เตรียมความพร้อมให้เภสัชกร (๑)


อยากจะให้เภสัชกรช่วยกันหาวิธีการที่จะช่วยให้ผู้ป่วยเบาหวานใช้ยาเพื่อการควบคุมโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพ

สมาพันธ์พัฒนาคุณภาพร้านยาแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นองค์กรที่เกิดจากการรวมตัวของสมาคมเภสัชกรรมชุมชน (ประเทศไทย) ชมรมร้านขายยาแห่งประเทศไทย และสมาคมร้านขายยา ได้จัดการอบรมเพื่อเตรียมความพร้อมให้เภสัชกรทั้งในโรงพยาบาลและร้านยาคุณภาพที่จะเข้าร่วมให้บริการในโครงการบริหารจัดการโรคเบาหวานอย่างครบวงจรของ สปสช.

โครงการดังกล่าวจะเริ่มนำร่องใน ๓ จังหวัดคือนครราชสีมา สุราษฎร์ธานี และแพร่ สมาพันธ์ฯ ได้ขอเชิญวิทยากรจากสมาคมผู้ให้ความรู้โรคเบาหวานเพื่อให้ความรู้ในหัวข้อ “การให้ความรู้และการปรับพฤติกรรมสุขภาพสำหรับผู้ป่วยเบาหวาน” การอบรมมีขึ้นในวันอาทิตย์ที่ ๑๐, ๑๗ และ ๒๔ มิถุนายน ที่จังหวัดนครราชสีมา สุราษฎร์ธานี และที่กรุงเทพฯ ตามลำดับ

ดิฉันรับหน้าที่เป็นวิทยากรในเรื่อง “การสนับสนุนการจัดการตนเอง” และ “การออกกำลังและการดูแลเท้า” ส่วนอาจารย์ศัลยา คงสมบูรณ์เวช เป็นวิทยากรในเรื่อง “ความรู้ทันสมัยเรื่องโภชนบำบัด”

วันที่ ๑๐ มิถุนายน ๒๕๕๐ จัดอบรมที่โรงแรมสีมาธานี จังหวัดนครราชสีมา มีเภสัชกรเข้าอบรมประมาณ ๓๐ คน  ช่วงเช้าอาจารย์ศัลยาบรรยายเรื่องอาหาร โภชนบำบัด รวมทั้งการนับคาร์โบไฮเดรต

 

 บรรยากาศขณะฟังการบรรยาย

เนื้อหาที่อาจารย์ศัลยาบรรยายมีมาก จึงไม่มีการพัก break ใช้วิธีนำอาหารว่างเข้ามาเสริฟในห้อง เหลือเวลาก่อนเที่ยงจึงให้ทำกิจกรรมกลุ่ม ตอบคำถามตามฐานต่างๆ

 กิจกรรมกลุ่มตามฐานต่างๆ

ดิฉันบรรยายในภาคบ่าย ได้นำตัวอย่างวิธีการปฏิบัติต่างๆ ในการดูแลผู้ป่วยเบาหวาน มาเล่าให้ฟัง โดยเฉพาะการดูแลในเรื่องยา อยากจะให้เภสัชกรช่วยกันหาวิธีการที่จะช่วยให้ผู้ป่วยเบาหวานใช้ยาเพื่อการควบคุมโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ดิฉันไม่ลืมที่จะยกตัวอย่าง ภก.เอนก ทนงหาญ ที่ รพร.ธาตุพนม ที่ทำงานดูแลผู้ป่วยเบาหวานเชิงรุก มีการสร้างทีมสร้างเครือข่าย เป็นผู้นำและกำลังสำคัญของทีมเบาหวาน รวมทั้งโชว์ผลงานของเภสัชกรที่ รพ.ตาคลี และ รพ.ยะรัง ที่ใช้วิธีง่ายๆ ในการช่วยให้ผู้ป่วยเบาหวานรับประทานได้ถูกเวลาและถูกขนาด

ช่วงกลางวันที่ได้นั่งรับประทานอาหารร่วมกับเภสัชกรที่มาอบรม คุยกันทำให้รู้ว่าเภสัชกรในจังหวัดมีการรวมตัวกัน มีงานรับน้องใหม่ที่เพิ่งมาทำงาน เวียนกันเป็นเจ้าภาพ ท่านหนึ่งเล่าว่าเดิมเภสัชกรจบใหม่ต้องใช้ทุน จึงมีน้องใหม่มาทำงานแต่ละปีหลายคน

ดิฉันมีความเห็นว่าการให้เภสัชกรร้านขายยาเข้ามามีส่วนร่วมในการดูแลผู้ป่วยเบาหวาน ให้ความรู้ให้คำแนะนำ ให้การสนับสนุน ฯลฯ เป็นเรื่องที่ดีมาก จึงเสนอแนะว่าน่าจะรวมกลุ่มผู้ป่วยเบาหวาน เริ่มจากในละแวกร้านของตนเองก่อนก็ได้ อาจเพียง ๔-๕ คน ให้ผู้ป่วยได้พูดคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์กัน เรียนรู้วิธีการจัดการตนเองจากกันและกัน ร้านขายยาก็จะกลายเป็นแหล่งประโยชน์ที่มีความสำคัญของผู้ป่วยเบาหวานอีกแหล่งหนึ่ง

ดิฉันฝันเห็นภาพร้านขายยาที่ไม่ใช่เพียงแต่ขายยา เภสัชกรเป็นผู้ที่มีศักยภาพอยู่แล้ว ถ้าทำได้จริง ผู้ป่วยเบาหวานจะได้รับประโยชน์แน่นอน

วัลลา ตันตโยทัย วันที่ ๑๓ มิถุนายน ๒๕๕๐

 

หมายเลขบันทึก: 103132เขียนเมื่อ 13 มิถุนายน 2007 23:58 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 18:04 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ตอนนี้ผมก็กำลัง ทำหน้าที่เภสัชกร อยู่อีกอย่างหนึ่งครับ  คือพยายามหาเรื่องเกี่ยวกับ ความรู้ปฏิบัติของเภสัชกร ที่จะทำให้ผู้ป่วย สามารถใช้ยาได้อย่างถูกต้องเหมาะสมมากขึ้น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท