เตรียมความพร้อมให้เภสัชกร (๒)


เภสัชกรในแต่ละจังหวัดมีการรวมตัวกันดี และมีความเป็นมิตร

ดิฉันเดินทางไปจังหวัดสุราษฎร์ธานี ตั้งแต่เย็นวันเสาร์ที่ ๑๖ มิถุนายน ๒๕๕๐ เพื่อเตรียมตัวเป็นวิทยากรในโครงการอบรมเตรียมความพร้อมสำหรับเภสัชกร ของสมาพันธ์พัฒนาคุณภาพร้านยาแห่งประเทศไทย เมื่อเดินทางไปถึงมีน้องเภสัชกรซึ่งทำงานอยู่ที่ สสจ.มารับจากสนามบินไปส่งโรงแรมที่พัก แล้วพาไปรับประทานอาหารทะเลที่ปากน้ำ โดยมีทีมงานของบริษัทแอ๊บบอต เป็นเจ้าภาพ

อาหารเย็นวันนี้แต่ละคนน่าจะรับประทานกันเข้าไปหลายร้อยหรืออาจจะนับพันแคลอรี่ เพราะหนักประเภทปู กุ้ง ปลาหมึก

ดิฉันพักที่โรงแรมบรรจงบุรี ได้ยินว่าเป็นโรงแรมเปิดใหม่ยังไม่ถึงปี พนักงานที่ให้บริการอัธยาศัยดี ห้องพักสะอาดใช้ได้ แต่การบริการน่าจะปรับปรุงให้ดีขึ้นได้อีก วันแรกที่เข้าพัก ไม่มีขวดน้ำดื่มวางอยู่ในห้อง มีแต่ที่อยู่ในตู้เย็น ดิฉันดูแล้วว่าเป็นน้ำเปล่าไม่ใช่น้ำแร่ คิดว่าโรงแรมเตรียมน้ำแช่เย็นไว้ให้ จึงเอาออกมาดื่มจนหมด มารู้ตอนจ่ายค่าที่พัก (เมื่อวันที่ ๑๙) ว่าน้ำในตู้เย็นต้องเสียเงิน ดิฉันยืนยันว่าไม่มีน้ำขวดอื่นไว้ให้ ทางโรงแรมจึงไม่เก็บเงิน (วันต่อมาย้ายห้องก็เจอแบบนี้อีก)

วันอาทิตย์ที่ ๑๗ เป็นวันที่จัดอบรม ที่โรงแรมไดมอนด์พลาซ่า ปรากฏว่าการอบรมครั้งนี้ตรงกับการประชุมอื่นของเภสัชกรในจังหวัด จึงมีคนมาเข้าอบรมได้น้อยเพียงประมาณ ๒๐ กว่าคน ดิฉันบรรยายในช่วงเช้า ๓ หัวข้อคือการสนับสนุนการจัดการตนเองของผู้ป่วยเบาหวาน การออกกำลังกาย และการดูแลเท้า

อาจารย์ศัลยาเดินทางมาถึงประมาณ ๑๑ น.กว่า พร้อมคุณจุรีย์พร จันทรภักดี ที่จะมาช่วยงานของดิฉันในวันที่ ๑๘ และ ๑๙ อาจารย์ศัลยาบรรยายเรื่องอาหารในภาคบ่าย

 

 บรรยากาศขณะฟังการบรรยายของอาจารย์ศัลยา

มีกิจกรรมการเรียนรู้เรื่องอาหารเป็นกลุ่มย่อย ๒ กลุ่ม คราวนี้ดูคึกคักน้อยกว่าเมื่อไปอบรมที่โคราช อาจเป็นเพราะคนน้อย ประกอบกับห้องประชุมเล็กพอดีกับการนั่งประชุม ไม่เหลือพื้นที่สำหรับกิจกรรม ความสะดวกคล่องตัวจึงลดลง หลังทำกิจกรรมมีการให้รางวัลกลุ่มที่ทำคะแนนได้ดี

 

 จัดอาหารใส่จานและนับคาร์บด้วย

 

 เรียนรู้เรื่องฉลากอาหาร

ช่วงท้ายการประชุม ตัวแทนกลุ่มเภสัชกรมาบอกเล่าว่าได้เรียนรู้อะไรบ้าง หนึ่งเภสัชกรสาวบอกว่าเรื่องอาหาร การนับคาร์บยังยากอยู่ ต้องไปคิดต่อว่าจะเอาไปทำอย่างไรจึงจะปฏิบัติได้ ของกระทรวงสาธารณสุขที่ว่าผักครึ่งหนึ่งอย่างอื่นครึ่งหนึ่งง่ายกว่า อาจารย์ศัลยาเพิ่มเติมให้ว่าการจัดอาหารลงจานสุขภาพจะง่าย ส่วนการนับคาร์บเป็นเรื่องที่ต้องการคุมเข้มให้มากขึ้น เป็นการ adjust ที่ลึกลงไปอีกขั้นหนึ่ง ไม่มีสูตรตายตัว ต้องปรับให้เข้ากับแต่ละคน ใช้ฉลากอาหารเป็น guideline ในการเลือกซื้อ

คนที่สองเราขอฟังจากเภสัชกรหนุ่มๆ บ้าง ได้ตัวแทนที่ dark and tall สมเป็นหนุ่มใต้ บอกเราว่าได้เรียนรู้ว่าในชีวิตความเป็นจริงเราเป็นอย่างไร อย่างฉลากโภชนาการ ไม่เคยดูเลย ดูแล้วตัวเองน่าจะกินไปสัก ๓ เท่าของที่ควร จะเอาความรู้กลับไปดูการบริโภคคาร์โบไฮเดรตและน้ำตาลในแต่ละวัน เพราะพ่อก็เป็น อาก็เป็นเบาหวาน

ได้สัมผัสกับกลุ่มเภสัชกรมาแล้ว ๒ ครั้ง ดิฉันได้รู้ว่าเภสัชกรในแต่ละจังหวัดมีการรวมตัวกันดี และมีความเป็นมิตร จากท่าทีที่สังเกตเห็นน่าจะเป็นผู้ให้บริการที่ดีแก่ผู้ป่วยเบาหวานด้วย

วัลลา ตันตโยทัย วันที่ ๒๑ มิถุนายน ๒๕๕๐

หมายเลขบันทึก: 105068เขียนเมื่อ 21 มิถุนายน 2007 09:52 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 19:08 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ดีใจจังที่อาจารย์รู้จักเภสัชกรมากขึ้น  และดีใจที่สุดที่เภสัชกรหลายคนได้รู้จักอาจารย์ เหมือนผมครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท