เรื่องเล่าจากออสเตรเลีย 24


ประเทศออสเตรเลียกว้างใหญ่กว่าเมืองไทยมาก แต่เขาก็สามารถสร้างสาธารณูปโภคและโครงสร้างพื้นฐานเข้าไปในทุกที่ที่มีประชากรของเขาอยู่ เพื่อให้คนของเขาสามารถอยู่ในพื้นที่ชนบทห่างไกลได้

         จากการได้มาทัศนศึกษาออสเตรเลียในครั้งนี้ ทำให้ได้รู้จักประเทศนี้มากขึ้น โดยเฉพาะในรัฐนิวเซาท์เวลส์ ซึ่งมีพื้นที่ใหญ่กว่าเกาะอังกฤษทั้งเกาะ มีความแตกต่างระหว่างภูมิอากาศระหว่างเมืองมาก ที่แทมเวอร์ธค่อนข้างร้อน ขณะที่อาร์มิเดลค่อนข้างหนาว  พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นภูเขา ทุ่งหญ้า มีต้นไม้ใหญ่ไม่มากนัก ส่วนใหญ่เป็นต้นยูคาลิปตัสที่มีอยู่หลายพันธ์แตกต่างกันไป แต่ไม่ค่อยเหมือนยูคาที่บ้านเรา ที่ผมสังเกตเห็นอย่างหนึ่งคือใต้ต้นยูคาที่ออสเตรเลียมีต้นหญ้าเล็กๆขึ้นได้ แต่ที่บ้านเราใต้ต้นยูคาไม่ค่อยมีต้นไม้ต้นหญ้าขึ้นเพราะถูกยูคาแย่งอาหารไปมาก

          ตลอดสองข้างทางจะมีทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์กว้างใหญ่มากดูคล้ายสนามกอล์ฟบ้านเรา แต่ในพื้นที่ทุ่งหญ้าริมถนนเหล่านี้จะมีรั้วกั้นไว้เพื่อไม่ให้สัตว์เดินออกมาในถนนได้ ผิดกับบ้านเราที่เลี้ยงวัวปล่อยเดินข้ามถนนไปมาจนทำให้รถที่วิ่งผ่านเกิดอุบัติเหตุอยู่บ่อยๆ แม้แต่รถพยาบาลส่งต่อผู้ป่วยของโรงพยาบาลบ้านตากก็เคยประสบอุบัติเหตุชนวัวที่วิ่งกระโจนขึ้นมาบนถนนขณะส่งคนไข้ จนมีปัญหากว่าจะแก้ได้จบตั้งนาน

         เส้นทางที่ผ่านไป จะพบนกนานาชนิด เกาะอยู่บนต้นไม้ริมถนนหรือบินไปมา เช่นกา นกแก้ว และนกอื่นๆที่ผมไม่รู้จักอีกหลายชนิด ที่เมืองคอฟส์ ฮาร์เบอร์ มีการปลูกกล้วยกันมาก บริเวณริมถนนที่เป็นเนินเขา จอห็นบอกว่าคนที่ปลูกกล้วยเป็นคนเชื้อสายอินเดีย ผมดูแล้วเหมือนๆกับที่บนดอยที่บ้านตากที่ชาวไทยภูเขาเผ่าม้งเขาทำแปลงปลูกกระหล่ำปลี ทำคล้ายๆกันเลยแต่ที่ออสเตรเลียเขาปลูกกล้วย มีร้านขายของที่ระลึกร้านหนึ่งทำเป็นผลกล้วยขนาดใหญ่ไว้หน้าร้าน เรียนว่าร้านBig Banana

         ประเทศออสเตรเลียกว้างใหญ่กว่าเมืองไทยมาก แต่เขาก็สามารถสร้างสาธารณูปโภคและโครงสร้างพื้นฐานเข้าไปในทุกที่ที่มีประชากรของเขาอยู่ เพื่อให้คนของเขาสามารถอยู่ในพื้นที่ชนบทห่างไกลได้ดี ผิดกับของเราที่ทุกสิ่งทุกอย่างกระจุกตัวอยู่แต่ในเมืองใหญ่ ถนนก็สร้างแล้วซ่อมบ่อยจนไม่สามารถขยายถนนไปได้ทั่วถึง โทรศัพท์ก็ไม่มี ทีวีหลายแห่งก็ดูไม่ได้ การเข้าถึงข่าวสารข้อมูลน้อยมาก

           ดูลักษณะของประชาชนชาวออสเตรเลียแล้ว เขาจะมีโครงร่างใหญ่ แต่ตอนเป็นเด็กเล็กๆดูแล้วจะเป็นเด็กที่ดูผอมมาก แขนขาดูเล็กนิดเดียวแต่พอโตขึ้นกลับตัวใหญ่และมีคนอ้วนจำนวนมาก อันนี้น่าจะมีส่วนเกี่ยวข้องกับอาหารก็ได้ ตอนที่ผมกลับมาจากออสเตรเลียแล้วได้ชั่งน้ำหนักพบว่าขึ้นไปตั้ง 4 กิโลกรัม ทั้งๆที่ไม่ค่อยคุ้นกับอาหารที่นั่น คิดว่าส่วนประกอบของอาหารที่มีไขมัน เนื้อ แป้งที่ย่อยง่ายสูง ทำให้ได้รับพลังงานสูง  คนออสเตรเลียสูบบุหรี่กันมาก เดินสูบบุหรี่มีให้เห็นอยู่ทั่วไป ดังนั้นปัญหาจากการไม่สูบบุหรี่และโรคอ้วนกก็จะยังคงเป็นปัญหาสาธารณสุขของออสเตรเลียอยู่

           คุยกับอาจารย์ประวิทย์ บอกว่าวัฒนธรรมของที่ออสเตรเลีย ทุกอย่างเป็นไปตามข้อตกลง อะไรต้องจ่ายก็ต้องจ่าย เป็น Business  เด็กวัยรุ่นจะมีความเป็นตัวของตัวเองสูง เป็นผู้ใหญ่และรู้จักหาเงินเพื่อดูแลตัวเองได้เร็ว เด็กวัยรุ่นบางกลุ่มจะถือว่าการมีเพศสัมพันธ์ทางปากไม่ถือว่าเป็นการมีเพศสัมพันธ์ ถือเป็นชีวิตที่อิสระ หากผู้ใหญ่ไปบอกกล่าวแบบ้านเรา จะถือว่าเป็นการละเมิดสิทธิของเขา ตอนที่อยู่ที่บ้านพักที่แอมเบอรู ตอนเช้าที่ออกไปนั่งกินอาหารเช้าที่ร้านรีโทร จะพบเด็กนักเรียนของโรงเรียนมัธยมและวิทยาลัยชุมชน นั่งทานอาหารกันเป็นกลุ่ม มีนักเรียนหญิงหลายคนนั่งสูบบุหรี่อย่างเปิดเผย สบายอารมณ์ แทบทุกเช้า ซึ่งดูแล้วไม่น่ารักเลย

            ทีมเราเดินทางถึงคอฟส์ ฮาร์เบอร์ เวลา16.30 น.ไปที่โรงพยาบาลคอฟฟ์ ฮาร์เบอร์ แต่ยังไม่ถึงเวลานัด จึงได้ไปเข้าที่พักซึ่งเป็นบ้านพักที่โรงพยาบาลได้งบสร้างจากCancer Council แต่ยังไม่ได้เปิดบริการ จึงให้ผู้มาเยือนได้พักก่อนได้ ชื่อว่าShearwater Lodge อยู่ในCoffs Habour Campus ของ School of Rural Health,  Faculty of Medicine, The University of New South Wales

             ประมาณ 17.00 น.จึงได้ไปศึกษาดูงานที่โรงพยาบาลซึ่งผมจะได้เล่าในรายละเอียดให้ฟังในตอนต่อไป โดยมีทีมต้อนรับของโรงพยาบาลพานำชมโดยมีคุณ Theresa Beswich เป็น Director of Clinical service พานำชมโดยมี ผศ.Jim Carg ร่วมพาเดินด้วยกับมีคุณหมอMary Ditton ที่มาจากThe University of New England ซึ่งได้รับมอบหมายจากอาจารย์เดวิด บริ๊กก์ ให้มาดูแลคณะของเราร่วมเดินชมโรงพยาบาลด้วย หลังจากเดินชมจนเสร็จสิ้นประมาณ 6 โมงครึ่ง ทางคุณเทรีซ่าได้จัดเลี้ยงอาหารว่างแก่คณะของเราด้วย หลังจากนั้นก็มีการกล่าวขอบคุณพร้อมทั้งแยกย้ายกัน ทางทีมเราออกไปทานอาหารเย็นกันต่อ

             ที่ออสเตรเลียนั้น เขาตั้งเวลาให้หมุนเร็ว ทำให้กลางวันของเขาจะยาว คือมืดช้า กว่าจะมืดพระอาทิตย์ตกก็ประมาณ 2 ทุ่ม ทำให้คนมีกิจกรรมตั้งแต่เช้ามืดและมีเวลากลางวันมากเรียกว่าเป็นDay life saving เมื่อประมาณ 2 ปีก่อนเคยมีการพูดถึงเรื่องการปรับเวลาของไทยให้เร็วขึ้นอีก 1 ชั่วโมง เพื่อให้เวลาตรงกับที่สิงคโปร์ เพราะตอนนี้เราช้ากว่าสิงคโปร์ 1 ชั่วโมง ทำให้ตลาดหุ้นเราเปิดช้ากว่า การทำธุรกิจซื้อขายหุ้นจะช้ากว่าของสิงคโปร์ ทำให้เราเสียเปรียบ แต่ก็เงียบหายไป ไม่มีการเปลี่ยนแปลง

            เย็นนั้นทานอาหารที่ร้านอาหารไทยชื่อร้านเสือร้องไห้(Tiger Crying Thai Restaurant) กลับเข้าที่พัก ในย่านนี้มีร้านอาหารอยู่ 6-7 ร้าน แต่มีร้านอาหารไทยถึง 2 ร้าน และร้านที่เรารับประทานจะมีลูกค้ามากกว่าร้านอาหารอื่นๆที่อยู่ใกล้กัน แสดงว่าคนออสเตรเลียก็ชอบทานอาหารไทยเหมือนกัน อาหารที่ทานก็เป็นปอเปี๊ยะทอด ต้มยำกุ้ง แกงกะหรี่ไก่ ผัดไทย แต่ผมทานแล้วรู้สึกว่ารสชาตจะจืดไปหน่อย เพราะเขาทำเอาใจฝรั่งที่ทานรสเผ็ดจัดไม่ค่อยได้ ทานอาหารเสร็จประมาณ 3 ทุ่ม ก็เดินทางกลับที่พักที่โรงพยาบาล
หมายเลขบันทึก: 10640เขียนเมื่อ 25 ธันวาคม 2005 22:01 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 14:15 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท