กรณีภาพจตุคามฯ : ข่าวจากไทยรัฐ (โดนพาดพิง)


กรุณาอ่านบทความใน G2K ที่ให้ข้อมูลที่ถูกต้อง (แก้ข่าวของไทยรัฐ)

ข้อมูลต่อไปนี้เป็นข่าวเกี่ยวกับ "ภาพจตุคาม" จาก นสพ. ไทยรัฐ ซึ่งมีการกล่าวอ้างถึงผม แต่มีการอ้างคำพูด และการใช้คำคลาดเคลื่อนไปจากหลักการทางวิทยาศาสตร์ (ข้อความสีน้ำตาล - ชื่อสีเขียว)

ผมจึงได้เขียนบทความให้ข้อมูลเอาไว้ใน GotoKnow ในเรื่อง

ฟิสิกส์เบื้องหลัง 'ภาพวงกลมจตุคามฯ'

ถ้าสนใจก็ลองอ่านดูนะครับ (มีขั้นตอนการทดลองด้วย) ^__^


ท่ามกลางกระแสความศรัทธาในองค์จตุคามรามเทพ ที่กำลังแพร่สะพัดทั่วบ้านทั่วเมือง โดยผู้คนส่วนใหญ่ มีความเชื่อในปาฏิหาริย์และสิ่งเหนือฟ้าใต้บาดาล ที่เกิดขึ้นขณะมีการประกอบพิธีเทวา ภิเษก กดพิมพ์นำฤกษ์สร้างองค์จตุคามในแต่ละรุ่น โดยเฉพาะจุดกลมๆ เหมือนดวงไฟที่คล้ายองค์จตุคามที่มักปรากฏขึ้นในภาพถ่าย ซึ่งทำให้ ผู้คนส่วนใหญ่เกิดความฮือฮาเพราะคิดว่าเป็นปาฏิหาริย์ขององค์จตุคามจริง ดังนั้น เพื่อความกระจ่างจึงได้มีการพิสูจน์กันถึงเรื่องนี้ ว่าจะเป็นปาฏิหาริย์ขององค์จตุคาม จริง หรือเป็นเพียงสิ่งที่เกิดขึ้นจากวิทยาศาสตร์

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 20 มิ.ย. รายการ “มันแปลกดีนะ” ได้เชิญนายวรนันท์ ชัชวาลทิพากร ช่างภาพอาชีพชาวไทย ที่มีชื่อเสียงและได้รับรางวัลระดับโลกมามากมาย มาไขปริศนาจตุคามรามเทพ โดยเฉพาะภาพถ่ายที่มีดวงไฟกลมๆ ที่มีลักษณะคล้ายองค์จตุคาม นายวรนันท์กล่าวว่า ภาพดวงไฟที่เกิดขึ้นนั้น เกิดขึ้นได้ หากในสถานที่นั้นๆ มีฝุ่นหรือละอองน้ำกระจายตัวอยู่ ทั้งที่เห็นและไม่เห็นด้วยตาเปล่า และมักจะเกิดขึ้นกับภาพถ่ายที่ถ่ายโดยกล้องดิจิตอล ที่มีเลนส์และแฟลตอยู่ในระนาบเดียวกัน เนื่องจากระยะสะท้อนของแฟลตนั้น ทำให้เห็นได้ชัดเจนกว่า ซึ่งทฤษฎีดังกล่าวสามารถพิสูจน์ได้ โดยอุปกรณ์ในการพิสูจน์ นั้น จะประกอบไปด้วย ห้องที่เป็นผนังสีเข้มเพื่อให้เห็นดวงไฟได้ชัดเจน ฝุ่นชอล์ก กระบอกฉีดน้ำ กล้องถ่ายภาพแบบดิจิตอล กล้องถ่ายภาพแบบซิงเกิ้ลเลนส์และคอมพิวเตอร์

จากนั้นทีมงานรายการ ได้ให้กฤษณ์ ศรีภูมิเศรษฐ์ พิธีกรรายการ ไปยืนบนเฟรมภาพ จากนั้นนำกระบอกฉีดน้ำให้เป็นละออง รอให้ละอองน้ำกระจายตัว แล้วนายวรนันท์ได้ใช้กล้องดิจิตอลถ่ายภาพ ก็ปรากฏภาพดวงไฟกลมๆ ที่มีลักษณ์คล้ายคลึงกับเหรียญจตุคามรามเทพที่เป็นข่าวขึ้นอยู่เต็มภาพ จากนั้นจึงพิสูจน์ด้วยฝุ่นชอล์ก โดยให้พิธีกรเข้าไปยืนในเฟรมถ่ายภาพเหมือนเดิมและให้ทีมงานทำฝุ่นให้กระจายตัวด้านหน้ากล้อง รอจนฝุ่นสลายตัวแล้วถ่ายภาพ ก็ปรากฏว่ามีภาพดวงไฟปาฏิหาริย์ดังกล่าวติดมาจำนวนมากด้วยเช่นกัน แต่เมื่อมีการนำกล้องประเภทซิงเกิ้ลเลนส์มาถ่าย บางภาพก็เห็นดวงไฟ แต่ส่วนใหญ่จะไม่เห็นเป็นไปตามทฤษฎีที่นายวรนันท์กล่าว 

นายวรนันท์เผยว่า เป็นทฤษฎีทางการถ่ายภาพในสถานที่ต่างๆ ที่ปัจจัยเอื้ออำนวยและเกิดภาพลักษณะดังกล่าวมาหลายต่อหลายครั้ง ผู้ที่ถ่ายภาพและติดดวงไฟลักษณะนี้มา เชื่อว่าน่าเป็นความบังเอิญที่ในบริเวณนั้นมีละอองฝุ่นหรือละอองน้ำกระจายตัวอยู่และมองไม่เห็นด้วยตาเปล่า เมื่อถ่ายภาพและใช้แฟลชจึงเกิดดวงไฟขึ้นในภาพ โดยส่วนตัวตนก็นับถือองค์จตุคามรามเทพมานานกว่า 20 ปีแล้ว แต่การมาบอกเล่าความจริงและพิสูจน์ครั้งนี้เป็นคนละเรื่อง การพิสูจน์ถือเป็นการทำหน้าที่ในฐานะช่างภาพ ที่นำเสนอเพื่อประโยชน์ของประชาชน และต้องการให้ผู้ที่นับถือองค์จตุคามรามเทพ นับถืออย่างมีสติไม่งมงาย

อย่างไรก็ตาม สาเหตุที่ดวงไฟทำไมจึงมีทรงกลมและมีลวดลายคล้ายกับองค์จตุคาม ได้รับคำชี้แจงจากนายบัญชา ธนบุญสมบัติ นักวิทยาศาสตร์แห่งสำนักงานวิทยาศาสตร์แห่งชาติว่า รูปทรงของโมเลกุลของฝุ่นนั้น มีทั้งเป็นเหลี่ยมและกลม แล้วแต่ชนิดของฝุ่น แต่หากมองด้วยตาเปล่า ละอองฝุ่นจะมีลักษณ์สัณฐานเป็นจุดๆ และกล้องถ่ายรูปไม่ใช่กล้องขยาย เมื่อถ่ายภาพออกมาจึงเห็นแต่สัณฐานของฝุ่นคือทรงกลมเท่านั้น ส่วนที่เห็นเป็นลาย เกิดจากมวลของฝุ่น ที่มีความหนาแน่นไม่ สม่ำเสมอ ประกอบกับการหักเหของแสงแฟลตที่มาตก กระทบไม่เท่ากัน จึงทำให้เห็นเป็นลวดลาย 

ขณะเดียวกันปัญหาเรื่องการจัดสร้างจตุคามก็ยังเกิดขึ้นอีกราย โดยเมื่อบ่ายวันเดียวกันนี้ ที่กระทรวงการต่างประเทศ นายธฤต จรุงวัฒน์ อธิบดีกรมสารนิเทศ โฆษกกระทรวงการต่างประเทศ แถลงว่า ตามที่มีผู้นำสารของเอกอัครราชทูตไทยประจำประเทศญี่ปุ่น เนื่องในวาระครบรอบ 120 ปี ความสัมพันธ์ไทย-ญี่ปุ่น และบทความ รวมทั้งเอกสารในวาระดังกล่าว ซึ่งปรากฏในเว็บไซต์ของสถานเอกอัครราชทูตไปตีพิมพ์ในสิ่งพิมพ์ชื่อ “จตุคามรามเทพปริทรรศน์ ฉบับพิเศษ รุ่นทำมาค้าขึ้น” ฉบับเดือน พ.ค. 2550 โดยมีใจความสำคัญว่า สมาคม มิตรภาพนครศรีธรรมราช-ญี่ปุ่น จัดสร้างวัตถุมงคลจตุคามรามเทพ และตีพิมพ์สารของเอกอัครราชทูต และบทความของสถานเอกอัครราชทูต ประกอบรวมกับเนื้อหา และโฆษณาการจัดสร้าง และจำหน่ายวัตถุมงคลฯ ซึ่งอาจจะทำให้สาธารณชนเข้าใจผิดว่า สถานเอกอัครราชทูตฯ และเอกอัครราชทูตฯ เกี่ยวข้องหรือสนับสนุนจัดสร้างและจำหน่าย สถานเอกอัครราชทูตฯจึงขอชี้แจงว่าไม่มีส่วนรู้เห็น หรือเกี่ยวข้องแต่อย่างใด สิ่งพิมพ์ดังกล่าวได้นำบทความไปตีพิมพ์เผยแพร่โดยไม่ได้รับอนุญาต และผิดกฎหมาย

ที่มา :  http://www.thairath.co.th/offline.php?section=hotnews&content=51313

คำสำคัญ (Tags): #จตุคาม#ไทยรัฐ
หมายเลขบันทึก: 105818เขียนเมื่อ 24 มิถุนายน 2007 07:47 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 18:06 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

ไม่อนุญาตให้แสดงความเห็น
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท