เตรียมความพร้อมให้เภสัชกร (๓)


ฝากให้เภสัชกรช่วยกันหาวิธีการที่จะช่วยให้ผู้ป่วยเบาหวานใช้ยาให้เกิดประสิทธิภาพทางการรักษา

ตอนที่ ,

เมื่อวันอาทิตย์ที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๕๕๐ ดิฉันไปเป็นวิทยากรในโครงการเตรียมความพร้อมให้กับเภสัชกรเรื่องการดูแลผู้ป่วยเบาหวาน ร่วมกับอาจารย์ศัลยา คงสมบูรณ์เวชอีกครั้งหนึ่ง คราวนี้การประชุมจัดที่อาคารที่ทำการของสมาพันธ์ฯ ในซอยสุขุมวิท ๓๘ กรุงเทพ

ดิฉันเดินทางไปถึงก่อนเวลา แต่ขลุกขลักเรื่องที่จอดรถเล็กน้อย เพราะพื้นที่จำกัดและมีรถมาจอดเยอะ กว่าจะขยับได้ที่ก็เล่นเอาเหงื่อตก แต่ต้องขอชื่นชมเจ้าหน้าที่ทีมทำงาน ซึ่งเข้าใจว่ามาจาก อ.ย. ที่เอาใจใส่และให้บริการด้วยท่าทีที่เต็มใจมากๆ วันนี้มีเภสัชกรมาเข้าประชุมกว่า ๑๐๐ คน ห้องประชุมและพื้นที่นอกห้องประชุมดูคับแคบไปทันที

 

 บรรยากาศตอนพัก รับประทานอาหารว่าง

ช่วงเช้าอาจารย์ศัลยาพูดเรื่องของอาหารและมีเวลาประมาณ ๓๐ นาทีสำหรับกิจกรรมการเรียนรู้เป็นฐาน ๔ ฐาน เก็บคะแนน กลุ่มไหนได้คะแนนสูงสุดก็มีรางวัลให้

ก่อนเริ่มภาคบ่ายตัวแทนแต่ละกลุ่มมาบอกว่าได้เรียนรู้อะไรบ้าง ต่างก็บอกว่าตอนฟังบรรยายเข้าใจบ้างไม่เข้าใจบ้าง แต่พอเข้า workshop ก็ชัดเจนยิ่งขึ้น ได้ความรู้ที่เอามาใช้กับตัวเองและคนรอบข้างได้ ประทับใจเรื่องการอ่านฉลากโภชนาการ เป็นต้น

 

 อ.ศัลยา ตอบคำถามเรื่องอาหารก่อนเริ่มภาคบ่าย

เรามีโอกาสได้คุยกับเภสัชกรบางคนช่วงพักรับประทานอาหารว่างและอาหารกลางวัน ทำให้รู้ว่าผู้ป่วยบางส่วนคุมเบาหวานไม่ได้เพราะใช้ยา steroid มีคนเอามาขายให้โดยแอบอ้างว่าเป็นยาจากในวังบ้าง ยาจาก รพ.ใหญ่ๆ ในกรุงเทพบ้าง

การบรรยายในหัวข้อที่ดิฉันรับผิดชอบ ดิฉันได้นำเสนอตัวอย่างการดูแลผู้ป่วยเบาหวานในชุมชน ยกกรณีของทีมพุทธชินราชและของ “คุณหมอจิ้น” รพ.วารินชำราบ มาให้เห็นเป็นรูปธรรม และฝากให้เภสัชกรช่วยกันหาวิธีการที่จะช่วยให้ผู้ป่วยเบาหวานใช้ยาให้เกิดประสิทธิภาพทางการรักษา มีตัวอย่างซองยาของ รพ.ตาคลี สัญลักษณ์ที่บอกขนาดและจำนวนมื้อยาของ รพ.ยะรัง แผงยาของน้องบุ๋มบิ๋ม รพ.วารินชำราบ มาให้ดูเพื่อให้เกิดความคิดต่อยอด

ดิฉันไม่ลืมที่จะเสนอว่าน่าจะมีการจัด “Kit” เพื่อสนับสนุนให้ผู้ป่วยดูแลตนเองได้สะดวก เช่น Kit สำหรับการดูแลเท้า ดิฉันเชื่อว่าร้านยาสามารถทำได้ อย่างน้อยตอนนี้คุณถาวรจากบริษัทแอ๊บบอตก็ปิ้งไอเดียเรื่องสมุดสำหรับจดบันทึกเรื่องการรับประทานอาหารและการออกกำลังกาย รวมทั้ง kit การดูแลเท้าแล้ว

ดิฉันพบว่าเภสัชกร “มีใจ” ที่จะร่วมดูแลผู้ป่วยเบาหวาน ดิฉันเชียร์ให้เริ่มต้นจากผู้ป่วยเบาหวานในละแวกร้านของตนเอง และให้เรียนรู้ร่วมกันไปกับผู้ป่วย

วัลลา ตันตโยทัย วันที่ ๒๕ มิถุนายน ๒๕๕๐

 

หมายเลขบันทึก: 106079เขียนเมื่อ 25 มิถุนายน 2007 10:05 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 19:11 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท