การเรียนรู้ตลอดชีวิตกับชาวนา (๑๐)


นักเรียนชาวนาหลายต่อหลายคนช่วยกันรวบรวมสูตรสมุนไพรพื้นบ้านที่สามารถนำมากำจัดศัตรูพืช ซึ่งบางสูตรก็เป็นสูตรที่เคยใช้กันมานาน เป็นที่รู้จักกันดี แต่บางสูตรก็ได้มีการคิดค้นทดลอง โดยอาศัยความเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่น

การเรียนรู้ตลอดชีวิตกับชาวนา (๑๐)


ขอนำรายงานของมูลนิธิข้าวขวัญ ตอนที่ ๑๐ เรื่องสมุนไพรสำหรับการทำนา มาลงต่อนะครับ


ตอนที่ 10 เล่าสู่กันฟัง : สมุนไพรพื้นบ้าน
ในห้องเรียนที่โรงเรียนชาวนาบ้านดอน ตำบลบ้านดอน อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี บรรยากาศในห้อง ก (มี 2 ห้องเรียนคือ ห้อง ก กับห้อง ข) มักจะมีการนำเรื่องสมุนไพรพื้นบ้านมาพูดคุยและเล่าสู่กันฟังอยู่เป็นประจำ นักเรียนชาวนากลุ่มนี้ชื่นชอบและสนใจสมุนไพรเป็นพิเศษ ผู้ที่สนใจศึกษาหาความรู้ก็จะคอยเสาะแสวงหาเรื่องราวสมุนไพรเป็นวิทยาทานให้แก่เพื่อนๆนักเรียนและรวมถึงเจ้าหน้าที่ด้วย เพราะสมุนไพรนี้มีประโยชน์นักหนา ใช้รักษาโรคต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นโรคที่เกิดจากพืชหรือจากแมลง
ในครั้งแรกที่มีการพูดคุยเล่าสู่กันฟังเรื่องสมุนไพร เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2547 คุณนิพนธ์คล้ายพุก ได้นำเสนอเรื่องประโยชน์ของแสยก
แสยก เป็นไม้เล็กลำต้นอวบอ้วน ต้นตั้งตรง ตามลำต้นมีใบเล็กๆแข็งกลม งอคุ่มๆ ต้นสูงประมาณ 1 – 3 ฟุต
แสยก มี 2 ชนิด คือ ชนิดแรก ทั้งต้นและใบจะมีสีเขียวล้วน ส่วนอีกชนิดหนึ่ง จะเป็น สีเขียวสลับขาว ส่วนมากนิยมปลูกทำรั้วบ้าน ยางขาวๆของต้นไม้ชนิดนี้มีพิษแรงมาก หากคนกินเข้าไปเกิน 3 หยด ก็อาจจะถึงขั้นที่ตายได้ และเพียงหนึ่งกำมือทุบแล้วโยนใส่บ่อปลาที่กว้างไม่เกิน 10 ตารางวา ปลาก็จะตายหมด
สรรพคุณทางแพทย์แผนโบราณ จะใช้ใบและยอดนำมาโขลกพอแหลก แล้วนำมาพอกแผลสด เป็นยาประสานเนื้อได้ดีมาก
ชื่อเรียกของแสยก มีหลายอย่าง ได้แก่ แสยกเขียว แสยกลาย มหาประสาน
ต่อมา คุณจันทร์ เชื้อเพชร กล่าวถึง ต้นเขยตายแม่ยายปรก ว่ามีสรรพคุณช่วยแก้พิษจากสัตว์ต่างๆได้ดี เช่น ตะขาบกัด แมลงต่อย ปลาดุกตำ ปลาแขยงตำ ผู้หญิงตกเลือด ต่อหรือแตนต่อยก็แก้ได้ทั้งนั้น
โดยนำมาตำใส่น้ำมะนาวหรือเหล้าพอก ประเดี๋ยวเดียว สักอึดใจก็หายแล้ว ตามประวัติกล่าวว่า ที่ได้ชื่อว่าต้นเขยตายแม่ยายปรกนี้ เนื่องจาก แม่ยายกับลูกเขยเดินทางไปหาของป่าเพื่อนำมาทำอาหาร แต่เกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝัน คือ ลูกเขยได้ถูกงูมีพิษ เลยหาเอาใบไม้อะไรสักอย่างหนึ่งมาปกคลุมร่างของลูกเขยไว้ แล้วจึงวิ่งไปหมู่บ้านตามคนมาช่วยหามศพลูกเขยกลับบ้าน แต่เมื่อ แม่ยายนำชาวบ้านมาเพื่อจะนำศพลูกเขย แต่กลับพบว่าเจอลูกเขยเดินกลับมาที่หมู่บ้านเอง จึงถามลูกเขยว่าทำไมถึงฟื้นจากพิษงูกัด ลูกเขยบอกว่าเกิดจากต้นไม้ใบไม้ที่แม่ยายนำมาปกร่างไว้นั้น ทำให้ฟื้นจากพิษของงู นี่คือที่มาของชื่อ “เขยตายแม่ยายปรก" เป็นสมุนไพรช่วยในการรักพิษสัตว์กัดต่อยต่างๆ เช่น พิษของงู พิษจากการถูกปลาดุกแทง เป็นต้น
(ดูภาคผนวก ช ประกอบ)
และต่อมา อาจารย์พรหม ภูธรานนท์ ได้กล่าวถึงประโยชน์ของใบฝรั่ง ซึ่งช่วยในเรื่องแก้ท้องเสีย ท้องร่วง เพราะจากประสบการณ์ของอาจารย์พรหม ภูธรานนท์ ซึ่งได้ประสบมาด้วยตนเอง เรื่องของเรื่องก็มีอยู่ว่า วันหนึ่งเกิดอาการท้องสียอย่างรุนแรงและต่อเนื่อง จึงได้ไปหาแพทย์แผนปัจจุบันหลายต่อหลายครั้ง ซื้อยามากินเองก็แล้ว...ก็ไม่หาย
นับเป็นบุญจากการที่ชื่นชอบการอ่านหนังสือ ฟังข่าววิทยุ มีรายการหนึ่งได้บอกไว้ว่าการแก้อาการท้องเสียนั้น ให้ใช้ใบฝรั่ง 3 ใบ โดยให้เป็นยอดอ่อนทั้ง 3 ยอด และเลือกเก็บเฉพาะยอดที่สะอาด แล้วใส่ปากเคี้ยวให้ละเอียด... แล้วกลืนใบฝรั่ง ก็จะสามารถช่วยแก้ปัญหาเรื่องอาการท้องเสียท้องร่วงได้ดี ชะงัดแล หากไม่ชอบรสฝาดมาก สามารถใช้เกลือผสมเล็กน้อย เพื่อแก้รสชาติจากใบฝรั่ง เรื่องนี้เป็นประสบการณ์ชีวิตที่ได้ลองทำตามที่รายการวิทยุบอก ปรากฏว่ากินไปประเดี๋ยวเดียวอาการท้องเสียที่ทรมานมาเป็นเวลา 2 – 3 วันนั้น ได้หายเป็นปกติ จึงนำประโยชน์ของใบฝรั่งมาเล่าสูกันฟัง
ท้ายที่สุดในช่วงแรกของวัน นักเรียนชาวนา ห้อง ก ได้ร่วมกันทำ สมุนไพรไล่แมลง โดยเป็นสูตรของนักเรียนชาวนาเอง มีส่วนผสมดังต่อไปนี้
§ สะเดา
§ ข่า
§ ตะไคร้หอม
§ ฝักคูน
§ ใบขี้เหล็ก
§ สาบเสือ
§ บอระเพ็ด


อัตราส่วนอย่างละเท่าๆกัน โดยนักเรียนชาวนาใช้อัตราส่วนอย่างละ 2 กิโลกรัม นำส่วนผสมทั้งหมดมาสับมาทุบ แล้วนำมาผสมหมักรวมกันในถังพลาสติก หมักให้น้ำพอท่วม ราว 2 วัน ก็นำไปใช้ประโยชน์ได้
ในครั้งที่ 2 ของการนำเสนอความรู้เรื่องสมุนไพร เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2547 นักเรียนชาวนาที่นำความรู้เรื่องสมุนไพรมาพูดคุยกันในห้องเรียน คือ คุณจันทร์ เชื้อเพชร และคุณทวนเตียะเพชร ได้นำเอาเรื่องบอระเพ็ดมาเล่าสู่กันฟังว่าบอระเพ็ด เป็นยาช่วยในการระบายในกรณีที่ถ่ายไม่ออก
ต่อมา คุณกนกวรรณ พรมเพียงช้าง ได้นำเสนอสรรพคุณของเสลดพังพอน ซึ่งช่วยถอนพิษจากแมลงสัตว์กัดต่อยต่างๆ
และ อาจารย์พรหม ภูธรานนท์ นำข้อมูลเพิ่มเติมในเรื่องของแสยก หลังจากที่คุณนิพนธ์ คล้ายพุก ได้เล่าสู่กันฟังเมื่อครั้งแรก โดยได้เสริมความรู้ว่า แสยกมีสรรพคุณในด้านการรักษา พยาบาล สามารถถอนพิษจากแมลงกัด ตะขาบกัด แมงป่องต่อย ซึ่งก็ดีนักแล ส่วนวิธีปรุงก็ไม่ยาก เก็บใบแสยกจากใบยอด 3 ยอดๆละ 3 ใบ หรือจะมากกว่านี้ก็ได้ แล้วนำมาโขลกให้ละเอียด ผสมกับเหล้าขาวพอกไว้ ... หายปวดดีนักแล
ต่อมาในครั้งที่ 3 ของการเล่าเรื่องความรู้สรรพคุณจากสมุนไพร บรรดานักเรียนชาวนาจึงนำสมุนไพรพื้นบ้านจากแต่ละบ้านในชุมชนมารวมกันได้ 25 ชนิด เน้นการ แลกเปลี่ยนสมุนไพร เพื่อแจกจ่ายกันไปเพาะปลูกและขยายพันธุ์กันต่อไปให้มีมากขึ้นในชุมชน


สมุนไพร จำนวน 25 ชนิด คือ (1) คูน (2) กล้วย (3) ขิง (4) กระชาย (5) กระวาน (6) ข่า (7) กระชายดำ (8) ตะไคร้หอม (9) เพชฌฆาต (10) สาบเสือ (11) สะเดา (12) ตะไคร้ (13) หางไหล (14) กระชาย (15) ไพล (16) บอระเพ็ด (17) เสลดพังพอน (18) เขยตายแม่ยายปก (19) แสยก (20) น้อยหน่า (21) มะกรูด (22) แค (23) ฟ้าทะลายโจร (24) หญ้าหนวดแมว และ (25) กะเพรา


หลังจากนั้นการเล่าเรื่องสู่กันฟังจากนักเรียนชาวนาผู้สนใจสมุนไพร ก็นำเสนอเป็นครั้งที่ 4 โดย อาจารย์สิทธิชัย ยอดเกษา ได้นำพืชสมุนไพร เพชรสังฆาต มาเสนอในห้องเรียน
เพชรสังฆาต เป็นไม้เถาเลื้อย เถารูปสี่เหลี่ยมเป็นปล้องๆ ตรงข้อเล็กรัดตัวลง มีมือสำหรับยึดงอกออกจากข้อ มีใบเดี่ยวกลมหนาเล็กผิวเรียบ ดอกลักษณะกลมเล็กสีแดงเขียวเป็นช่อเล็กออกตามข้อ ผลกลมเท่าเมล็ดพริกไทย สีแดงหรือดำ ปลูกเป็นไม้ประดับทั่วไป
เพชรสังฆาต ชนิดกลีบมะไฟและเดือยไก่ สรรพคุณของทั้ง 2 ชนิดนั้น ทั้งรสร้อน ขม และคัน ต้องคั้นเอาน้ำดื่ม จะช่วยแก้โรคลักปิดลักเปิด และแก้ประจำเดือนไม่ปกติ แก้กระดูกหักซ้น ขับลมในลำไส้ แก้ริดสีดวงทวารหนัก ... แก้ได้หลายโรคจริงๆ
ส่วนชื่อก็จะเรียกไปตามท้องที่ต่างๆ ในบางจังหวัด เช่น จังหวัดราชบุรี จะเรียก สันชะฆาต หรือขันข้อ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์จะเรียกกันว่า สามร้อยต่อ ส่วนสมุนไพรของชาวจีนเรียกว่า แป๊ะฮวยหันขัดเช่า


ส่วนนักเรียนชาวนาในห้อง ข มีการแลกเปลี่ยนพืชสมุนไพรเพื่อนำไปเพาะปลูกเพื่อขยายพันธุ์ รวม ชนิด ได้แก่ (1) บอระเพ็ด (2) ฟ้าทะลายโจร (3) ว่านสลายนิ่ว (4) ว่านหางจระเข้ (5) ตะไคร้หอม (6) เตยหอม (7) ข่า (8) ตะไคร้ (9) ว่านงู (10) ไพลดำ (11) ขิง (12) กระทือ (13) ขมิ้นอ้อย (14) ว่านรางจืด (15) ว่านตะขาบ (16) อัญชันซ้อน (17) มะกรูด (18) แคเบา (19) กระชายดำ (20) คูน (21) เสลดพังพอน (22) หางไหลขาว และ(23) ไพลขาว


และใน โรงเรียนชาวนาบ้านโพธิ์ ตำบลบ้านโพธิ์และดอนโพธิ์ทอง อำเภอเมือง จังหวัดสุพรรณบุรี เป็นอีกห้องเรียนหนึ่งที่ได้มีการเรียนรู้เรื่องสมุนไพรกันอย่างกว้างขวาง เมื่อครันได้เปิดเวทีเสวนาเรื่องดังกล่าวนี้ขึ้นมา จึงทำให้นักเรียนชาวนาหลายต่อหลายคนช่วยกันรวบรวมสูตรสมุนไพรพื้นบ้านที่สามารถนำมากำจัดศัตรูพืช ซึ่งบางสูตรก็เป็นสูตรที่เคยใช้กันมานาน เป็นที่รู้จักกันดี แต่บางสูตรก็ได้มีการคิดค้นทดลอง โดยอาศัยความเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่น
สมุนไพรพื้นบ้านมีสรรพคุณเป็นพืชที่มีสรรพคุณ สามารถกำจัดแมลงในแปลงนาและแปลงพืชผักได้ นักเรียนชาวนาบ้านโพธิ์ได้รวบรวมไว้ จำนวน 15 ชนิด ซึ่งสมุนไพรบางชนิดก็สามารถใช้ทั้งไล่ ป้องกัน และกำจัด บางชนิดก็ใช้ป้องกันได้อย่างดี โดยมีรายละเอียดดังนี้
(1) หางไหลแดง / ขาว สามารถใช้ไล่และกำจัดศัตรูพืช ได้แก่ หนอนกินช่อ เพลี้ยไฟ ไรขาว ไรแดง และเพลี้ยจักจั่น
(2) หัวกลอย สามารถใช้ไล่และกำจัดศัตรูพืช ได้แก่ หนอนกระทู้ หนอนหลอด และเพลี้ยอ่อน
(3) หนอนตายยาก สามารถใช้กำจัดศัตรูพืช ได้แก่ หนอนผีเสื้อ หนอนกระทู้ หนอนหลอดลม และแมลงวันทอง
(4) สะเดา ส่วนเมล็ดหรือใบ สามารถใช้กำจัดศัตรูพืช ได้แก่ ด้วงมัดผัก เพลี้ยอ่อน เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล เพลี้ยจั้กจั่น หนอนใยผัก หนอนกอ หนอนเจาะสมอฝ้าย หนอนชอนใบ และแมลงในโรงเก็บ
(5) ตะไคร้หอม สามารถใช้กำจัดโรคจากเชื้อรา แบคทีเรีย ไวรัส และสามารถใช้ไล่ศัตรูพืช ได้แก่ หนอนกระทู้ หนอนใยผัก ไล่ยุงและแมลงสาบ
(6) บอระเพ็ด สามารถใช้กำจัดศัตรูพืช ได้แก่ เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล เพลี้ยจั้กจั่น และหนอนกอ นอกจากนี้ก็สามารถป้องกันโรคข้าวตายพราย โรคยอดเหี่ยว และโรคข้าวหลีบได้
(7) หัวข่าแก่ สามารถใช้ไล่แมลงวันทองได้
(8) มะกรูดแก่ สามารถใช้ป้องกันแมลงหวี่ขาว และป้องกันโรคเน่าคอดินได้
(9) ก้านใบยาสูบ สามารถใช้ไล่และกำจัดศัตรูพืช ได้แก่ เพลี้ย ไร รา ด้วงหมักผัก ด้วงเจาะสมอ หนอนกะหล่ำ หนอนใบชา หนอนม้วนใบ และหนอนกระทู้
(10) ว่านน้ำแก่ สามารถใช้ไล่และกำจัดศัตรูพืช โดยจะมีฤทธิ์ทำลายต่อระบบประสาทของศัตรูพืช ได้แก่ ด้วงหมักผัก หนอนกระทู้ผัก แมลงวันทอง แมลงในโรงเก็บ ด้วงงวงช้าง ด้วงเจาะเมล็ดถั่ว มอดตัวป้อม และมอดข้าวเปลือก
(11) ใบยูคาลิปตัสแก่ สามารถป้องกันโรคพืช ได้แก่ โรครากเน่า โคนเน่า ผลเน่า และยังสามารถกำจัดไส้เดือนฝอยได้อีกด้วย
(12) ฝักคูนแก่ สามารถกำจัดศัตรูพืช ได้แก่ หนอนกระทู้ผัก หนอนกระทู้หอม และด้วง ต่างๆ โดยมีฤทธิ์ทำลายระบบประสาทของแมลงและด้วงต่างๆ
(13) สบู่ต้น สามารถกำจัดโรครา แบคทีเรีย ไวรัส และศัตรูพืช ได้แก่ หนอนใบชา หนอนม้วนใบ และหนอนแก้ว
(14) หัวไพล สามารถใช้ยับยั้งการเติบโตของเชื้อราในข้าวบาร์เล่ย์ได้
(15) ใบขี้เหล็กแก่ สามารถใช้ป้องกันศัตรูพืช ได้แก่ หนอนม้วนใบ หนอนแก้ว หนอนคืบ และหนอนใย
และจากการเปิดเวทีเรื่องสมุนไพรพื้นบ้าน มีนักเรียนชาวนานำเสนอสูตรสมุนไพรที่สามารถใช้กำจัดศัตรูพืช โดยมีรายละเอียดดังนี้
(1) คุณสมพร โพธิ์แก้ว เสนอสูตรสมุนไพร 1 สูตร โดยให้นำเอาตะไคร้ 2 ส่วน สะเดา 3 ส่วน ยาสูบ 1 ส่วน และข่า 2 ส่วน ใช้ฉีดพ่นกำจัดศัตรูพืช 30 วันครั้ง
(2) คุณสุรัตน์ เขียวฉอ้อน เสนอสูตรสมุนไพร 1 สูตร โดยให้นำเอาสะเดา 2 ส่วน หางไหล 1 ส่วน ยาสูบ 2 ส่วน ข่า 2 ส่วน ตะไคร้หอม 2 ส่วน หนอนตายยาก 3 ส่วน นำมาตำให้ละเอียด นำไปผสมกับน้ำประมาณ 10 ลิตร หมักไว้ 7 วัน แล้วนำไปฉีดพ่นประมาณ 20 ซี.ซี. ต่อน้ำ 20 ลิตร ทุกวัน
(3) คุณปรีชา ศรีฉ่ำพันธุ์ เสนอสูตรสมุนไพร 2 สูตร คือ
สูตรที่ 1 นำเอาสาบเสือ ตะไคร้หอม ไพล ข่า ยาสูบ สะเดา โมลาส รวมหมักไว้ 1 – 3 เดือน สามารถใช้ไล่แมลงและกำจัดหนอนได้
สูตรที่ 2 นำเอาสะเดา ไพล คูน น้อยหน่า ยาสูบ ข่า เปลือกมะกรูด โมลาส สัดส่วน 1 ต่อ น้ำ 3 ส่วน หมักไว้ 1 – 3 เดือน นำมาฉีดพ่นในนาข้าว 7 – 10 วัน ต่อครั้ง หรือปล่อยไปในน้ำเข้านา เพื่อป้องกันหนอน
(4) คุณนคร แก้วพิลา เสนอสูตรสมุนไพร 2 สูตร คือ
สูตรที่ 1 นำสะเดาบดให้ละเอียด นำไปหว่านในนา 20 กิโลกรัมต่อไร่ ถ้าใช้ใบควรเพิ่มอีก 1 เท่า เป็น 40 กิโลกรัมต่อไร่ เพื่อป้องกันหนอนกอ หนอนกระทู้ควายพระอินทร์
สูตรที่ 2 นำเอามังคุด เปลือกเงาะ ฝักคูน ฝักมะขามเทศฝาด หมักไว้ 1 – 7 วัน (ถ้าหมักปล่อยไว้นานกว่านี้ จุลินทรีย์จะแปรสภาพเปลี่ยนให้เป็นอย่างอื่น) สามารถใช้ป้องกันเชื้อรา โดยใช้ผสมกับน้ำ 20 ซี.ซี ต่อน้ำ 20 ลิตร
(5) คุณประมูล อินยิน เสนอสูตรสมุนไพร 1 สูตร โดยนำเอาสะเดา 2 กิโลกรัม ข่า 1 กิโลกรัม ตะไคร้หอม 2 กิโลกรัม บอระเพ็ด 1 กิโลกรัม หนอนตายยาก 2 กิโลกรัม หางไหล 2 กิโลกรัม ยาสูบ 1 กิโลกรัม และหว่านน้ำอีก 2 กิโลกรัม ตำให้ละเอียดแล้วแช่น้ำไว้ 1 คืน สามารถใช้ฉีดพ่นเพื่อควบคุมแมลง โดยฉีดพ่นทุก 10 – 15 วัน ใช้ผสม 50 ซี.ซี ต่อน้ำ 20 ลิตร
(6) คุณบุญมา ศรีแก้ว เสนอสูตรสมุนไพร 1 สูตร โดยนำเอาหางไหลแดง/ขาว หัวกลอย หนอนตายยาก เมล็ดหรือใบสะเดา ตะไคร้หอม บอระเพ็ด หัวข่าแก่ มะกรูดแก่ ต้นหรือใบยาสูบ หัวหว่านน้ำแก่ ใบยูคาลิปตัส ฝักคูนแก่ ต้นสบู่เลือด ใบขี้เหล็กแก่ หัวไพล โมลาส เหล้าขาว และหัวน้ำส้มสายชู ผสมกันทำสูตร
(7) คุณทองแย้ม ครุฑดำ เสนอสูตรสมุนไพร 1 สูตร โดยนำเอาสะเดา ตะไคร้หอม หนอนตายยาก ข่า ไพล บอระเพ็ด ว่านน้ำ หางไหล หมักกับน้ำ 20 ลิตร เหล้าขาว 1 ขวด หัวน้ำส้มสายชู 150 ซี.ซี หมักไว้นาน 7 วัน จึงจะนำไปใช้ได้
(8) คุณสุรินทร์ ปิ่นเทศ เสนอสูตรสมุนไพร 1 สูตร โดยนำเอายาสูบ สะเดา หางไหล หนอนตายยาก ใบสาบเสือ ฝักคูน บอระเพ็ด ตะไคร้หอม ข่าแก่ หัวกลอย และน้ำโมลาส โดยให้เทลงในน้ำในนาข้าว ช่วงที่ข้าวตั้งท้อง 2 ครั้ง
(9) คุณทิ้ง ศรีสุข เสนอสูตรสมุนไพร 1 สูตร โดยนำเอาสะเดา ข่า และตะไคร้หอม กากน้ำตาล โดยสับให้ละเอียด หมักไว้นาน 1 เดือน ใช้ฉีดพ่นข้าว ช่วงที่ข้าวอายุได้ 1 เดือน และเทลงในน้ำในนาข้าวตามด้วย
(10) คุณจำเนียล อุ่นเจิม เสนอสูตรสมุนไพร 1 สูตร โดยนำเอาสะเดา มะกรูด ตะไคร้ กลอย หอย และเปลือกขี้เหล็ก ผสมกันเป็นสูตร
(11) คุณคง นุชพันธุ์ เสนอสูตรสมุนไพร 1 สูตร (สูตรนี้อยู่ในระหว่างการทดลองด้วยตนเอง)โดยนำเอาหางไหลแดง หนอนตายยาก เมล็ดสะเดา ตะไคร้หอม กลอย บอระเพ็ด และใบน้อยหน่า ผสมกันเป็นสูตร
(12) คุณกิตติ เรือนทอง เสนอสูตรสมุนไพร 1 สูตร (สูตรนี้อยู่ในระหว่างการทดลองด้วยตนเอง) โดยนำเอาสะเดา บอระเพ็ด สาบเสือ มะเขือเทศ กระเทียม ตะไคร้หอม พริก พริกไทย ละหุ่ง มะรุม น้อยหน่า และยาสูบ ผสมกันเป็นสูตร
(13) คุณสำรวย อินทร์บุญ เสนอสูตรสมุนไพร 1 สูตร โดยนำเอาใบสะเดา หัวข่าแก่ ต้นสบู่เลือด ใบขี้เหล็กแก่ บอระเพ็ด มะกรูดแก่ หางไหลแดง หนอนตายยาก ใบยูคาลิปตัสแก่ เหล้าขาว หัวน้ำส้มสายชู ยาสูบ ตะไคร้หอม และกากน้ำตาล ผสมกันเป็นสูตรที่สามารถไล่แมลงได้
(14) คุณสามัคคี จันทาทอง เสนอสูตรสมุนไพร 1 สูตร โดยนำเอาสะเดา หนอนตายยาก ตะไคร้หอม กลอย บอระเพ็ด ก้านยาสูบ สาบเสือ หางไหลแดง สบู่เลือด หัวไพล น้ำส้มสายชู กากน้ำตาล เหล้าขาว ว่านน้ำ และหัวข่าแก่ ผสมกันเป็นสูตร
(15) คุณสน สว่างโลก เสนอสูตรสมุนไพร 1 สูตร โดยนำเอาหัวข่าแก่ๆ เมล็ดหรือใบสะเดา หางไหลแดง หนอนตายยาก หัวกลอย กากน้ำตาล ฝักคูน อย่างละ 5 กิโลกรัม และยาสูบอีกครึ่งกิโลกรัม นำมาสับรวมกันแล้วหมักใส่โอ่งหรือถัง ต่อน้ำ 200 ลิตร หมักไว้นาน 15 วัน ก็สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ โดยผสมน้ำสมุนไพร 1 ลิตร ต่อน้ำ 200 ลิตร
(16) เป็นสูตรสมุนไพรที่นำเอาสะเดา ตะไคร้หอม ดีปลี หรือวัชพืชอื่นๆที่มีกลิ่นฉุนเหม็นหรือขม นำมาหมักผสมกันเป็นสูตร
(17) คุณศรัณย์รักษ์ จันทร์พันธ์โสม ได้เสนอสูตรสมุนไพร 4 สูตร คือ
สูตรที่ 1 นำเอาข่า 2 กิโลกรัม ตำให้ละเอียด แช่น้ำ 20 ลิตร หมักไว้ 2 วัน เมื่อจะนำไปฉีดต้องกรองเอาน้ำยา 5 ผสมกับน้ำ 20 ลิตร สามารถนำไปฉีดพ่นได้
สูตรที่ 2 นำเอาใบน้อยหน่า 5 กิโลกรัม ผสมน้ำ 20 ลิตร แช่หมักไว้ 2 วัน เมื่อจะนำไปฉีดต้องกรองเอาน้ำยา 5 ผสมกับน้ำ 20 ลิตร สามารถนำไปฉีดพ่นได้
สูตรที่ 3 นำเอาสะเดาเปลือกไป 5 กิโลกรัม ผสมน้ำ 20 ลิตร หมักไว้ 2 วัน เมื่อจะนำไปฉีดต้องกรองเอาน้ำยา 5 ผสมกับน้ำ 20 ลิตร สามารถนำไปฉีดพ่นได้
สูตรที่ 4 นำเอาใบสาบเสือ 5 กิโลกรัม ผสมน้ำ 20 ลิตร หมักไว้ 2 วัน เมื่อจะนำไปฉีดต้องกรองเอาน้ำยา 5 ผสมกับน้ำ 20 ลิตร สามารถนำไปฉีดพ่นได้
การนำไปฉีดข้าว ช่วงที่ข้าวอายุได้ 15 – 20 วัน หรืออายุครึ่งเดือน หรืออายุ 1 เดือน ฉีดเป็นระยะๆห่างกัน 20 วัน
จากการเรียนรู้เรื่องสมุนไพรพื้นบ้านในโรงเรียนชาวนา จะเห็นได้นักเรียนชาวนาเป็น “คุณกิจ" ที่มีความรู้ความเข้าใจในเรื่องนี้มากพอสมควร อันแสดงถึงภูมิปัญญาท้องถิ่นที่ถ่ายทอดกันมาแต่ครั้งบรรพบุรุษ ผสานด้วยความสังเกต การทดลองใช้ จึงทำให้สามารถปรับปรุงสูตรต่างๆเพื่อนำจะไปใช้ให้เกิดประโยชน์ แก้ปัญหาเรื่องโรคแมลงและเชื้อราต่างๆ ที่เกิดขึ้นในแปลงนาแปลงพืชผัก
เจ้าหน้าที่เป็น “คุณอำนวย" ที่คอยสนับสนุนการจัดเวที เพื่อให้นักเรียนชาวนาได้มีโอกาสพูดคุยเสวนาในเรื่องสมุนไพร แลกเปลี่ยนสมุนไพรพื้นบ้าน ให้ทำการทดลองและฝึกทำสูตรยาสมุนไพรสูตรต่างๆเพื่อนำไปป้องกัน ไล่ และกำจัดแมลง โดยไม่จำเป็นต้องพึ่งพาสารเคมีแต่อย่างใด ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายต่ำมากหรือไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆเลย เพราะสมุนไพรปลูกกันอยู่ในบ้านในสวน และในชุมชน บ้านละพันธุ์สองพันธุ์ 1 ชุมชนจึงมีสมุนไพรนับ 100 พันธุ์
(ดูภาคผนวก ช ประกอบ)


เห็นชัดเจนแจ๋วแหววเลยนะครับ ว่าชาวบ้านมีความรู้เดิม ที่เป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นอยู่แล้ว และเอามาปรับปรุงให้เหมาะสมยิ่งขึ้นได้ สามารถสร้างความรู้ใหม่จากความรู้ดั้งเดิมได้โดยการทดลองในแปลงนาของตน และการเอาความรู้มาแลกเปลี่ยนแบ่งปันกัน ทำให้ชุมชนมี ขุมความรู้ เพื่อการทำนาแบบยั่งยืนเพิ่มขึ้นอย่างมากมาย และจะเพิ่มขึ้น มีคุณภาพสูงขึ้นอย่างไม่หยุดยั้ง
นักวิชาการเห็นโอกาสตั้งโจทย์ และเข้าไปวิจัยต่อยอดจากความรู้ที่ชาวบ้านร่วมกันสร้างขึ้นไหมครับ


วิจารณ์ พานิช
๕ มิ.ย. ๔๘

</strong>

หมายเลขบันทึก: 1062เขียนเมื่อ 12 กรกฎาคม 2005 07:46 น. ()แก้ไขเมื่อ 27 กุมภาพันธ์ 2015 11:23 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท