ข้อเสนอต่อคณะกรรมการพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษา (๔)


เริ่มจากความสำเร็จของครู เข้าไปส่งเสริมให้ต่อยอด
ข้อเสนอต่อคณะกรรมการพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษา (๔)
ในตอนที่ ๒ ได้เสนอว่าต้องเปลี่ยนสไตล์การบริหารงานของผู้บริหารระดับสูงสุดของกระทรวงศึกษาฯ     จากสไตล์ command & control ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน    ไปเป็นสไตล์ empowerment     และตอนที่ ๓ ได้เสนอว่าต้องเปลี่ยนยุทธศาสตร์พัฒนาครู    จากเน้นการฝึกอบรมหรือศึกษาต่อแบบที่ใช้ในปัจจุบัน     ไปสู่การเน้นการเรียนรู้ที่แนบแน่นอยู่กับการปฏิบัติงานประจำ     ในตอนที่ ๔ นี้จะเสนอให้เปลี่ยนกระบวนทัศน์    จากการพัฒนาครูโดยเน้นเอาความรู้ภายนอกไปให้แก่ครู     ไปสู่การพัฒนาความรู้ความสามารถของครูจากฐานความสำเร็จของครูเอง     คือเน้นความรู้จาการทำงานเหนือความรู้เชิงทฤษฎี    เน้นความเชื่อว่าครู (ดีและเก่ง) มีความรู้จากการทำงาน
ตรงนี้ต้องระวังวิธีคิดให้ดี     ผมไม่ได้บอกว่าการเอาความรู้ภายนอกไปให้แก่ครูเป็นการกระทำที่ผิด     แต่การเอาความรู้ไปให้แก่ครูในรูปแบบและวิธีคิดในปัจจุบันนั้นผิดหรือก่อปัญหา     เพราะเป็นวิธีที่ไม่ให้เกียรติความรู้จากการทำงาน     และไม่ให้เกียรติครูเป็นผู้คิด ว่าต้องการความรู้อะไร เมื่อไร     ไม่ให้เกียรติความรู้ที่มาจากการปฏิบัติ     และเป็นการไม่ส่งเสริมการทำงานสร้างสรรค์ของครู     ทำให้ครูที่ทำงานแบบแหวกแนวและได้ผลดีต่อศิษย์หมดกำลังใจ
การเอาความรู้จากภายนอกไปให้ครูยังต้องทำครับ     ยิ่งต้องทำมากขึ้นด้วยซ้ำไป    แต่ต้องไม่เอาความรู้ภายนอกเป็นตัวนำ ต้องเอาผลงานของครูเป็นตัวนำ    ให้กลุ่มครูที่มีผลงานเป็นผู้กำหนด ว่าเขาอยากเรียนรู้อะไรจากภายนอก     การเรียนรู้จากภายนอกก็จะมีทิศทางเป้าหมายเพื่อไปหนุนการทำงานของกลุ่มครูผู้มีผลงานโดยตรง     ไม่ใช้หนุนนโยบายแบบฉาบฉวยชั่วคราว      หรือหนุนคณะวิทยากร / หนุนหน่วยงานผู้ไปถ่ายทอดความรู้ เป็นสำคัญ     ตรงนี้ต้องอ่านข้อเขียนนี้ให้ดีๆ นะครับ     ผมไม่ได้บอกว่าไม่ควรคำนึงถึงประโยชน์ของผู้มากำหนดนโยบายชั่วคราว / คณะวิทยากร / หน่วยงานผู้ถ่ายทอดความรู้     เราควรคำนึงถึง win – win situation แต่ต้องให้ประโยชน์ของครูผู้ทำงานจริงจัง และมีผลงานเป็นปฐม  ไม่ใช่เป็นสุดท้าย หรือแทบไม่คำนึงเลยแบบปัจจุบัน     จุดสำคัญที่สุดคือให้กลุ่มครูเขาเป็นผู้คิดว่าเขาต้องการการสนับสนุนอะไร  เมื่อไร  และควรให้เขามีโอกาสเลือกว่าเขาจะขอใช้บริการของใคร   
การเรียนรู้ร่วมกันของครู จากการปฏิบัติ เรียกว่า การจัดการความรู้  (KM – Knowledge Management)   ครูควรเรียนรู้จากกิจกรรมนี้เป็นหลักใหญ่     ศึกษานิเทศก์จำนวนหนึ่งควรได้รับการฝึกให้เป็น “คุณอำนวย”  ของ
กิจกรรม KM     คือต้องฝึกให้เลิกทำตัวเป็นผู้รู้ไปคอยสอนครู     แต่ทำตัวเป็น facilitator จุดประกายการเรียนรู้จากการทำงาน     คอยเชื่อมโยงเรื่องราวของความสำเร็จในการทำงานของครู และวิธีทำงานที่นำไปสู่ความสำเร็จนั้น     คอยนำเรื่องราวความสำเร็จที่เป็น “ของแท้”  ออกบอกกล่าวแก่สาธารณชน    เพื่อยกระดับความเชื่อมั่นต่อวงการครูและวงการการศึกษา     และเพื่อยกย่องครูที่เอาใจใส่ลูกศิษย์ ยกย่องการรวมตัวกันทำงานและเรียนรู้ไปพร้อมๆ กัน  
กลุ่มครูที่มีผลงานความสำเร็จในการจัดการเรียนรู้ของศิษย์ในระดับ “นวัตกรรมจิ๋ว” (micro innovation) ควรได้รับการส่งเสริมให้เรียนต่อปริญญาโท หรือเอก ในเรื่องที่ตนมีผลงานนั้นเอง     ในบางกรณีอาจเป็นการทำวิจัยเพื่อวิทยานิพนธ์แบบ “ชุดโครงการวิทยานิพนธ์” ก็ได้     สกว. มีประสบการณ์แนวทางนี้ โดย ศ. ดร. ธีระพันธ์ เหลืองทองคำ ซึ่งขณะนี้เป็นคณบดีคณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ เป็นผู้จัดการชุดโครงการ     
ประเด็นสำคัญของตอนที่ ๔ นี้ ต่างจากตอนที่ ๓ ตรงที่ผมเสนอให้ พัฒนาครูจากความสำเร็จของครูเป็นสำคัญ     วิธีการดำเนินการระดับประเทศก็คือจัดทำ “แผนที่ความดี” ของครู     ทำฐานข้อมูลว่าครูคนไหน/โรงเรียนไหน มีความสามารถ/ผลงานพิเศษในการจัดการเรียนรู้ของศิษย์    ให้เขียนรายงานใน บล็อก แล้วมีทีมงานกลางคอยติดตามอ่าน และไป “จับภาพ” ทำแผนที่     และส่งเสริมให้รวมตัวกันเป็น CoP เป็นเรื่องๆ    จัดทรัพยากรอำนวยความสะดวกให้ได้มี “พื้นที่” (ba ในภาษาญี่ปุ่น) สำหรับการแลกเปลี่ยนเรียนรู้  นำเอาความรู้ที่แลกเปลี่ยนกันไปทดลองปฏิบัติ และเอาผลมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันอีก เป็นวัฏจักรเรื่อยไป     โดยอาจเชิญ สมศ. มาร่วมส่งเสริม    ทาง สพฐ. และกระทรวงศึกษาฯ เปลี่ยนมาทำหน้าที่ให้การยอมรับ    ให้รางวัลในลักษณะของการรับรู้ผลงานเล็กๆ (แต่ยิ่งใหญ่) ของการสร้างนวัตกรรมการเรียนรู้    เน้นส่งเสริมให้ครูรวมตัวกันเรียนรู้จากการทำงานในลักษณะของการพัฒนางานโดยเริ่มจากการเรียนรู้จากผลสำเร็จเล็กๆ (success story)    ผมเชื่อว่าแนวทางใหม่นี้จะประหยัดกว่า     ได้ผลต่อการพัฒนาครูมากกว่า     ได้ผลต่อการพัฒนาคุณภาพการศึกษามากกว่า     และจะสร้างเกียรติภูมิของครูได้ดีกว่า  วิธีการภายใต้กระบวนทัศน์ปัจจุบัน
ที่จริงข้อเสนอ ๔ ข้อของผมมันเป็นประเด็นที่เกี่ยวเนื่องกัน    ข้อความในบันทึกตอนที่ ๒, ๓, ๔ จึงดูจะซ้ำๆ หรือพันกันไปพันกันมา    ผมขอสรุปแก่นของข้อเสนอว่า     จะพัฒนาครูได้ในระยะยาวและได้ผลดีจริง ต้องปลดพันธนาการครู จากกรงขังทางปัญญา โดยขอแนะนำให้ผู้บริหารของกระทรวงฯ และกรรมการ/อนุกรรมการ ในคณะกรรมการชุดนี้ อ่านหนังสือ การจัดการความรู้ กระบวนการปลดปล่อยมนุษย์สู่ศักยภาพ เสรีภาพ และความสุข  โดย ศ. นพ. ประเวศ วะสี    หนังสือเล่มนี้ซื้อได้ที่ สคส. ในราคาลด เหลือ ๕๐ บาท
ก่อนจะจบ ผมขออภัยอีกครั้งหนึ่งหากข้อความในบันทึกนี้ไปกระทบกระทั่งท่านใด/หน่วยงานใด    ผมเสนอความคิด/วิธีการ ด้วยความบริสุทธิ์ใจ เพื่อประโยชน์ของวงการศึกษา และของประเทศไทย
วิจารณ์ พานิช
๒๕ ธค. ๔๘
หมายเลขบันทึก: 10636เขียนเมื่อ 25 ธันวาคม 2005 20:14 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 14:15 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท