให้ได้ก่อนค่ะ 

สวัสดีครับคุณพัชรา

  •  คงสบายดีนะครับ การกลับไปทบทวนตัวเอง เป็นสิ่งที่ดี เป็นการ re-check ตัวเอง ผมก็พยายามทำบ่อยๆนะครับ คือมองตัวเอง ด้วยสายตาของคนอื่นบ้าง
  • จริงๆแล้ว สำนวนไทยคนโบราณเขาก็สอนไว้ ว่า ต้องรู้จักเอาใจเขามาใส่ใจเรา อันนี้จริง ลดอัตตาตัวเองได้เยอะ
  • KM ต้องเริ่มที่ตัวเราเองก่อน อันนี้เห็นด้วยครับ และ KM ต้องควบคู่กับจริยธรรมด้วย อย่าง KM ต้องใช้อย่าง "เอาใจเขามาใส่ใจเรา" อันนี้อยากให้เน้นกันเยอะๆครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท